ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟซบุ๊ก Chainarong Sretthachau
อคติทางชาติพันธุ์ได้ฝังรากลึกในสังคมไทยและอุษาคเนย์มาช้านานนับตั้งแต่ยุคก่อนเกิดรัฐ-ชาติสมัยใหม่และได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในอดีตก่อนการเกิดรัฐ-ชาติ สมัยใหม่ ความสัมพันธ์ทางสังคมของรัฐไทในอุษาคเนย์จะมีลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างคนไท (ซึ่งหมายถึงผู้ปกครอง) ที่ตั้งบ้านเมืองในที่ราบลุ่มและถือตัวเองว่ามีความเป็นอารยะกับผู้ที่อยู่บนพื้นที่สูงที่ถูกมองจากพวกแรกว่าเป็นพวกป่าเถื่อน
พวกที่บอกตัวเองว่ามีอารยะได้สร้างความชอบธรรมโดยการใช้ตำนานที่พบได้ทั่วไปในอุษาคเนย์นั่นคือตำนานน้ำเต้าปุ้งที่กล่าวถึงกำเนิดมนุษย์ ตำนานแต่ละที่อาจจะมีตัวละครและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป แต่พล็อตเรื่องจะกล่าวถึงการที่มนุษย์เกิดจากน้ำเต้าปุ้งหลังจากน้ำท่วมโลก โดยมนุษย์พวกแรกเกิดจากวีระบุรุษท้องถิ่น เช่น ตำนานของลาวระบุว่าเป็นปู่ลางเชิง ได้ใช้เหล็กไปเผาไฟและนำมาเจาะผลน้ำเต้า ทำให้มนุษย์กลุ่มนี้ออกมาตัวดำเพราะถูกเขม่า และถูกเรียกว่า “ข่า” ซึ่งหมายถึง “ข้า หรือ “ทาส” แต่ยังมีมนุษย์ในผลน้ำเต้าส่งเสียงอื้ออึง จึงได้นำสิ่วมาเจาะเพื่อให้มนุษย์ออกมา พวกที่ออกมาทีหลังจึงมีผิวขาวกว่า และพวกนี้ก็คือพวกที่เรียกตัวเองว่า “ไท” ที่ต่อมาคือกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ไทย” ในประเทศไทยด้วย
ตำนานกำเนิดมนุษย์ยังเล่าว่าพวกที่ออกมาก่อนขี้เกียจไม่อาบน้ำผิวจึงดำ พวกนี้ถูกจัดให้เป็นพี่ ส่วนพวกที่ออกมาทีหลังถูกจัดให้เป็นน้อง แม้ว่าตามตำนานนี้จัดให้ “ข่า” และ “ไท” เป็นพี่น้องกันตั้งแต่กำเนิดมนุษย์ แต่ก็แบ่งแยกอย่างแนบเนียนและโหดร้ายเพราะพวกที่เป็นไท (และไทย) ได้อ้างความชอบธรรมว่าผู้เป็นพี่ (ที่ขี้เกียจ ตัวดำ) ต้องรับใช้น้อง
ในประวัติศาสตร์ของสังคมในอุษาคเนย์ พวก “ข่า” จึงมักถูกพวก “ไท” และ “ไทย” ไปตีจับมาเป็นทาส ดังปรากฎว่าเมืองต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงหลายเมืองเคยเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทาสมาก่อน ทาสนอกจากเป็นสินค้าแล้ว ยังถูกพวกที่มีอำนาจในท้องถิ่นใช้ในการส่งส่วยสาบรรณาการ หรือใช้ในการติดสินบนให้ผู้ปกครองที่เหนือกว่า เช่น ราชสำนักสยาม เป็นต้น
ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามระหว่าง “ไท” กับ “ข่า” ก็ยังตกทอดมาถึงปัจจุบันโดยการที่มีการนำคำว่า “ข่า” ไปเติมหน้าชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ และคนกลุ่มนี้ก็ยังถูกเหยียดหยามจากพวกอื่น เช่น ไท (ไต) ลาว (เลียว) เป็นต้น แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกนำคำว่า “ข่า” มาเติมหน้าชื่อจะไม่พอใจก็ตาม
สำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน อคติทางชาติพันธุ์เกิดขึ้นทั่วไปแทบทุกภูมิภาค อคติทางชาติพันธุ์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่สำคัญดังนี้
ความคิดคู่ตรงข้ามระหว่างความมีอารยะ (civility) กับป่าเถื่อน (savagery) เป็นการเรียกชาติพันธุ์ที่ผูกติดกับพื้นที่และเวลาที่มีนัยยะว่าเป็นพวกป่าเถื่อน ห่างไกลทั้งในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และห่างไกลในเชิงเวลา เช่น คนใต้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์อุรักลาโว้ย มอแกน และมอเกล็นว่า “ชาวเล” คนเมือง (คนพื้นราบในภาคเหนือ) และรัฐไทยเรียกกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงว่า “ชาวเขา” คนเมืองเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอญอ (ที่แปลว่าคน, คนเหมือนกัน) ว่า “กะเหรี่ยง” ที่แปลว่า “คนป่า” หรือคนกรุงเทพฯ เรียกคนอื่นว่า “พวกบ้านนอก” หรือ “พวกบ้านนอกคอกนา” เช่นในอดีตที่เรียกกลุ่มชาติพันธุ์จามที่ชานกรุงเทพฯ หรือแม้แต่คนแถบสุพรรณบุรีว่า “บ้านนอก” การเรียกคนแถบพนมดงรักในอีสานใต้ว่า “เขมรป่าดง” เป็นต้น
ความคิดที่สอง คือการแบ่งแยกกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมือง โดยนำสถานะทางเศรษฐกิจการเมืองที่ตำกว่ามาเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น การเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กูยหรือโกยในภาคอีสานว่า “ส่วย” จากการที่ในอดีตคนกลุ่มนี้ (รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ) จะต้องส่งส่วยให้เจ้าเมืองในอีสานเพื่อส่งให้บางกอกอีกที และคำนี้ก็ถูกนำมาเรียกคนกลุ่มนี้จนถึงปัจจุบัน (หากท่านใดสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากงานเรื่องความเป็นมาคำสยาม ไทย ลาว และขอมฯ ของจิตร ภูมิศักดิ์)
ความคิดต่อมา คือการมองว่าคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นไม่ใช่คนเหมือนเรา และนำไปสู่การเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่เหยียดหยามว่าไม่ใช่คน เช่น คนแพร่และน่านเรียกกลุ่มชาติพันธุ์มาลาบรีว่า “ผีตองเหลือง” แม้แต่ในชีวิตประจำวันในปัจจุบัน คนเมืองบางคนก็ยังใช้สรรพนามสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงว่าไม่ใช่คน แต่เป็น “แมง” ซึ่งแปลว่าสัตว์ เช่น การพูดว่า “เห็นแมง… (ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกเหยียดหยาม) เดินมา 1 ตัว”
นอกจากอคติทางชาติพันธุ์แล้ว สังคมไทยรวมทั้งสังคมอื่นในแถบนี้ยังแบ่งแยกชาติพันธุ์ด้วยศาสนา และเต็มไปด้วยอคติทางศาสนา ในบางกรณีเมื่ออคติทางชาติพันธุ์ถูกผูกโยงกับอคติทางศาสนา ก็ยิ่งทำให้เกิดความเกลียดชังเป็นทวีคูณ ดังกรณีโรฮิงญาในพม่าที่พวกเขาถูกมองว่าไม่ใช่พม่าแท้เมื่อบวกกับอคติทางศาสนาที่คนกลุ่มนี้นับถือศาสนาอิสลาม (ลองสังเกตครับว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกเรียกว่า “โรฮิงญา” อย่างเดียว บ่อยครั้งที่พวกเขาถูกเรียกว่า “มุสลิมโรฮิงญา”) ก็ทำให้ต้องเผชิญกับลัทธิชาตินิยมสุดโต่งที่อิงกับพุทธศาสนาในพม่า และพวกเขาก็ต้องถูกไล่เข่นฆ่าราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์
ในปัจจุบัน แม้สังคมโลกได้พัฒนาไปมากแล้ว โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน ดังจะเห็นได้จากการมีปฏิญญาสากลและอนุสัญญาต่างๆ กำหนดให้คุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ทั้งรัฐและชนชั้นนำไทย (รวมทั้งคนไทยส่วนมาก) ก็ไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ในทางกลับกัน ยังได้ผลิตซ้ำ “วาทกรรม” ที่ตอกย้ำความคิดอคติทางชาติพันธุ์อยู่ตลอดเวลา
ตัวอย่างล่าสุดของปฏิบัติการนี้ก็คือนำคำว่า “ครอก” มาใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ที่หลบหนีออกมาจากจีนและเป็นผู้แสวงหาที่พักพิงใหม่เพราะถูกกดขี่ทางศาสนาและวัฒนธรรมจากรัฐบาลจีนและคนจีนเชื้อสายฮั่นที่อพยพเข้าไปในซินเจียงอุยกูร์ที่ตกเป็นอาณานิคมภายใน (internal colonail) ของรัฐจีน
คำว่า “ครอก” ในทางสังคม เป็นคำที่บรรดาผู้ปกครองไทยในอดีตใช้เรียกพวกที่ตกเป็นทาสโดยการเรียกลูกของทาสว่า “ลูกครอก” ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพวกที่ถูกเรียกว่า “ข่า” ในตำนานกำเนิดมนุษย์ที่ถูกตีจับมาเป็นทาส
นอกจากนั้น สังคมไทยยังใช้คำว่า “ครอก” (A litter) ในการเรียกการตกลูกของสัตว์ที่ตกลูกครั้งละหลายตัว เช่น สุนัข แมว เป็นต้น
เมื่อพิจารณาบริบทของการใช้คำว่า “ครอก” ในกรณีของอุยกูร์ เบื้องหลังความคิดของผู้ที่ใช้คำนี้น่าจะมีนัยยะว่าอุยกูร์เป็น “สัตว์” ไม่ใช่คน
ผมไม่ทราบว่าสื่อต่างประเทศได้แปลเหตุการณ์การนำคำว่า “ครอก” มาใช้กับอุยกูร์ออกไปมากน้อยแค่ไหน และอุยกูร์และคนกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้องกับอุยกูร์รวมทั้งนานาอารยะประเทศจะรู้สึกอย่างไร แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่บูดิเยอร์นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสเรียกว่า “ฮาบิทัส” ที่แปลว่า “นิจลักษณ์” ของคนไทยจำนวนหนึ่งได้เป็นอย่างดี
คำว่า “ฮาบิทัส” ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสและแปลเป็นไทยว่า “นิจลักษณ์” นั้นอาจจะเข้าใจยาก เพื่อนอาจารย์ที่สอนภาษาฝรั่งเศสท่านหนึ่งจึงบอกผมว่า เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น คำนี้อาจแปลได้อีกอย่างว่า “สันดาน” ก็ได้
อุยกูร์ที่ถูกควบคุมตัวที่สงขลาและถูกส่งกลับจีน และมีการนำคำว่า “ครอก” มาใช้กับพวกเขา
ขอบคุณภาพจาก ManagerOnline