เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา เฮ… ผู้ว่าฯ รับดำเนินการแจ้งเลื่อนเวที ค.2 โรงน้ำตาล-ไฟฟ้าชีวมวลทุ่งกุลา

เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา เฮ… ผู้ว่าฯ รับดำเนินการแจ้งเลื่อนเวที ค.2 โรงน้ำตาล-ไฟฟ้าชีวมวลทุ่งกุลา

11 กรกฎาคม 66 เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เรียกร้องให้ย้ายพื้นที่ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) และโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลไปตั้งนอกพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ หวั่นกระทบพื้นที่การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้า GI ของชุมชน และคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ค.2) เพื่อประกอบการจัดทำ EIA ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 กรกฎาคม นี้

‘เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา’ ประกอบด้วย สภาองค์กรชุมชนตำบลโนนสวรรค์ สภาองค์กรชุมชนตำบลสระบัว กลุ่มนาแปลงใหญ่อำเภอปทุมรัตต์ นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อยื่นหนังสือและเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงการดำเนินโครงการอุตสาหกรรม โครงการโรงงานผลิตน้ำตาล และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ หลังก่อนหน้านี้ได้มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องเพื่อแสดงเจนตนารมย์ในการปกป้องพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้า GI (Geographical Indication) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการกำลังจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ค.2) เพื่อประกอบการจัดทำ EIA 2 ฉบับ คือ EIA โรงงานผลิตน้ำตาลและ EIA โรงไฟฟ้าชีวมวล ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2566

โดยครั้งนี้ นายทรงพล ใจกลิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะได้ร่วมหารือกับเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาด้วยตนเอง เพื่อรับฟังข้อมูลสถานการณ์รวมถึงข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ คือ 1.ขอให้ย้ายพื้นที่ตั้งโรงงานของบริษัททั้งสองออกไปจากพื้นที่ทุ่งกุลาฯ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการกำหนดพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยในอนาคต และ 2.แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ค.2) เพื่อประกอบการจัดทำ EIA 2 ฉบับ คือ EIA โรงงานผลิตน้ำตาลและ EIA โรงไฟฟ้าชีวมวล ในวันที่ 18 กรกฎาคม นี้ เนื่องจากมองว่า จะมีการเกณฑ์คนเข้าร่วมรับฟังในเวทีเพียงฝ่ายเดียวและกีดกันคนที่เห็นต่างไม่สามารถเข้าร่วมเวที

นายทรงพล ใจกลิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด

ภายหลังการเจรจา นายทรงพล ใจกลิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด รับปากจะแจ้งไปยัง บริษัท สมานฉันท์ กรับใหญ่ เจ้าของโครงการโดยตรง ให้เลื่อนการจัดเวทีฯ วันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ออกไป ส่วนกำหนดวันและสถานที่ที่จะจัดในครั้งต่อไปจะมีการแจ้งอีกครั้ง โดยเน้นให้กระบวนการเป็นไปตามข้อกฎหมายและมีความเป็นกลาง พร้อมจะแจ้งไปยังนายอำเภอปทุมรัตต์ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านวางตัวเป็นกลาง หลังชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเรื่องการเกณฑ์คนเข้าร่วมเวที ค.2 แต่ยังไม่รับเรื่องให้ย้ายโรงงานออกจากพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ โดยให้ข้อมูลว่าต้องมีการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย

ทั้งนี้ พื้นที่ทุ่งกุลาฯดังกล่าว 1,526,302 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตาม ‘ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ทะเบียนเลขที่ สช 50100022 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550  ที่มีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,107,690 ไร่ ประกอบด้วย  จังหวัดร้อยเอ็ด 986,807 ไร่  จังหวัดสุรินทร์ 575,993 ไร่  จังหวัดศรีสะเกษ 287,000 ไร่  จังหวัดมหาสารคาม 193,890 ไร่  จังหวัดยโสธร 64,000 ไร่   ซึ่งมีความสำคัญในการเพาะปลูก ผลิต และส่งออกข้ามหอมมะลิ GI ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ