อ่านสันติภาพที่ชายแดนใต้ อ่านกวี-วรรณกรรม-นวนิยาย-ประวัติศาสตร์-การเมือง เลขาธิการ DreamSouth อ่าน ‘วิญญาณขบถ-แฮรีพอตเตอร์-The hunger game’ โยงการเมือง ตั้งคำถามความเชื่อ ประธาน PerMAS ระบุ ‘โคนัน-เชอร์ล็อกโฮม’ สร้างตรรกะการคิดเชิงเหตุและผล รู้บริบทโลก ตัวแทน สสชต. บอก ‘เหตุใดเราจึงยังมีชีวิตอยู่-The Prince เจ้าผู้ปกครอง’ พาตั้งคำถามและแสวงหา อิทธิพลความคิดเพื่อสังคมของสื่ออิสระ คือ’เพลงเพื่อชีวิต-นักฝันข้างถนน-แผ่นดินอื่น’
รายงานโดย: ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
ภาพ (ซ้ายไปขวา) อารีฟินโสะ ประธาน PerMAS ดันย้าล อับดุลเลาะ เลขาธิการ DreamSouth ฟาเดล หะยียามา เจ้าหน้าที่สถาบันคีนันเอเชีย
ภาพ (ซ้ายไปขวา) ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ นักอ่าน นักเขียน และผู้สื่อข่าวอิสระ โกศล เตบจิตร ตัวแทนสหพันธ์นักเรียนนักศึกษาเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (สสชต.) อารีฟินโสะ ประธาน PerMAS
000
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม (TUPAT) กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (DreamSouth) และสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) จัดเสวนา “การอ่าน การศึกษาที่ชายแดนใต้ ส่งเสริมวิถีชีวิตคนชายแดนใต้อย่างไร” เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ที่ห้องศรีตานี ม.อ.ปัตตานี โดยมีนักศึกษา เยาวชน และผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 70 คน
เวทีเริ่มด้วยการชี้แจงที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาตามโครงการ “อ่านยกกำลังสุข อ่านสันติภาพที่ชายแดนใต้ ปี 2558” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” โดยผู้รับผิดชอบโครงการ คือ ตูแวปาตีเมาะ นิโวะ บัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิบ้านบราโอ ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ภายใต้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
“เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและเยาวชนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำคัญของการอ่านที่ส่งเสริมชีวิตคนชายแดนใต้อ่านสันติภาพที่ชายแดนใต้อ่านอย่างไร เพื่อไปสู่สันติภาพการมีส่วนร่วมในการสรรสร้างการอ่านของนักศึกษาและเยาวชน เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะในการร่วมพูดคุยประเด็นทางสังคมปัจจุบัน” ตูแวปาตีเมาะ ชี้แจง
จากนั้นฟาเดล หะยียามา นักอ่านและเจ้าหน้าที่สถาบันคีนันเอเชีย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการแนะนำวิทยากรนำเสวนา ประกอบด้วย ดันย้าล อับดุลเลาะเลขาธิการกลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (DreamSouth) อารีฟินโสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) โกศล เตบจิตรตัวแทนสหพันธ์นักเรียนนักศึกษาเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (สสชต.) และปรัชญเกียรติว่าโร๊ะนักอ่าน นักเขียน และผู้สื่อข่าวอิสระ
‘วิญญาณขบถ-แฮรีพอตเตอร์-The hunger game’ การเมือง คำถามต่อความเชื่อ
ฟาเดล ถามคำถามแรกถึงประวัติการอ่านหนังสือของแต่ละคนผ่านประสบการณ์ในการอ่านหนังสืออะไรมาบ้างหลอมให้เป็นตัวตนในปัจจุบัน
ดันย้าลอับดุลเลาะ เท้าความประสบการณ์การอ่านของตัวเองว่าเขามีทักษะการอ่านมาตั้งแต่สมัยเรียนประถมศึกษาทักษะการอ่านของเขาล้ำหน้าเพื่อนๆในชั้นเรียนมากเพราะชอบอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าเวลาจะซื้อขนมหรือสินค้าใดจะอ่านรายละเอียดบทลากอย่างละเอียดทุกครั้ง
“อ่านอะไรจนเป็นผมทุกวันนี้เริ่มแรกเลยคือเส้นทางสู่หลักชัยเชื่อว่านักคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางสังคมมุสลิมมักจะผ่านหนังสือเล่มนี้มาตอนนั้นที่เริ่มอ่านก็ไม่มีอะไรมากไม่คิดอะไรด้วยซ้ำแต่ชอบสำนวนในการใช้ในหนังสือเล่มนั้น”
“ต่อมาเริ่มอ่านนิยายมีนิยายหลายเล่มที่อ่านงานเขียนของคาริลยิบรานเป็นงานเขียนที่สนใจมากเนื่องจากงานเขียนของคาริลยิบรานออกแนวการวิพากษ์ความเชื่อศาสนาตั้งคำถามกับจารีตสังคมที่ถุกผูกโยงกับความเชื่ออีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตระหว่างคำสอนและคำสั่งของคนชั้นนำทางศาสนาเล่มที่อ่านบ่อยๆคือวิญญาณขบถ” ดันย้าล ระบุ
วรรณกรรมเยาวชนที่ ‘ดันย้าล’ อ่านจนแทบจะจำได้ว่าบทสนทนาในแต่ละตอนมีอะไรบ้างคือแฮรรี่พอตตเตอร์ทั้ง 7 เล่ม ของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง และอ่านมาแล้วเล่มละไม่ต่ำกว่า 5 รอบ
“นิยายวรรณกรรมเยาวชนที่ผมมองว่าไม่แค่เรื่องของจินตณาการเมืองเวทมนต์เสียแล้ว แต่นี่คือนิยายการเมืองวรรณกรรม ที่ซ่อนเร้นเรื่องการแย่งชิงอำนาจ ผ่านการต่อสู้ที่เอาเด็กเป็นตัวประกันเพื่ออนาคตของสังคม” ดันย้าล ถ่ายทอดเนื้อหาที่แฝงอยู่ในแฮรรี่พอตเตอร์
นอกจากนี้ ‘ดันย้าล’ ยังชอบอ่านเกมล่าชีวิต The hunger game ของซูซาน คอลลินส์ ที่สะท้อนมุมเรื่องเยาวชนที่เติบโตมาในภาวะสงคราม สิ่งแวดล้อมแบบนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อเด็กเยาวชนซึ่งถ่ายทอดผ่านวรรณกรรมที่เขาอ่านเล่มเดียวจบภายในหนึ่งวัน
“แฮรีพอตเตอร์และเกมล่าชีวิตทำให้ผมเข้าใจว่าเยาวชนคืออนาคตของสังคม และทำไมเยาวชนถึงสำคัญมาก ขนาดที่ต้องมีการช่วงชิงมวลชนเยาวชนใว้ในฝั่งพรรคของตนเอง ขณะที่งานเขียนของคาลิล ยิบราน ทำให้ผมเข้าใจว่าทำไมต้องตั้งคำถามกับวิถีจารีตของสังคมที่ผูกโยงกับความเชื่อคาลิล ยิบรานมิได้แตะต้องหลักศรัทธาแต่อย่างใด แต่งานในเรื่องวิญญาณขบถ ซึ่งวิพากษ์ถึงอำนาจพิเศษที่อยู่นอกหลักคำสอนคัมภีร์ที่ทั้งหมด หรือในมิติที่ถูกสถาปนาคำสอนทางจารีตโดยชนนั้นนำของศาสนานั่นเอง” ดันย้าล บอกถึงประวัติการอ่านและสิ่งที่ได้จากมัน
นวนิยายสืบสวนสอบสวน ‘โคนัน-เชอร์ล็อกโฮม’ สร้างตรรกะการคิดเชิงเหตุและผล รู้บริบทโลก
อารีฟิน โสะ ย้อนประสบการณ์การอ่านหนังสือของตัวเองว่าเกิดจากบรรยากาศของครอบครัวที่สร้างบรรยากาศรักการอ่าน โดยทุกๆ หัวค่ำหลังจากรับประทานอาหารค่ำเสร็จแล้วสมาชิกในครอบครัวก็จะหยิบจับหนังสือที่ตนสนใจมาอ่าน โดยเริ่มจากพ่อและแม่ที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ประจำวัน และได้ชวนตัวเขาและน้องๆ มาเปิดอ่านเรื่องราวในหนังสือพิมพ์ด้วย ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้ได้ดำเนินไปทุกวัน จึงทำให้สมาชิกในครอบครัวเติบโตกับบรรยากาศรักการอ่านและเป็นพื้นฐานสำคัญที่สร้างทักษะการอ่านให้กับเขา
“หนังสือเล่มแรกที่ผมได้อ่านและได้เป็นเจ้าของคือเจ้าหนังสือการ์ตูน หลังจากที่ผมและพ่อได้เข้าไปในร้านหนังสือ หนังสือเล่มนั้นก็คือหนังสือการ์ตูนนักสืบจิ๋วโคนัน ที่เป็นเรื่องราวการสืบสวนสอบสวนที่ดึงดูดใจผมมาก ที่ทำให้ผมได้รู้จักทักษะการใช้เหตุและผล ผ่านเรื่องราวในการ์ตูน
“เมื่อเติบโตขึ้นในวัยของมัธยมต้นผมก็พยายามหาเรื่องราวอื่นๆ ที่มีเนื้อหาคล้ายกับหนังสือการ์ตูนโคนัน ผมจึงได้ทบทวนเรื่องราวในการ์ตูนโคนันได้กล่าวถึงนักสืบชื่อดังที่มีนามว่า เชอร์ล็อก โฮมส์ ของอังกฤษในยุคศตวรรษที่ 19 จึงเป็นแรงผลักดันให้ต้องดิ้นร้นหาเรื่องราวของโฮมส์มาให้ได้ ว่าเหตุใดโคนันจึงประทับใจกับนักสืบคนนี้มาก และผมก็ได้พบกับเรื่องราวที่ประทับในยุคคลาสสิคของนวนิยายสืบสวนสอบสวน ที่ใช้ตรรกะได้อย่างเกินที่จะคาดเดาได้ บวกประสานกับกลิ่นอายของยุคคลาสสิคอันลงตัว
“อีกตัวอย่างหนึ่งของนักสืบที่เรื่องราวของการ์ตูนโคนันที่กล่าวถึง คือนักสืบชื่อก้องของญี่ปุ่นในยุคสมัยฟื้นฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนามว่าคินดะอิจิ หนังสือได้บอกเล่าถึงภารกิจการคลีคล้ายคดีของคินดะอิจิผสมผสานการบอกเล่าถึงสภาพสังคมของประเทศญี่ปุ่นที่เป็นผู้แพ้สงคราม ทั้ง 2 นักสืบชื่อดังทั้งเชอร์ล็อก โฮมส์และคินดะอิจิ ได้เชื่อมร้อยความสำคัญของทักษะการคิดการอ่านโดยใช่ตรรกะการคิดเชิงเหตุและผล ให้เห็นถึงความสำคัญที่ขาดไม่ได้”
“การเดินเรื่องของเชอร์ล็อก โฮมส์และคินดะอิจิ อยู่ในช่วงเวลาของบริบทสำคัญของโลก กล่าวคือเชอร์ล็อก โฮมส์อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และในส่วนของคินดะอิจิอยู่ในช่วงของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริบทเรื่องราวของโลกทั้ง 2 นี้ยิ่งทำให้ผมในวัยนั้นรู้สึกต้องพยายามค้นหาเรื่องราวถึงที่มาที่ไปของบริบทโลกทั้ง 2 ผ่านหนังสือประวัติศาสตร์โลกที่ฉายภาพร่วมการเคลื่อนไหวของโลกในช่วงยุคสมัยต่างๆ”
“ต่อมาอยู่ในช่วงเวลาที่พยายามทำความเข้าใจปรัชญาในสำนักคิดต่างๆที่ดำรงอยู่ในโลกทั้งเสรีนิยม สังคมนิยม ทุนนิยม วัตถุนิยม คอมมิวนิสต์ แซคคิวล่าร์ อนาคิสต์ โพสต์โมเดิร์น และอิสลามิสต์ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นภาพถึงกระแสความคิดของโลกอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น” อารีฟิน เล่าประสบการณ์การอ่านของตัวเอง
‘ขายหัวเราะ-เหตุใดเราจึงยังมีชีวิตอยู่-The Prince เจ้าผู้ปกครอง’ พาตั้งคำถามและแสวงหา
โกศล เตบจิตร ถ่ายทอดประสบการณ์การอ่านของตัวเองว่า ตอนเด็กๆ เขาก็เหมือนเด็กทั่วไปอ่านหนังสือที่ให้ความสนุก เช่น ขายหัวเราะ หนังสือที่คนหลายๆต้องผ่านมันมา และเริ่มอ่านหนังสือแบบจริงจังก็คงเป็นสมัย ม.ปลาย หนังสือเล่มนั้นที่อ่านคือ “เหตุใดเราจึงยังมีชีวิตอยู่” งานเขียนของนามปากกาชื่อดัง “นิ้วกลม” หนังสือเล่มนี้สะท้อนการดิ้นรนของชีวิต ให้คนเราก้าวผ่านจุดร้ายๆ และค้นหาความเป็นเรา แสวงโดยการมองการสังเกตสรรพสิ่งรอบๆ ข้าง จนพบเจอกับความหมาย ว่าเหตุใดเราจึงยังมีชีวิต เป็นหนังสือสร้างพลังใจ
“หนังสือเล่มต่อมาที่อ่านคือตอนเรียน ป.ตรี ปี 1 หนังสือ The Prince เจ้าผู้ปกครอง แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหนักสือที่อ่านอย่างไรก็ไม่เข้าใจ แต่มีประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่จับได้คือ มาคิอาเวลลี (Niccolo Machiavelli) ได้กล่าวว่าผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี ขอแค่สร้างผลประโยชน์แก่รัฐ ก็เพียงพอ ประโยคๆ นี้ทำให้เกิดกระบวนการคิดต่อไปว่า บริบทของประเทศไทยเองก็คงไม่ต่างกัน ต่างกันที่ว่าใครสร้างประโยชน์ในรัฐมากน้อยกว่ากันแค่นั้น”
“และอีกหนึ่งบทความที่มีโอกาสได้ศึกษาคือบทความของนักปรัญชากรีกโบราณ คือ โสเครติส กับ ยูไทโฟร สิ่งที่ได้จากการอ่านบทความคือ ทำให้ทราบถึงวิธีการแสวงหาความรู้ของโสเครติสว่าเป็นอย่างไร โสเครติสแสวงหาความรู้ด้วยการถามยูไทโฟรไปเรื่อยๆ ถามแล้วถามอีก ถามจนยูไทโฟรหนีไป การกระทำเช่นนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่า “จงอย่าหยุดตั้งคำถาม” และนั้นเองทำให้ตัวผม ไม่เคยหยุดตั้งคำถามกับทุกสรรพสิ่งที่พานพบ” โกศลเท้าความประสบการณ์การอ่านของตัวเอง
‘เพลงเพื่อชีวิต-นักฝันข้างถนน-แผ่นดินอื่น’ อิทธิพลความคิดเพื่อสังคม
ปรัชญเกียรติ ย้อนประสบการณ์การอ่านของตัวเองว่า เขาเป็นแค่เด็กในระบบที่อ่านหนังสือเรียนรู้ตามหลักสูตรประถมศึกษา หนังสือเล่มแรกคือวิชาภาษาไทยที่มีตัวละคร อาทิ มานี มานะ ปิติ ชูใจ วีระ เจ้าโต ฯลฯ รวมถึงศึกษาตามหลักสูตศาสนาอิสลามเบื้องต้น (ตาดีกา-ฟัรดูอีน) ไปพร้อมกัน เขาชอบอ่านประวัติศาสดา 25 ศาสดาในอิสลาม ขณะเดียวกันเขาเติบโตในความเป็นชนบทหลังเขาของ อ.ละงู จ.สตูล ที่วัยรุ่นค่อนข้างนิยมฟังเพลงเพื่อชีวิต อาทิ คาราวาน คาราบาว แฮมเมอร์ คำภีร์ สันติภาพ ฯลฯ จึงค่อนข้างได้รับอิทธิพลและอุดมการณ์ทางความคิดผ่านเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ
“หนังสือเล่มแรกสำหรับผม คือ สตาร์ซอคเกอร์ สืบเนื่องจากนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ อังกฤษ ประมาณปี 2534-2535 ในความทรงจำที่ตื่นเต้น เร้าใจมาก ระหว่าง แอสตันวิลล่า กับ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ทำให้ต้องตามอ่าน สตาร์ซ็อกเกอร์ติดตามข่าวสารฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด” ปรัชเกียรติ บอกถึงจุดเริ่มต้นแรกที่สนใจอ่านหนังสือ
ปรัชญเกียรติ เล่าต่อว่า ต่อมา 2537 หลังจบชั้นประถมศึกษาแล้วไปเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนต้นยังโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (ปอเนาะแสงธรรม) อ.เมือง จ.สตูล โดยพักที่นั่น 5 วัน และกลับบ้านเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น ก่อนเดินทางกลับปอเนาะเขาก็ซื้อสตาร์ซ็อกเกอร์ ศาลาคนเศร้า นิยายเล่มละ 1 บาท ติดไม้ติดมือไปทุกครั้งเพื่ออ่านที่ปอเนาะ
หลังจบ ม.ต้น ปี 2540 เขาเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนชื่อดังในตัว จ.สตูล เริ่มหัดเขียนกวี เรื่องสั้น เล่นกีตาร์ และหัดเขียนเพลง จนจบ ม.ปลาย ด้วยเกรดเฉลี่ย 1.71 แต่ในสมุดวิชาเรียนต่างๆ กลับเต็มไปด้วยกวี บทกลอน และเนื้อเพลง
“อ่านศาลาคนเศร้า มีทั้งกลอนความรัก เหงา อกหักรักคุด แอบรัก อ่านจนได้รับอิทธิพลทางภาษาที่สวยงาม กระทั่ง 2543-2547 ตอนเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงอ่านหนังสือแนววรรณกรรม บทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ขณะที่ตำราเรียนรัฐศาสตร์ตามหลักสูตรที่ตัวเองเรียนก็หาได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งไม่ เรียนเพื่อผ่าน อ่านเพื่อสอบ ไม่ได้วิเคราะห์ เข้าใจอะไรจริงๆ ความรู้เกี่ยวกับรัฐศาสตร์ผมมาศึกษามันอย่างจริงจังหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553” ปรัชญเกียรติ สาธยาย
หนังสือกวีที่สะกิด ‘ปรัชญเกียรติ’ ให้หาความหมายของชีวิต คือ นักฝันข้างถนน ของวารี วายุ (วินัย อุกฤษ) ซึ่งเป็นกวียุคแสวงหาบริบท 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519 แล้ว ‘ปรัชญเกียรติ’ ก็อ่านกวีบทดังกล่าว
..
คนหนุ่ม เจ้าทำอะไรอยู่ เจ้าแสวงหาสิ่งใด
นั่งอยู่ลำพังในความสงัดแห่งธรรมชาติ ยืนอย่างโดดเดี่ยวบนผืนแผ่นดินราบกว้าง
เดินไปเดียวดายตามถนนของเมืองใหญ่ เจ้าขมวดคิ้วนิ่วหน้า เวียนวนครุ่นคิด
เจ้าอ่านบทกวีร้อยบท เจ้าขับร้องเพลงหลายทำนอง เจ้าพาความสงัดเดินผ่านความกึกก้องไปอย่างเฉยเมย
ใบไม้ผลัดใบร่วงหล่นไปตามฤดูกาล ดาวบางดวงตกจากฟากฟ้าแล้วดับหาย
คนหนุ่ม เจ้าทำอะไรอยู่ เจ้าแสวงหาสิ่งใด
..
ปรัชญเกียรติ กล่าวว่า เขาเริ่มสะเทือนใจปัญหาเกี่ยวกับปาตานี (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้-ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา คือเทพา จะนะ สะบ้าย้อย และนาทวี) ผ่านเรื่องสั้น ‘แมวแห่งบูเกะกรือซอ’ ในหนังสือรวมเรื่องสั้น ‘แผ่นดินอื่น’ ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนซีไรต์ปี 2539 ประโยคที่สะเทือนอารมณ์ของ ‘ปรัชญเกียรติ’ คือ
“เธอจะสอนให้เด็กๆ รักสันติได้อย่างไร? ในเมื่อเพียงหันหน้าออกนอกห้องเรียน พวกเขาก็เห็นผู้ใหญ่ถือปืน อยู่เต็มสนาม” ปรัชญเกียรติ กล่าวถึงประโยคจากวรรณกรรมที่สะเทือนอารมณ์ของเขา