หลายฝ่ายร่วมหาทางออกที่ดินเกาะหลีเป๊ะ “พล.อ.สุรินทร์” ชี้ฝ่ายปกครองบกพร่องปล่อยให้ทางเดิน-ลำรางสาธารณะถูกออกเอกสารทับ

หลายฝ่ายร่วมหาทางออกที่ดินเกาะหลีเป๊ะ “พล.อ.สุรินทร์” ชี้ฝ่ายปกครองบกพร่องปล่อยให้ทางเดิน-ลำรางสาธารณะถูกออกเอกสารทับ

รายงานโดย: ภาสกร จำลองราช

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สื่อมวลชนหลายสำนักได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ทางออกปัญหาที่ดินหลีเป๊ะ” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย สลวย หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินเกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ดำเนินรายการโดยทศ ลิ้มสดใส ผู้สื่อข่าวข่าวจาก The Reporters

ก่อนเวทีเริ่มต้น จำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษามูลนิธิชุมชนไท ซึ่งเกาะติดปัญหาชาวเลได้กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะภายหลังเหตุกาณณ์สึนามิ ซึ่งพบว่าชุมชนชาวเลที่นี่อยู่ไกลสุด การเกิดขึ้นของชุมชนแห่งนี้เพราะเขาเป็นผู้ยืนยันคำว่าเป็นชาวสยามในระหว่างการปักปันเขตแดนในรัชกาลที่ 5 หากเขาบอกว่าเป็นชาวมาเลเซีย หมู่เกาะแถวนั้นก็จะเป็นของมาเลเซียทั้งหมด ถือว่าเป็นคุณงามความดีของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ

จำนงค์กล่าวว่า เมื่อชาวเลเป็นผู้บุกเบิก รัฐบาลบางยุคได้ทำสิ่งที่ถูกต้องโดยการมอบเอกสารสิทธิที่ดิน เป็น ส.ค.1 จำนวน 41 แปลง แต่จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมือกรมการปกครองได้ส่งกำนันคนหนึ่งจากข้างนอกเข้าไปดูแล เขาได้รวบรวม ส.ค.1 ของชาวเลทุกแปลงเพื่ออาสาเอาไปออกเป็น น.ส.3 แต่ท้ายสุดเอกสารทุกแปลงออกมาเป็นชื่อญาติของกำนัน 3-4 รายโดยที่ชาวเลไม่รู้เลย มาทราบเอาตอนที่ที่ดินกำลังถูกขาย

นอกจากนี้การออก สค.1 ยังคร่อมทับที่ดินที่อยู่อาศัยของชาวเล และเอกสารทุกใบได้ขยายขึ้น เช่น 5 ไร่ กลับออกเอกสารเพิ่มเป็น 10 ไร่ จาก 80 ไร่กลายเป็น 150 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ชาวเลด้วย รวมทั้งที่ดินรัฐ ทางเดินสาธารณะ สุสาน ต่างตกอยู่ในที่ดินแปลงนี้ รวมทั้งโรงเรียนและอนามัย

“เรากำลังเดินทางมาถึงจุดที่มีคณะกรรมการหลายชุด ทั้งบิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะสามารถคลี่คลายปมได้หรือไม่ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ชาวเลและสังคม” จำนงค์กล่าว

สลวย หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่าเราอยู่กันมาไม่คิดว่าจะมีนายทุนอ้างเอกสารสิทธิและพยายามปิดกั้นทางเดินสู่โรงเรียนและถนนสาธารณะ ชาวบ้านรวมตัวกันไม่ให้เขาปิดกั้น แต่เขาบอกว่าไม่กลัวเพราะเขามีเอกสารและมีสิทธิปิดเส้นทาง เราบอกว่าเราอยู่หลีเป๊ะดั้งเดิมใช้ถนนเส้นนี้ตั้งแต่บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะ เราจะปกป้องสิทธิของชุมชน ชาวบ้านรวมตัวกันไม่ให้เขาเชื่อมประตูรั้ว แต่เขาบอกว่าเขามีอำนาจ แต่เราบอกว่าเราจะสู้ถึงที่สุดแม้ตายก็ยอม

“เราข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเกาะหลีเป๊ะเข้ากรุงเทพฯ หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่ามองแต่เอกสารสิทธิ อย่าลืมว่าเราเป็นผู้บุกเบิก แต่ทำไม่เราไม่มีสิทธิปกป้องตัวเองเหรอ ทุกวันนี้เหมือนเราเรียกร้องอะไรก็ไม่ยอมรับ เราจะเป็นชาวเล ชาวน้ำ ชาวเกาะ แต่เราภูมิใจที่เป็นชาวเรา เราดีใจที่เกิดบนแผ่นดินสยาม ภูมิใจที่บรรพบุรุษได้ปักปันแผ่นดินสยาม พวกเราได้นามสกุลพระราชทานจากสมเด็จย่า เราภูมิใจและดีใจ อยากให้หน่วยงานรัฐฟัง เราไม่เคยคิดอยากมากรุงเทพฯ ชาวเลรักธรรมชาติ ไม่เคยรังแกใคร  เรามีรอยยิ้มให้กับทุกคนที่มาเหยียบเกาะหลีเป๊ะ อยากให้หน่วยงานทุกหน่วยงานอย่าปล่อยเรากลางทะเลเลย ถ้าเป็นแบบนั้นย้อนกลับไปได้ เราอยากบอกบรรพบุรุษว่าไปอยู่มาเลเซียดีกว่า” สลวย กล่าวน้ำเสียงสะอึดสะอื้น

เรณู ทะเลมอญ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่าที่ต้องเดินทางขึ้นมากรุงเทพฯ เพราะต้องการทวงคืนที่ดินหลีเป๊ะให้ของชาวเล ตัวเองเคยโดนข่มขู่ตอนปี 2557 เขาบอกว่าที่ดินที่ตนอยู่ได้ซื้อจากนายทุนแล้ว เขามาทำลายทรัพย์สิน และฟ้องเราบุกรุก ที่เขาปิด (ถนน) โรงเรียน เราก็ทนไม่ได้เพราะคุณตาตนเป็นคนบอกว่าคนมอบให้โรงเรียนเพื่อเด็ก ๆ ได้เรียนหนังสือ เราอยากเอาที่ดินของกรมธนารักษ์คืน อยากให้รัฐได้ดูแลชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ตรวจสอบเอกสารสิทธิว่าบวมหรือบินอย่างไร หากถูกต้องเรายอมรับ แต่แปลงไหนที่บวมก็ขอคืนให้ชาวเลได้อยู่กันเป็นชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ระหว่างที่สลวยและเรณูพูด ทั้งคู่ต่างน้ำตาไหลและสะอื้น นอกจากนี้ชาวเลที่ร่วมอยู่ในห้องประชุมยังได้ร่ำไห้เล่าข้อเท็จจริงถึงความไม่เป็นธรรมที่ได้รับ ทำให้หลายคนในห้องประชุมต่างรู้สึกเศร้าใจ

พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ได้มีการใช้ประมวลกฏหมายที่ดิน ซึ่งต้องมีการแจ้งครอบครองหรือ ส.ค.1 บนเกาะหลีเป๊ะ แต่พอออกเป็น น.ส.3 กลับเหลือชื่อไม่กี่คน ทั้ง ๆ ที่คนบนเกาะหลีเป๊ะตอนนั้นทุกคนมีสิทธิ การออก น.ส.3 ราชการเป็นคนออกให้และต้องมีการสำรวจตรวจสอบ แต่ปรากฏว่าจากเดิมบางแปลงแจ้งเป็น ส.ค.1 ไว้ 50 ไร่ กลายเป็น น.ส.3 จำนวน 80 ไร่ เพราะข้าราชการไม่ได้ตรวจสอบ ดังนั้นความบกพร่องครั้งแรกนี้จึงเป็นของราชการที่ไม่ตรวจสอบ ทั้งทางเดินสาธารณะและทางน้ำซึ่งผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอส่วนหน้า แต่นายอำเภอกลับเฉย ๆ

“เราไม่ได้สู้กับคนที่ถือเอกสาร แต่เราสู้กับคนที่ออกเอกสารทั้งสิ้น แต่ราชการไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด แต่ที่เป็นปัญหาทุกวันนี้เพราะราชการไม่ยอมกันที่สาธารณะแผ่นดินที่ใช้ร่วมกันออก เป็นความบกพร่องแน่นอน เพราะชุมชนต้องมีทางเดินลงทะเลอยู่แล้ว มิหนำซ้ำพอออก น.ส. 3 ก็ขยายไปทับหัวเพื่อนเรื่อยๆ จนเป็นกว่า 100 ไร่” พล.อ.สุรินทร์ กล่าว

พล.อ.สุรินทร์กล่าวว่า ปัญหาที่แก้ยากคือราชการและคนที่มีเงิน เพราะที่จริงแล้วทางน้ำและทางเดินเป็นความรับผิดชอบของนายอำเภอที่ขอแก้ไขได้เลย แต่ไม่ทำเพราะอะไร ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอยู่เพราะมีทั้งคนที่ทำรีสอร์ททับทางน้ำ จริง ๆ ไม่ต้องถึงมือรัฐบาล แค่ใช้กฎหมายและข้อเท็จจริงก็จบ ส่วนเรื่องที่ดินก็เป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย ความเดือดร้อนเช่นนี้ไม่ใช่แค่ชาวเล แม้แต่ชาวกะเหรี่ยงก็เดือดร้อนจากการที่รัฐบาลประกาศทับ ตนขอยืนยันว่าชาวเลมีสิทธิในทางเดิน ทางน้ำเพราะเขาชอบด้วยกฎหมายตามข้อเท็จจริง

ดร.นฤมล อรุโณทัย กล่าวว่าจากงานวิจัยซึ่งชาวเลเล่าว่า สมัยก่อนมีทั้งพื้นที่ทางน้ำและเส้นทางเดิน แต่เมื่อพัฒนาได้มีการก่อสร้างทับไปหมด จึงเกิดคำถามว่าเรามาผิดทางหรือไม่ ตนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับเกาะอื่น ๆ ถ้าเราไปสร้างอะไรมาก ๆ เช่น โรงแรม เรามีน้ำพอหรือไม่ แหล่งขยะเป็นอย่างไร ระบบนิเวศเป็นอย่างไร เราพัฒนาโดยการทับของเดิม เช่น ชื่อหาด ชื่อเกาะซึ่งต่างสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ จึงอยากให้เอาชื่อดั้งเดิมกลับคืนมา

ดร.นฤมล กล่าวว่า มีรูปแบบอีกมากที่จะพัฒนาเกาะหลีเป๊ะได้ เพราะมีแหล่งทรัพยากรจากชุมชนและธรรมชาติ ถ้าเราพัฒนาการท่องเที่ยวแบบให้นักท่องเที่ยวพึงพอใจก็จะไม่ได้ของจริง ดังนั้นหากจะหาทางออกต้องฟังชุมชนเป็นสำคัญ

บรรเจิด สิงคะเนติ กล่าวว่าปัญหามีความซับซ้อนพอสมควรในเรื่องเอกสารสิทธิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอื่นๆ กรณีความเหลื่อมล้ำของชาวหลีเป๊ะเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสิทธิ จึงเป็นพื้นฐานปัญหา ประเด็นทางกฎหมายมีรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปี 2549 ที่ตรวจสอบละเอียด พื้นที่ที่เป็นลำรางสาธารณะ ทางเดินสาธารณะ และจุดจอดเรือหากใครครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ หากเรามีหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายทางอากาศก็สามารถกันออกมาได้โดยเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย หากไม่ดูแลและให้เอกชนมาครอบครองถือว่าละเลยในการปฎิบัติหน้าที่

บรรเจิดกล่าวว่า กรณีเรื่องการแจ้งสิทธิที่ดิน 41 แปลง มีรายงานของ กสม.ปี 2548 ระบุว่าได้มีการแจ้งการครอบครอง 41 แปลง เมื่อปี 2510 ได้มอบอำนาจให้คน ๆ หนึ่งไปออก น.ส.3 แต่หลังจากนายคนนี้เสียชีวิต ชาวเลจึงทราบว่าที่ดินของตนกลายเป็นของนายทุนไปแล้วซึ่งถูกฟ้อง และศาลได้ตัดสินว่าชาวบ้าน 7-8 รายกลายเป็นผู้บุกรุก และเชื่อมโยงกับการโอนสิทธิในเวลาต่อมา

“เรื่องเส้นทางสาธารณะ ทางน้ำ จุดจอดเรือแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า แต่ถ้าสู้เรื่องที่ดิน 41 แปลงเขาก็จะดูเอกสารมหาชน เราอาจต้องสอบสวนเป็นรายแปลงว่าได้พัฒนาการอย่างไร จะต้องใช้ฐานการสอบสวนสิทธิ ยิ่งที่ดินราคาสูงชาวบ้านยิ่งเสียเปรียบ” บรรเจิด กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ