สำหรับประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุมากกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ กระจายอยู่ทั่วประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ คือ กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรม ที่แสดงออกผ่านรูปแบบวิถีชีวิตภาษาภูมิปัญญาและจะรีบประเพณี ประเทศไทยเรามีพี่น้องชาติพันธ์ุหลากหลายกลุ่มที่อยู่ร่วมกัน แต่ด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่าง หลายครั้งพี่น้องชาติพันธุ์ถูกมองด้วยความไม่เข้าใจและแฝงไปด้วยอคติ ความไม่เข้าใจทำให้ที่ผ่านมาการวางแนวทางการดูแลและช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเขาและไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา จนบางครั้งกลายเป็นการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม สร้างความเหลื่อมล้ำทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้พวกเขารู้สึกถึงความไม่เสมอภาคและความไม่เท่าเทียม นำมาสู่การจัดกิจกรรมในวันชนเผ่าพื้นเมืองสากลและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจาก 45 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และสภาในระดับพื้นที่ร่วมกับภาคีองค์กรและเครือข่ายต่าง ๆ ได้ร่วมจัดเวทีเสวนาสาธารณะและรณรงค์เฉลิมฉลอง เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมือง ปี 2565 ภายใต้ธีมงาน “สานพลังคุ้มครองวิถีชีวิต ส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง” ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม- 9 สิงหาคม 2565
สถานการณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ชนพื้นเมืองเป็นกลุ่มชนที่มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะวิถีชุมชนที่มีลักษณะเป็นสังคมเกษตร มีการทำไร่หมุนเวียน ทำนา เลี้ยงสัตว์และประมงพื้นบ้าน รวมทั้งยังมีการปรับตัวให้เข้ากับฐานทรัพยากรธรรมชาติและภูมิศาสตร์ที่พวกเขาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและแรงกดดันจากนโยบายจากภาครัฐอันได้แก่
1.ระบบการศึกษาไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนและขาดการสานต่อของเยาวชน
2.ชุมชนขาดความมั่นคงในที่ดินและถูกจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ
3.การพัฒนาที่ขาดการเชื่อมโยงคุณค่าทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต
4.ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
5.ไม่มีนโยบายส่งเสริมการดำรงวิถีของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นต้น
สาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาและสร้างความเหลื่อมล้ำให้แก่กลุ่มพี่น้องเผ่าพื้นเมืองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ ที่ผ่านมาในช่วงวัน 6-8 สิงหาคม ชนเผ่าพื้นเมืองได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
กลุ่มสตรีชนเผ่าพื้นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพและอาหารให้คนในครอบครัว พวกเธอจึงเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้มากมายในการจัดหาและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลรวมถึงการพยายามรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเพื่อดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไม่ถึงข้อมูลและการช่วยเหลือ ดังนั้นจึงได้รวมตัวกันเพื่อรื้อฟื้นองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพและมีการแบ่งปันพืชผักและข้าวสารไปยังชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน
ยกระดับองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยวสร้างสรรค์ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การทอผ้าและการย้อมสีธรรมชาติ ที่สามารถสร้างรายได้ควบคู่ไปกับดูแลผืนป่าของชุมชนและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนการสืบทอดศิลปวัฒนธรรม
ชนเผ่าพื้นเมืองกับการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าและทะเล ความมั่นคงทางอาหารของชนเผ่าพื้นเมือง ที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีพ พวกเรามีองค์ความรู้และมีบทบาทสำคัญในการจัดการและใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนแต่กลับมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่การทำเหมืองแร่ที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ของเรา การประกาศกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ และประกาศเขตพื้นที่มรดกโลกทางทะเล เป็นต้น
โครงการเหล่านี้นอกจากจะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียหายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อที่ดินและที่อยู่อาศัย ซึ่งถือว่ากลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนา และลดภาระของรัฐและส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของชนเผ่าพื้นเมืองในการพัฒนาและการจัดการชุมชนของตนเองและสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีสร้างทัศนคติที่ดีร่วมกันของสาธารณชน และท้ายที่สุด จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
เนื่องวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก วันที่แสดงความหลากหลายของชาติพันธุ์ทั่วโลก ลำปางหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีชาติพันธุ์มากถึง 6 ชนเผ่า แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยถูกนำมาสื่อสาร หรือการสื่อสารถึงความร่วมมือกันในแต่ละชาติพันธุ์ จึงใช้วันชนเผ่าพื้นเมืองโลกในการเริ่มต้น สื่อสารความมีอยู่ของความหลากหลายที่อยู่ในจังหวัดลำปาง โดยจัดพื้นที่งาน ลำปางเมืองแห่งความหลากหลายชาติพันธุ์ โดยให้เด็ก ๆ ชาติพันธุ์ในแต่ละชุมชนได้มาแสดงความสามารถ ณ บ้านหลุยส์ทีเลียวโนเวน ชุมชนท่ามะโอ จ.ลำปาง และการแสดงสินค้า จากเครือข่ายชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดลำปาง
ทีมงานลำลอง ปักหมุดเล่าเรื่อง ผ่านแอปพลิเคชัน C-site กิจกรรมภายในงาน https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000025963
ลำปาง พื้นที่ใจกลางภาคเหนือ ประกอบไปด้วย ชาวไทลื้อ กะเหรี่ยง ม่าน ไทใหญ่ ชาวจีน และอื่น ๆ โดยวัฒนธรรมเหล่านี้ได้ตกทอดมาสู่เมืองลำปางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในรูปแบบอาหารที่หลากหลาย เครื่องแต่งกายที่และเครื่องประดับเงิน วัฒนธรรมเหล่านี้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยที่ไม่ถูกพูดถึงอย่างจริงจัง ปัจจุบันวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้กำลังหายไป เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มออกห่างจากวิถีชีวิตดั้งเดิมไปมาก และพื้นที่ที่แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มในปัจจุบันมีลดน้อยลง ทีม ลำลอง จึงเปิดพื้นที่สื่อสารให้พี่น้องชาติพันธุ์ได้มาแสดงความสามารถ มาเสวนาพูดถึงปัญหาและหนทางแก้ไข เพื่อรักษาสิ่งสวยงามหล่านี้ไว้ มาร่วมแต่งกายตามวัฒนธรรมของตนเอง เพื่อเริ่มจุดประกายความเข้าใจในความหลากหลายและกระตุ้นให้กลุ่มชาติพันธุ์รุ่นใหม่รู้สึกภูมิใจในตนเอง ถือเป็นการริเริ่มกิจกรรมสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ทั้งสำหรับกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์และคนพื้นราบเอง เพื่อให้มาพูดคุย แลกเปลี่ยน และมาร่วมสนุกกันในจังหวัดลำปาง
ลำพังเพียงการเฉลิมฉลอง หรือจัดงานรณรงค์แบบเทศกาลประจำ คงไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่มีมาอย่างยาวนานได้ การตระหนักว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็มีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับคนทั่วไป การยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องอย่างจริงจัง เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับ นำมาสู่การผลักดันให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบาย โดยเฉพาะ ร่างกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง
วันที่ 9 สิงหาคม 2565 เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล พรรคก้าวไกลได้จัดงานเปิดนโยบายชาติพันธุ์ก้าวไกล ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินทร์
การบรรยายในหัวข้อ “เทรนด์ชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมสมัยใหม่” โดย คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, การเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครและนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของพรรคฯ, การบริหารของคณะกรรมการเครือข่ายชาติพันธุ์ฯ, แผนและยุทธศาสตร์ของเครือข่ายชาติพันธุ์ฯ ในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมด้วยดนตรีและการแสดงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
อีกทั้ง “กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก” ในนามคนรุ่นใหม่กลุ่มชาติพันธุ์และนักกิจกรรมทางสังคม ได้เข้ายื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล และอ่านแถลงการณ์ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ถอนรากถอนโคนปัญหาชาติพันธุ์ ปลดแอกมรดกสงครามเย็น ชำระประวัติศาสตร์ ทลายมายาคติทางสังคม
ด้าน นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ชาวปกาเกอะญอ ประกาศยกระดับชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความเท่าเทียมกับคนประชาชนคนอื่นๆ ในประเทศผ่าน 7 นโยบาย ได้แก่
- การสร้างรัฐสวัสดิการที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนทุกคน
- ปลดล็อกปัญหาที่ดิน
- ปลดล็อกสัญชาติและสถานะบุคคล
- เสนอ “เขตนิเวศวัฒนธรรมพิเศษ” ด้านชาติพันธุ์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- สร้าง Soft Power จากทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
- สนับสนุนการกระจายอำนาจ
- สนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์ในไทยเชื่อมโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อื่นๆ ของโลก
ซึ่งหลายนโยบาย โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่พี่น้องชาติพันธุ์ได้ประสบพบเจอ พรรคก้าวไกลได้ดำเนินการแก้ไขสำเร็จในหลายกรณีแล้ว ทั้งในระดับสภาผู้แทนราษฎร ระดับคณะกรรมาธิการ รวมถึงการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือ แก้ไข หรือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาติพันธุ์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้พี่น้องชาติพันธุ์ได้เจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ยิ่งขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่พรรคก้าวไกลจะต้องเดินหน้ามุ่งมั่นทำงานต่อไป
อ่านเพิ่มเติม https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000025978
นอกจากการจัดเวทีเสวนาสาธารณะและรณรงค์เฉลิมฉลองงานวันชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว ยังมีการแถลงการณ์และยื่นข้อเสนอของชนเผ่าพื้นเมืองต่อการผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ณ.อาคารรัฐสภากรุงเทพมหานคร ให้กับ สส.และ สว. ซึ่งมีใจความดังนี้
“พวกเราชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่ พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีพพวกเรามีองค์ความรู้ในการจัดการและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนมีการพัฒนาและสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น พวกเรายอมรับว่าสตรีและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนของเรา ในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารการอนุรักษ์และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาชุมชนข เรายังมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและการใช้ทรัพยากร ที่สืบทอดกันมาหลายช่วงอายุคน เป็นสิทธิตามจารีตประเพณีและสิทธินี้ไม่เคยได้รับการยอมรับ ทั้งในนโยบายและกฎหมายการอนุรักษ์ทรัพยากร ที่มาจำกัดสิทธิและพลากเราออกจากพื้นที่ทำกิน สถานการณ์เหล่านี้ หากว่ายังดำรงอยู่ต่อไปไม่มีการแก้ไข ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ชนเผ่าพื้นเมืองยังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคมไทยยังเหมือนเดิม พวกเราชนเผ่าพื้นเมืองขอประกาศเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ว่า เราจะสืบสานปณิธานและสืบทอดวิถีชีวิตของเราบนฐานขององค์ความรู้และภูมิปัญญาของเราและขอเรียกร้องให้รัฐบาล
1.ยุติโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของพวกเรา
2.แก้ไขนโยบายและกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเราเช่นพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและกฎหมายเกี่ยวข้องอื่นๆ
3.ให้รัฐบาลสนับสนุนและออกกฎหมายที่ช่วยส่งเสริมสิทธิและคุ้มครองวิถีชีวิตของพวกเราโดยเฉพาะการรับรองร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย รวมทั้งร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองอีก 4 ฉบับ โดยเฉพาะร่างฉบับของรัฐบาลที่อำนวยการโดยศูนย์มนุษยวิทยาศิรินธรองค์การมหาชนที่ต้องรีบพิจารณาเพื่อเข้าสู่วาระภายในเดือนนี้ เพื่อเป็นการเร่งรัดให้ เกิดการพิจารณาต่อไป เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้พวกเรามีตัวตนและสามารถจัดการตนเองได้มีชีวิตและมีความเป็นอยู่ที่ดีมีศักดิ์ศรีและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมเพราะหัวทำได้อย่างสันติสุข”
สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและภาคีองค์กรเครือข่าย