29 พฤษภาคม 2566 เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ถึงปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ขอให้เพิกถอนท้องที่อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ออกจากบัญชีแนบท้ายประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล เรื่องกำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย พ.ศ.2548 และขอให้ผู้ว่าฯรับฟังความเห็นของประชาชน กรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดงของเอกชนในพื้นที่
ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย พ.ศ.2548 ลงนามโดย นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และในบัญชีแนบท้ายรายชื่อท้องที่ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อย ของประกาศดังกล่าวมีรายชื่ออำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด อยู่ด้วยนั้น
เครือข่ายฮักทุ่งกุลา ประกอบด้วย สภาองค์กรชุมชนตำบลโนนสวรรค์ สภาองค์กรชุมชนตำบลสระบัว กลุ่มนาแปลงใหญ่อำเภอปทุมรัตต์ นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ มีความเห็นว่า บัญชีแนบท้ายประกาศดังกล่าว ขัดต่อความเป็นจริงและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากในปัจจุบันท้องที่อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือข้าวหอมมะลิจีไอ (Geographical Indication) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนั้น ยังขัดต่อเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2566-2570 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งผ่านความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการแปรรูปข้าวหอมมะลิให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การแปรรูปสินค้าเกษตรปลอดภัย และการยกระดับกลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสู่มาตรฐานสินค้าอย่างครบวงจร รวมทั้งการเชื่อมโยงตลาดข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา
เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาจึงเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ณ ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด ขอเรียกร้องต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายสนอง ดลประสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้แทนรับหนังสือ ซึ่งขอให้เพิกถอนท้องที่อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ออกจากบัญชีแนบท้ายรายชื่อ ดังกล่าว
พร้อมกัน เครือข่ายฮักทุ่งกุลาได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดอีก 1 ฉบับ เรื่องการรับฟังความเห็นของประชาชน กรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง ของบริษัท อาหารและเครื่องดื่มร้อยเอ็ด จำกัด โดยมีข้อสังเกตถึง ข้อมูลรายละเอียดอื่น ๆ ซึ่งมองว่าประชาชนยังไม่ได้รับการเปิดเผยให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่งถึง ได้แก่
1.สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ที่ระบุชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล ที่ตั้งสำนักงาน วัตถุประสงค์ของนิติบุคคล
2.แผนผังแสดงสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณโรงงานขนาดเหมาะสมและถูกต้องตามมาตราส่วน
3.แผนผังการติดตั้งเครื่องจักรขนาดเหมาะสมและถูกต้องตามมาตราส่วนพร้อมด้วยรายละเอียดโดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด
4.แบบแปลนอาคารโรงงานขนาดเหมาะสมและถูกต้องตามมาตราส่วนโดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด
5.แบบแปลน แผนผังและคำอธิบายโดยละเอียดแสดงวิธีป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญ ความเสียหาย อันตราย การควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษหรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด
6.เอกสารยินยอมการใช้ประโยชน์ที่ดิน
7.พื้นที่ปลูกอ้อย
เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาแสดงจุดยืนขอคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ซึ่งจัดขึ้นบริเวณอาคารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลโนนสวรรค์ พร้อมเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ขอให้ดำเนินการ ดังนี้
1.สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ดเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโรงงานน้ำตาลทรายแดง ของบริษัท อาหารและเครื่องดื่มร้อยเอ็ด จำกัด
2.สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดจัดเวทีรับฟังความเห็นที่เป็นไปตามหลักการสากล กล่าวคือ มีคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโรงงาน และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เป็นธรรมกับผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งคณะกรรมการรับฟังความเห็นและกระบวนการรับฟังความเห็นต้องมีการปรึกษาหารือและได้รับความเห็นชอบจากเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา
เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ยืนยันว่า การพัฒนาทุ่งกุลาในเขตอำเภอปทุมรัตต์ ต้องยึดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2566-2570 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการแปรรูปข้าวหอมมะลิให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การแปรรูปสินค้าเกษตรปลอดภัย และการยกระดับกลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาสู่มาตรฐานสินค้าอย่างครบวงจร รวมทั้งการเชื่อมโยงตลาดข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา