ฟังเสียงประเทศไทย : ผู้ประกอบการชาติพันธุ์

ฟังเสียงประเทศไทย : ผู้ประกอบการชาติพันธุ์

ชุมชนชาติพันธุ์มีต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถี ประเพณีวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร การแต่งกาย การเกษตกรรม ที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งนำมาต่อยยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการเพื่อสร้างรายได้ ในหลายรูปแบบทั้งแบบที่ยังอยู่ในชุมชน หรือเป็นผู้ประสานงานอยู่นอกชุมชน แต่ภายใต้การไปรอดของชุมชนและตัวผู้ประกอบการชาติพันธุ์เองก็ยังมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน การสูญหายของอัตลักษณ์ แล้วจะเลือกใช้ทุนชุมชนควบคู่กับการประกอบการแบบไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 70 กลุ่ม กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ละกลุ่มต่างมีต้นทุนของชุมชนตัวเองที่เป็นสินทรัพย์หรือทรัพยากรที่ก่อให้เกิดผลผลิตในการดำรงชีวิตของคนและชุมชน นำมาสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ดึงต้นทุนมาเชื่อมกับภายนอก

ขอบคุณภาพจาก IMN

พี่น้องชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งต่อยอดทุนชุมชน ทุนทางวัฒนธรรมส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างโอกาสทางอาชีพ สร้างรายได้ให้กลุ่มชาติพันธุ์ จากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การแสดง หน่ายของที่ระลึก อาหาร สินค้าทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ โกโก้ พืชเมืองหนาว

หลายกลุ่มมีการพัฒนาจากการประกอบการแบบปัจเจคเป็นการรวมกลุ่ม เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการเพื่อสังคม เช่นที่หลายคนรู้จัก  ‘อาข่า อ่ามา’ (Akha Ama)  ที่เริ่มจากครอบครัวทำไร่กาแฟ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอด 12 ปี จนเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ผลิตแฟคุณภาพระดับโลก อาหารออนไลน์มาทำตลาด เครื่องเงินบ้านแม่ละอูบของพี่น้องละวือะ ที่มีเอกลักษณ์ น้ำผึ้งและผลิตจากป่าของบ้านหินลาดใน  อาหารจีนยูนนานที่ดอยแม่สลอง

บะหมี่ยูนนานที่ดอยแม่สลอง จ.เชียงราย

ชุมชน บ้านปางสา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน เชียงราย ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ ลีซู (ลีซอ) จำนวน 60 ครัวเรือน หรือ 68 ครอบครัวลาหู่จำนวน 27 ครัวเรือน หรือ 28 ครอบครัว และจีนฮ่อ จำนวน 10 ครัวเรือน

ชุมชนบ้านปางสามีวิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรมที่พึ่งพาธรรมชาติ ประกอบกับสภาพแวดล้อมและการเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมบนพื้นที่สูง มีอาชีพหลักในภาคการเกษตรโดยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และทำนา แต่ไม่มีระบบชลประทาน และระบบการจัดการที่ดี ผลผลิตที่ได้จึงขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในแต่ละปี ผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรของชาวบ้านจึงไม่ได้ผลดีนัก

ชุมชนบ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย

ถ้าแบ่งยุคการทำเกษตรของคนในชุมชนไม่ค่อยแตกต่างกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆบนพื้นที่สูง

ยุคแรก  ใช้วิถีพึ่งพาพาธรรมชาติ ชาวบ้านพึ่งพาอาหารและรายได้จากป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ทำเกษตรโดยพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก

ยุคสอง พ.ศ. 2500 ชาวบ้านบางส่วนปลูกฝิ่นเช่นเดียวกับชุมชนชาวเขาอื่น ๆ ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดน มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการผลิต พึ่งพากลไกตลาดเป็นหลัก

ยุคสาม เริ่มมีการจัดตั้งสหกรณ์หมู่บ้านเพื่อรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรไปขายยังตลาดภายนอกชุมชน เพื่อให้มีจำนวนมาก และคุ้มค่าที่จะขนสินค้าไปขายยังตลาด เพราะเป็นชุมชนบนพื้นที่สูงและมีความยากลำบากด้านการคมนาคม

ยุคสี่ ยุคแห่งการปลูกพืชแบบผสมผสาน ฟื้นป่า เริ่มมีหน่วยงานภายนอกได้เข้ามาส่งเสริมในด้านการเกษตร และการพัฒนาชุมชน เช่น ศูนย์สงเคราะห์และพัฒนาชาวเขา ในการส่งเสริมพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิต ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม คนมีการรวมกลุ่มกันในชุมชนเพื่อดูแลป่าและทรัพยากร มีป่าชุมชน มีการฟื้นคืนเรื่องของเมล็ดพันธุ์ และความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมปลูกพืชแบบผสมผสาน เพื่อสร้างรายได้ ร่วมกับความพยายามปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี๋ยว และลดใช้สารเคมีในการทำเกษตรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และต้นทุนสูง มีการแปรรูปและส่งเสริมการทำโก้โก้แบบครบวงจร

พิธีไหว้บรรพบุรุษของคนลีซูบ้านปางสา

จุดแข็ง

-มีต้นทุนทรัพยากร มีภูมิปัญญา พิธีกรรม เช่น กลุ่มลีซู มีพิธีอิ๊ด่ามาหลัวะ ในการรักษาผืนป่าอันเป็นทั้งถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ต้นน้ำที่สามารถใช้ต่อยอด

-มีต้นทุนเรื่องของเมล็ดพันธุ์

-มีองค์กรพี่เลี้ยงสนับสนุน และท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

ความหลากหลายของพืชพันธุ์ของลีซูถูกใช้ในงานพิธีกรรม

จุดอ่อน

-ยังคงมีการผลิตในเชิงเดี๋ยวและใช้สารเคมีในการเกษตร ที่พึ่งพิงราคาตลาด

– เกษตรกรบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และมีข้อจำกัดการใช้เทคโนโลยี

โอกาส

1.กระแสวัฒนธรรมนิยม และกระแสเชิงอนุรักษ์ทำให้คนสนใจชุมชนชาติพันธุ์มากขึ้น

2.เทคโนโลยีปัจจุบันที่ลดข้อจํากัดทางภูมิศาสตร์ลง  โดยลดข้อจํากัดเรื่องความห่างไกลของพื้นที่ทําให้ผู้ประกอบการสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้สะดวกผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สามารถส่งสินค้าผ่านระบบขนส่ง (Logistic) ที่รวดเร็วขึ้น

3.การสนับสนุนจากภาครัฐ  เริ่มหันมาให้ความสนใจและส่งเสริมกการทำเกษตรปลอดภัย เกษตรอนทรีย์ เช่น ปลูกกาแฟที่ปลูกใต้ร่มไม้ ปลูกพืชผสมผสานมากขึ้น

4. กระแสการบริโภคทางเลือกที่มาจากความต้องการของคนชั้นกลาง ซึ่งเริ่มสนใจเรื่องสุขภาพและหันมาสนใจคุณภาพของสินค้าเกษตรในชุมชนมากขึ้น

อุปสรรค

-ข้อจำกัดของกฎหมาย และที่ดินบางพื้นที่ยังมีปัญหาในเรื่องของที่ดิน อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ของรัฐ

-การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กระทบกับวิถีการผลิต

-สังคมสูงวัย ลูกหลานออกไปจากชุมชนไปทำงานข้างนอก

วงคุยของพี่น้องชาติพันธุ์บ้านปางสาและชุมชนข้างเคียงในเรือ่งทุนชุมชนกับการประกอบการของชุมชนชาติพันธุ์

ในอนาคต 5 ปีข้างหน้า เรา/ชุมชนจะเป็นผู้ประกอบการชาติพันธุ์แบบไหน

ภาพอนาคต1 ผู้ประกอบการพึ่งพาการตลาด
ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มองกลับไปที่รากเหง้าต้นทาง เพื่อยกระดับ ภาคบริการสู่ตลาดคุณภาพสูง มองหาโอกาสจากตลาดและกลไกราคา เกิดการเติบโตของผู้ประกอบการ เพราะสามารถออกแบบธุรกิจของตัวเองได้   จึงเกิดผู้ประกอบการรายย่อยได้มาก แต่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงอายุ ชุมชนยังคงมีการผลิตในระบบเกษตรที่มีทั้งเชิงเดี๋ยวและผสมผสาน ราคาขึ้นลงตามกลไกการตลาด ใช้พื้นที่เท่าเดิม หน่วยงานที่รับรองสิทธิ์ไม่ยอมรับในการใช้พื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่สูง

ภาพอนาคต2 ผู้ประกอบการเทคโนโลยี (ปรับเปลี่ยนเพื่อปูทางสู่อนาคต)

ผู้ประกอบการที่ใช้แนวคิดคนรุ่นใหม่มาประกอบการโดยเชื่อมกับฐานของชุมชน จะอยู่ในชุมชน หรืออยู่นอกชุมชนก็ได้ ซึ่งชุมชนมีความเสี่ยงที่อาจจะเหลือคนสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ภูมิปัญญาหรือต้นทุนชุมชนจะถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัย เชื่อมต่อต้นทุนท้องถิ่น เข้ากับนวัตกรรม เทคโนโลยี งานวิจัย และองค์ความรู้ สมัยใหม่ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการไม่ได้แข่งขันกันด้วยราคา เหมือนในอดีต แต่มุ่งเน้นการนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาเพิ่มความสามารถในการ แข่งขันของธุรกิจ ใช้ออนไลน์ในการส่งเสริมธุรกิจ การใช้พื้นที่ในการประกอบการ และทำการเกษตรลดลง หน่วยงานรัฐรองรับและสนับสนุน แต่การส่งเสริมก็ไม่ต่อเนื่อง และเข้าถึงแค่บางกลุ่ม ซึ่งผู้สูงอายุหรือคนไม่ถนัดเทคโนโลยีอาจตกขบวน แต่การประกอบการไปได้ไว สร้างรายได้ให้จำนวนมาก

ภาพอนาคต3 ผู้ประกอบการรวมหมู่ (สร้างคุณค่าใหม่ ในอนาคต)

ผู้ประกอบการที่เชื่อมโยงชุมชนเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง และการจัดการทรัพยากร โดยการหันกลับไปส่งเสริมการทำเกษตรปลูกพืชแบบผสมผสานที่เน้นความหลากหลาย แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ภาครัฐยอมรับสิทธิการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรโดยเฉพาะที่ดิน มีการจัดตั้งและร่วมระดมทุน ในรูปแบบห้างหุ้นส่วน หรือแบบอื่น  และมีแนวคิดร่วมกัน สร้างระบบการค้าที่เป็นธรรมมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเครือข่าย ทำงานร่วมกันแบบหุ้นส่วน ทั้งรัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น การเติบโตของการประกอบการจะช้า เพราะต้องมีข้อตกลงในการจัดการ และการออกแบบการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นทรัพยากรของหน้าหมู่ มีทุนหมุนเวียนกลับมาพัฒนาชุมชน  แต่ชุมชนจะมีอำนาจในการต่อรองเชิงนโยบายมากขึ้น สามารถพัฒนาและส่งสินค้าไปยังต่างประเทศร่วมถึงตลาดใหม่ๆ  และเป็นที่รู้จักของคนวงกว้าง ระดับสากล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ