พลังสื่อสู้ฝุ่น เปิด “สถานีฝุ่น ปี 2” สร้างสื่อสาธารณะสู้ภัยฝุ่นควัน

พลังสื่อสู้ฝุ่น เปิด “สถานีฝุ่น ปี 2” สร้างสื่อสาธารณะสู้ภัยฝุ่นควัน

สถานการณ์ฝุ่นควันเป็นภัยเงียบคุกคามสุขภาพประชาชนเกิดขึ้นเป็นวงจรฤดูกาล โดยเฉพาะภาคเหนือและได้ขยายข้ามพรมแดนไปยังที่ต่าง ๆ หลายภาคส่วนกำลังพยายามแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนนี้ และพบว่ามีความจำเป็นแก้ไขทั้งในระยะเผชิญเหตุและระยะยาวเพื่อผลักดัน แก้ไขเชิงนโยบาย “การสื่อสารสาธารณะ” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประชาชนสามารถรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นควันหนัก และขับเคลื่อนเนื้อหาเพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไข สถานีฝุ่นปี 1 เริ่มเกิดขึ้นเมื่อ ปี 2564 โดยทีม Wevo สื่ออาสา และสภาลมหายใจภาคเหนือ เป็นสื่อออนไลน์เผยแพร่ช่องทาง Website และ Social Media (Youtube Facebook) เผยแพร่ในช่วงฤดูฝุ่นหนัก (กุมภาพันธ์ – เมษายน) โดยจัดรายการสด เพื่อเกาะติดสถานการณ์ และเชื่อมประสานความช่วยเหลือ 

18 มกราคม 2565 การเปิดตัวภารกิจอย่างเป็นทางการ ของ “สถานีฝุ่น ปี 2” สานพลังนวัตกรรมการสื่อสารสาธารณะวาระภัยพิบัติภาคเหนือ ณ ห้อง Auditorium อาคารศูนย์นวัตกรรมการสื่อสาร (Communication Innovation Center: CIC) คณะการสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต /อธิบดีกรมควบคุมมลพิษคุณปิ่นสักก์ สุรัสวดี / ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คุณนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ธีรภัทร วรรณฤมล ผู้อำนวยการสถานีฝุ่น ปี 2 ประธานโครงการความร่วมมือเครือข่ายสถาบันการศึกษาเพื่อการสื่อสารสาธารณะ วาระภัยพิบัติภาคเหนือ (ฝุ่นควัน) สถานีฝุ่น #2 คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / คุณวิทยา ครองทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ และ คุณอัจราวดี บัวคลี่ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายนักสื่อสารพลเมือง ไทยพีบีเอส เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 

ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงในนามของสถาบันการศึกษาทั้ง 6 สถาบันที่ร่วมมือกันพัฒนาสถานีฝุ่นขึ้นมาเนื่องจาก

ปัญหาเรื่องของฝุ่นที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานอย่างน้อย ๆ เป็นทศวรรตในภาคเหนือ รวมถึงขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ นอกประเทศไทย

ความพยายามในการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มีมาอย่างต่อเนื่องมหาวิทยาลัยเองมีการจัดตั้งศูนย์ PM 2.5 คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ร่วมมือกับภาคประชาสังคม ร่วมมือกับสภาลมหายใจ ร่วมมือกับส่วนราชการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา แต่ปรากฏว่ายิ่งลงดำเนินการกันไปนาน ๆ พบว่า ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ปลายเหตุยอดภูเขาน้ำแข็ง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาของตัวระบบในการแก้ปัญหา และปัญหาตัวข้อมูลและความรู้ด้วย ศูนย์ PM 2.5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ พยายามจะคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะนำมาสู่การแก้ปัญหานี้ ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นำมาสู่เรื่องสภาพแวดล้อม ปัญหาเรื่องของ climate change ปัญหาที่กระทบต่อวงกว้าง ภาครัฐเองไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ ภาควิชาการเองไม่สามารถแก้โดยการเปลี่ยนโครงสร้างได้ เพราะฉะนั้นการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการนำข้อมูลการนำความรู้มาสื่อสารกับพี่น้องประชาชน การที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสำคัญ ๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องการนักสื่อสาร กลไกที่จะทำให้เกิดการสื่อสารที่ถูกต้อง และไปสู่การแก้ปัญหาซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่

การเกิดความร่วมมือของ 6 สถาบัน ที่ต้องการจะทำงานด้านการสื่อสารข้อมูล เป็นเรื่องที่สำคัญมากและเป็นโอกาสดีอย่างมากที่จะสานพลังต่าง ๆ

ในปีที่ผ่าน ๆ มาเรายังทำงานแบบสื่อสารต่างช่องทางต่างคนต่างสื่อสาร ขัดแย้งกันในเรื่องของข้อมูลไม่ตรงกัน โอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะนำข้อมูล และความรู้นำมาสื่อสารร่วมกันเพื่อเคลื่อนการแก้ไขปัญหา เป็นหัวใจสำคัญให้เกิดพื้นที่กลางที่ทุกคนหันหน้ามาสื่อสารร่วมกัน

ซึ่งในแผน 13 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองได้กำหนดเป้าหมายของการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติสอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชน ในการน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการแก้ปัญหาซึ่งตรงกับทิศทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน การทำงานของสถานีฝุ่นจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ใช้ข้อมูลข่าวสารในการเปิดโอกาส มุ่งสร้างสังคมที่เป็นสุขและยั่งยืน คู่ขนานไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน    

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ คุณปิ่นสักก์ สุรัสวดี กล่าวว่า สถานีฝุ่นจะเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารของปัญหาที่แก้ปัญหาอย่างตรงจุด เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในฐานะที่ควบคุมกรมควบคุมมลพิษ เราเห็นภาพปัญหาการจัดการที่ไม่ยั่งยืนของมนุษย์ การบริโภค การผลิต การขยายพื้นที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมเริ่มเตือนเรากำลังบอกเรา ภาษาที่เราใช้คำว่าโลกรวน

ฝุ่นเป็นภัยพิบัติหนึ่งที่สะท้อนออกมาได้ชัดเจนมนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนต้องการจะอยู่อย่างราบรื่นและกลมกลื่นกับธรรมชาติมากกว่านี้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคงไม่เพียงแต่การดำเนินงานของภาครัฐส่วนกลางที่มีนโยบายจากภาครัฐเท่านั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นเรื่อง adaptation คือ การปรับตัวที่จะอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ที่สำคัญสุดคือเรื่องของพื้นที่

เพราะฉะนั้นในภาคของวิชาการเองจะเป็นตัวจุดประกายบ่งบอกปัญหาจริง ๆ เกิดจากอะไร สถานีฝุ่นเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะสื่อสารองค์ความรู้ทางวิชาการได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์สู่ภาคประชาชน

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “สถานีฝุ่น ปี 2 สานพลังนวัตกรรมการสื่อสารสาธารณะวาระภัยพิบัติภาคเหนือ” เนื่องด้วยสถานการณ์ฝุ่นควันเป็นปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือมานานหลายปี  ได้มีความพยายามที่จะช่วยเหลือกันในหลายภาคส่วน แต่เหมือนยิ่งแก้ ก็ยังมีปัญหา และยิ่งพบปัญหาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อันจะได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากทุกคน ช่วยกันสอดส่อง เป็นหูเป็นตา รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับสังคม เศรษฐกิจ สุขภาวะ  การท่องเที่ยว และด้านอื่น ๆ เป็นอย่างมาก

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถานีฝุ่น ปี 2 ที่ได้ขยายความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษา 6 แห่งในภาคเหนือที่มีความเข้มแข็งในด้านวิชาการ อีกทั้ง ไทยพีบีเอส สสส. สภาลมหายใจภาคเหนือ หอการค้าเชียงใหม่ ทีม WEVO สื่ออาสา ที่มาร่วมแสดงพลังกันอย่างแข็งขัน จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงการสื่อสารประเด็นเฉพาะพื้นที่ และปฏิบัติการการสื่อสารจริงร่วมกับคนในพื้นที่ เพื่อให้มีการเผยแพร่ และเกิดข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

โอกาสนี้ คาดหวังและอาวยพรให้สถานีฝุ่น ปี 2 ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ได้รับความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ และหน่วยงานจากทุกภาคส่วน อันจะสร้างความผาสุกให้แก่สังคมและพัฒนาพื้นที่ในเขตภาคเหนือให้กลับมามีอากาศที่บริสุทธิ์เช่นเดิมต่อไป

สถานีฝุ่น #2 /2565 – 2566 ขยายความร่วมมือกับ ไทยพีบีเอส  และ สถาบันการศึกษา 5แห่งในภาคเหนือ  โดยเกิดเป็นโครงการความร่วมมือ เครือข่ายสถาบันการศึกษาเพื่อการสื่อสารสาธารณะ วาระภัยพิบัติภาคเหนือ (ฝุ่นควัน) ที่จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านการสื่อสาร เชื่อมโยงกลไก การสื่อสารประเด็นเฉพาะของพื้นที่และปฏิบัติการสื่อสารจริงร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนเหนือเผชิญสถานการณ์ฝุ่น และสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันด้วย

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เจ้าภาพหลักในปีนี้ และสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านสื่ออีก 5 แห่งในภาคเหนือตอน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และภาคีเครือข่าย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สภาลมหายใจภาคเหนือ ทีม WEVO สื่ออาสา ไทยพีบีเอส พร้อมภารกิจการดำเนิน

“สถานีฝุ่น ปี 2” ห้องข่าวออนไลน์แบบหลอมรวม เพื่อสื่อสารสาธารณะวาระภัยพิบัติภาคเหนือ (ฝุ่นควัน)” 

ซึ่งภายใต้โครงการนี้มีเป็นการเปิดรับสมัครอาสาสมัครนักศึกษา ที่มีภูมิลำเนาในภาคเหนือจาก 6 สถาบันการศึกษา และอาสาสมัครที่สนใจทำการสื่อสาร เข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ เปิดกว้างรับนักศึกษาทั้งในสาขาการสื่อสาร และสาขาอื่นที่สนใจ เพื่อมาร่วมกัน เรียนรู้ทักษะการผลิตสื่อและบริหารสถานีฝุ่นปี 2 ในสถานการณ์จริง ฐานะของเจ้าของปัญหาที่ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพจัดการร่วม กับสื่อมือสมัครใจ และสื่อมืออาชีพ เพื่อสร้างกลไก “สื่อสาธารณะเพื่อท้องถิ่น” ที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนในพื้นที่

ซึ่งตั้งเป้าหมายทำการสื่อสารในช่วงสถานการณ์วิกฤติฝุ่นควันในช่วง วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2566  โดยตลอดช่วงเดือน มกราคม 2566 เป็นช่วงการเตรียมพร้อมในการจัดตั้งสถานีพร้อมทดลองออกอากาศ และแสวงหาความร่วมมือจากเครือข่าย

ภายในงานมีวงเสวนา พลังสื่อสู้ฝุ่น : จากเจ้าของปัญหา สู่เจ้าภาพจัดการร่วม “บทบาทเรา ใครทำหน้าที่ไหน” โดย เครือข่ายร่วมปฏิบัติการสถานีฝุ่น ปี 2

โดยผู้ร่วมวงเสวนา ทั้ง 8 ท่าน คุณสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ตัวแทนจาก ไทยพีบีเอส / รองศาสตราจารย์ ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / ผู้อำนวยการสถานีฝุ่น ปี 2 / ประธานโครงการความร่วมมือเครือข่ายสถาบันการศึกษาเพื่อการสื่อสารสาธารณะ วาระภัยพิบัติภาคเหนือ (ฝุ่นควัน) สถานีฝุ่นปี 2 / ผศ.ดร.จิราพร ขุนศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย / อาจารย์ ดร.อุไร ไชยเสน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ / อ.กริ่งกาญจน์ เจริญกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ / อ.สุพรรณี เบอร์แนล มหาวิทยาลัยพะเยา / คุณวิทยา ครองทรัพย์ รองประธานสภาลมหายใจภาคเหนือ / คุณ อาคม สุวรรณกันธา รองประธานกรรมการหอหารค้าเชียงใหม่ 

“จากเจ้าของปัญหา สู่เจ้าภาพจัดการร่วม” แต่ละท่านไม่ได้มีภารกิจโดยตรงในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน แต่ว่าทุกท่านพร้อมที่จะร่วมใจกันสนับสนุนสถานีฝุ่นและใช้เป็นเครื่องมือ พื้นที่กลางในการร่วมกันฝ่าวิกฤติฝุ่นควันนี้ร่วมกันอย่างไร… 

รองศาสตราจารย์ ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / ผู้อำนวยการสถานีฝุ่น ปี 2 / ประธานโครงการความร่วมมือเครือข่ายสถาบันการศึกษาเพื่อการสื่อสารสาธารณะ วาระภัยพิบัติภาคเหนือ (ฝุ่นควัน) สถานีฝุ่นปี 2 กล่าวว่า 

“ถ้าเราจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า อาจจะต้องดึงบทบาทใหม่เข้ามาร่วมด้วย”

การขยายกลุ่มเครือข่ายในครั้งนี้ เราได้ร่วมกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จากภาคเหนือ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้าสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมกันแล้วจะเป็นอย่างไร เราจึงขอแรงจากน้อง ๆ กลุ่มนักศึกษาเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งแบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นนักศึกษาฝึกงาน ซึ่งอยู่ทำงานด้วยกันยาวจนสิ้นสุดเดือนเมษายน 

กลุ่มที่สอง อาสาสมัคร โดยอาสาสมัครจะคิดเนื้อหาเสริมและส่งให้กับทางสถานีฝุ่น ปี 2 เราได้แบ่งโครงการเป็น 3 ช่วง ในช่วงแรก จะเป็นเดือนพฤศจิกายน – มกราคม เป็นช่วงแรกที่เราจะมาเริ่มก่อร่าง สร้างสถานีฝุ่น โดยให้น้อง ๆ นักศึกษาฝึกงาน คิดรูปแบบรายการ และถ่ายทำรายการร่วมด้วยกับสตาฟของวีโว่ สื่ออาสา และไทยพีบีเอส 

ช่วงที่สอง ระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน จะเป็นช่วงที่สถานีฝุ่นได้ทำงานกันอย่างจริงจัง โดยจะเป็นการดำเนินรายการสดและเผยแพร่รายการที่ได้จัดทำไว้แล้ว และในช่วงที่สาม หลังจากนั้นก็จะเป็นการถอดบทเรียนถึงประเด็นปัญหาที่ได้เจอและนำไปปรับปรุงสถานีฝุ่นในปีต่อ ๆ ไป 

คำที่จะวิ่งไปยังโลกอนาคตของเราก็คือ Digital และ Integrated เป็น 2 คีย์เวิร์ดที่ดี และในก้าวย่างต่อไปเราอาจจะไม่ได้มองแค่ปัญหา PM 2.5 เราจะเริ่มเข้าไปร่วมไปโฟกัสวิกฤตอื่น ๆ เช่น วิกฤติภัยแล้ง วิกฤติน้ำท่วม เพื่อให้ครอบคลุมมากปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจจะเปลี่ยนจาก สถานีฝุ่น เป็น สถานีภัยพิบัติ อีกทั้งการที่ได้เห็นทีมงานสถานีฝุ่น ปี 2 ทำงานถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ที่คนรุ่นใหม่ได้เริ่มหันมาสนใจกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราสู้กันมาอย่างมาก เราจึงอยากจะส่งไม้ต่อให้กับ น้อง ๆ เป็นตัวจุดประกาย เราต้องทั้งสร้าง Awareness และหา Solutions

“สื่อใหม่จะต้องเป็น Solution Journalism สื่อจะไม่ใช่เพียงแค่หาปัญหามาขยี้ แต่จะต้องหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมไปด้วย” และหวังว่าสถานีฝุ่น ปี 2 จะแสดงความเป็น Solution Journalism ออกมาอย่างชัดเจน

คุณ สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ กล่าวว่า ในส่วนของทางไทยพีเอสได้รับความอนุเคราะห์จากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานร่วมกันอย่างยาวนาน ล่าสุดมีความร่วมมือการทำเครือข่ายสื่อสารสาธารณะท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญที่จะมารองรับการทำงาน และเห็นด้วยกับอาจารย์ ธีรภัทร วรรณฤมล ที่เห็นว่าเรื่องฝุ่นไม่ใช่เรื่องเดียวเพราะมีประเด็นอื่นที่ตามมาอีกมากมาย

ภายใต้บทบาทของสื่อสาธารณะซึ่งประชาชนอาจจะไม่เห็นด้านนี้และงง ๆ กับการทำงาน เพราะจริง ๆ แล้วเราไม่ค่อยเห็นสื่อมาทำบทบาทอื่น ๆ นอกจากการทำข่าว การจะต้องเป็นสื่อที่ค้นหาทางออกให้สังคมเป็นหัวใจสำคัญ แต่เราค้นพบว่า ทางออกในการค้นพบ อาจไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานราชการ อาจไม่ใช่หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป เพราะลงมายังนักวิชาการ ภาคประชาชน หรือรวมถึงชาวบ้านทั่วไป

ซึ่งเงื่อนไขของเทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นมิตรมากขึ้น ทำให้สามารถที่จะใช้เครื่องมือนำมาสร้างข้อมูล เพื่อนำไปสู่การสื่อสารได้อย่างเป็นระบบ เช่น เรื่อง low-cost sensor โดย 3 ปีที่แล้ว เรื่องนี้ถูกกระจายไปยังกลุ่มของประชาชนซึ่งสนใจปัญหาเรื่องของฝุ่น PM 2.5 พร้อมทั้งมีความสนใจและใช้ในการสื่อสาร ทางสื่อสาธารณะก็เปิดพื้นที่ App C-Site ในการให้ประชาชนร่วมปักหมุดรายงานตัวสถานการณ์เข้ามา บวกกับข้อมูลจากเครื่องมือที่เรียกว่า low-cost sensor 

สถานีฝุ่นในปีที่สอง ถ้าเราย้อนกลับไปหน่อย คือ ตัวของ WE volunteer หรือ Wevo เป็นสื่ออาสาที่รายงานประเด็นเรื่องฝุ่นควัน นับตั้งแต่ปี 63 และเริ่มทำงานร่วมกัน จนเข้าสู่สถานีฝุ่นปีที่ 2 ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัย สนันสนุนให้เกิดภาพการหลอมรวมสื่อ เพื่อนำไปสู่การสื่อสารสาธารณะเป็น center ขยายไปสู่ 6 จังหวัดภาคเหนือ นี่เป็นแนวทางทางไทยพีเอสเองไปทำงานร่วมกัน

สามทำอย่างไรให้แนวคิดการสื่อสารเรื่อง citizens science เป็นอีกตัวหนึ่งที่สร้างการมีส่วนร่วมปัญหาที่ว่าการแก้ปัญหาต้องลงไปถึงระดับประชาชน ไม่ใช่เป็นเรื่องเพียงแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และเครือข่ายภาคเหนือเห็นร่วมกันว่าเป็นเรื่องใหญ่ เราคิดว่าการเกิดองค์ประกอบ 2-3 อย่างจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในภาพใหญ่ สนับสนุนขยายไปยังประเด็นสาระอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกับเรื่องของคุณภาพชีวิตเรื่องของสังคมและธรรมชาติซึ่งอยู่แวดล้อมเราด้วย สิ่งนี้เป็นภารกิจหลักรวมถึงสื่อสาธารณะด้วย

คุณ อาคม สุวรรณกันธา รองประธานกรรมการหอหารค้าเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาคธุรกิจมองว่า เอกชน เกาะติดเรื่องนี้มานานนอกจากตัวเลขคือมองเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ เวลาเราเป็นโรคทางเดินหายใจ เราต้องสูญเสียในเรื่องของเวลาทำงาน เวลาการเช็คเรื่องของสุขภาพ ซึ่งมากกว่าพันล้านและดูมวลรวมแล้ว ในส่วนของภาคเอกชนมองเรื่องของภาพรวมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ economic impact ผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การจัดสถานีหอสู้ฝุ่น 13 ตอน ไล่เรียงแต่ละตอนเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยฝุ่น มลพิษทางอากาศ คาร์บอนเครดิต และอื่น ๆ

ภาคเอกชนหรือความรู้ที่เราจะมองผลกระทบเราจะมองด้านเดียวไม่ได้เพราะปัญหามีพลวัตรและซับซ้อน การที่เราจะแก้ไขปัญหาระยะสั้นเป็นไปได้ยาก การเข้ามาร่วมจะใช้ครือข่ายหอการค้า 17 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ช่วยกันมองประเด็น เร็ว ๆ นี้ จะจัด forum กับประเทศเพื่อนบ้าน ประเด็นเรื่องฝุ่นควันข้ามแดน หยิบประเด็นจากหอการค้า เรื่องออกแบบระบบพืชเศรษฐกิจ พืชเชิงเดี่ยว กลไกของเศรษฐกิจข้ามแดน เชิญทาง สปป. ลาว ประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา

ประเด็นที่สองเรื่องของการขับเคลื่อนเรื่องอากาศสะอาดในการลด pm 2.5 Lowcarbon city ประเด็นที่สามเกี่ยวข้องกับภาคเมืองใน 17 จังหวัดเชียงใหม่มีมลพิษทางภาคเมืองสูงเพราะมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ การใช้รถไฟฟ้า เพราะถ้าเราลดมลภาวะในตัวเมืองได้ ฝุ่นฟุ้งเกิดจากมลภาวะก็จะลดลง การลดการเผาจากภาคป่าที่ทาง ป.ภ. กรมควบคุมมลพิษ พยายามขับเคลื่อนอยู่ ทางจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อมาผนวกกันจะลดปัญหาเบาบางลงได้

เพราะฉะนั้นทางเอกชนยินดีที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับสถานีฝุ่น

เพราะ ฝุ่นไม่มีทางหายไป ปัญหามลพิษ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาต่าง ๆ กำลังใกล้เข้า เพราะฉะนั้นเราต้องมีกลไกในการปกป้อง และการมีส่วนร่วม 

อาจารย์  ผศ.ดร.จิราพร ขุนศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย บทบาทของคนตัวเล็ก ๆ และเป็นผู้ประสบปัญหา คิดว่าตนเองจะทำอะไรได้บ้าง ด้านการสื่อสาร จึงเริ่มจากการผลิตสื่อ ได้อ่านหนังสื่อของคุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ การสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจหนึ่ง คนตัวเล็ก ๆ สามารถที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบ้างอย่างได้ ทำให้เรามองเห็นว่าตัวเราจะขับเคลื่อนเรื่องอะไรได้บ้าง

เรามีส่วนร่วมอย่างไร เรานำ content เรื่องของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นควันไฟป่าลงไปในรายวิชาที่เราสามารถที่จะทำได้ ตนเองสอนอยู่ในรายวิชาการสื่อสารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นทำ ให้นักศึกษา รายวิชาเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านรายวิชา ก็ยังมองว่าเราทำได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเรามีเครือข่ายที่เข้มแข้งที่เสียงดังมากกว่านี้น่าจะเป็นเสียงสะท้อนที่ได้สะท้อนออกไป และมีการสื่อสารร่วมกันกับคนในพื้นที่ด้วยช่วงเวลาในการเตรียมการ บูรณาการรายวิชาอื่น ๆ พอได้มาร่วมกับสถานีฝุ่นปี 2 อยากมาเรียนรู้งานทางคณะที่ทำอยู่ทำอะไรไปบ้าง อาจเป็นโอกาสดีที่จะได้มาฝึกงานต่อ ๆ ไป เราไม่ได้ทำงานด้านสื่ออย่างโดดเดี่ยว 

คุณวิทยา ครองทรัพย์ รองประธานสภาลมหายใจภาคเหนือ มองว่าสถานีฝุ่นจะเป็นโทรโข่งของภาคประชาชน ที่เราถูกอยู่ในความทุกข์ และเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในภาคเหนือเราอยากจะเห็นอากาศสะอาดในทุก ๆ วัน พอเราวิตกกังวลจะมีคนกลุ่มหนึ่งหาสาเหตุ และพอมีชุดความรู้เราเห็นต้นตอสาเหตุ และมีพัฒนาการขององค์ความรู้ ความรู้ด้านวิชาการต่าง ๆ เมื่อเห็นองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ มาพัฒนาร่วมกัน ทั้งการปกป้องตัวเองต่าง ๆ แต่ยังไม่เห็นการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นกลไกภาครัฐยังถูกออกแบบที่ไม่เอื้อและตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา ทุกคนจึงดูเหมือนไม่ทำงาน แต่ในความเป็นจริงเขาทำงานกันอย่างหนักบางจังหวัดบางพื้นที่แต่ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นความรู้ต่าง ๆ ที่มีพร้อมมันจึงมีวิวัฒนาการด้านสังคมคือการใช้สิทธิทางกฎหมายขึ้นมีประชาชนฟ้องรัฐบาลเป็นสิ่งที่จุดประกาย ให้คนในสังคมได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วการปกป้องประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐ ทำไมถึงชี้ไปที่รัฐ…ซ้ำซ้อน

“หน่วยงานเริ่มนับหนึ่งทุกครั้ง เราภาคประชาสังคมอยากจะนับสิบร่วมไปด้วยกัน สถานีฝุ่นช่วยกระตุ้นให้สังคมตื่นรู้แบบเร่งด่วนและตั้งคำถามว่าปัญหาฝุ่นควันนี้จะหมดไปภายในกี่ปี“

อาจารย์ ดร.อุไร ไชยเสน อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 

บทบาทหลักในสถานีฝุ่น ทางเราได้เข้าร่วม 3 ส่วน โดยการส่งเด็กเข้ามาฝึกงานกับสถานีฝุ่น ในรายวิชา และเป็นจิตอาสา ปีนี้เราได้ส่งเด็กมา 1 คน มาฝึกงาน เพื่อเป็นตัวแทนมาทำบทบาทในการเป็นโทรโข่ง หรือช่วยสื่อสารปัญหานี้ออกไป ในเวลานี้มันเปลี่ยนไป คุณอาจจะไม่ต้องเข้ามาทำงานในองค์กรสื่อแล้วก็ได้ อาจจะเป็นการรวมตัวกันในการทำสื่อเพื่อสังคม ให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง เราอยากจะให้คนรุ่นใหม่เป็นตัวหลักในเวทีที่จะมองและตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือมีปัญหามีผลกระทบต่อคนหมู่มาก

ฝุ่นควันในภาคเหนือมีมานานแล้ว แต่ทำไมคนถึงยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ แต่เมื่อกรุงเทพเกิดเหตุการณ์ฝุ่นควันแค่ปีเดียว กลับเสียงดังมาก เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าทำไมปัญหาอยู่กับเราตั้งนาน ทำไมแก้ไม่ได้สักที และอีกกรณีคือการมาของโควิด -19 ทำไมโควิดมาเพียงไม่นาน แต่กลับมีมาตราการมาจัดการได้ ทั้ง ๆ ที่มันเข้ามามีส่วนในชีวิตและเศรษฐกิจเหมือนกันกับปัญหาฝุ่นควัน 

“สถานีฝุ่นเป็นพื้นที่กลาง”

สถานีฝุ่น ควรเป็นพื้นที่กลาง ในการรวบรวมข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับฝุ่นควันและเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับองค์กรต่าง ๆ ดีกว่าต่างคนต่างทำ สร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง เมื่อรวมตัวกันจะทำให้เราได้ข้อมูลมากขึ้นและสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อเราเข้าใจถึงปัญหาตรงกันและสื่อสารออกไปอย่างตรงจุด จะทำให้คนตระหนักและมีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

อ.กริ่งกาญจน์ เจริญกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บทบาทของผู้สร้างปัญหาปฏิเสธไม่ได้เป็นคนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น ปิ้งไอเดีย solution journalist จะเน้นการทำโปรดักส์ชั่นมากกว่า ให้นักศึกษาในโครงการผลิตสื่อจากองค์ความรู้มหาวิทยาลัย ผลงานได้ออกอากาศทางไทยพีบีเอส

แต่เรามาคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ ต่อยอด production base ไปยังการเป็น solution journalist

อาจารย์สุพรรณี เบอร์แนล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ย้อนกลับไปปี 1 ทางเราได้เข้ามาเติมเต็มความรู้และเสริมกำลังด้านอุปกรณ์เพิ่มเติม ให้กับทางสถานีฝุ่นและทำงานร่วมกันมาตลอด ทำให้เกิดเครือข่ายร่วมกัน 

ในรายวิชาที่อาจารย์ได้สอนนั้นคือวิชา การสื่อสารเพื่อจัดการภัยพิบัติ เด็กจะได้เรียนรู้และเข้าใจประเด็นมากขึ้น โดยจะส่งผ่านความรู้ไปยังนิสิต เพื่อให้ตระหนักรู้และส่งข้อมูลข่าวสารในฐานะสื่อไปยังผู้รับสารต่อไป ทางเราได้ส่งนักศึกษาฝึกงานมาร่วมกับทางสถานีฝุ่นอยู่ 2 คน เพื่อให้เป็นกำลังในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันนี้ แต่ถึงอย่างนั้นไม่เพียงแค่ฝึกนักศึกษาที่ฝึกงานที่จะได้ความรู้จากการทำงานที่สถานีฝุ่น แต่นักศึกษาในรายวิชาก็จะได้การเรียนการสอนที่ทำให้เข้าใจถึงปัญหานี้ และนำไปต่อยอดในการหาแนวทางสื่อสารกับปัญหานี้อีกด้วย เมื่อรู้ถึงปัญหาและรู้ว่าจะต้องทำยังไงต่อไป นี่คือสิ่งที่ทางสถาบันการศึกษาส่งต่อไปให้นักศึกษาได้คิดต่อ

ไม่เพียงแค่นั้นในทางเรายังได้ขยายไปสู่สาธารณะโดยการทำ MOU ห้องเรียนสู้ฝุ่น ร่วมกับโรงเรียนในจังหวัดพะเยา เพื่อให้กลุ่มนักเรียนได้มีส่วนร่วมในการทำคลิปผลงานเกี่ยวกับฝุ่นควัน เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้เด็ก ๆ อีกด้วย

คุณบัณรส บัวคลี่ ทีมงานสถานีฝุ่น และ สภาลมหายใจภาคเหนือ สถานีฝุ่นเป็นความพยายามสื่อสาร ของผู้ได้รับผลกระทบ ก่อตั้งมาจากปีที่แล้วพ.ศ 2555 เริ่มจากสภาลมหายใจ มีพันธมิตรภาคประชาสังคม หอการค้า ปีนี้ก็มีพันธมิตรที่เป็นมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา ที่มีการเรียนการสอนทางด้านสื่อสารมวลชน อีก 5 มหาวิทยาลัยในเขตภาคเหนือ ก็เป็นเครือข่ายพันธมิตรระดับภาค ในปัญหาภัยพิบัติใด ๆ ไม่ว่าภัยพิบัติใด ๆ ก็ตาม การสื่อสารสังคมเป็นแกนที่ขาดไม่ได้ ปีนี้รัฐบาลก็บอกว่า จะต้องมีการสื่อสารมากขึ้นแต่เป็นการสื่อสารเชิงรณรงค์ การให้ความรู้มากกว่า แต่การสื่อสารปัญหาระหว่างกัน นำเรื่องราวปัญหาหรือ ที่ตรงนี้มีปัญหาอีกจุดหนึ่งจะไปช่วยได้หรือไม่ การสื่อสารปัญหาระหว่างกัน เป็นการช่วยบรรเทาเบาบาง การเกิดเหตุ 1 เหตุขึ้นมาแล้วมี การอธิบายว่าสาเหตุมันเป็นอย่างไร ก็มีความจำเป็น เราก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิด การแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถึงขนาดที่จะเป็นตัวหลักขึ้นมาแต่ว่า มันจะเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เป็น infrastructure 1 ที่สังคมจะต้องมีการสื่อสารในเบื้องต้น 

สถานีฝุ่นในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 2 มองว่ามันเป็น Sandbox ชนิดหนึ่งเป็นการบุกเบิกอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาซึ่งมันไม่หยุดนิ่ง ของเดิมมันไม่ใช่แล้ว ก็เปลี่ยนเป็นของใหม่ขึ้นมา ปีนี้ก็จะเน้น เรื่องของ Content ข่าวสารที่ออกไปยังจุดปัญหาใหญ่ๆของภาคเหนือ อย่างเช่นที่ป่าสาละวิน ป่าเมืองปาย ที่ออบหลวง ออบขาน ป่าแม่ปิง ที่มันเป็นเหตุใหญ่ ๆ ที่เรามองเห็นว่าเป็นเหตุใหญ่ ๆ จะไปนำเสนอในพื้นที่

ตัวต่อมาก็คือ การได้คนใหม่ ๆ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ๆ ได้มาช่วยสื่อสารในมุมมองที่กลุ่มที่ตนเองสนใจ น้อง ๆ นักศึกษา ก็จะมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ความหลากหลายเป็นเรื่องจำเป็น การสื่อสารไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของฮาร์ดนิวส์เท่านั้น การสื่อสารเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และเรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องวิถีชีวิต ก็มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น

สถานีฝุ่นจะเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2566 โดยสามารถรับชมได้ทาง Facebook Page : สถานีฝุ่น และ Youtube : Dust Station รวมทั้งเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่น ๆ ของกลุ่มภาคีเครือข่าย ได้แก่ เพจเฟซบุ๊ก WEVO สื่ออาสา, เว็บไซต์ C-Site ของไทยพีบีเอส และเผยแพร่ผ่านช่องทางของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ