กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยืนยันแผนฟื้นฟูเหมืองทองคำ จ.เลย ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยืนยันแผนฟื้นฟูเหมืองทองคำ จ.เลย ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดร่วมประชุมแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย พร้อมเสนอให้กำหนดสัดส่วนของคณะทำงานใหม่ โดยเป็นภาคประชาชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

ณ ห้องประชุมภูเรือ ชั้น 4 ณ ศาลากลางจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาตั้งแต่ 09.00-12.00 น.  ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือแนวทางการดำเนินการปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยมีนายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน  

นอกจากนี้ยังมี นายอดิทัต  วะสีนนท์ รองอธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีผู้แทนจากส่วนราชการ อาทิ สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย และที่ว่าการอำเภอวังสะพุง มีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด นักวิชาการ และทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน รวมประมาณ 40 คน เข้าร่วมประชุม

นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงสิ่งที่กังวลในการหาแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าวว่ามีอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่  1. สุขภาพและการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่  2. การสื่อสารด้านข้อมูลต่อชาวบ้านในพื้นที่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น และ 3. การจัดทำแผนปฏิบัติการฟื้นฟู ซึ่งอยากให้การร่างแผนเสร็จสิ้นและมีผลสมบูรณ์

ในส่วนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้มีข้อเสนอในการประชุมครั้งนี้จำนวน 4 ข้อ คือ 1. ขอให้เปลี่ยนชื่อคณะทำงานจาก คณะทำงานพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เป็น “คณะทำงานจัดทำและพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ” 2. ขอให้แก้ไขบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานดังกล่าวเพิ่มเติม 3. ขอให้กำหนดสัดส่วนของคณะทำงานใหม่ โดยเป็นภาคประชาชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และ4. หลังจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ยอมรับหลักการตามที่เสนอไปแล้ว ขอให้ยอมรับรายชื่อคณะทำงานเต็มจำนวนตามที่ภาคประชาชนเสนอ

 “การฟื้นฟูแผนนี้แม้จะช้าก็ไม่เป็นไร แต่ในการฟื้นฟูจะต้องมีชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน” นางภรณ์ทิพย์  หงษ์ชัย  ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าว

ด้าน น.ส.บำเพ็ญ ไชยรักษ์ นักวิชาการจากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวเสริมว่า สาระสำคัญของความต้องการทำแผนปฏิบัติการฯ ขึ้นใหม่คือการมีส่วนร่วมของชาวบ้านตามคำพิพากษาศาลจังหวัดเลย ในประเด็นวินิจฉัยเรื่องการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในบริเวณเหมืองและพื้นที่รอบเหมือง ซึ่งศาลเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน ชุมชนมีสิทธิมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและใช้ประโยชน์ การกระทำของจำเลย เป็นการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน

“จำเลย คือบริษัทฯ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจนกว่าจะกลับสู่สภาพเดิมตามมาตรฐานทางราชการ และในการจัดทำแผนฟื้นฟูให้โจทก์ (กลุ่มชาวบ้าน) เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม” บำเพ็ญ กล่าว 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติ ให้เปลี่ยนชื่อคณะทำงานเป็น คณะทำงานจัดทำและพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด  พร้อมกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการใหม่ และมีการแก้ไขรายชื่อคณะกรรมการบางส่วน  โดยมีภาคประชาชนและนักวิชาการ จำนวน 13 คน และส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 13 คน รวมทั้งสิ้น 26 คน ตามที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเสนอ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการทำความสะอาดพื้นที่โรงงาน ซึ่งมีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับ Baseline ค่าใช้จ่าย และค่าดำเนินการต่างๆ รวมถึง Baseline มาตรฐานก่อนและหลังตรวจมลพิษในพื้นที่ ซึ่งยังไม่มีปรากฏ อีกทั้งสถานการณ์ในปัจจุบัน มีถังน้ำในโรงงานทยอยรั่วไหลเพิ่มขึ้นทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นกังวลถึงสารพิษที่จะออกมาพร้อมกับน้ำที่รั่ว กลุ่มชาวบ้านจึงเสนอให้ทางจังหวัดนำงบเร่งด่วนมาช่วยจัดการปัญหานี้ก่อน ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รับข้อเสนอไปพิจารณา

โดย น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เสนอว่า ให้มีการส่งหนังสือถึงกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อขอให้ทางกรมฯ ช่วยเก็บข้อมูลเรื่อง Baseline ค่าใช้จ่าย รวมถึงค่ามาตรฐานของมลพิษด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ