31 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. ได้มีประชุมหารือ แผนการขยายผลแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ภายใต้แนวคิด/โมเดล “การพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย หรือ OG & MP (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem)” โดย นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการเชียงใหม่กล่าวเปิดงาน ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ หารือหน่วยงานพื้นที่รวมถึงสภาลมหายใจเชียงใหม่ได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินการแล้ว
โดยมีรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ประกอบด้วย นายไมตรี อินทุสุต ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น และนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธาน อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. นายสุนิตย์ เชรษฐา อนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม นางสาวนภนง ขวัญยืน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบบริหารงานส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น
รวมถึงภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ได้แก่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษและคณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ผู้แทนภาคประชาสังคม
ช่วงฤดูฝุ่นควัน
โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในจังหวัดของภาคเหนือที่มักประสบปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก เนื่องจากภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ การลักลอบเผาป่า พื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก 8 ที่ที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ รวมไปถึงฝุ่นควันจากท่อไอเสียยานพาหนะและโรงงานอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจอีกด้วย
การดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM 2.5 ช่วงวิกฤต
ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคเหนือรวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ มีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีการตั้งศูนย์บัญชาการ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง การเฝ้าระวังการเผา การลาดตระเวน การจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น การเพิ่มความชื้นในอากาศ การบังคับใช้กฎหมาย รวมไปถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชน ซึ่งการหารือในครั้งนี้ เพื่อให้ปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในจังหวัดเชียงใหม่นั้นลดลง เป็นไปตามเป้าหมายที่จะลดค่า (PM 2.5) ที่เกินมาตรฐาน จุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ รวมไปถึงจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
การร่วมกันหารือ
การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (OG & MP) ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)
โดย นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ซึ่งข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานั้น มีการหารือเลือกพื้้นที่ดำเนินการ ได้แก่ พื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก พื้นที่ป่าอุทธยานฯ พื้นที่ชุมชนที่ติดกับพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ที่มีข้อมูลสนับสนุน และมีฐานการทำงานเดิมอยู่แล้ว เช่น ออบหลวง อมก๋อย แม่แจ่ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการหารือเลือกพื้นที่ดำเนินการ อย่างดอยสุเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวังและอยู่ใกล้กับตัวเมือง
อีกทั้งยังมีการเน้นย้ำในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ที่ต้องตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส เช่น เรื่องค่าฝุ่น PM 2.5 และจุดความร้อน ที่มีการรายงานแบบ Real Time รวมไปถึงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง การแจ้งเตือนภัยสุขภาพ การส่งเสริม Carbon Credit ในพื้นที่ การพัฒนา Low Cost Sensor และการร่วมมือกันของภาคีเครือข่าย สร้างวิสัยทัศน์ให้บรรลุเป้าหมาย นำไปสู่การแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน