โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน 600MW โดย บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) กำลังมีแผนมาตั้งในพื้นที่ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) จากเดิมที่เคยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด47.4MW อยู่ก่อนแล้ว เหตุผลหลักของการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมหนีไม่พ้นเรื่อง ความมั่นคงพลังงาน วิกฤตพลังงาน ที่ภาครัฐกล่าวอ้างตลอดเวลา เรื่องรองลงมาคือ การสร้างรายได้ให้กับชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การเสียสละของคนส่วนน้อยเพื่อคนส่วนใหญ่ เป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากภาครัฐ และ นายทุน
แต่มีชาวบ้านในพื้นที่ส่วนหนึ่งไม่คิดและไม่เชื่อเช่นนั้นจึงรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่ม เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน เพื่อเป็นปากเป็นเสียงบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะเห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเข้ามาสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรมของพวกเขา พื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารจัดอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แหล่งความมั่นคงทางอาหารที่ชาวบ้านหวงแหนต้องการรักษาปกป้อง ไม่ว่าจะเป็น แหล่งเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยที่ใหญ่เป็นอันดับ1ของภาคตะวันออก มะม่วงแปดริ้วชื่อดัง ผักปลอดสารพิษ ข้าวอินทรีย์ส่งออกต่างประเทศ เป็นต้น หรือการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ เพราะโรงไฟฟ้าจะตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำคลองท่าลาด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาแหล่งใหญ่และหัวใจของระบบชลประทานของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมตามลำน้ำ การเพิ่มขึ้นของสารพิษที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำจากโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งสารพิษทั้งใน ดิน น้ำ อากาศ จากตัวถ่านหินเอง ผลกระทบเหล่านี้เกิดการสะสมในร่างกายของชาวบ้านในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งประเทศไทยมีบทเรียนมาแล้วจากทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่เดิม และนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ผลกระทบบางส่วนได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ จากโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด47.4MW ที่สร้างตั้งแต่ปี2542 เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงบางรายได้รับผลกระทบ ผลผลิตมะม่วงลดลงอย่างต่อเนื่อง มีช่อดอก แต่ไม่มีลูก เกษตรกรเล่าว่า “แต่ก่อนไม่มีโรงไฟฟ้า(ชีวมวล)ลูกดกมาก ตอนแรกๆเขาว่าใช้ชีวมวล พอหลังๆเขาว่ามีถ่านหินผสม” เกษตรกรบางรายถึงขั้นต้องโค่นสวนมะม่วงทิ้งแล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน หรือหมู่บ้านในพื้นที่รอบๆโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าชีวมวล น้ำบ่อตื่นที่ชาวบ้านเคยใช้อุปโภคบริโภคกลับพบโลหะหนักปนเปื่อน ทั้ง ปรอท แคดเมียม ซึ่งแต่เดิมไม่เคยมี ทำให้หลายครัวเรือนต้องหยุดใช้น้ำบ่อตื้นในการบริโภค แต่ยังใช้อุปโภคอยู่เพราะไม่สามารถซื้อน้ำจากที่อื่นได้
วิถีชีวิตที่มีแต่เดิมเปลี่ยนไป ภาพของการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ ชุมชนเกษตรถูกทำลาย เปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรไปเป็นแรงงานในโรงงาน ชาวบ้านบอกว่า “เรามีเห็ด มีผัก มีข้าว มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์วันนี้เราอยู่ได้ เรากินถ่านหิน กินยูคา กินมันสำปะหลัง ได้รึเปล่า ถ้าโรงไฟฟ้ามาตั้งวิถีชีวิตเราก็ต้องเปลี่ยนไป โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมา ถึงแม้ว่าเขาจะบอกว่าสะอาดแต่มันเชื่อถือได้แค่ไหน เราเคยไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อื่น เขาก็มีปัญหาทั้งนั้น เราจึงไม่อยากให้เกิดขึ้นที่บ้านของเรา” เสียงสะท้อนจากชาวบ้านคนเล็กๆในพื้นที่ อาจไม่ดังไปถึงภาครัฐ และ นายทุน แต่วันนี้การรวมตัวกันของชาวบ้านเป็นเครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน สามารถหยุด EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนได้ ด้วยความร่วมมือของคนในชุมชนที่ร่วมกันต่อสู้เพราะอยากเห็นการพัฒนาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาแล้วอ้างความเจริญของคนหมู่มาก แต่ไม่เป็นการพัฒนาที่พวกเขามีส่วนร่วม การพัฒนาที่กินได้
สุดท้ายจะเก็บแหล่งความมั่นคงทางอาหาร หรือจะต้องกินถ่านหินเป็นอาหาร?