ฝุ่นพิษจิ๋ว PM 2.5 ณ อีสานหลายคักแหน่

ฝุ่นพิษจิ๋ว PM 2.5 ณ อีสานหลายคักแหน่

อากาศเย็นที่อีสานช่วงนี้ อาจไม่ได้มีแค่ลมหนาว แต่เจ้าฝุ่นพิษจิ๋ว PM 2.5 ก็มาพร้อม ๆ กัน

สถานการณ์ปัญหา PM 2.5 เริ่มปรากฏรุนแรงขึ้นในประเทศไทยประมาณปี 2561 หรือประมาณ 3-4  ที่ผ่านมา พร้อมเพิ่มระดับความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเนื่องมาทุกปี โดยมักจะมีค่าคุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวประมาณเดือนธันวาคม และจะบรรเทาเบาบาง หรืออาจจะยาวนานจนถึงหน้าฝนเข้ามาขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป 

ฝุ่น PM 2.5 มาจากหลายแหล่งกำเนิด ทั้ง ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ การเผาขยะ การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การการทำเกษตรกรรม ไฟป่าทั้งที่เกิดจากตามธรรมชาติและการลักลอบเผาป่า การก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงฝุ่นควันข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังมีคำถามถึงนโยบายและแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายที่ยั่งยืนจากรัฐบาลมาโดยตลอด

ผลคุณภาพอากาศ ณ 2 กุมภาพันธ์ 2566

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร ?

หน่วยงานป้องกันสิ่งแวดล้อม ประเทศสหรัฐอเมริกา US. EPA (United State Environmental Protection Agency) ได้ทำการกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์เอาไว้โดยใช้ค่า PM (Particulate Matters) เป็นเกณฑ์ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ดังนี้ฝุ่น PM 10 หรือที่โดยทั่วไปเรียกว่า “ฝุ่นหยาบ” (Course Particles) คือ อนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2.5 – 10 ไมครอน ฝุ่นประเภทนี้เมื่อรวมกันเป็นจำนวนมากแล้วมักจะสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น ฝุ่นที่เกาะอยู่ตามข้าวของเครื่องใช้, เกสรดอกไม้ หรือฝุ่นละอองจากงานก่อสร้าง เป็นต้น ฝุ่น PM 2.5 หรือที่เรียกว่า “ฝุ่นละเอียด” (Final Particles) คือ อนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 2.5 ไมครอน

ไทอีสานพีบีเอส เครือข่ายสื่อสาธารณะภูมิภาค ร่วมกับอยู่ดีมีแฮง ThaiPBS ชวนโสเหล่เว้าจาเรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในวงเสวนาออนไลน์ “ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ณ อีสานหลายคักแหน่” เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หลังมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ซึ่งเป็นการวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศโดยรอบและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศสูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งกระจายจุดสีแดงไปทั่วประเทศไทย ไม่เฉพาะเพียงแค่ภาคเหนือหรือพื้นที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ จ.นครพนม มีผลคุณภาพอากาศ PM 2.5 ในวันดังกล่าวสูงที่สุดในภาคอีสาน ที่ 207 US AQI 

ผลคุณภาพอากาศ ณ 2 กุมภาพันธ์ 2566

“ภายในช่วง 3 ปีมานี้ ช่วงหน้าหนาวจะเกิดฝุ่นแบบนี้ทุก ๆ ปี อาจจะเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งจากที่เราเผาการเกษตรเอง และฝุ่นข้ามแดนที่พัดเข้ามาทำให้ทับถมกันเข้าไปอีก ก็คือเราต้องเช็คอากาศนั่นแหละ ก่อนออกจากบ้าน ตอนเช้าตื่นขึ้นมาเนี่ยที่เห็นอากาศเป็นหมอก แต่จริง ๆ แล้วเนี่ยคือถ้าเราสังเกตดี ๆ หรือว่าใครที่เป็นภูมิแพ้ได้ง่าย ก็อาจจะสัมผัสรู้ได้เลยว่านี่คือหมอกควันมลพิษนะ คืออันนี้สำหรับผมคือแสบจมูกนิด ๆ”

พัฒนะ พิมพ์แน่น  นักข่าวพลเมือง จ.นครพนม เล่าถึงสถานการณ์ฝุ่นพิษจิ๋วในจังหวัดนครพนมที่กำลังเผชิญอยู่ แม้จะมีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าในอีกไม่กี่วันจะมีฝุ่นชะล้างลงมาบ้าง แต่หลายคนจำเป็นต้องลดกิจกรรมในพื้นที่กลางแจ้งเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ

“ก็คงต้องระวังตัวมากขึ้นครับ และสื่อสารร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ด้วย เพราะฝุ่นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจังหวัด นักท่องเที่ยวอาจจะมองว่าเป็นหมอกสวย ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันคือมลพิษทั้งนั้นเลย ก็มีติดตามจากไลน์ของจังหวัดและข้อมูลจากกรมอุตินิยมวิทยาด้วยครับ”

วิรุฬห์ ฤกษ์ธนะขจร   ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 บอกถึงสาเหตุการเกิดมลภาวะฝุ่นนี้ว่ามีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก ๆ ด้วยกัน สิ่งแรกพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การคมนาคมขนส่ง, การเผาในที่โล่งแจ้ง, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และสภาวะอากาศ ฤดูกาล เช่น การปฏิกิริยาเคมีในอากาศโดยมีสารเคมีกลุ่มซัลเฟอร์ หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น รวมทั้งสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย เช่น ปรอท, แคดเมียม, อาร์เซนิก, โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก หลายอย่างเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งเราอาจจะต้องช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้น เช่น การเปิด App เพื่อดูค่าอากาศที่ได้มาตรฐาน หากมีค่าสูงอาจจะต้องใส่หน้ากากหรืองดทำกิจกรรมในที่แจ้ง โดย app ที่แนะนำที่ว่ากรมควบคุมมลพิษเขาติดตั้งเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน แล้วก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกก็คือ Air4Thai 

“อันนี้จะเป็นแอปที่เราดาวน์โหลดได้ฟรี แล้วก็สามารถเข้าไปดูคุณภาพอากาศได้ คือที่มีสถานีออนไลน์ของกรมควบคุมมลพิษจะปรากฏหมดเลย แทบพูดง่าย ๆ ว่าแทบครอบคลุมทุกจังหวัดแล้ว และก็ขอแนะนำว่าให้ชวนจะใช้ App ตัวนี้เป็นหลัก เรื่องการแจ้งเตือนภัยในการประชาสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะว่าประชาสัมพันธ์นี้ จริง ๆ แล้วผมว่าสื่อของรัฐก็เราก็ออกอยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่ว่าช่วงเวลาของการที่เรารับรู้ข่าวสารเราอาจจะไม่ตรงกับเวลาที่เขาออก แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้ทุกคนรับรู้ ก็คือเราต้องช่วยตัวเองก่อน เราสามารถเปิดแอปดูได้เลยแล้ววันนี้เราควรจะไปปฏิบัติตัวยังไงมันฟ้องอยู่ในแอปของมันหมด ถ้ามันขึ้นสีแดงอย่างนี้ เราก็ควรจะงดออกนอกพื้นที่ไปอยู่พื้นที่โล่งให้น้อยลงก็ควรจะอยู่ในสำนักงานให้มากขึ้นหรืออยู่ในบ้านให้มากขึ้นอย่างนี้เดี๋ยวต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น”

รศ. ดร.พรพรรณ สกุลคู  หัวหน้าสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อมอาชีวอนามัย และความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของการเผชิญฝุ่น PM 2.5 ว่าการออกไปเจอฝุ่นแบบนี้ในปริมาณ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็เหมือนกับการสูบบุหรี่ 1 มวน และปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ PM 2.5 อาจจะเป็น 1 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีน อาจทำให้เกิดมะเร็งต่อ และทำให้เกิดเป็นมะเร็งเนื้อเยื่อในถุงลมปอดได้

“ปริมาณฝุ่นเขาจะมีมาตรฐานเป็นรายวัน แล้วก็มีเป็นมาตรฐานเป็นรายปี ซึ่งถ้าเป็นรายวันเนี่ยก็จะมี 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็คือเราอาจจะมีเลือดกำเดาไหลหรือว่าตาแดงหรือคันอะไรพวกนี้เราจะแสดงออกทันทีนะคะ แต่ถ้ารายปีเนี่ย จะแสดงออกก็คือเป็นป่วยเรื้อรัง ดังนั้นแล้วกลุ่มผู้ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ที่เรารู้ว่าเป็นภูมิแพ้เป็นอะไรอย่างนี้ก็อาจจะต้องระมัดระวัง ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ รวมถึงอาจจะงดออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง เพราะมีหลายเคสที่เกิดขึ้น แม้จะร่างกายแข็งแรงแต่ก็เป็นมะเร็งปอดกันไปหลายคนแล้ว ทั้งที่ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ก็ตาม หากสามารถงดได้ก็ควรงดไปก่อน เพราะการสูดสิ่งที่มันเป็นสิ่งที่มลพิษร้ายเข้าไปในปริมาณความอัตราการเร็วของการหายใจเข้าไปมันก็มาก แล้วสิ่งแวดล้อมอากาศแบบนี้หรือว่ามลพิษมันขนาดนี้ไม่เหมาะที่จะออกกำลังกายเลย”

นอกจากนี้ ผศ. ดร.ชัยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ข้อสังเกตถึงสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคอีสานช่วงนี้ว่า อาจมีปัจจัยที่มากกว่าการเผาตอซังข้าวในการเกษตร “เนื่องจากตอนนี้ซังข้าวราคาแพงมาก ชาวนาบางคนอาจจะมีการเผาบ้างเพื่อให้ไถง่าย แต่น้อยมาก แต่น่าจะมาจากการลักลอบเผาเพื่อล่าสัตว์ สาเหตุนี้ชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ได้ไม่ยาก หลายที่มีการออกกฎห้ามเผาซังข้าว การ X-ray ในพื้นที่จริงจึงสำคัญ ไม่งั้นเราจะโยนบาปให้ชาวนา รวมถึงแนวชายแดน เจอฝุ่นจิ๋วมรณะจากลาว เพราะอาณานิคมกล้วย มีการเคลียร์ป่าจากทุนจีนที่ได้รับสัมปทานเพื่อปลูกกล้วย”

ภัยพิบัติฝุ่นพิษจิ๋ว PM 2.5 แม้อาจไม่ส่งผลกระทบในทันทีเฉกเช่นภัยพิบัติอื่น เช่น ฝนตก น้ำท่วม พายุลมแรง แต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุผลกระทบฝุ่นละออง PM2.5 ว่าสามารถถูกสูดเข้าลึกถึงระบบทางเดินหายใจและปอดก่อให้เกิดการระคายเคืองแสบจมูก ไอจาม มีเสมหะ  หอบหืด หัวใจวายเฉียบพลัน

หลอดเลือดสมองตีบ และที่อันตรายที่สุดอาจถึงขั้นเป็นมะเร็งปอด ซึ่งกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุุและผู้มีโรคประจำตัว รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางมาตรการการเฝ้าระวังได้จาก กรมควบคุมโรค

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ