“อีสาน จะหวานหรือขม ?” คำถามถึงอุตสาหกรรมน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

“อีสาน จะหวานหรือขม ?” คำถามถึงอุตสาหกรรมน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ณ กุมภาพันธ์ 2566 ระบุ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลรวม 22 แห่งกระจายใน 13 จังหวัด คือ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ หนองบัวลำภู เลย สกลนคร และอำนาจเจริญ

ทุ่งกุลาร้องไห้ ต.โนนสวสรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด คือส่วนหนึ่งของพื้นที่เป้าหมายการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย)  ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (ผส.) ตามขั้นตอน

ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ดำเนินโครงการได้มีการรวมกลุ่มและเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งการสนับสนุน การมีส่วนร่วม และความกังวลใจ พร้อมทั้งขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน หากมีการดำเนินโครงการในพื้นที่ตามแผน เนื่องจาก ต.โนนสวสรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เป็นแหล่งเพาะปลูกและผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดร้อยเอ็ด

“โรงงานน้ำตาลกับแผ่นดินอีสานบ้านเฮา หวานหรือขม ?”

วงโสเหล่ออนไลน์โดยเครือข่ายกองบรรณาธิการไทอีสานพีบีเอส ผ่านแฟนเพจ อยู่ดีมีแฮง คืออีกพื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่อให้เสียงของชุมชนถูกสื่อสารสาธารณะในวงกว้าง ผ่านการสนทนาออนไลน์ของ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมภาคอีสานและ หนูปา แก้วพิลา เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งดำเนินการสนทนาโดย สุมาลี สุวรรณกร เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หนูปา แก้วพิลา เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา

“สาเหตุที่เราออกมาคัดค้านโรงน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล มีความกังวล คือพื้นที่ส่วนใหญ่ของเราเป็นพื้นที่เหมาะแก่การปลูกข้าวหอมมะลิ เป็นข้าว GI เป็นมูนมังสมัยปู่ย่าตายาย…” หนูปา แก้วพิลา เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เล่าถึงความกังวลต่อการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ “บรรพบุรุษของเราที่สืบทอดกันมา แล้วเราก็ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาถึงวันหนึ่งที่ได้รับจดทะเบียน GI ของพื้นที่ทุ่งกุลาฯ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย กับแผนที่รัฐส่งเสริมสร้างโรงงานในพื้นที่ของอีสาน ซึ่งบ้านเราก็ได้รับผลกระทบ เราเป็นห่วงเกี่ยวกับข้าว GI  เราถ้าหากว่ามีโรงงานตรงนี้ทำให้ข้าว GI ทุ่งกุลาอาจจะหายไป เพราะเราคิดว่าข้าว GI สามารถที่จะพัฒนาได้ดีกว่านี้ ถ้ารัฐสนใจส่งเสริมให้มีมูลค่าเป็นรายได้ให้พี่น้องลืมตาอ้าปากได้  เราได้มองเห็นว่าถ้าหากโรงงานมาอาจจะมาบีบพื้นที่ทำให้ข้าวของเราหายไป”

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

“ตอนนี้สถานการณ์ที่ถูกคุกคามในภาคอีสานคณะรัฐบาลออกมติ ครม. เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่มีกลุ่มทุนอยู่แค่ไม่กี่กลุ่มได้สามารถขยายกำลังผลิตโรงงานเดิม และขยายฐานการผลิตไปพื้นที่ใหม่ได้อีก ซึ่งพื้นที่เป้าหมายอันดับหนึ่งเป็นพื้นที่อีสาน เนื่องจากว่าถูกมองว่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่เป็นนาน้ำฝนมาก อยากเปลี่ยนตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า มันเลยมีประเด็นคุกคามเยอะ ไม่ว่าจะเป็นที่ปทุมรัตต์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เป้าหมายของโรงงานอ้อย โรงงานใหม่ ๆ” เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักเคลื่อนไหวนักพัฒนาที่ติดตามประเด็นสิ่งแวดล้อมภาคอีสานกว่า 30 ปี เล่าถึงสถานการณ์โรงงานน้ำตาลในอีสาน

อ้อยพืชเศรษฐกิจ

“พืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย นี้ตอบโจทย์ในการลดพื้นที่ปลูกข้าวของชาวนาชาวไร่ อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ค่อนข้างก้าวหน้ากว่าพืชอื่น ๆ รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนวางยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบใหม่ เพื่อทำให้อ้อยเกิดความต่อเนื่องมากกว่าการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาล เนื่องจากว่าตอนนี้อุตสาหกรรมอ้อยสามารถต่อยอดไปถึงเชื้อเพลิงชีวภาพและพวกเคมีชีวภาพได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเอทานอล หรือโรงไฟฟ้าชีวมวล และเกี่ยวข้องกับนโยบายพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหลาย ต่อไปนี้พวกชานอ้อยจะนำไปเป็นวัตถุดิบเอทานอลในอุตสาหกรรมพลังงาน เอาไปผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ มันเลยเป็นแรงจูงใจอย่างสูงที่ทำให้พืชเศรษฐกิจชนิดนี้มันกำลังคุกคามในแผ่นดินอีสานอยู่อย่างรุนแรง

การผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยเพื่อไปต่อยอดธุรกิจมากกว่าน้ำตาล คือ เรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพมันมากับวาทกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกอย่าง Bio Hub ต่อยอดไปที่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ BCG ที่รัฐนำเสนอการประชุมเอเปกที่ประชุมที่ผ่านมานี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไปตอบโจทย์เรื่องแนวทางการพยายามลดโลกร้อน เพื่อไม่ต้องการให้สภาพภูมิอากาศของโลกมันเกิดความปั่นป่วน”  เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เล่าต่อถึงสิ่งที่อาจจะตามมากับการจัดตั้งโรงงานน้ำตาล ภายใต้วาระแห่งชาติโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio -Circular -Green Economy) การพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม เพื่อที่จะมาช่วยหนุน GDP ของประเทศให้โตเพิ่มขึ้น ซึ่งในภาคอีสานที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่นำร่อง ประกาศเป็น“เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร” หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของการเป็น Bio Hub ของอาเซียน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ภายในปี 2570 และตั้งแต่ปี 2558 ก็มียุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี 2558-2569 ในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ยังตั้งคำถามกับการทำงานของโรงงานพลังงานชีวมวลที่อาจเป็นช่องโหว่ในการนำถ่านหินเข้ามาเป็นพลังงานหมุนเวียนแทนการใช้ชานอ้อย “ส่วนเรื่องชีวมวลอันนี้น่าสนใจ คำถามใหญ่ ๆ ของเราคือว่าโรงงานชีวมวล พลังงานทางเลือกมันเปิดช่องให้ สมมุติว่าวัตถุดิบที่เป็นชีวมวลไม่พอ สมมุติถ้าเป็นชานอ้อย กากอ้อย  พลังงานทางเลือกมันเปิดช่องให้นำถ่านหินเข้ามาเป็นทางเลือกได้ หรือแม้กระทั่งอะไรที่เผ่าไหม้ได้อย่างยางรถยนต์เก่า ๆ ก็เปิดช่องให้เอามาใช้ได้ 10-15%  อันนี้ก็เป็นข้อกังวล อุตสาหกรรมชีวมวลเหล่านี้ มันไม่ได้มาเพียงแค่ว่าทำให้ของเหลือใช้เป็นศูนย์”

คำถามกระบวนการทำ EIA


ภาพ:ชมรมคนรักษ์โนนสวรรค์

“กระบวนการทำ EIA ในสังคมไทยยังไม่ก้าวหน้าแทนที่จะเป็นกระบวนการมาเก็บข้อมูลเพื่อไปทำวิจัย คิดประเมินเรื่องผลกระทบด้านเรื่องน้ำ เรื่องดิน ชีวิตคน  คุณภาพสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ อะไรต่าง ๆ แทนที่จะใช้วิชาความรู้สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนโดยไม่ต้องสนใจเรื่องการแบ่งฝ่าย

แต่กระบวนการทำ EIA ของสังคมไทยทุกที่ ไม่เฉพาะที่นี่ เป็นกระบวนการเกณฑ์คนเข้ามาในพื้นที่รับฟังความคิดเห็น พยายามที่จะเกณฑ์คนจูงใจมานั่งให้เต็มโดยไม่สนใจความคิดเห็น มันทำให้เหตุผลคำถามตกเป็นรองเลย เป็นการเมืองเรื่องเกณฑ์คนเข้ามา มันก็ผิดเจตจำนงค์ เวทีรับฟังความคิดเห็นต้องเปิดกว้างอย่างมากไม่ต้องกังวลว่าจะมีผู้เห็นแย้งเห็นต่าง กระบวนการเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจกันให้มากขึ้นได้อย่างไร 

โรงงานยังไม่เกิดก็มีการทำลัดขั้นตอนไปซื้อที่ดินไว้ก่อนทำ EIA  ซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงาน ซื้อที่ดินเพื่อปลูกอ้อย สร้างทั้งโรงงานอ้อย  โรงไฟฟ้าชีวมวลแล้ว ซื้อไว้แล้วหลายร้อยล้านหลายพันล้าน มันเลยเป็นแรงบีบคั้นให้กับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ว่าถ้าไม่พิจารณา EIA  ถ้าไม่เห็นชอบ EIA จะทำให้บริษัทขาดทุน  แทนที่กระบวนการเหล่านี้สมควรมาทีหลัง

กระบวนการแรกต้องสร้างความรู้ความเข้าใจก่อน ว่าผลประโยชน์อ้อยน้ำตาล ผลประโยชน์ที่ต่อยอดจากอ้อยน้ำตาลเรื่องชีวมวล  ชีวภาพต่าง ๆ มันจะเป็นผลประโยชน์ รายได้ มันจะเป็นภาษีเป็นอะไรให้ท้องถิ่นได้พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างไร มันจะทำให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมกับการผลักดัน การเห็นชอบโรงงานนี้อย่างไร

แต่ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในการทำ EIA ของสังคมไทย  มันเลยทำให้เกิดความโกธรแค้น เกลียดชัง ทำให้เกิดความไม่ชอบธรรมในเรื่องเหล่านี้ จริง ๆ พี่น้องชาวบ้านคัดค้านอยู่นี้ อาจจะไม่ได้สนใจในแง่มุมเรื่องระบบนิเวศ การสูญเสียอาชีพ  แต่เพียงแค่กระบวนการที่ได้รับโดยไม่ชอบ ลักษณะ ท่าที พฤติกรรม ซึ่งคิดว่าก็ควรพูดในด้านเรื่องใหญ่ของพื้นที่ตรงนั้น เรื่องการปฏิรูปกฎหมาย สิ่งแวดล้อม เรื่องกระบวนการพิจารณา EIA, SEA ต่าง ๆ สมควรที่จะต้องใช้องค์กรอิสระเข้ามาเกี่ยวข้อง คงไม่สามารถตรงอยู่ในสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้อีกต่อไปแล้ว” เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เน้นย้ำถึงกระบวนการทำ EIA เพื่อประเมินผลกระกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านในการจัดตั้งโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับคนในพื้นที่ เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชน

จากการรุกคืบของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในผืนดินอีสานที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมสู่ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบพืชเชิงเดี่ยวซึ่งอาจจะยากต่อการควบคุมมลภาวะและการถูกแย่งชิงทรัพยากร นับเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ชาวบ้านในพื้นที่แสดงความกังวล ต่อข้อท้าทายของชาวบ้านในหลาย ๆ พื้นที่ที่กำลังแสดงจุดยืนเห็นต่างต่อการการสร้างอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อหวังปกป้องบ้านของพวกเขา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ