อยู่ดีมีแฮง : ถ่านไบโอชาร์ จากเศษไม้ธรรมดา สู่ถ่านราคาสูง

อยู่ดีมีแฮง : ถ่านไบโอชาร์ จากเศษไม้ธรรมดา สู่ถ่านราคาสูง

หมอกควันสีขาวค่อยๆ พวยพุ่งออกจากปล่องไม้ไผ่ ที่มีลักษณะฐานเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมทำด้วยอิฐบล็อกก่อขึ้น ภายในบรรจุด้วยท่อนไม้อัดแน่นจนเต็ม กำลังถูกกระบวนการเผาไหม้ด้วยอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติทั่วไป ซึ่งการเผาไหม้ด้วยกระบวนการแบบนี้ แน่นอนว่า ไม่ใช่การเผาถ่านธรรมดา แต่มันคือการเผาถ่าน ไบโอชาร์  โดยมี สาคร  นาคศรี ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลป่าไม้งาม อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู และเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านไบโอชาร์ และเกษตรอินทรีย์ เป็นเจ้าของเตาเผาประดิษฐ์ชิ้นนี้ 

สาคร เล่าว่า ในชุมชนมีการใช้สารเคมีในการเกษตรจำนวนมาก ตนจึงอยากชวนชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล และพาชาวบ้านไปเข้าร่วมอบรม เสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์หลายแห่ง กระทั่งได้มีโอกาสศึกษาในเรื่องของถ่านไบโอชาร์ แล้วนำมาทดลองปฏิบัติ ลองผิดลองถูกหลายครั้ง สิ้นเปลืองพลังงาน และทรัพยากรคือไม้ไผ่ไปไม่น้อย จนเห็นผลลัพธ์และความสำเร็จจริง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง จึงเกิดการตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ตอนนี้มีสมาชิกจำนวน 40 คน

“ถ่านไบโอชาร์ เขาก็บอกว่าใช้ในการเกษตรได้ดี สามารถช่วยลดสารเคมี ลดยาฆ่าแมลงต่าง ๆ ได้ ต่อมาจึงได้พาชาวบ้านมาจัดตั้งเป็นกลุ่มแล้วทำการเผาถ่าน รวมแล้วกว่า 30 เตา ศึกษาจนรู้ เผาจนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ”

ถ่านไบโอชาร์ ถ่านชีวภาพ หรือที่เราเรียกถ่านชาร์โคลคาร์บอน โดยกระบวนการเผา จะเผาด้วยอุณหภูมิที่สูง 1,200 องศาเซลเซียส นำมาผ่านกระบวนการเผาไหม้ที่มีการควบคุม อุณหภูมิและอากาศหรือจำกัดอากาศให้เข้าไปเผาไหม้น้อยที่สุด ซึ่งกระบวนการเผาไหม้นี้ เรียกว่า “การแยกสลายด้วยความร้อนหรือกระบวนการไพโรไลซิส” ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนหรือมีออกซิเจนน้อยมาก  โดยเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นถ่านไบโอชาร์นั้น จะใช้วิธีการวัดก็คือ ใช้หลอดไฟวัด สามารถใช้ขั้วบวกขั้วลบจี้ แล้วหลอดไฟก็จะสว่างขึ้น

สาคร บอกถึงเทคนิคกระบวนการเผาถ่านไบโอชาร์ว่า  ข้อสำคัญคือการเรียงไม้ ซึ่งวิธีการเรียงไม้ก็คือ ตัดไม้หมอนรองก่อน แล้ววางเรียงไล่จากท่อนเล็กขึ้นไป พอถึงกลางถังก็ไม้ขนาดกลางเหมือนกัน พอถึงข้างบนก็เป็นลำต้นใหญ่ของไม้ สองก็คือการก่อไฟ ห้ามไม่ให้ไฟเข้าปากเตา ให้เว้นระยะห่าง ซึ่งเวลาก่อไฟเราจะไม่ใช้ไม้ยาว จะใช้ขนาดที่พอจะช่วยบังลมไม่ให้เข้าเตา

“เตาของเราเผาด้วยอุณหภูมิที่สูง เผาได้ทุกอย่าง เช่น ดอกไม้ที่ปลูกเผาออกมาก็กลายเป็นถ่านดอกไม้ ไม้จิ้มฟันก็ออกมาเป็นไม้จิ้มฟัน ซึ่งถ่านไม้ไผ่ที่ได้มาตรฐาน เราจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาท”

ถ่านที่เผาได้จะมีราคาแตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเภท  

ถ่านไม้ไผ่ที่ได้มาตรฐาน แท่งยาวประมาณ 70 เซนติเมตร เผาไม่แตก กิโลกรัมละ 500 บาท

ถ่านไม้ไผ่ที่แตกแบ่งขายกิโลกรัมละ 200 บาท

ถุงขนาดบรรจุถ่านเพื่อดับกลิ่นน้ำหนัก 2 ขีด ราคาถุงละ 50 บาท

ถ่านแตกละเอียด เพราะเนื้อไม้อ่อน หรือไม่สวย เพื่อใช้การเกษตรขายกิโลกรัมละ 100 บาท

ผงถ่านราคากิโลกรัมละ 800 บาท หรือขีดละ 80 บาท ส่วนใหญ่จะนำไปทำขนม เช่น ขนมปังชาร์โคล

และน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากกรรมวิธีการเผาไม้ไผ่ ราคาอยู่ที่ลิตรละ 150 บาท

นอกจากขายถ่านที่เผาแล้ว ยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยนำมาทำเป็นสบู่ สร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง

“ตอนแรกก็คิดว่าจะสามารถเอาถ่านมาแปรรูปอะไรได้บ้าง ก็เลยไปซื้อสบู่มาลองทำใช้ แรกๆ ก็แจกกันใช้ในกลุ่ม พอแจกกลุ่มแล้วลูกค้าก็ตอบรับดี จึงพัฒนาไปขายออกบูธผลิตภัณฑ์สินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ”

หลายคนคงคิดว่าถ่านมีราคาสูง แต่หากเข้าใจในกระบวนการผลิต และเห็นประโยชน์ของมัน อาจจะเห็นความคุ้มค่า และสามารถนำไปต่อยอดอาชีพของตัวเองได้ต่อไป  ซึ่งมีงานวิจัยของทีมวิจัยไบโอชาร์  หน่วยวิจัย GET (Green and Eco Technology Unit Research)  คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ศึกษาการใช้ประโยชน์ของถ่านไบโอชาร์ว่ามีหลายด้าน เช่น การปรับปรุงดิน และช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงลดระยะเวลาการปลูกได้ ใช้เป็นวัสดุปลูกร่วมกับวัสดุอื่น เพื่อผลิตผลผลิตทางการเกษตร การลดการดูดซับสารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืชและศัตรูพืช และโลหะหนักที่อยู่ในดินและน้ำ ของพืชที่ปลูก ช่วยในการดูดซับแก๊สและลดกลิ่น เป็นต้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ