“ระบบเศรษฐกิจคือภาคการเกษตร ประชากรจำนวนไม่น้อยของประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงาน อยู่ในภาคนี้ที่ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงชีพ แต่กลับสะท้อนออกมาเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 7 ต่อ GDP ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการทำงานการเกษตรที่ยังคงพึ่งพาวัฏจักรธรรมชาติและมีประสิทธิภาพของผลผลิตต่ำ แต่ค่าใช้จ่ายในการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละกว่า 3 แสนบาท” หนึ่งในนโยบายพลิกพื้นเศรษฐกิจที่จะทำอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาและช่วยปัญหาของประชาชนในภาคเกษตร การแก้ปัญหาหนี้สินในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม ส่วนระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะสร้างรายได้ในภาคเกษตรโดยใช้หลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรควบคู่ไปด้วยกัน จะมีการบรูณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ ใช้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมแม่นยำ การวิจัย พัฒนาพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงขึ้น ตลอดจนการหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเศรษฐกิจและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้สูงมีมูลค่าสูงขึ้น บางส่วนจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทรร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม |
เมื่อวันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี โดยช่วงหนึ่งของการเสวนามีหัวข้อ “ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน”
ดร.โสมนัส จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลขนาดใหญ่ของเกษตรกร สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคเกษตรจำนวนมาก ที่ทำให้เกษตรกรอีสานและทั่วประเทศอยู่แบบเดิมไม่อีกต่อไป จากข้อมูลขนาดใหญ่พบว่าภาคเกษตรมีปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญหลายด้าน คน อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคเกษตรไทยอยู่ที่ 53 ปี โดยในภาคอีสานมีสัดส่วนแรงงานอายุน้อยกว่าภาคอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ
แปลงเกษตร หรือที่ดิน มีขนาดเล็ก ทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงและจัดการเทคโนโลยีเป็นเรื่องยาก โดยดูได้จากการเข้าถึงแหล่งน้ำ ในภาคอีสานเข้าถึงได้เพียง 10% หรือหากดูจากกรรมสิทธิในที่ดินของเกษตรกรไทย มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งกรรมสิทธิในที่ดินสัมพันธ์กับการตัดสินใจลงทุนในที่ดินผืนนั้น ๆ และทำให้การปรับตัวเป็นโจทย์ที่ยากขึ้น แต่เช่นเดียวกันภาคอีสานมีแต้มต่อ กล่าวคือเกษตรกรภาคอีสานมีสัดส่วนเป็นเจ้าของที่ดินตัวเองมากกว่าภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคกลางที่เป็นที่เช่าเป็นส่วนมาก
นอกจากนี้เกษตรกรไทยยังอยู่ในสภาวะที่เจอ ความเสี่ยงสูง แต่กลับต่างจากภาคธุรกิจอื่นที่จะมี High risk low return ส่วนสุดท้ายโครงสร้างนโยบายเกษตรของไทย ส่วนใหญ่เป็นการอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข จากงานวิจัยของสถาบันพบว่างานวิจัยพบว่าการใช้ให้อุดหนุนต่าง ๆ ตั้งแต่สนับสนุนต้นทุนการผลิต การเก็บเกี่ยว จนเยียวยาภัยพิบัติ ฯลฯ ผลการศึกษาชี้ว่าทำให้เกษตรไม่ค่อยปรับตัว เกษตรกรยังปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น
“หากไม่มีการปรับเปลี่ยนปัจจัย โครงสร้างข้างต้น เมื่อเทียบกับผลิตภาพที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามคู่แข่งไม่ทัน หรือหากยอดรวมพืชเศรษฐกิจทั้งหมดของไทย โดยเอารายได้ลบด้วยต้นทุนการผลิต พืชเศรษฐกิจทุกตัว ติดลบทั้งหมด ถามต่อว่าเกษตรกรอยู่กันอย่างไร สรุปได้ว่าผลลัพธ์ทั้งหมดของการไม่ปรับตัวโครงสร้างภาคเกษตรก็คือหนี้สิน”
ดร. โสมนัส ขยายความอีกว่า ปัจจุบันเกษตรกู้ทุก ๆ ปี แต่เมื่อครบกำหนดจ่ายในท้ายปี ก็จ่ายได้เพียงค่างวดดอกเบี้ยเท่านั้นเอง ดังนั้นปัญหาหนี้จึงกลับมาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคเกษตรแล้ว เพราะหนี้สูง เท่ากับภูมิคุ้มกันของเกษตรไทยเราต่ำ ภูมิคุ้มกัน การปรับตัว การเข้าถึงสินเชื่อในอนาคตก็ลำบาก
หากไม่มีการปรับตัวในวันนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรายได้น้อย ปัญหาหนี้จะสะสมตัว ความยากจน รายได้น้อยข้ามไปยังรุ่นต่อไปด้วย ปัญหาครอบครัวแหว่งกลางซึ่งพบมากในภาคอีสานก็จะส่งผลต่อการพัฒนาการของคนในอนาคตด้วย”
6 ปัจจัยฟื้นเกษตรเพิ่มผลตอบแทนสูงตามความเสี่ยงสูง
นายมานพ แก้วโกย เกษตรกรสุรินทร์ และผู้บริหาร หจก. เนเจอร์ฟู้ดโปรดักส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง กล่าวว่า ภาคเกษตรมีโอกาสที่จะทำให้เกิด high risk, high return หากควบคุมการจัดการปัจจัยสำคัญ ได้แก่ พันธุ์ การจัดการ สิ่งแวดล้อม โดยใช้การตลาดนำการผลิต ความยั่งยืนและการใช้เทคโลยี ซึ่งปัจจัยทั้ง 6 ด้านนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเกษตรกรและหมุนเวียนเป็นวัฏจักร เช่น การปลูกข้าวแต่ละปีต้องเลือกชนิดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานโรคใช้ปุ๋ยน้อย การจัดการคือการวางแผนวางขั้นตอนก่อนลงมือทำ กรณีของทำนาก็คือการเตรียมดิน การไถแปร ใส่ข้าว ใส่ปุ่ย คำว่าทำนาปราณีตก็คือการทำนาที่มีการจัดการให้ต้นทุนต่ำที่สุด
ปัจจัยที่ 3 คือสิ่งแวดล้อมที่เราปรับตัว รู้ให้ทันว่าปีนี้ปฏิทินฝน น้ำแล้ง น้ำท่วมเป็นอย่างไรเพื่อเลือกจังหวะการเพาะปลูกให้สอดคล้องเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด โดยใช้ปัจจัยหรือต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด
“ส่วนเรื่องตลาดนำการผลิต ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เกษตรกรทุกคนจะทำได้เลยทันที แต่ต้องคิดเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า ในเรื่องความยั่งยืนเกษตรกรและชาวนาไทยจะรอแต่รัฐมาช่วยไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องพึ่งตัวเอง และเผชิญกับสภาววิกฤตของโลกที่เหนือจากการควบคุม ยกตัวอย่างภาวะโลกเดือดทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น เมื่อฝนตกลงมา ดินก็อุ้มน้ำไม่ดีเหมือนเดิม ฝนจะตกหนักแต่ดินจะอุ้มน้ำน้อย ส่งผลให้ผลผลิตต่ำลง เพราะน้ำเป็นปัจจัยในการสังเคราะห์แสง เป็นต้น”
ถ้าเราไม่มีแหล่งน้ำของเราเอง ต้องพึ่งพาจากน้ำตามธรรมชาติผลผลิตย่อมต้องลดลง สุดท้ายเทคโนโลยีหรือข้อมูล ซึ่งสำหรับเกษตรกรกรต้องมีการบันทึกกิจกรรมในแปลงของตัวเอง เพื่อให้ข้อมูลและการประมวลผลวิธีการและผลที่เกิดขึ้นในปีนี้จะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่ในปีต่อไปสูงขึ้น
รศ. ดร. ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสริมว่า ภาคเกษตรไทยมีผลผลิตต่ำ ผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับไม่คุ้มค่าแล้ว การทำเกษตรในปัจจุบันสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมลพิษทางอากาศสูง
“ในช่วงโควิด 2-3 ปี มีโอกาสได้ทำงานวิจัยเพื่อตอบคำถามของผู้รับซื้อข้าวรายใหญ่ ที่ถามคำถามสำคัญว่า ไทยมีรูปแบบการปลูกข้าว การทำงานที่เข้าใกล้ความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นการส่งสินค้าเกษตรไทยทุกชนิดจะต้องตอบคำถามนี้เช่นเดียวกัน เพราะโลกได้ปรับไปแล้ว ไม่ว่าเราจะปรับตัวหรือไม่ก็ตาม ซึ่งจะทำให้เราเสียโอกาส”
อย่างไรก็ตามความท้าทายที่เกิดขึ้น ไทยเองก็มีเทคโนโลยี มีความรู้ที่ราคาไม่แพง ไม่ซับซ้อนและสร้างผลได้จริง แต่คำถามสำคัญจะอัปสเกลให้เข้าไปสู่ภาคเกษตรทั่วทั้งประเทศได้อย่างไร
อุปสรรคและทางออกของเกษตรกรไทยเป็นอย่างไร
รศ. ดร. ภูมิสิทธิ์ นำเสนอว่า เรามีโจทย์ที่ต้องการเพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่ภาครัฐมักจะส่งสัญญาณผิด ดังจะเห็นจากการนโยบายอุดหนุนภาคเกษตรที่ไม่วางเงื่อนไขหรือส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนการผลิต หรือลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กลับกันหากสร้างแรงจูงใจผ่านการอุดหนุนเพิ่มโดยวางเงื่อนไขใหม่ เช่น ใช้เมล็ดพันธุ์ หรือปุ๋ยให้ถูกหลักวิชาการที่เหมาะสม การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ทำอย่างไรให้เกษตรกรไม่เผาฟางแต่ใช้วิธีไถกลบ จากการวิจัยพบว่าหากทำแบบนี้ภายใน 2 ปี สภาพดินจะฟื้นตัว
“งานวิจัยที่ทดลองในรายแปลงพบว่าทำเพียงเท่านี้ก็เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ได้เกือบ 50% ต้นทุนลดไปเกือบ 20% หากสร้างระบบการจัดการปัจจัยการผลิต พาเกษตรให้ผลิตได้อย่างเหมาะสม ไม่เกิน 2 ปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลง”
การสเกลอัพในวงกว้าง การปรับเปลี่ยนทางเทคโนโลยีไม่ได้ซับซ้อนกับตัวเกษตรกร เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยน เกษตรกรมีปัญหาเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนไปทำอะไรใหม่ ตัวเกษตรกรจะมองว่าเป็นความเสี่ยง พอชั่งใจกับแรงจูงใจที่ภาครัฐให้ในปัจจุบันก็จะประเมินว่าถึงไม่เปลี่ยนก็อยู่ได้ ดังนั้นภาครัฐต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจน
ภาครัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกษตรกรรมปรับตัวได้ เช่น รัฐมีข้อมูลดิน ธาตุอาหาร อยู่กับกรมพัฒนาที่ดิน แต่ปัญหาคืออยู่คนละที่กับกระทรวงเกษตร ดังนั้นภาครัฐต้องสร้างระบบให้เข้ามาสนับสนุน อำนวยความสะดวก ไม่ใช่สั่งการ เพราะคนที่รู้ข้อมูลอยู่กับท้องถิ่น
ขณะที่นายมานพ แก้วโกย เกษตรกรสุรินทร์ ชี้ว่าอุปสรรคสำคัญเป็นเรื่องการถึงความรู้ใหม่ด้านตลาด การค้าและเทคโนโลยี เมื่อค่าเฉลี่ยของเกษตรกรมีอายุสูงจึงต้องใช้ลูกหลานช่วยเหลือ นอกจากนี้ภาครัฐยังวางนโยบายในระยะสั้นและแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ เช่น เมื่อข้าวราคาตกต่ำ จะใช้มาตรการแทรกแซงราคาทุกปี แม้รัฐจะมีเงินมาพอที่จะแทรกแซงแต่มันไม่สะท้อนความเป็นจริงทางตลาด โดยเอาเงินภาษีไปสร้างดีมานด์เทียมผ่านการซื้อข้าวทั้งการจำนำหรือประกันราคา ขณะประเทศคู่แข่งข้าวของไทยปรับไปแก้พัฒนาพันธุ์ให้ตรงโจทย์ดีมานด์และวางโจทย์ในระยะยาว เพราะลูกค้าต้องการของที่ดีและถูกลงอยู่เสมอ
ดร.โสมนัส จันทรัตน์ กล่าวว่า ตัวเมื่อเกษตรกรเห็นไม่ชัดว่าจะได้อะไรจากการปรับเปลี่ยน แต่เห็นว่าต้นทุนและความเสี่ยงชัดว่าคืออะไร รวมถึงปัจจัยรอบข้างที่ยังมองไม่เห็น เช่น อยากให้เกษตรกรรายหนึ่งเปลี่ยนจากการทำนาปกติ มาเป็นนาหยอดซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์ไม่มาก ข้าวสวยศัตรูพืชน้อย แต่ถามว่าทำไมเขาถึงไม่ทำ เพราะนาหยอดใช้ต้นทุนแรงงานเยอะกว่า ทำแล้วข้าวสวยขึ้นก็จริงแต่ขายแล้วได้ราคาเท่าเดิม หรือขึ้นอยู่กับว่าโรงสีจะคัดเกรดข้าวให้หรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำให้มีคือการสร้างระบบนิเวศให้ครบ มีตลาด ผู้รับซื้อมาการันตี ระบบการเงินที่รองรับเรื่องความเสี่ยงที่เขาจะมีหลังพิง มีการจัดการปัญหาหนี้ได้ก่อน เพราะมันยากมากที่คนเป็นหนี้คิดจะลงทุนอะไรใหม่ ๆ
วิธีการลดความเสี่ยงของภาคเกษตร เป็นเรื่องที่บริหารจัดการยาก ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการเชื่อมตลาดประกันภัยที่เกษตรกรสามารถจ่ายได้ รัฐควรเข้ามาช่วยณจุดที่ตลาดไม่สามารถรับความเสี่ยงครั้งใหญ่ เช่น เกิดสาธารณภัยหนักอย่างปี 2554 ไม่ใช่เข้ามาแล้วลดแรงจูงใจในการปรับตัวของเกษตรกร การประกันพืชผล รัฐต้องช่วยแบบมีเงื่อนไข ไม่ใช่ช่วยทั้งหมด
ระบบการเงินจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกษตรกรตั้งตัวได้ ระบบการเงินปกติที่เหมาะกับผู้มีรายได้ประจำก็จะไม่สอดคล้องกับเกษตรกร การจะทำให้เกษตรกรชำระหนี้ได้ ต้องเข้าใจวิธีการได้มาซึ่งรายได้ ปัจจุบันหนี้สินของเกษตรกรเกินศักยภาพไปแล้ว ดังนั้นการชำระหนี้ได้ของเกษตรต้องปรับให้สอดคล้องกับวิถีที่เปลี่ยนแปลงไป ระบบการชำระหนี้อาจต้องปรับ
ในอีกด้านหนึ่งปัญหาหนี้สินของเกษตรเป็นเรื่องที่คนมองไม่เห็น 90% มีหนี้สิน แบ่งเป็นคนที่จ่ายหนี้สินไม่ได้เป็นหนี้เสียมีเพียง 20% และอีก 20% เป็นคนที่มีความสามรถในการจ่ายหนี้สินได้ ที่เหลืออีก 60% จ่ายได้แต่ดอกเบี้ย ซึ่งถ้ามองในระยะยาวจำนวนนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ก่อนอายุ 70 ปี ซึ่งต้องย้อนกลับไปดูที่รายได้และปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับศักยภาพในการจ่ายหนี้ที่ไม่ใช่เพียงดอกเบี้ย
การปรับโครงสร้างนี้มีจุดประสงค์คือทำให้เขาตัดเงินต้นได้มากขึ้นและยังมีแรงจูงใจมีวินัยในการจ่าย การพักหนี้อาจจะดีกับเกษตรกรที่มีศักยภาพที่เจอปัญหาเฉพาะหน้าเช่นโควิด ภัยแล้ง แต่การพักหนี้ที่ผ่านมาคือพักทั้งหมด หรือการพักหนี้ควรทำกับหนี้บางก้อน ไม่ใช่พักทั้งหมด
อ่านเพิ่มเติม
‘หนี้ข้ามรุ่น’ ของเกษตรกรไทย จะมีเยอะแค่ไหนหากยังไม่มีแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง?