ชาวบ้านหมู่บ้านหนองม้า ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา แต่ปัจจุบันนี้การทำเกษตรก็เริ่มที่จะประสบกับปัญหาภัยแล้ง น้ำที่จะใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอ ทำให้การทำนาของชาวบ้านในหลายพื้นที่จึงเริ่มหยุดไป
ชาวบ้านหนองม้า จึงมีการรวมตัวกันเป็น “กลุ่มแม่บ้าน” ร่วมกันทำอาชีพเสริม โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ มาต่อยอดและสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการทำนาที่ต้องว่างเว้นไปถึง 6 เดือน
สมยศ เต็มวิริยะนุกูล วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติสบู่โปรตีนไหม บ้านหนองม้า เป็นผู้ก่อตั้งการทำสบู่โปรตีนใยไหม เล็งเห็นการสร้างอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน จึงได้นำความรู้และทักษะการทำสบู่ที่มีอยู่มาถ่ายทอดและเผยแพร่เป็นความรู้ให้กับคนในชุมชน
“อาชีพหลักในชุมชนของเรา มีอาชีพเกษตรกรรม มีการทำนากันอย่างเดียว ซึ่งปีหนึ่ง เมื่อก่อนมีการทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง ปัจจุบันก็ลดเหลือปีละ 2 ครั้ง ซึ่งน้ำของเราไม่เพียงพอ ซึ่งอาชีพหลักของเราจากการทำงาน พอมีปัญหา ก็ขาดรายได้ ก็จะเกิดปัญหาในสังคม ดังนั้นเราเล็งเห็นว่า ปัญหาตรงนี้จะหมดไป ถ้าเราอาชีพเสริมเข้ามา อนาคตอาจเป็นอาชีพหลักก็ได้ ซึ่งทุกวันนี้ เขามีรายจ่ายทุกวันอยู่แล้ว ซึ่งเราจะทำอย่างไร ให้เขามีรายได้ทุกวัน” สมยศกล่าว
สมยศ ได้รวบรวมกลุ่มกับชาวบ้านที่ว่างเว้นจากการทำนา ให้หันมาทำอาชีพเสริม โดยการเริ่มลองทำ สบู่โปรตีนใยไหมเป็นตัวตั้งต้นที่ทำให้ชาวบ้านหนองม้าเข้ามาร่วมจัดการ “ทุนทางสังคม” ที่มีอยู่ ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือ เพื่อสร้างให้เกิดประโยนช์ทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน
เริ่มจากแนวคิดการผลิตใช้กันเองก่อนในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน จนกระทั่งผลตอบรับดีขึ้น มีคนสนใจมาเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการพัฒนาต่อยอด ขยายตลาดไปยังจังหวัดอื่นๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
จากสบู่โปรตีนใยไหม กลุ่มชาวบ้านได้ขยายเป็นการรวมกลุ่มในการจัดการพื้นที่เกษตร โดยมีการคิดที่จะปลูกเตย บวบ กันคนล่ะไร่ สองไร่ เพื่อไม่ให้พื้นที่ว่างเว้นจากการเพาะปลูกเพราะไม่มีน้ำในการทำเกษตร ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทาง และยังสามารถเอาวัตถุดิบที่ปลูกเองมาต่อยอดใช้ในการทำสบู่ใยไหมด้วย
นิตย์ มาลัย กลุ่มเกษตรกรปลูกเตย บ้านหนองม้า เป็นตัวแทนของกลุ่มแม่บ้าน บ้านหนองม้า เล่าถึงบริบทของคนในชุมชน และการจัดการพื้นที่เกษตรให้เกิดประโยชน์ว่า ชาวบ้านรวมกลุ่มปลูกเตยเพื่อสร้างรายได้เสริม จากที่เคยทำนาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากประสบกับสภาวะปัญหาภัยแล้ง ทำให้การทำนาของชาวบ้านเดิมที่ทำการผลิตปีละ 3 ครั้ง เหลือเพียง 1-2 ครั้งต่อปี
ชาวบ้านหนองม้าขยายพื้นที่เพาะปลูกเตยให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเตยเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยในการเพาะปลูก แต่ไม่เพียงแค่ปลูกเตย ชาวบ้านยังมีการปลูกดอกดาวเรือง และดอกขจรร่วมด้วย เป็นการจัดสรรพื้นที่ในการเพาะปลูกซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนไม่มากก็น้อย
“ทำนามันก็ไม่ได้ค่อยดีเท่าไหร่ แล้วก็มาเรื่องภัยแล้งอีก คิดว่าไปขายเตยอยู่ที่ตลาดดอนก็ดีเหมือนกัน ร้อยสองร้อยก็ได้ทุกวัน เห็นว่าภัยแล้งมา ปลูกเตยเยอะๆ มาช่วยกัน มารวมกลุ่มกันที่บ้านพี่ชะลอ” นิตย์ เล่า
ผู้นำชุมชนเป็นอีกส่วนสำคัญหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของชาวบ้าน ทำให้คนในชุมชนมารวมตัวกัน สร้างแรงจูงใจและร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคทุกอย่างที่เข้ามา ทำให้หมู่บ้านหนองม้ามีการพัฒนาและเป็นชุมชนต้นแบบของการสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้
สันติ ทรัพย์ส่งเสริม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ส่วนมากชาวบ้านในพื้นที่ทำอาชีพเกษตรกรรมคือการทำนา อีก 20% เป็นอาชีพรับจ้าง ส่วนอีก 10% ผู้ที่ไม่มีพื้นที่ แต่ก็มีกิจกรรม มีงาน ที่คอยรองรับผู้ยากไร้ในชุมชน
“เราก็เล็งเห็นและประชุมกันเดือนละครั้ง เราก็พูดคุยกันว่าปัจจุบันนี้ถึงเวลาต้องมีอาชีพเสริม หาทุนที่อยู่ในชุมชน ถ้าเรามีใบเตยเราก็จะทำชาใบเตย ถ้าพุทราถูกเราก็จะนำมาเชื่อมตากแดดให้มูลค่ามันเพิ่ม หรือแม้แต่ผักเราก็จะทำผักปลอดสารพิษ ถ้าผักจากกลุ่มหมู่บ้านเราไปเราเชื่อได้เลยว่าผักเราปลอดสารพิษ เราก็จะขายได้ก่อนกลุ่มเพื่อนอื่น”
“ชุมชน ผมเชื่อว่า 100% ต้องทำก่อนที่ 10% แล้วอีก 60% เค้าจะรอดูว่าทำจริงหรือเปล่าอีก 20% เค้าก็จะค้าน แต่เราต้องทำให้ได้ใจคน 60% และปัจจุบัน 60% ก็มาร่วมกับเรา เพราะเขาเห็นเราทำจริงนะเราประสบความสำเร็จในกิจกรรมโคกม้อหน้ามองทำให้โครงการทุกโครงการสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ของการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ด้วยการจัดการทุนทางสังคม ของคนหมู่บ้านหนองม้า ในช่วงรอเวลาการเก็บเกี่ยวข้าว รวมทั้งอาจเป็นต้นแบบสำหรับการเตรียมรับกับสภาวะปัญหาในช่วงฤดูแล้งสำหรับพื้นที่อื่นๆ ได้