เก็บความจากวงคุย: การเมืองแห่งความอาทร ‘วิกฤตผู้ลี้ภัย’ ในเอเชียและยุโรป

เก็บความจากวงคุย: การเมืองแห่งความอาทร ‘วิกฤตผู้ลี้ภัย’ ในเอเชียและยุโรป

รายงานโดย: อัสมีนี แวสมาแอ

หลังจากที่มีการแชร์ภาพกระหน่ำกันทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค เด็กชาย อัยลาน คูร์ดิ หนึ่งในชาวซีเรีย 13 คน ที่อพยพมายังประเทศตุรกี และเกิดเรืออับปางกลางทะเล ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สื่อทั่วโลกต่างมองว่าเหตุการณ์นี้เป็น ‘ภาพโศกนาฏกรรมที่แท้จริงของวิกฤตผู้อพยพ’ แต่อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่น่าสลดใจคือประชากรทั่วโลกเพิ่งตื่นตัวกันถึงปัญหาของผู้ลี้ภัย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นมานานแล้ว

20152009044656.jpg

เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น และกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นปัญหาผู้อพยพว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมที่ต้องช่วยเหลือกัน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส จัดเสวนา การเมืองแห่งความอาทร : วิกฤตผู้ลี้ภัยในเอเชียและยุโรป เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2558

โรยทราย วงศ์สุบรรณ อดีตเจ้าหน้าที่ International Rescue Committee (IRC) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาว่า ผู้ลี้ภัย มีคำจำกัดความเฉพาะว่า เป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศตัวเองไม่ได้แล้ว และต้องการความคุมครองจากประเทศอื่น อาจโดยเหตุผลจากการถูกประหัตประหารหรือตกอยู่ในภัยสงคราม จริงๆ แล้วพลเมืองทุกคนก็อยากอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย อยากตื่นขึ้นมาแล้วสามารถประกอบอาชีพสุจริตของตัวเองได้ แต่กลุ่มผู้ลี้ภัยคือกลุ่มคนที่ในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่เดิมมีความเป็นอันตราย และรัฐบาลก็ไม่สามารถคุมครองเขาได้ 

ประเทศไทยเองก็เคยมีประวัติศาสตร์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมา ตั้งแต่สงครามเวียดนาม อินโด-จีน จริงแล้วเราก็เคยได้ยินคำว่า ผู้ลี้ภัยทางเรือตั้งแต่ตอนนั้น ส่วนเรื่องกฎหมายในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐบาลได้ยินคำว่า ผู้ลี้ภัย หรือมีกลุ่มคนที่ต้องการขอความคุ้มครองต่อประเทศไทย ก็จะจัดการโดย 1.พิจารณาว่า คนๆ หนึ่งอ้างว่าเขาอยู่ในประเทศไม่ได้ หนีภัยจากประเทศตัวเอง อาจเป็นจากสงคราม ประหัตประหารนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ 

2.เมื่อผู้หนีภัยจากประเทศตัวเองได้รับสถานะแล้ว ก็จะให้ไปอยู่ในที่พักพิงอาศัยชั่วคราว เพราะ ประเด็นช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นการเมือง มันไม่เหมือนประเด็นช่วยเหลือมนุษยธรรมอย่างอื่น ที่เกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ คนที่กลายเป็นผู้ลี้ภัย เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ โดยเหตุผลของการเกลียดชังก็ตาม หรือโดยเหตุผลการไม่มีทางออกทางเมือง

หลักการสำคัญในการดูแลผู้ลี้ คือ จะต้องไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปสู่ภัยที่จะทำให้เขาเสียชีวิต หรือบาดเจ็บอีกครั้งหนึ่ง สภาพภายในค่ายของผู้ลี้ภัยในทางกฎหมาย ขึ้นอยู่ในแต่ละประเทศที่เขาจะรับ โดยใช้หลักเดียวกัน 

ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยสถานการณ์ที่เราเห็นในโทรทัศน์ในขณะนี้ ในรูปพูดกันถึงเรือของผู้อพยพซีเรียที่เสียชีวิต ถ้าเราดูรูป ปีที่แล้วก็จะเป็นรูปของชาวโรฮิงยาที่มีสถานการณ์เดียวกัน มีผู้คนจำนวนมากเดินทางมาซึ่งเราไม่รู้ว่ามีชีวิตหรือเสียชีวิตเพราะข่าวไม่ได้โชว์ให้เราดู แต่เราจะเห็นว่าท่าทีตอบสนองของรัฐก็ต่างกันไป อย่างของบ้านเราก็พยายามอธิบายว่าจะให้ข้าว ให้น้ำ เติมน้ำมันเรือให้เต็มที มากกว่าจะยอมให้ขึ้นฝั่ง ตอนนี้ในกรณีของไทย เราอธิบายว่าประเทศไทยไม่ได้รับรองรับผู้ลี้ภัย ฉะนั้นเราจะไม่ใช้คำว่าค่ายผู้ลี้ภัย แต่จะใช้คำว่า ที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบ 

เราจะเห็นได้ว่าในอดีตช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยจะมีท่าทีต่อผู้หนีภัยสงคราม ที่แตกต่างจากในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นกระแสในการอธิบายทางเศรษฐกิจ ในแง่บริบทปัจจุบันหรืออย่างน้อยที่สุดถ้าเทียบ ปีนี้ 2015 กับ เมื่อปี 2010 ซึ่งพม่ามีการเลือกตั้ง สิ่งที่เราเห็นชัดเจนก็คือบริบทในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ท่าทีของรัฐไทยต่อผู้หนีภัยสงครามมันเปลี่ยนไปแล้ว เช่น พยายามจะสนับสนุนให้กลับประเทศ

ส่วนสภาพค่าย เรามีวิธีคิดคือ นี่เป็นที่พักพิงชั่วคราว หลักการแรกคือ ห้ามขยายพื้นที่ ห้ามใช้วัสดุที่เป็นถาวร แปลว่าต้องใช้ไม้ไผ่ทุกปี จะต้องไม่มีถนนราดยาง และห้ามใช้มือถือ เพราะจะมีการส่งสัญญาณ และจะแบ่งเป็นโซน อพยพมารุ่นแรกจะอยู่โซนนี้ อพยพมารุ่นที่สองจะอยู่โซนนี้ ในช่วงหลังยิ่งมีความพยายามจะยุบค่าย และทำเป็นค่ายขนาดใหญ่ขึ้นให้เหลือจำนวนน้อยลง ก็จะมีการตั้งโซนเพิ่มขึ้น และภายในโซนนั้นจะมีผู้ลี้ภัยทำหน้าที่ในลักษณะผู้ดูแลที่อยู่ในนั้นเอง ในแง่สวัสดิการก็เป็นการสนับสนุนขององค์กรระหว่างประเทศ โดยที่ฝ่ายความมั่นคงไทยเป็นผู้แล มีอาสาสมัครป้องกันตนเอง มี อส.ดูแลในพื้นที่

ในแง่การส่งกลับ ถูกอธิบายว่า ให้มีการส่งกลับ เมื่อพื้นที่ตรงนั้นมีการหยุดยิงอย่างเป็นทางการ 

ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว ว่า จริงๆ ตอนนี้เราอยู่ในสังคมโลกที่ปัญหาสงคราม ปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ในประเทศหนึ่งๆ มันส่งผลกระทบถึงเราทั้งหมดและมันข้ามพรมแดน วิกฤตของผู้ลี้ภัยก็เป็นตัวอย่างอย่างหนึ่งว่า ปัญหาสงครามดูเหมือนมันเกิดในอาณาบริเวณแคบๆ หรือหลายครั้งเกิดขึ้นในบริเวณของรัฐๆ หนึ่ง มันสามารถส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นคู่กรณีสงครามด้วย

ประเด็นที่อยากจะพูดมี 3 เรื่อง คือ หนึ่ง วิกฤตผู้ลี้ภัย อย่างที่เราได้เห็นตั้งแต่ ทศวรรษ 90 เป็นต้นมา จนถึงทุกวันนี้เป็นผลจากสงคราม

สอง สงครามนี้เป็นสงครามที่ไม่ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของพรมแดนรัฐชาติ มันเป็นสงครามที่นักวิชาการควรเรียกว่า สงครามใหม่ เริ่มจาก ช่วงทศวรรษ 90 เกิดกระแสมีผู้อพยพเป็นจำนวนมาก พอมาถึงหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่เราเพิ่งร่วมฉลองครบรอบ 14 ปีนั้น มันเปลี่ยนจากที่เรียกว่าเป็น ‘สงครามใหม่’ กลายเป็น ‘สงครามแบบผสม’ คือเป็นลักษณะสงครามทางรูปแบบเก่า ส่งครามระหว่างรัฐชาติผสมกับสงครามที่ข้ามพรมแดนรัฐชาติ

ทีนี้ เกิดอะไรขึ้นในช่วงทศวรรษ 90 และเป็นที่มาของแนวคิดเรื่อง ‘สงครามใหม่’ ได้อย่างไร สงครามในช่วงทศวรรษ 90 เป็นสงครามแบบที่มีการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ คือผู้ที่อพยพเข้ามาเป็นเพราะเขาเปลี่ยนตัวตนของเขาไม่ได้ หลายคนเป็นชนกลุ่มน้อย ที่นี้ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ทางศาสนาพวกนี้ มันข้ามพรมแดน เพราะฉะนั้นมันกลายเป็นว่าพรมแดนรัฐชาติมันแบ่งไม่ได้ ทำให้พรมแดนรัฐชาติมันถูกกัดกร่อนด้วยสาเหตุเช่นนี้

เหตุการณ์ที่เกิดในไทยกับในยุโรป จริงๆ แล้วมีความคลายคลึงกันมาก เหตุการณ์ในซีเรียจึงเป็นภาพสะท้อนในลักษณะ ‘สงครามแบบผสม’ ที่หลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา เราจะเห็นสงครามที่แบบผสมสองลักษณะ คือเราจะเห็นการกลับมาของความขัดแย้งและการทำสงครามระหว่างรัฐ ซึ่งก่อนทศวรรษ 90 มันหายไประยะหนึ่ง พอหลัง เหตุการณ์ 9/11 สหรัฐอเมริกาตัดสินใจเข้ารุกราน อัฟกานิสถาน และอิรัก ที่นี่ในซีเรีย เป็นสงครามที่เกิดขึ้นมาจากอาหรับสปริง ในปี 2007 และตราบใดที่สงครามซีเรียยังอยู่ คนพวกนี้ก็จะเข้ามาเคาะประตูหน้าบ้านตลอด เช่นเดียวกัน กับพม่า จีน เพื่อพักพิง เข้ามาอยู่อาศัย 

และสาม การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอาจจะต้องเชื่อมโยงให้เห็นว่าความมั่นคงของผู้ลี้ภัย จริงๆ คือความมั่นคงแห่งชาติของเราด้วย เพราะถึงแม้เราจะเห็นแก่ตัวจนถึงที่สุด เราก็บอกว่าความมั่นคงของชาติเรา ขึ้นอยู่ความกินดีอยู่ดี ความมีชีวิตที่ปลอดภัยของคนในชาติเราเท่านั้น แต่กำลังจะบอกว่า ถ้าเราใส่ใจปัญหาของผู้ลี้ภัย เราอาจจะช่วยปกปักษ์รักษาความมั่นคงของชาติเราได้ด้วย เพราะปัญหาเวลาผู้ลี้ภัยมาเกาะรั้วจะส่งผลต่อการสร้างความมั่นคงของเราอย่างใหญ่หลวง

“ดิฉันอยากชวนให้ฝ่ายรัฐ และคนที่คิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ลองคิดดูว่า ถ้าเราตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเผชิญสงครามกลางเมืองทุกวี่วัน เรายังจะอยู่ไหม ลองจำลองตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์นั้น” ดร.จันจิรากล่าว 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โจทย์เรื่องผู้ลี้ภัยในสังคมไทยและการเมืองแห่งความอาทรมันสัมพันธ์กับ 3 เรื่องที่ใหญ่มาก ซึ่งได้เรียนรู้จากหลายท่านก็คือเรื่องของมายาคติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เช่น คงต้องเข้าใจได้แล้วว่าตอนนี้ในกฎหมายผู้ลี้ภัยกับกฎหมายสัญชาติมันคนละอันกัน อันนี้ก็เรื่องใหญ่ และที่บอกว่าผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในที่สุดจะทำให้เศรษฐกิจเราล่มจมนั้นไม่จริง เพราะข้อเท็จจริงมันก็ปรากฏอยู่ว่าเขาทำให้เกิดรายได้ของของประเทศผ่านจีดีพีปีหนึ่งก็ไม่น้อยทีเดียว

ในเรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญของการทดสอบความเอื้ออาทร ส่วนตัวเชื่อตลอดมาว่า วิธีดูว่าความเอื้ออาทร ความเมตตาในตัวมนุษย์ขึ้นหรือลง มันไม่ได้อยู่ที่เราดีกับคนที่เหมือนเรา แต่มันอยู่ที่เราดีกับคนที่ต่างจากเรา วิธีที่เราดูแลคนในครอบครัวเรามันไม่บอกอะไรเกี่ยวกับเราเท่าไหร่หรอก แต่มันบอกมากเวลาเราดูแลคนแปลกหน้าอย่างไร โดยเฉพาะคนแปลกหน้าที่ลี้ภัยมา สิ่งนั้นมันบอกว่าเราเป็นอย่างไร 

“ผมคิดว่าการเมืองความเอื้ออาทรมันสำคัญ เพราะในที่สุดแล้วมันจะบอกว่าเราอยู่ตรงไหน และจะเผชิญความท้าทายของโลกในอนาคตได้มากน้อยแค่ไหน” ศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ