สถานการณ์ทางการเมือง ณ ปัจจุบัน จากความไม่เข้าใจกันของแต่ล่ะฝ่าย ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆที่มีอยู่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไรนัก แม้ว่าจะการจัดตั้งเวทีเสวนา เพื่อหาทางออกหรือร่วมกันแก้ไขปัญหากันมาโดยตลอด แต่นั้นก็เป็นเพียงการคิดหาหนทางออกจากปัญหาแค่ระยะสั้นๆ การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อให้สถานการณ์ตึงเครียดจบสิ้นลง โดยที่ทุกฝ่ายมีความคิดที่เห็นพ้องต้องกันนั้น จะทำได้อย่างไร แล้วใครบ้างที่จะเข้ามาช่วยให้กระบวนการดังกล่าวนี้เกิดขึ้น
คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดและวิสัยทัศน์ใหม่ๆนับเป็นส่วนสำคัญ ที่จะผลักดันให้เกิดวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งอาจจะเป็นหนทางที่ประเทศเรากำลังมองหาอยู่ก็เป็นได้ และในอนาคตพวกเขาจะมีบทบาทที่จะทำให้เกิดกลไกการผลักดันให้สังคมหมุนเปลี่ยนจากปัญหานี้ได้อย่างไร
โชคชัย เหล่ามีแสง นิสิตเก่าจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ผมว่ามันต้องมาคุยกันนะ แบบว่าจะเอายังไงกันแน่ คือเวทีคุยมันมีน้อย ผมเคยไปร่วมมวลมหาประชาคุยของอ.เดชรัตน์ กิจกรรมแบบนี้เวทีแบบนี้ มันควรจะมีให้เยอะ ผมว่าคนที่อยู่ในม็อบไม่ค่อยได้ความรู้ ไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากเท่าไร คนที่อยู่ข้างนอกด้วยซ้ำ ที่มีความรู้เพิ่มพูนขึ้น รู้วิธีว่าเขาคิดต่างเขาคิดยังไง เราคิดยังไง แล้วก็แชร์กัน อยู่ในม็อบก็โดนกล่อมจากแกนนำจากเวที ซึ่งสุดท้ายแล้วพอชนชั้นนำหรือพวกแกนนำไปตกลงกันได้ สุดท้ายม็อบเลิก สุดท้ายคนที่ไปชุมนุมก็สลาย กลับมาทำมาหากินเหมือนเดิม ซึ่งถามว่าได้อะไรไหมมัน ในระยะยาวมันไม่ได้ผล ถ้ามีอะไรไปแหย่หรือไปกระตุกนิดหน่อย ความขัดแย้งมันก็เกิดขึ้นมาอีก มันต้องมาคุยให้จริงจังกว่านี้ในระยะยาว”
“ก่อนหน้านี้ที่ผมกำลังเรียนอยู่ ผมก็เป็นนักกิจกรรม ซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็นนักกิจกรรมอยู่ ก็ได้พยายามทำกิจกรรมกับน้องๆ พยายามชวนน้องๆ จัดกิจกรรม จัดเวทีให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน ถ้าพร้อมที่อยากจะทำอะไรได้ก็จะทำ ในอนาคตก็อยากออกมาเป็นคนที่จะเป็นแกนนำ ที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคม เราก็อยากที่จะเห็นสังคมที่มันจะดีขึ้นกว่าเดิมไม่ใช่มีแต่ความขัดแย้ง”
ชนาการ วงเกษรจิต นิสิตคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ปัญหาทุกวันนี้ มันเกิดขึ้นจากการที่ว่า ส่วนใหญ่พวกเราค่อนข้างจะมองปัญหามาจากหลายมุมมอง เรามันอยู่คนละบรรยากาศกัน เพราะฉะนั้นมุมมองของปัญหามันก็ต่างกันด้วย แล้วสิ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งคือเราไม่ยอมรับมุมมองที่แตกต่าง คือคนไทยน่าจะมีปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องของระบบการศึกษา เราใช้อารมณ์มากกว่าที่จะเข้าไปดูเหตุและผล คิดวิเคราะห์ให้มันตกมาเป็นตะกอนความคิด แล้วดูว่ามันดีหรือไม่ดี ทุกวันนี้มันเกิดการแบ่งแยกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน คืออีกฝ่ายจะมีความคิดของเขาอีกแบบหนึ่งแล้ว ถ้าใครเห็นต่างจากเขาก็จะโดนเหมารวมออกไปเป็นอีกฝั่งหนึ่งไปเลย หรือใครที่คิดต่างก็จะถูกผลักออกไป นี้คือสิ่งที่เป็นปัญหามากในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวนี้ คือลำพังมวลชน มันเป็นเรื่องของกระดุมพี คนชนชั้นกลางออกมาแสดงพลัง แต่เสียงตรงนี้มันดังระแต่มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไหม มันขึ้นอยู่กับว่า ผู้ที่มีอำนาจเหนือคนชนชั้นกลางขึ้นไป เขาเลือกที่จะประณีประนอมหรือเลือกที่จะยึดแบบเดิมอยู่ แต่ถ้ายังยึดแบบเดิมอยู่ ปัญหาก็คงสืบเนื่องไปอีกนาน”
” สิ่งที่เราทำได้คือ ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เห็นอกเห็นใจเรื่องของคนในชาติร่วมกัน อย่าเอาตนเองเป็นที่ตั้งมาก เพราะถ้าเมื่อใดเรายึดว่า ความคิดตนเองคือสิ่งที่ถูกแล้ว เราคือสิ่งที่ดีแล้ว แล้วเราไปบ่มเพาะว่าอันนั้นต้องอย่างนี้นะ ต้องอย่างนั้นนะ อันนี้แย่ เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเราก็ต้องมีความยืดหยุ่น
สิรวิชญ์ วัฒนะบูรณาพันธ์ นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ผมคิดว่ามันต้องมีการมานั่งพูดคุยถกเถียงกันทั้งสองฝ่าย ว่าพอมีวิธีไหนบ้างที่พอจะแก้ไขปัญหาได้ คือตอนนี้แต่ละคน เขาก็เอาแต่เหตุผลของเขาเองไม่ฟังเหตุผลของคนอื่นเลย มันต้องมีคนกลางมาทำให้พวกเขาคุยกันให้ได้คิดว่าเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาระยะยาว
“ส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่ จะมีส่วนในการบรรเทาสถานการณ์วิธีไหนได้บ้าง ก็คงเป็นการแสดงออกทางการเมือง แสดงจุดยืนของเรา ว่าเราคิดแบบนี้นะ แต่ก็ต้องเคารพสิทธิ์ของคนอื่นด้วยเคารพความคิดของคนอื่น ไปพูดคุยกับคนอื่นให้เรารู้เห็นถึงสิ่งใหม่ๆบ้าง รู้ความคิดเขา ใจเขาใจเราแบบนี้ครับ”
รพีพงศ์ พิทักษ์ศิลป์ นิสิตคณะสังคมศาสตร์ ภาคสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ผมว่าต้องช่วยกันรณรงค์ สร้างบรรยากาศทางการเมืองให้มันดีกว่านี้ ให้คนในสังคมเข้าใจว่า ความคิดต่างก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม ไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ฝ่ายนี้เสมอไป สามารถเปลี่ยนไปได้เสมอ โดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ความเห็นอาจจะเปลี่ยนไปได้ ถ้าพูดคุยกัน บรรยากาศทางการเมือง อาจเป็นไปในทางที่ว่า สามารถคุยกันได้ ไม่ใช่ในปัจจุบัน คุณเป็นเสื้อแดงคุณไม่มีทางเปลี่ยนไปได้ คือเราฟันธงไปว่าเป็นศัตรู ถ้าเกิดทำให้มันดีขึ้น เราต้องทำให้บรรยากาศทางการเมือง คือถกเถียงกันไปเรื่อยๆ มันมีการแบ่งฝ่าย แต่ให้อยู่ในกรอบมีการพูดคุยกันแลกเปลี่ยนกันเรา อย่าไปยึดกฎเกณฑ์ของเรามาก ความฝันสามารถเปลี่ยนฝันได้”
“ควรต้องช่วยกัน รณรงค์ ผลิตสื่อให้มีความคิดเห็นต่าง ในสื่อทุกวันนี้ ในสังคมออนไลน์มีแต่เหลืองกับแดง เป็นวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สองฝ่ายออกไปอยู่คนละฝั่ง มันไม่มีคนที่อยู่ตรงกลางในปัจจุบัน ในการผลิตออกมา ทำให้คนไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง คนตรงกลางไม่มี สุดท้ายแล้วคุณต้องเข้ามาคุยกัน คุณต้องอยู่ในประเทศนี้ต่อไปอยู่แล้ว ถ้าคุณเกียจกันอย่างนี้คุณจะอยู่อย่างไร มีการคุยกันมากขึ้น”
นอกจากความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่แล้ว ยังมีอีกหนึ่งความคิดเห็นต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ปัญหาของการเมืองนี้ที่มันยากคือว่า คู่กรณีและกระบวนการมีอำนาจเข้ามาเกี่ยว พอมีอำนาจเข้ามา มันเลยทำให้เกิดการเหนือกว่า เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่เยอะกว่าปกติ ทำอย่างไรที่เราจะปรับกฎเกณฑ์ให้เข้ากับอำนาจด้วย หลักประชาธิปไตยยังใช้ได้ในแง่ที่ว่า มันต้องเคารพความเท่าเทียมกันเสมอภาคในการปฏิบัติอย่างที่เราต้องการให้คนอื่นเห็นมันก็จะลดการเอาเปรียบหรือคิดที่จะเอาเปรียบได้
“กระบวนการต่างๆ เมื่อมันเริ่มเดินก็จะทำให้จุดหมาย ค่อยๆปรับตัว ไม่มีอะไรที่ทำทีเดียวแล้วมันได้ผลเลย สิ่งที่จะแก้ปัญหาทางสังคมในระยะยาว คือต้องทำให้คนในสังคมรู้สึกตัว ความสำเร็จอยู่ที่ว่าขั้นตอนนั้น เรารับรู้กันทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็รับรู้ มันจึงจะตกลงกันได้ รับกันได้ มากหรือน้อย เราจึงค่อยๆขยับเข้าไปคลี่คลาย”
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่อไปในอนาคต ไม่มีใครทราบได้ กระบวนการแท้จริงที่จะบรรเทาปัญหาทางการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ ก็นับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ชวนให้ฉุดคิดว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องช่วยกันคิดและยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน เพื่อให้เกิดหนทางแห่งความสงบสุขของประเทศชาติ