แลต๊ะแลใต้ : โรงเรียนจิ๋วสุดเจ๋ง ที่ก่อตั้งโดยพ่อแม่ชาวสุราษฎร์ธานี

แลต๊ะแลใต้ : โรงเรียนจิ๋วสุดเจ๋ง ที่ก่อตั้งโดยพ่อแม่ชาวสุราษฎร์ธานี

บรรยากาศการเรียนการสอนของ The Little Unicorn House 

“เด็ก ๆ ควรมีความสุข มันเป็นสิทธิของเขาที่ควรจะมีความสุขตามวัยของเขา และเด็กคนหนึ่งควรจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในจุดสูงสุดเขาจะสามารถไปถึงได้แต่สิ่งเหล่านี้มันถูกทำลายโดยระบบหรือค่านิยมของสังคม”

ดร.สุวิต ศรีไหม หรือพ่อโอ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง The Little Unicorn House กล่าวถึงปัญหาที่ตนมองเห็น ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นรากของปัญหาที่หยั่งลึกฝังรากในสังคมไทยมานาน ที่ไม่ใช่เพียงเป็นปัญหาของระบบการศึกษาแต่ยังหมายถึงคุณภาพของคนในประเทศด้วย จากจุดเล็ก ๆ ที่สังคมมองข้ามการมีความสุขในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ละเลยการช่วยพวกเขาค้นหาตัวตนความชอบความถนัดของตนเอง 
ดร.สุวิต ศรีไหม หรือพ่อโอ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง The Little Unicorn House
พ่อโอสะท้อนให้เห็นว่าผลที่ตามมาก็คือเรามีคนครึ่งๆกลางๆอยู่ค่อนประเทศ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรจึงไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่จุดสูงสุดในเส้นทางนั้นได้ และอีกปัญหาคือค่านิยมที่สังคมมักยกย่องคนไม่กี่อาชีพ หมอหรือไม่ก็วิศวกร คนเรียนเก่งส่วนมากมักจะเลือกเพียงสองอาชีพนี้ ทำให้เอาชีพอีกจำนวนมากก็ถูกด้อยค่าว่าเป็นอาชีพชั้นสอง ปัญหาเหล่านี้ได้ถูกนำมาเป็นฐานในการวางแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ด้วย
การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้โรงเรียนทั่วประเทศปรับกระบวนการเรียนจากออนไซส์ในห้องเรียน มาสู่การเรียนแบบออนไลน์ ครูและนักเรียนสื่อสารกันผ่านหน้าจอ สิ่งที่มาพร้อมกับการเรียนออนไลน์ก็คือความเครียดที่เริ่มสะสมทั้งตัวเด็กและทุกคนในบ้าน ผู้ปกครองบางส่วนเริ่มมองเห็นว่าความเครียดอาจเป็นสิ่งขวางกั้นประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ และรวมไปถึงเกิดการตั้งคำถามถึงวิชาการต่างๆ ที่สอนกันในโรงเรียนนั้นจะช่วยเด็กๆ ให้สามารถเอาตัวรอดในโลกอนาคตได้หรือไม่ จะสามารถพาเด็กๆไปถึงจุดสูงสุดตามที่เขาคิดฝันได้หรือไม่ เหล่านี้คือคำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของแนวคิดการก่อตั้ง The Little Unicorn House โรงเรียนทางเลือกขนาดจิ๋วที่ผู้ปกครองที่มีกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้น

วิชาพ่อแม่ การเรียนรู้ที่พ่อแม่ช่วยกันออกแบบ

โรงเรียนจิ๋วจะก่อตั้งขึ้นจากพ่อแม่ 13 ครอบครัวที่มีแนวคิดทางการศึกษาในแนวทางเดียวกันแล้ว พ่อ แม่ ก็ยังมีบทบาทในการออกแบบการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นครูผู้สอนด้วย ในรายวิชาที่ชื่อว่าวิชาพ่อแม่ (life skill) เด็ก ๆจะได้เรียนรู้ทักษะอาชีพต่างๆ จากพ่อแม่ซึ่งประกอบอาชีพนั้นเป็นผู้สอนโดยตรง ในเรื่องนี้ ธิปไตย วิริยะการ หรือพ่อเที้ยง ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างภาพ มีรายได้จากการขายภาพออนไลน์ได้กล่าวเสริมว่า

“นอกจากเทคนิคต่างๆในการถ่ายภาพแล้ว เรื่องการสร้างรายได้ วิธีการขายภาพออนไลน์ เราก็สอนเด็กด้วย เอารายได้มากางให้ดูเลยว่ามันมีรายได้เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง คือเราไม่ได้ตั้งเป้าว่าเด็กต้องทำได้อย่างเรา สำคัญคือเด็กๆจะได้รู้จักอาชีพที่หลากหลาย เขาจะได้ทางเลือกว่าอันไหนที่เขาชอบ เมื่อถึงเวลาเขาเลือกได้ว่าจะเดินไปทางไหน สมัยเราจบม.6แล้วยังไม่รู้เลยว่าจะเรียนต่ออะไร ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรด้วยซ้ำ มันเคว้ง เราก็เลยไม่อยากให้ลูกเป็นเหมือนเรา ก็นำสิ่งเหล่านี้มาสอนให้เขาได้เรียนรู้ขณะที่เขายังอยู่ประถมนี่แหละ มันช่วยให้เขาค้นหาตัวเองได้”

ธิปไตย วิริยะการ
ธิปไตย วิริยะการ หรือพ่อเที้ยง

นอกจากจะได้เรียนรู้อาชีพที่หลากหลายแล้ว ประสบการณ์จากการลงมือทำก็ช่วยเพิ่มพูนทักษะการเป็นผู้ประกอบการอีกด้วย ซึ่งหากเด็กๆ มีความสนใจในด้านใด ผู้ปกครองรวมทั้งคุณครูก็จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ ซึ่งพ่อโอได้กล่าวเสริมอีกว่า

“ที่จริงแล้วทุกอาชีพมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล คนทำร้านอาหาร คนทำขนม คนเก็บขยะ คนกวาดถนน คนทำงานศิลปะ คือทุกคนทุกอาชีพมีคุณค่าเหมือนกัน สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง หรือแม้กระทั่งสร้างความร่ำรวยได้

ในการเรียนการสอนเรื่องนี้ เราก็มีวิชาพ่อแม่ คือพ่อแม่ของเด็กแต่ละคนก็มีอาชีพแตกต่างกัน บางคนก็เป็นหมอฟัน เป็นช่างภาพ เป็นคนทำงานไอที เป็นต้น ซึ่งพ่อแม่ก็จะเอาความรู้หรือทักษะอาชีพที่ตัวเองถนัดนำมาเป็นบทเรียนสอนลูกๆ เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ทักษะอาชีพที่หลากหลาย และนอกจากเรียนในภาคทฤษฎีเด็กๆก็จะได้ลงมือทำด้วย ก็จะได้ประสบการณ์การเรียนรู้ด้วย

ดร.สุวิต ศรีไหม

เตรียมความพร้อม รับมือโลกอนาคต

เป้าหมายใหญ่ 3 เรื่องที่โรงเรียนจิ๋วจะต้องเตรียมเด็กๆให้พร้อมรับมือโลกอนาคต

  1. เด็กต้องมีศักยภาพในระดับโลก ต้องมีความรู้วิชาการที่ดีพอที่จะไปเรียนต่อในระดับนานาชาติได้ ต้องมีทักษะชีวิตที่ดีพร้อมที่จะใช้ชีวิตที่ไหนก็ได้ในโลก
  2. ช่วยให้เด็กๆสามารถเห็นและค้นพบตัวตนของตัวเอง ช่วยผลักดันให้เขาไปถึงจุดสูงสุดของชีวิตได้
  3. เด็กสามารถคิดวิเคราะห์และตัดสินใจในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม การตัดสินใจที่ดีจะนำพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงามได้
เมื่อวางเป้าหมายในระดับโลก จึงจำเป็นต้องวางพื้นฐานสำคัญโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและเทคโนโลยี ทีนี่เด็ก ๆ จะได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสารทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งลักษณะการเป็นกลุ่มที่มีเด็กหลายวัยในกลุ่มเดียวกัน พี่จะช่วยดูแลน้อง เด็กใหม่ที่ยังไม่ชำนาญการใช้ภาษาก็จะมีพี่ ๆ เพื่อน ๆ คอยฝึกฝนให้ ด้วยวิธีการยืดหยุ่นผ่อนคลายนี้กลับช่วยให้เด็กมีพัฒนาการการใช้ภาษาอังกฤษก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อใช้ภาษาอังกฤษได้โลกของการเรียนรู้ก็กว้างใหญ่ขึ้น
ในด้านเทคโนโลยี เด็ก ๆ จะได้เริ่มเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ โดยเฉพาะวิชาโค้ดดิ้ง(coding) หรือการเขียนโปรแกรม เริ่มต้นจากการเขียนโค้ดง่าย ๆ แล้วพัฒนาไปสู่การเขียนโค้ดที่ยากและซับซ้อนขึ้น โดยในกระบวนการเรียนรู้เด็กจะเป็นผู้กำหนดโจทย์ตามที่ตัวเองสนใจ และมีครูคอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ตัวอย่างเช่นเด็กเล็กบางคนสนใจเกมส์ ก็เขียนโค๊ดเกม XO ให้เพื่อน ๆ ลองเล่น เด็กบางคนที่สนใจการทำเกษตรก็ประยุกต์กับวิชาโค้ดดิ้งโดยการเขียนโค้ดสั่งการโดรนบินพ่นปุ๋ยและโปรยเมล็ดพันธุ์ในระยะไกล หรือมีเด็กที่ชอบกีฬากอล์ฟก็คิดค้นเครื่องตั้งลูกกอล์ฟ เป็นต้น

นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังมีโอกาสนำความรู้ในวิชานี้ไปถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ ในโรงเรียนประถมใกล้เคียง โดยที่เด็กจะเป็นผู้ออกแบบบทเรียนและวางแผนการสอนด้วยตัวเอง และรวมไปถึงกระบวนการเรียนการสอนตลอดทั้งกิจกรรมด้วย

สิ่งที่ได้จากการเรียนวิชาโค้ดดิ้งนี้ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นตรงกันว่าเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคตที่จะมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น การที่เด็ก ๆ มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องนี้พวกเขาสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์แอปพลิเคชั่นที่ตอบสนองการใช้ชีวิตแบบต่าง ๆ ของผู้คนได้ และสิ่งสำคัญอีกอย่างของการเรียนโค้ดดิ้งก็คือเด็ก ๆ จะได้ฝึกการวางแผน ฝึกคิดอย่างเป็นระบบมีเหตุมีผล ฝึกการหาสาเหตุของปัญหาและแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่จะช่วยหนุนเสริมการเรียนรู้และการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้

เรียนด้วยการลงมือทำ สร้างประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย

การออกแบบกระบวนการเรียนที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองได้ร่วมกันออกแบบ ซึ่งนอกจากวิชาการที่ต้องเรียนเหมือนกันกับโรงเรียนในระบบอย่างวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์แล้ว ที่นี่ยังมีวิชาแปลกๆที่ไม่คุ้นหู อย่างเช่น วิชาพ่อแม่ (life skill) วิชามายด์ลิตเติ้ลโปรเจค (My little project) วิชา Stream วิชาโค้ดดิ้ง (Coding) รวมถึงมีกิจกรรมที่เด็กๆจะได้ฝึกการพูดในที่ประชุมชน (The little talk) ซึ่งวิชาหรือกิจกรรมเหล่านี้ได้ช่วยให้เด็กได้ค้นหาความชอบของตัวเอง พ่อโอเล่าว่า

มายด์ลิตเติ้ลโปรเจค (My little project ) ก็จะเป็นวิชาที่เด็กเค้าจะได้ทำโปรเจคตามที่เค้าสนใจ จะเป็นอะไรก็ได้ เด็กบางคนทำโปรเจคไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละเทอม เทอมก่อนทำเรื่องหนึ่ง เทอมต่อมาทำอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกันเลยก็มี คือเค้ากำลังค้นหาตัวเอง เด็กบางคนพอเจอสิ่งที่ตัวเองชอบเค้าจะทำเรื่องเดิมแต่ต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆ และที่นี่เรามีแนวคิดหลักในการเรียนรู้(Motto)คือ“Make Things Happen” เพราะเราต้องการให้เด็กเป็นนักสร้างมากกว่านักเสพ วิชานี้เราจะเห็นความเป็นนักสร้างสรรค์ในตัวของเด็กๆ เขาจะได้ฝึกการค้นคว้าข้อมูล การวางแผนการทำงาน การลงมือทำ การคิดวิเคราะห์ การเผชิญกับปัญหาและการแก้ปัญหาวิชานี้วิชาเดียวเราจะเห็นเลยว่าเด็กๆมีศักยภาพมาก แม้ว่าเขาจะอายุเพียง9 ขวบหรือ10 ขวบก็ตาม

ดร.สุวิต ศรีไหม
นักเรียนนำเสนอวิชา My little project

ขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ได้สะท้อนคุณภาพการศึกษาเสมอไป

The Little Unicorn House ถูกเรียกว่าเป็นโรงเรียนจิ๋ว นั่นก็เป็นเพราะว่าในช่วงการก่อต้องโรงเรียนนั้นมีจำนวนนักเรียนเพียง 19คนจาก 13 ครอบครัวเท่านั้น ซึ่งทุกคนก็เห็นพ้องว่าเป็นขนาดที่เล็กพอดีกับการเริ่มต้นทดลองสิ่งใหม่และพอเหมาะกับการที่ครูจะสามารถเอาใจใส่เด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด สามารถติดตามพัฒนาการของเด็กเป็นรายบุคคลได้
ธารทิพย์ หวังมุฑิตากุล หรือแม่อ้อย
ในขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กของรัฐจำนวนมากถูกยุบหรือควบรวมเข้ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ ตามนโยบายการบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยเหตุผลสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนและลดภาระค่าใช้จ่ายบุคคลากรและการบริหารจัดการ 

The Little Unicorn House ซึ่งถ้าหากว่ากันตามขนาดหรือจำนวนนักเรียนแล้วก็อาจไม่ผิดที่จะเรียกว่าโรงเรียนจิ๋วเพราะอาจเล็กกว่าโรงเรียนขนาดเล็กของรัฐเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งเด็กนักเรียนของโรงเรียนจิ๋วต่างก็เคยเป็นนักเรียนในสังกัดโรงเรียนขนาดใหญ่มาก่อนเสีย ดังนั้นคุณภาพการศึกษาอย่างที่รัฐมอง กับสิ่งที่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิ๋วเห็นน่าจะเป็นคนละมุมคนละภาพกันอย่างที่ธารทิพย์ หวังมุฑิตากุล หรือแม่อ้อยกล่าวทิ้งท้ายว่า

“เราคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว เราไม่ได้มองแค่ในปัจจุบัน เราต้องมองไปที่อนาคตด้วยว่าโลกมันจะเป็นอย่างไร ต่อไปเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่จำเป็น จะมีAIเข้ามามีบทบาทในทุกๆ เรื่องมากขึ้น เราก็อยากจะเตรียมลูกให้พร้อมรับมือ ที่นี่เด็ก ๆจะได้เรียนรู้หลากหลาย เด็กจะได้รู้กว้าง มีทักษะหลากหลายทั้งทักษะชีวิตและทักษะวิชาการ”

ภาพและเรื่องราวโดย เมธาปวัฒน์ เชิงทวี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ