หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน! กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ยืนยันค้านแม้ถูกกดดันด้วย ม.44

หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน! กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ยืนยันค้านแม้ถูกกดดันด้วย ม.44

20160309222737.jpg

วันที่ 2 ก.ย.59 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด บำเหน็จณรงค์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ร่วมกันจัด “งานบุญสืบชะตาบึงทะเลสีดอ” ณ วัดหัวทะเล บ้านหัวทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ 

กิจกรรมดังกล่าวมีชาวบ้านจาก 20 หมู่บ้าน ใน อ.บำเหน็จณรงค์ เข้าร่วมราว 700 คน อีกทั้งยังมีชาวบ้านกลุ่มฅนรักบ้านเกิด จ.เลย และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเดินทางมาร่วมงานด้วย

ช่วงเช้า ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.บำเหน็จณรงค์ จากหลายหมู่บ้าน ร่วมแห่ขบวนต้นบุญและช่วยกันสื่อสารต่อพี่น้องตามรายทาง ต่อข้อกังวลที่อาจจะเกิดหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากนั้น ได้เคลื่อนขบวนมายังบึงทะเลสีดอ เพื่อขอพรจาก “เจ้าเซ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบึงให้ช่วยปกป้องผืนน้ำ จากการคุกคามของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเหมืองแร่โปแตช

ช่วงบ่าย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ร่วมแสดงธรรมเทศนา “พลังชุมชนในการปกป้องบ้านเกิด” ต่อด้วยเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้จากพี่น้องกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต  มาบอกเล่าข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาให้ข้อมูลด้านกฎหมาย การใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อปกป้องชุมชน  

ท้ายสุด ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ได้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนว่าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และยืนยันจะต่อสู้อย่างสันติวิธี

20160309222824.jpg

 

ล่าสุด  ผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เวที ค.2 หรือ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงาน ตามมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ในการประชุมครั้งที่ 17/2559 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559   ไม่ให้ความเห็นชอบ  รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม  สำหรับโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ ต.หัวทะเล  อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ  โดยให้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ กำหนด 19 ประเด็น ดังนี้

1)ด้านรายละเอียดโครงการ  2)ด้านน้ำ  3)จัดการน้ำทิ้ง  4)ระบบการระบายน้ำและการป้อกันน้ำท่วม  5)ด้านน้ำใต้ดิน 6)ด้านคุณภาพอากาศ  7)ด้านเสียง  8)ด้านทรัพยากรดิน  9)ด้านทรัพยากรชีวภาพ  10)ด้านการจัดการกากของเสีย  11)ด้านสารเคมี  12)ด้านคมนาคม  13)ด้านสุขภาพ  14)ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  15)ด้านโบราณคดี  16)ด้านเศรษฐกิจและสังคม   17)ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน  18)แผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรกาการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม 19)ประเด็นคัดค้านของประชาชนบริเวณพื้นที่โครงการและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์

 

20160309194658.jpg

แถลงการณ์กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์

วันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2559

          นับตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 หลังกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกประทานบัตรเลขที่ 31708/16118 โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ให้แก่บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ครอบคลุมพื้นที่ 9,700 ไร่ มีอายุประทานบัตร 25 ปี ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ อินโอนีเซีย บรูไน และไทย ที่ร่วมกันจัดทำข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement) ขึ้นมาทดแทนโครงการอุตสาหกรรมผลิตเกลือหินและโซดาแอชที่ถูกยกเลิกไปในปี 2532

          โดยต่อมาเมื่อโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินของบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ได้ประทานบัตรก็ดำเนินการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินพ่วงเข้ามากับโครงการเหมืองแร่โปแตช ด้วยข้ออ้างที่ว่าจะนำกระแสไฟฟ้าหรือไอน้ำที่ได้ไปใช้ในกิจการของเหมืองแร่ อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีแนวโน้มขยายกิจการเป็นนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากปิโตรเคมีที่เหลือจากการแยกแร่โปแตชทั้งเกลือแมกนีเซียมคลอไลท์และโซเดียมคลอไลท์ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระจก พลาสติก และอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิอีกด้วย

          โดยแรกเริ่มเดิมทีประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้คัดค้านเหมืองโปแตช อาจจะเป็นเพราะมองเห็นประโยชน์การจ้างงาน มีรายได้ที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่นจึงยอมให้เกิดเหมืองแร่ ต่อมาหลังจากได้รับประทานบัตรดังกล่าว บริษัทฯ ก็ประกาศผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินควบคู่กันไปจึงรู้สึกเหมือนถูกตบหน้า โกหกหลอกลวง เพราะตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีข้อตกลงอาเซียนว่าจะผลักดันเหมืองโปแตชขึ้นที่นี่ก็ไม่เคยมีแนวคิดอุตริที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมด้วย

          ประชาชนในพื้นที่จึงรวมกลุ่มกันขึ้นในนาม ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์’ เพื่อลุกขึ้นมาคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหตุเพราะตระหนักถึงผลกระทบจากบทเรียนสำคัญที่เกิดขึ้นจากเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และที่โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดระยอง กังวลถึงชีวิตลูกหลานในวันข้างหน้า กังวลว่าเมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินเริ่มดำเนินกิจการแล้วจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเพิ่มกำลังการผลิตก็คือการเพิ่มสารพิษและมลพิษให้เกิดมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย จึงเกิดการรวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่อยากให้ชุมชนมีสภาพเหมือนที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง และที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ การอพยพโยกย้ายจากถิ่นฐานที่อยู่ หรือการไร้ที่ดินทำกิน รวมทั้งปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างชาวบ้านกับภาคอุตสาหกรรมซึ่งปัญหาเรื่องน้ำเป็นประเด็นห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งของชุมชน

          โดยที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่พยายามบอกกล่าวทั้งด้วยวาจา ทำหนังสือร้องเรียน สอบถามข้อมูล และยื่นหนังสือคัดค้านไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ เช่น การร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิ การยื่นสอบถามไปยังสถานฑูตอาเซียนทั้ง 6 ประเทศ การยื่นหนังสือคัดค้านบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิฯ บริษัทผู้ถือหุ้น เป็นต้น แต่ทางบริษัทฯ ก็มิได้นำพาต่อเสียงของประชาชนที่อาศัยโดยรอบเหมือง กลับยังคงผลักดันและเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป เห็นได้ชัดจากการจัดทำรายงานสรุปผลการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ฯ (ค 2) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งบิดเบือนไม่ครอบคลุมและขัดแข้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จนชาวบ้านในนามกลุ่มฅนรักษษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ต้องยื่นหนังสือคัดค้านผลต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา

            โดยตลอดระยะเวลาของการต่อสู้คัดค้านที่ผ่านมา ในกรณีที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์มีการจัดกิจกรรมใดใดในพื้นที่มักถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ  กดดันห้ามปราม  ข่มขู่ด้วยมาตรา 44  พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ  มีการส่งสายสืบทั้งตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาจับตา และต้องให้กลุ่มฯ ขออนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐเสมอหากมีการจัดกิจกรรม

          ในขณะที่เหมืองแร่โปแตชสามารถทำได้โดยไม่ต้องเคร่งครัดขออนุญาติเฉกเช่นกลุ่มฯ   และหากใครขัดขืดจะดำเนินการแจ้งความจับกุมประชาชนผู้ที่มาร่วมรับฟังกิจกรรมและผู้ที่มาทำงานรวมทั้งทุกคนที่ให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมจะถูกจับและมีความผิด หรือการติดป้ายคัดค้านก็บอกว่าผิดกฎหมาย  หรือกรณีมีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน บางคนถึงขั้นข่มขู่ชาวบ้านว่าถ้าใครออกมาคัดค้านหรือต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหากมีโครงการของรัฐใดใดเข้ามาจะไม่ทำเรื่องให้กับบุคคลที่ออกมาต่อสู้คัดค้าน  หรือกรณีทหารในจังหวัดชัยภูมิ ตำรวจในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์สั่งห้ามกลุ่มฯ จัดผ้าป่าสามัคคีในเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา จนชาวบ้านต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงานถึงสามครั้ง ทั้งยังมีการติดตามข่มขู่คุกคามจากชายฉกรณ์เพื่อกดดันไม่ให้เจ้าของสถานที่เอกชนอนุญาติให้กลุ่มฯ จัดกิจกรรมทอดผ้าป่าสามัคคี เป็นต้น

          จากเหตุการณ์ที่ดำเนินมาตั้งแต่เริ่มมีการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินจนถึงขณะนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งและการใช้อำนาจทุกวิถีทาง การวางตัวไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่รัฐ และการไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความหวาดกลัว   หวาดระแวง คับแค้นใจ และเกิดทัศนะคติที่ไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ  และสร้างความไม่พอใจไปยังเหมืองแร่โปแตชอาเซียนซึ่งเป็นฉนวนเหตุสำคัญในการริเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

          ดังนั้นการจัดงาน “บุญสืบชะตาบึงทะเลสดอ” ในวันที่ 2 กันยายน 2559 จึงเป็นการประกาศเจตนารมย์ของชาวบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสิทธิชุมชนในการปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิด วิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมอันดีงาม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักการสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนสากล จากมลพิษที่มากับถ่านหินและภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่

          ท้ายที่สุดนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องรีบยุติการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเรียกร้องให้สถานทูตในนามของรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 6 ประเทศ ทั้ง มาเลเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ อินโอนีเชีย บรูไน และไทย ที่ร่วมกันจัดทำข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน(Basic Agreement) รีบตอบคำถามภาคประชาชนตามที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ได้ยื่นหนังสือไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา อาทิเช่น มีเหตุจำเป็นอันใดจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโครงการตามข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยอุตสาหกรรมอาเซียน หรือข้อตกลงอื่นๆของอาเซียนหรือไม่ อย่างไร และประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 6 ประเทศรับรู้ หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น

          และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ขอแถลงจุดยืนต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชพ่วงโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)ในทุกกรณี และพวกเราทุกคนจะยืนหยัดต่อสู้ไปด้วยกันแม้ต้องเผชิญสถานการณ์ภายใต้การกดขี่ ข่มขู่ คุกคาม ห้ามปราม หรือมองชาวบ้านว่าสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนให้กับนายทุนถ่านหินที่มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยอุ้มชู และเป็นศรัตรูต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร คสช. ก็ตาม เราจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ไปพร้อมๆกันด้วยมันสมองและสองมือเปล่าร่วมกันต่อสู้อย่างสันติวิธี

          ในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำแหน็จณรงค์ ขอขอบคุณชาวบ้านบำเหน็จณรงค์ทุกคน ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ที่ร่วมกันต่อสู้คัดค้านตลอดระยะเวลาร่วม  1 ปี และขอขอบคุณกัลยาณมิตรจากทั่วทุกสารทิศที่ส่งทั้งพลังกายและพลังใจมาร่วมกันต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิดและโลกใบนี้ของพวกเรา เราจะสู้ด้วยสองมือเปล่าอย่างมั่นคงแข็งแกร่งทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า ด้วยเป้าหมายอันมุ่งมั่นแน่วแน่ว่า

.. “เราจะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ถิ่นฐานบ้านเกิด ต่อลมหายใจบริสุทธ์ให้ชาวบ้าน และส่งต่อแผ่นดินที่สงบสุขปราศจากมลพิษให้กับลูกหลานของเรา”

 

ด้วยพลังแห่งศรัทธา สามัคคี และความกล้าหาญของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์

วันที่ 2 กันยายน 2559

 

 

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ