ทัวร์เหมืองทองร้าง สำรวจเศษซากแห่งความเจ็บปวด-ปนเปื้อน

ทัวร์เหมืองทองร้าง สำรวจเศษซากแห่งความเจ็บปวด-ปนเปื้อน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความร่วมมือการฟื้นฟูประเทศไทย (Building Restorative Culture Coalition Thailand หรือ RCCT) ระดมความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญจากสาขาความรู้ที่หลากหลาย ทั้ง ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ สุขภาพ และสื่อมวลชน จัดกิจกรรม “ทัวร์ฟื้นฟูสังคม ระบบนิเวศ และสุขภาพ พื้นที่เหมืองทองคำจังหวัดเลย  ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย” เพื่อรับฟังสถานการณ์ปัญหาและระดมความร่วมมือในการทำงานให้เกิดการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน เมื่อวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

“พวกชาวบ้านดีใจ ดีใจว่าจะมีเหมืองทองจะมีการพัฒนา ชาวบ้านและชุมชนจะได้มีงานทำ จะได้ไม่ต้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ ทำงานอยู่ที่บ้านเรา…” ระนอง กองแสน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย เล่าย้อนถึงมุมมองของคนในชุมชนราว 17 ปีก่อนหน้านี้ ผ่านบทสัมภาษณ์กับทีมสื่อพลเมืองกระติ๊บบาย เมื่อครั้งที่เหมืองแร่ทองคำยังไม่ปรากฏในชุมชน และจากนั้นในปี 2549 พวกเขาก็พบกับความจริงที่ทำให้ความหวัง ความฝัน เหล่านั้นกลายเป็นบาดแผลที่สร้างความเจ็บปวดอย่างสาหัสแก่ชุมชนและตัวเธอเอง

ภาพ : กระติ๊บบาย

“มันมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนเรานะ ทั้ง เสียงระเบิด และยังมีสิ่งที่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลง ภัยพิบัติจากการทำเหมืองของเขานะคะ เช่น แหล่งน้ำ พอมีฝนตกก็มีปลาตาย เราจึงต้องเก็บข้อมูลเหล่านั้น…” มล คุณนา  กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ย้ำถึงบางส่วนของผลกระทบที่สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

ภาพ : กระติ๊บบาย

17 ปี การต่อสู้ปกป้องสิทธิ

เหมืองแร่ทองคำเหมืองเลย เริ่มดำเนินกิจการเมื่อปี 2549 ซึ่งระหว่างนั้นชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ใน ตำบลเขาหลวง ได้มีการรวมตัวกันในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องปกป้องสิทธิ หลังพบว่ากิจการเหมืองส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ต่อมาปี 2557 เหมืองแร่หยุดประกอบกิจการ และในปีเดียวกันนั้น เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ เมื่อ 15 พฤษภาคม ชาวบ้านเรียกว่า วันขนแร่เถื่อนแห่งชาติ

ปี 2561 ศาลจังหวัดเลย มีคำสั่งให้บริษัททุ่งคำ จำกัด ล้มละลาย และพิพากษาให้บริษัทต้องชดใช้ค่าเสียหาย และดำเนินการเยียวยา แก้ไข ฟื้นฟูความเสียหายต่อคน และชุมชน พื้นที่ เพราะการประกอบกิจการเหมืองแร่ของจำเลยที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และปีที่ผ่านมา 11 มิถุนายน 2566 ชาวบ้านทำกิจกรรม ปลูกป่าคืนชีพภูเขา

ก้าวต่อ ฟื้นฟูกู้ชีวิตเหมืองทองเมืองเลย

โครงการเสริมสร้างความร่วมมือการฟื้นฟูประเทศไทย (Building Restorative Culture Coalition Thailand หรือ RCCT) ระบุว่า ปัจจุบันเกิดการปนเปื้อนมลพิษอย่างกว้างขวางในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย ซึ่งเป็นเหมืองทองคำแบบเปิดที่ทิ้งร้าง บริษัทผู้ทำเหมืองล้มละลายตามกฎหมาย ประชาชนได้รับผลกระทบจากมลพิษโลหะหนัก เช่น สารหนู แคดเมียม แมงกานิส ไซยาไนด์ ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพในหลายชุมชน แต่ยังไม่มีการจัดการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษดังกล่าว จึงทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงมากขึ้น

ที่ผ่านมา ประชาชนรอบเหมืองฯ ในนาม กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จำนวน 165 คน ได้ยื่นฟ้อง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด บริษัทที่ทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ (คดีหมายเลขดำที่ สว.(พ)1/2561 ) ในฐานความผิด ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข  เรียกร้องให้ดำเนินการฟื้นฟูการปนเปื้อนซึ่ง ศาลจังหวัดเลย มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ให้ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กลับสู่สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ราชการกำหนด ทั้งน้ำและดิน โดยให้ประชาชนเข้าร่วมในการทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย (คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สว.(พ)1/2561 นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ที่ 1 กับพวกรวม 165 คน โจทก์ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จำเลย ศาลจังหวัดเลย, 2561)

หลังจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของบริษัทเหมืองแร่ที่ล้มละลาย บริษัทที่ประมูลทรัพย์สินได้เริ่มมีการดำเนินการรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง เช่น โรงงานแยกแร่บริเวณเหมืองทองคำภูทับฟ้าอยู่ ซึ่งการรื้อถอนดังกล่าวก็นับเป็นระยะเวลาที่มีความเสี่ยง แต่มาตรการป้องกันกลับไม่มีการปฏิบัติที่ชัดเจน

โครงการเสริมสร้างความร่วมมือการฟื้นฟูประเทศไทย (Building Restorative Culture Coalition Thailand หรือ RCCT) ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นโดย The Equity Initiative Fellows ปี 2022, ประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาความรู้ และปฏิบัติการการฟื้นฟูระบบนิเวศ สังคม และสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ระบบนิเวศเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพประชาชน เพื่อมุ่งให้เกิดวัฒนธรรมการฟื้นฟู (Restorative Culture) ทั้ง ระดับท้องถิ่น และระดับชาติ  จึงได้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย จัด “ทัวร์ฟื้นฟูสังคม ระบบนิเวศ และสุขภาพ พื้นที่เหมืองทองคำจังหวัดเลย  ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย” ขึ้น ในระหว่าง 16-18 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเชิญผู้ที่มีความรู้เรื่องการฟื้นฟูสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ มาพบปะกับประชาชนในพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ ให้ได้เห็นสภาพจริง รับฟังปัญหาและแสวงหาความร่วมมือในการทำงานให้เกิดการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในชุมชนโดยเร็ว

กิจกรรมในครั้งนี้ มีการสำรวจพื้นที่เหมืองโดยรอบภูทับฟ้าในหลายพิกัด ได้แก่ การรื้อถอนโรงงานแต่งแร่, บริเวณบ่อเก็บกากแร่, หลุมเหมืองภูทับฟ้า, บริเวณพื้นที่ปนเปื้อนร่องนาดินดำ, บริเวณพื้นที่ร่องห้วยเหล็ก ซึ่งพบว่าหลายจุดสามารถสังเกตความผิดปกติของพื้นดิน และแหล่งน้ำได้ด้วยสายตา

อันตราย ห้ามจับสัตว์น้ำและเก็บพืชผักไปกิน

ป้ายขนาดใหญ่ระบุข้อความชัดเจน “อันตราย ห้ามจับสัตว์น้ำ และเก็บพืชผักทุกชนิดบริเวณนี้ เพื่อนำไปรับประทาน” ด้วยความปรารถนาดีจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย สาธารณสุขจังหวัดเลย นายอำเภอวังสะพุง

อันตราย ห้ามจับสัตว์น้ำ และเก็บพืชผักทุกชนิดบริเวณนี้ เพื่อนำไปรับประทาน” ด้วยความปรารถนาดีจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย สาธารณสุขจังหวัดเลย นายอำเภอวังสะพุง

นี่เป็นหนึ่งในหลักฐานยืนยันถึงผลกระทบที่ยังคงอยู่ในชุมชนและไม่มีใครยืนยันการันตีได้กว่า ผืนดินและแหล่งน้ำในบริเวณนี้ “ร่องห้วยเหล็ก” กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีและจะกลับมาเป็นแหล่งทรัพยากรที่ปลอดภัยได้อีกครั้งเมื่อไร แม้เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยจะหยุดดำเนินกิจการและอยู่ระหว่างการรื้อถอนโรงงานเหมืองร้าง ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กลับสู่สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ราชการกำหนดเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา แต่ในเชิงปฏิบัติความชัดเจนในการเริ่มต้นนับหนึ่งดูเหมือนจะเลือนลาง

แผนฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำฉบับประชาชน

หลังการปิดเหมืองมีหลายส่วนเสนอแผนการฟื้นฟูและในแผนประชาชนนั้น พิจารณาขอบเขตการฟื้นฟูทั้งในเขตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำและนอกเขตประทานบัตรตามระบบนิเวศที่มีการปนเปื้อนกระจายตัวออกไป นอกจากนี้ยังระบุขอบเขตทางสังคม วัฒนธรรม การเข้ามาพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ทั้งนี้ระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงรอบเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน มีประชาชนประมาณ 3,351 คน 780 ครัวเรือน ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยกำหนดเป้าหมายการฟื้นฟูว่า“คนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมปลอดภัย มีความหลากหลายของอยู่ของกินหนี้สินลด หมดความขัดแย้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ ฟื้นฟูชุมชน” และมีวัตถุประสงค์ (1) เยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ กำจัดมลพิษและแหล่งกำเนิดมลพิษ (2) ฟื้นฟูป่าไม้, แหล่งน้ำ ความหลากหลายพืชพรรณ แหล่งอาหารตามธรรมชาติให้กลับคืนมาให้คนในชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน (3) เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในชุมชน พัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชน และ (4) สร้างแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่แนวคิดการฟื้นฟูระบบนิเวศสังคมโดยชุมชน (กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด, 2561)

ภาพ : กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ

“เริ่มต้น….ฟื้นฟูในเหมืองทองร้าง…ทำอย่างไร”

ขณะที่ยังรอความชัดเจนและการเริ่มต้นของแผนปฏิบัติการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างต่อเนื่องยังเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือในการทำงานเรื่องการฟื้นฟูสังคม ระบบนิเวศ และสุขภาพ โดยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 มีการจัดเสวนาเสวนาโต๊ะกลม “เริ่มต้น….ฟื้นฟูในเหมืองทองร้าง…ทำอย่างไร” ในกิจกรรม “ทัวร์ฟื้นฟูสังคม ระบบนิเวศ และสุขภาพ พื้นที่เหมืองทองคำจังหวัดเลย  ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย” เพื่อร่วมหาทางออกภายใต้แผนฟื้นฟูฉบับประชาชนกับผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ รจนา  กองแสน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด, ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ดร.อาภา หวังเกียรติ สาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต, เพ็ญโฉม  แช่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ, จุฑามาศ ศรีหัตถผดุงกิจ  นักกฎหมาย  โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทรัพยากรแร่, Becky Goncharoff  อาจารย์สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เอด้า จิรไพศาลกุล  CEO เทใจดอดคอม, ผศ.ดร.อลิสา หะสาเมาะ นักสังคมศาสตร์ภัยพิบัติ คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, บำเพ็ญ ไชยรักษ์   โครงการ Building Restorative Culture Coalition Thailand (RCCT) และพูนศักดิ์ จันทร์จำปี   สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ดำเนินรายการโดย วิภาพร วัฒนวิทย์  ผู้ประกาศ Thai PBS

“เรื่องสำคัญ คือ เราต้องเรียนรู้บทเรียนจากสิ่งที่เกิดที่นี่ ว่ามันมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรจะต้องวางแผนป้องกันหรือทำในพื้นที่อื่น ๆ ที่ยังไม่ได้มีกระบวนการ หรือไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงขนาดนี้ ทำอย่างไรไม่ให้มันเกิด เพราะว่าเวลาเกิดแล้วมาแก้มันยากกว่าเยอะ”

ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย  อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ แลกเปลี่ยนถึงบทเรียนสำคัญจากกรณีเหมืองแร่ทองคำเมืองเลย

“กระบวนการในการอนุมัติเหมืองต่าง ๆ มีขั้นตอน มีระเบียบ ซึ่งก็มีความพยายามจะทำการศึกษา แต่ในทางปฏิบัติกับสิ่งที่ได้จากการศึกษาบางทีมันไม่เป็นไปตามที่บอก ยกตัวอย่างเช่น มีการศึกษาที่ EIA การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) ว่าคุณควรจะต้องทำอะไร คุณจะต้องป้องกันอะไรบ้าง ในทางปฏิบัติอาจจะไม่ได้ทำตามที่บอก มีแผน มีการวิเคราะห์ แต่ว่าไม่มีคนมาดูว่าทำจริงหรือเปล่าตามแผนที่จะต้องป้องกัน

อันนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญอันหนึ่ง ซึ่งทำให้นำไปสู่อันที่สองก็คือว่าสิ่งที่คาดการว่าจะเกิดผลกระทบ ที่คาดว่าจะเกิด มันอาจจะต่ำกว่าที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเราก็เห็นจากประสบการณ์ที่นี่ว่าความเสี่ยงมันกลายเป็นมลพิษ เป็นผลกระทบทางด้านสุขภาพ มีผู้เสียชีวิต และมีผลกระทบระยะยาวตามมา น่าจะเป็นเรื่องของสิ่งที่อยู่บนกระดาษ อยู่บนแผน การทำตามแผนนั้นเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผมเห็นว่าสำคัญ และเป็นบทเรียนสำหรับที่อื่น ทำอย่างไรจะทำให้สิ่งที่ควรจะเกิด มันได้เกิดจริง ในเรื่องของการนำแผนไปใช้ หรือนำวิธีการป้องกันไปใช้ หรือทำอย่างไรให้มั่นใจว่าอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดพิษ มันไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงให้น้อยที่สุดตามที่เขาระบุไว้ในแผน

อันดับที่สอง เป็นฝั่งประชาชน ผมคิดว่าหลาย ๆ เรื่องในระบบและโครงสร้างปัจจุบัน มันไม่เอื้อต่อการป้องกันและลดผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องอาศัยพลังประชาชน พลังชุมชน เข้ามาร่วมมือกันทำ เพราะคงจะคาดหวังให้รัฐอย่างเดียวเป็นคนทำคงจะไม่ทั่วถึงอาจจะมีภารกิจอื่น สิ่งด่วนอื่น หรือบางคนเป็นเรื่องวิธีคิดของคนมองด้วย เมื่อครู่เราฟังก็มีเรื่องของโครงสร้าง ดังนั้น ชุมชนมีความสำคัญสูงมากในการที่จะต้องร่วมมือกันมาช่วยกันเฝ้าระวัง ติดตาม รวมไปถึงจัดการไปขับเคลื่อนด้วย บทเรียนที่นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและเป็นต้นแบบอันหนึ่งของการที่ชุมชนมาทำงานร่วมกัน

เรื่องสำคัญ คือ เราต้องเรียนรู้บทเรียนจากสิ่งที่เกิดที่นี่ ว่ามันมีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรจะต้องวางแผนป้องกันหรือทำในพื้นที่อื่น ๆ ที่ยังไม่ได้มีกระบวนการ หรือไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงขนาดนี้ ทำอย่างไรไม่ให้มันเกิดเพราะว่าเวลาเกิดแล้วมาแก้มันยากกว่าเยอะ เพราะฉะนั้นที่อื่น ๆ ที่ยังไม่เกิด เราต้องรีบป้องกันไม่ว่าจะเป็นในเชิงนโยบาย ในเชิงกฎระเบียบแม้แต่ในการทำตามแผนที่ว่า ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งแรกที่สำคัญมาก ซึ่งการจะทำให้เกิดส่วนแรกจะต้องอาศัยเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งที่นี่ทำอย่างไรเราเรียนรู้ว่ามันมีผลกระทบอย่างไรที่ชัดเจน

เมื่อกี้เขามีการพูดถึงกันว่าจะต้องมีการประเมิณ วัด ดูในแง่ของสภาพแวดล้อม สารพิษปนเปื้อนอยู่ในน้ำ อยู่ในดิน มากน้อยแค่ไหน ทำให้เห็นออกมาให้ชัด ในขณะเดียวกันฝั่งภาคประชาชนก็ไม่ได้มีการวัดติดตามมาสักระยะ เข้าใจว่าต้องทำต่อในส่วนนั้นเพื่อที่จะได้ให้เห็นในส่วนนั้นผลกระทบ แต่ว่าผลกระทบเป็นในแง่ทางกาย ผลกระทบทางจิตใจก็มีอีกค่อนข้างเยอะ เมื่อครู่อาจารย์ Becky Goncharoff  อาจารย์สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงที่เรียกว่าบาดแผลในจิตใจซึ่งอันนี้จะต้องมีกระบวนการ หรือว่ามีการช่วยเหลือในเชิงจิตใจ ซึ่งต้องมามองดูกันว่าจะต้องมีบทบาทของส่วนไหนที่จะช่วยกันได้ในระบบเรื่องของการดูแลทางจิตวิทยา การช่วยเหลือตรงนี้ ในประเทศไทยก็ยังเป็นปัญหาอยู่เป็นจุดบอดในเชิงระบบที่ต้องสร้างเพิ่มเติม ในส่วนของสารพิษเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการไหลรั่วหรือการปนเปื้อนเพิ่มขึ้น

ทำอย่างไรให้แหล่งกักเก็บปัจจุบันไม่เป็นต้นกำเนิด หรือแหล่งที่จะทำให้มีสารพิษเพิ่มเติม ก็มีข้อเสนอในเรื่องของการป้องกันโดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตก อันนั้นก็อาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่มันก็คงจะมีสถานการณ์แบบนี้ไปอีกระยะ เพราะว่าการจะแก้ปัญหาให้เกิดผลระยะยาวจริง ๆ คงต้องอาศัยการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบซึ่งอันนั้นหลายคนพูดว่าก็มีความยากลำบากในการดำเนินการ”

นอกจากด้านสุขภาพกายและใจที่ต้องป้องกันแก้ไขหลังการปนเปื้อนที่มีมายาวนาน ซึ่งนาทีนี้ชาวบ้านก็เดินหน้าเต็มกำลังที่แม้มีเพียงน้อยนิดในการฟื้นฟูตามแบบฉบับประชาชนเพื่อประชาชน ดร.อาภา หวังเกียรติ สาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต ยังมีข้อสังเกตถึงรัฐบาลว่าควรเริ่มปฏิบัติการและเข้ามาฟังประชาชนว่าแผนการฟื้นฟูของประชาชนเป็นอย่างไร ทั้งการสำรวจ การเก็บตัวอย่างและการดำเนินการตามขั้นตอนฟื้นฟู

“ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรในพื้นที่นี้ มีการระบุว่ามีโอกาสที่จะมีการรั่วไหลของบ่อกักเก็บกากแร่ลงสู่ลำห้วย ถ้าสมมติฐานนั้นเป็นจริง มันก็จะมีการเติมของสารพิษ สารอันตราย จากบ่อกักเก็บแร่เข้าสู่สิ่งแวดล้อมตลอด”

“ตอนนี้ถ้าจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเราจะต้องทำอะไรนั้น โดยเฉพาะในส่วนบ่กักเก็บแร่ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษขนาดใหญ่ที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่

อันดับแรกมีความจำเป็นจะต้องสำรวจว่ามันมีการรั่วไหลจริงแท้มากน้อยแค่ไหน และมีการรั่วไหลในบริเวณไหนบ้าง มีการเก็บตัวอย่างในพื้นที่เพื่อที่จะมาวางแผนว่าขั้นตอนต่อไปของการที่จะฟื้นฟูพื้นที่จะเป็นอย่างไร นอกจากในบริเวณพื้นที่บ่อกักเก็บกากแร่แล้วก็จะรวมถึงพื้นที่เป็นพื้นที่โดยรอบ ว่าในปัจจุบันที่เหมืองหยุดทำการไปแล้วการปนเปื้อนในลำห้วย หรือการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมตอนนี้สถานภาพเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้วางแผนและออกแบบว่ากระบวนการฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นตัวบ่กักเก็บกากแร่ หรือว่าในสิ่งแวดล้อมควรจะใช้วิธีการอย่างไร มันจะต้องใช้ข้อมูลเป็นจำนวนมาก ซึ่งอันนี้จะต้องใช้งบประมาณในการศึกษาเป็นจำนวนมากด้วย

จริง ๆ รัฐบาลควรจะมา take action ได้แล้วในเรื่องนี้ และควรเข้ามาฟังประชาชนว่าแผนการฟื้นฟูของประชาชนเป็นอย่างไร เพราะแผนการฟื้นฟูของประชาชนในมุมมองของรัฐบาลจะมองในเรื่องของเทคนิค เรื่องของสารเคมี สารพิษ สารอันตราย อย่างเดียว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันมีผลกระทบในมิติของสังคม สุขภาพ จิตใจ ซึ่งอันนี้ต้องมาคุยกันแล้วก็มามองเรื่องของเป้าหมายของแผนที่จะฟื้นฟูในพื้นที่นี้

ต้องมามองในเป้าหมายเดียวกัน เพื่อที่จะขับเคลื่อนรายละเอียดในการทำงานนี้ไปในทิศทางเดียวกัน กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าเวลามีปัญหามลพิษภาระมันตกอยู่ที่ประชาชน ถ้าเราเห็นชัดในพื้นที่ประชาชนจะเป็นคนที่ลุกขึ้นมาตลอดเลยว่าจะต้องฟื้นฟู จะต้องแก้ไขปัญหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเข้ามา ก็อยากให้เข้ามาขับเคลื่อนในเรื่องของแผนฟื้นฟูให้เร็วที่สุด เพราะว่ายิ่งปล่อยไว้ปัญหามันก็จะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ร่องห้วยเหล็ก

ไม่เพียงโจทย์เรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่ประเมินค่าไม่ได้ คือ เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่วันนี้ชาวบ้านต้องเริ่มถักทอก่อร่างและสร้างใหม่อีกครั้ง ซึ่งแม้จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว แต่เศษซากปรักหักพัง ชิ้นส่วนต่าง ๆ ยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการและเป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมความปลอดภัย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ