กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยิ้มออก! ศาลพิพากษาให้เหมืองทองฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม-จ่ายค่าเสียหาย

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยิ้มออก! ศาลพิพากษาให้เหมืองทองฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม-จ่ายค่าเสียหาย

12 ปี เหมืองทองเมืองเลยประกอบกิจการ ล่าสุดคดีสิ่งแวดล้อม ศาลจังหวัดเลยมีคำพิพากษาให้เหมืองทองฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในบริเวณเหมืองและพื้นที่รอบนอก ชี้การกระทำก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิชุมชน ทั้งให้จ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้าน 149 ครอบครัว ครอบครัวละ 104,000 บาท

วันนี้ (13 ธ.ค.2561) เวลา 10.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ประมาณ 80 คน เดินทางไปศาลจังหวัดเลย พร้อมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และทนายความจากศูนย์กฏหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม เพื่อฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ สว.(พ)1/2561 ที่นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ กับพวกรวม 165 คน เป็นโจทก์ ฟ้องบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ข้อหาละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข เพื่อขอให้ดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ และเรียกค่าเสียหายจากการได้รับผลกระทบเป็นค่าหาอยู่หากิน ค่าน้ำ และค่าเสียหายด้านสุขภาพทั้งร่ายกายและจิตใจ

ต่อมาเวลา 12.00 น. ทนายสรุปคดีระบุ ศาลมีประเด็นวินิจฉัย 4 ประเด็น ในคดีชาวบ้านฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม

1.จำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีหมดอายุความหรือไม่ ศาลเห็นว่าจำเลยให้การไม่ชัดแจ้งว่าคดีหมดอายุความตามกฎหมายใด ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงไม่เป็นประเด็นวินิจฉัย

2.จำเลยกระทำความเสียหายต่อโจทย์หรือไม่ ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของโจกท์มีความน่าเชื่อถือทำให้เชื่อได้ว่าสารโลหะหนักเกิดจากการประกอบกิจการของบริษัท แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าเกิดจากการใช้สารเคมีของโจทก์แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานพอลบล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงรับผิดต่อโจทก์

3.ค่าเสียหายที่ฝ่ายโจทย์เรียกจำนวน 300,000 บาท ศาลเห็นว่าการคำนวณค่าเสียหาย เป็นการคำนวณของฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียวและการดำรงชีพวิถีชีวิตของโจทก์ ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ คำนวณเป็นการแน่นอนไม่ได้ ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายให้จำนวน 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 จำนวน 149 ครอบครัว นับตั้งแต่วันฟ้อง

4.ประเด็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในบริเวณเหมืองและพื้นที่รอบนอกเหมือง ศาลเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน ชุมชนมีสิทธิมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและใช้ประโยชน์ การกระทำของจำเลยเป็นการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ให้จำเลยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจนกว่าจะกลับสู่สภาพเดิมตามมาตรฐานทางราชการ และในการจัดทำแผนฟื้นฟูให้โจทก์เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ส่วนมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเผยแพร่สรุปย่อคำพิพากษา ระบุดังนี้

สรุปย่อ

คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สว.(พ)1/2561
นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ที่ 1 กับพวกรวม 165 คน โจทก์
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จำเลย
ศาลจังหวัดเลย

ประเด็นอายุความ ศาลเห็นว่า จำเลยให้การไม่ชัดแจ้งว่าเป็นการขาดอายุความในกฎหมายใด ศาลจึงไม่ต้องวินิจฉัย อีกทั้ง คดีนี้ โจทก์ฟ้องโดยอาศัย พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้กำหนดอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี

ประเด็นการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์หรือไม่ ศาลเห็นว่า โจทก์มีพยานหลายปากทั้งตัวแทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้ง 165 นักวิชาการ และบุคคลภายนอก เบิกความ โดย นายธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ นางสาววิมลิน แกล้วทนง เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ นางสาวอาภา หวังเกียรติ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดเป็นพยานบุคคลภายนอกไม่มีส่วนได้เสีย เบิกความว่า ได้ร่วมทำการตรวจสอบมลพิษสิ่งแวดล้อมในเหมืองแร่ พบว่า มีสารโลหะหนักในเหมืองและรอบเหมือง ซึ่งได้ตรวจตามหลักวิชาการ ศาลเห็นว่าพยานเป็นบุคคลภายนอก ไม่ส่วนได้เสีย ไม่มีเหตุลำเอียง พยานได้กระทำไปตามขอบอำนาจ และความรู้ความสามารถ นอกจากนี้ ยังมีพยานเอกสารที่แสดงถึงการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม อากาศ และน้ำ มีประกาศห้ามใช้น้ำ ห้ามรับประทานหอยขม ของสาธารณสุข หนังสือการตรวจเลือดจากโรงพยาบาลรามาธิบดี หนังสือข้อเท็จจริงและความจริงเหมืองทองเลย และพยานเอกสารอื่นๆ พบว่า การทำเหมืองแร่ทองคำ มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก อีกทั้งจากการลงเดินเผชิญสืบตรวจสอบพื้นที่พิพาทพบว่า กองหินทิ้งไม่มีแผ่นผ้าหรือโรงเรือนปกคลุม เมื่อมีฝนก็ชะล้างสารโลหะหนักออกมาก่อให้การปนเปื้อนกระจายวงกว้าง ส่วนบ่อกักเก็บกากแร่อยู่สูงกว่าพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และพบว่าแผ่นพลาสติกในบ่อคลุมไม่ทั่วถึง ส่งผลให้สารพิษแพร่กระจายออกสู่ภายนอกได้ มลพิษที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากกรรมาวิธีการประกอบกิจการเหมืองแร่ของจำเลยที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

ประเด็นค่าเสียหาย แม้โจทก์ได้นำสืบค่าเสียหายโดยอ้างบัญชีค่าเสียหาย โดยเรียกค่าเสียหายคนละ 300,000 บาท แต่บัญชีค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์ได้ทำไปแต่ฝ่ายเดียว การขาดประโยชน์จากการใช้วิถีชีวิตอัน เป็นการไปซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ค่าเสียหายจึงไม่อาจกำหนดได้ตามที่โจทก์นำสืบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินคนละ 104,000 บาท โดยตามคำขอท้ายคำฟ้องโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเพียง 149 คน และกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ส่วนคำขอที่ขอให้สงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาไว้ 2 ปีนั้น ไม่กำหนดให้เนื่องจากเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในอนาคต

ประเด็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43 กำหนดให้โจทก์ร่วมกันใช้สิทธิชุมชนในการบำรุงดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้ จึงใช้สิทธิฟ้องให้มีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติได้ และโจทก์มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี จำเลยในฐานะผู้ก่อมลพิษจึงมีหน้าที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จึงพิพากษาให้จำเลยดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยให้กลับสู่สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ราชการกำหนด ทั้งน้ำและดิน โดยให้โจทก์มีส่วนร่วมในการทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนี้ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้ง 165 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 300,000 บาท

……………………………………

ทั้งนี้ คำฟ้องในคดีนี้ระบุว่า โจทก์ทั้ง 165 คน เป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนา มีที่ดิน ที่ทำกิน อยู่อาศัยและดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ บ้านห้วยผุก หมู่ที่ 1 บ้านกกสะทอน หมู่ที่ 2 บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 บ้านแก่งหิน หมู่ที่ 4 บ้านโนนผาพุงพัฒนา หมู่ที่ 12 และบ้านภูทับฟ้า หมู่ที่ 13 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย

โจทก์ทั้ง 165 คนประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในชุมชนข้างต้น ซึ่งอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นมีวิถีสอดคล้องกัน เป็นชุมชนชนบทที่จะต้องพึ่งพาอาศัยความสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลพิษที่จะเป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วนพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำสลับกับภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์มีลำห้วยไหลผ่านพื้นที่คือ ห้วยน้ำฮวยซึ่งเป็นลำน้ำที่เกิดจากต้นน้ำธรรมชาติและป่าน้ำซับซึมที่ไหลจากภูป่าฮวก ภูทับฟ้า และภูเหล็กลงไปสู่ร่องน้ำสาขาคือร่องป่ายาง ร่องกกมะไฟ ร่องห้วยเหล็ก ร่องนาดินดำ ร่องนายาว ไหลลงสู่ห้วยน้ำฮวยและลงสู่แม่น้ำเลย

ดังนั้น การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่ใช้ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ด้วยลักษณะของพื้นที่ดังกล่าวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความสำคัญยิ่งต่อโจทก์ทั้ง 165 คน ในการอยู่อาศัยและการดำรงชีวิต

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2549 บริษัททุ่งคำ จำกัด จำเลย ได้เริ่มเข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ที่ได้รับประทานบัตร พื้นที่ทำเหมืองและโรงแต่งแร่ของจำเลยดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของชุมชน ซึ่งบริเวณรอบประทานบัตรเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ส่วนมากเป็นพื้นที่ทำนา สวนยางพารา และเลี้ยงสัตว์

การดำเนินกิจการของจำเลยเริ่มจากการขุดเจาะและระเบิดภูเขาภูซำป่าบอนและภูทับฟ้า โดยใช้เครื่องจักรขุดเปิดหน้าดิน ระเบิด ลำเลียงการขนย้าย เก็บกอง ได้ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของฝุ่นละออง เกิดการแพร่กระจายมลพิษ ออกสู่ภายนอกเหมือง เกิดเสียงดังและการสั่นสะเทือนจากการระเบิดในเวลากลางวัน เกิดเสียงดังจากการแต่งแร่ที่ต้องผ่านเครื่องจักรในเวลากลางคืน เกิดกลิ่นเหม็นในขณะมีการเดินเครื่องจักรเพื่อแยกแร่ เกิดการรั่วไหลของสารโลหะหนัก เช่น สารไซยาไนด์ที่ถูกกักเก็บไว้ในบ่อกักเก็บกากแร่ เกิดการแพร่กระจายของสารโลหะหนักอื่นๆ เช่น สารหนู แมงกานีส เหล็ก ตะกั่ว ปรอท พื้นที่เหมืองและพื้นที่รอบเหมือง อันเป็นสารพิษที่เกิดจากกระบวนการการทำเหมืองแร่และแต่งแร่ของจำเลยโดยตรง

และในฤดูฝนก็ยังเกิดการชะล้างสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในกองดินและหินทิ้งไหลลงสู่พื้นที่ราบไปทั่ว ซึ่งสารพิษดังกล่าวได้แพร่กระจายเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนี้ ยังมีการแพร่กระจายของสารพิษและโลหะหนัก เช่น โครเมียม นิกเกิล ทองแดง สังกะสี ปรอท ตะกั่ว และสารหนู ได้ปนเปื้อนไปบนพื้นดินและไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ที่โจทก์ทั้ง 165 คน และชาวบ้านที่อาศัยอยู่และใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ในบริเวณรอบเหมือง ซึ่งส่งผลและอาจจะส่งผลให้เกิดการสะสมของสารพิษอยู่ในผลผลิตทางการเกษตร เช่น ในเมล็ดข้าว อ้อย หน่อไม้ ผัก ถั่วชนิดต่างๆ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลา กุ้ง หอย ปู หนู กบ เขียด ที่อาศัยอยู่ในลำห้วยสาธารณะ ในลักษณะของห่วงโซ่อาหาร

ส่งผลให้โจทก์ทั้ง 165 คน และชาวบ้านได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต เกิดเหตุความเดือดร้อน รำคาญเกินความสมควร และได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพอนามัย และจิตใจ โดยปรากฏพบว่า มีสารไซยาไนด์ปะปนอยู่ในแหล่งน้ำสาธารณะ มีผลผลิตการเกษตรตกต่ำอย่างผิดปรกติ พบสารพิษในร่างกาย มีมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง อันตรายจากการใช้ทางสาธารณะประโยชน์ร่วมกับรถบรรทุกของจำเลย

จำเลยในฐานะเจ้าของและผู้ครอบครองเหมืองแร่แร่ทองคำ บ่อกักเก็บกากแร่ โรงประกอบโลหะกรรมหรือโรงแต่งแร่ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ส่งผลทำให้ภูซำป่าบอนและภูทับฟ้ากลายเป็นขุมเหมืองร้าง น้ำในขุมเหมืองปนเปื้อนสารพิษและมีสภาพเป็นกรด บริเวณโดยรอบมีกองหินทิ้งขนาดมหึมา และมีบ่อน้ำเสียปนเปื้อนไซยาไนด์เก็บไว้บริเวณบ่อเก็บกักกากแร่ และสารพิษจำนวนมากที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และทำให้เกิดมลพิษรั่วไหล และแพร่กระจายออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษดังกล่าว เป็นการกระทำละเมิดอันเป็นการกระทำความผิดต่อกฏหมาย ทำให้โจทก์ทั้ง 165 คน ได้รับความเสียหายก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินเสียหาย ขาดประโยชน์ในการใข้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน

จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้ง 165 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกในครอบครัวของโจทก์ และดำเนินการเยียวยา แก้ไข ฟื้นฟูความเสียหายแก่โจทก์ทั้ง 165 คน และชุมชนพื้นที่ และแก้ใขฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยโจทก์ทั้ง 165 คน ขอเรียกค่าเสียหายจากการได้รับผลกระทบเป็นค่าหาอยู่ หากิน ค่าน้ำ และค่าเสียหายด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ครอบครัวละ 300,000 บาทและขอให้จำเลยดำเนินการฟื้นฟูเยียวยา

 

 

คืบหน้าคดี ส.อบต.ฟ้อง 6 ชาวบ้านข่มขืนใจ

นอกจากนั้นในวันเดียวกัน (13 ธ.ค. 2561) เวลา 11.30 น. ศาลนัดพร้อมคดีฟ้องนางพรทิพย์ หงชัย กับพวก 6 คน ฐานความผิด ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง โดยใช้กำลังประทุษร้าย และโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น

ตามคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2559 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 6 กับพวกอีกจำนวนหลายคนซึ่งไม่ทราบจำนวนแน่ชัดและยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วมกันข่มขืนใจ นายศักดิ์โชติ เรียนยศ ผู้เสียหายที่ 1, นายปัดใจ ศรีทุมสุข ผู้เสียหายที่ 2, นายแตง ตองหว้าน ผู้เสียหายที่ 3, นายวัชรพงษ์ บัวบานบุตร ผู้เสียหายที่ 4, นายทรงศักดิ์ พรหมศรี ผู้เสียหายที่ 5, นายสุระศักดิ์ ดวงจำปา ผู้เสียหายที่ 6, นายนิกร ศรีโนนสุข ผู้เสียหายที่ 7, นางกรรติการ มุลทา ผู้เสียหายที่ 8, นายทรงวุฒิ บัวระพันธ์ ผู้เสียหายที่ 9, นายกิตติพงษ์ นิพวงลา ผู้เสียหายที่ 10, นายอ๊อด บุตรศรี ผู้เสียหายที่ 11, นายวิศณุ บัวบานบุตร ผู้เสียหายที่ 12, นางรวยล้น สอนสุภาพ ผู้เสียหายที่ 13, นายบัญเทา สิงมะทาพรม ผู้เสียหายที่ 14, นายวีระพล กัตติยะ ผู้เสียหายที่ 15 และนายขุนเที่ยง มหาพรม ผู้เสียหายที่ 16 ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ไม่ให้เข้าร่วมประชุม และให้เลื่อนการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมัยสามัญที่ 3 ประจำปี พ.ศ2559

การประชุมดังกล่าวมีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่ออายุหนังสืออนุญาต ให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำตามสัมปทานบัตรที่ 26968/15574, 26979/15570, 26970/1576, 26961/15577 และ 26973/15560 และการยื่นคำขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ (ส.ป.ก.4-106) ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

โดยจำเลยทั้ง 6 กับพวกพูดปลุกระดมชาวบ้านให้โห่ร้องต่อต้าน ด้วยการกล่าววาจาข่มขู่ ตะโกนว่า “ฆ่ามัน” พร้อมทั้งเคาะขวดน้ำตลอดเวลา และพูดขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งสิบหกคนว่า หากไม่เลื่อนการประชุมจะไม่ให้ผู้เสียหายทั้ง 16 คนออกจากที่ทำงาน ไม่ให้ผู้เสียหายทั้ง 16 คนกลับบ้าน อันเป็นการทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบหกคนกลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ของผู้เสียหายทั้งสิบหกคน จนผู้เสียหายทั้ง 16 คนต้องจำยอมไม่เข้าประชุมและต้องเลื่อนการประชุมดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืน

ทนายสรุปคดีนางพรทิพย์ หงชัยกับพวก 6 คน ในคดีร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นว่า วันนี้ (13 ธ.ค. 2561) ศาลนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน โดยวันนี้พนักงานอัยการโจทก์ จำเลยทั้ง 6 และทนายจำเลยทั้ง 6 มาศาล

ศาลอ่านและอธิบายฟ้องและสอบคำให้การจำเลยทั้ง 6 อีกครั้ง ขณะที่มีทนายความจำเลยทั้ง 6 แถลงขอให้การปฏิเสธตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 21-24 พ.ค.2562

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ