กว่า 4 วันแล้วที่ชาวเลอูรักลาโว้ย จากเกาะหลีเป๊ะ ออกเดินทางจากเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ซึ่งมีเป้าหมายเข้าพบรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาที่ดินที่ออกทับพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทำให้ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะได้รับผลกระทบ รวมถึงการทบซ้อนของเอกสารสิทธิ์ ทั้งบริเวณที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน เเละพื้นที่เคารพทางจิตวิญญาณเเละที่บางกรณีก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจจารณาของศาลยุติธรรม
ล่าสุดตอนนี้ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือกับ 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย, องค์การสหประชาชาติ, กระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สหประชาชาติ เร่งติดตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล
วันนี้ (17 ม.ค. 66) ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะและเครือข่ายชาวเลอันดามัน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อขอให้สหประชาชาติได้ทำการตรวจสอบและให้คำแนะนำกับรัฐบาลไทย ที่ได้ลงนามในปฏิญญาระหว่างประเทศ จากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือดั้งเดิม “อูรักลาโว้ย” เกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล
ตามที่ประเทศไทยได้ลงนามในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) มีมาตราที่ส่งเสริมภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และประกอบกับองค์การสหประชาชาติ ก็มีทิศทางการดำเนินงานที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) “ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
แต่ในกรณีชนเผ่าพื้นเมืองเดิมที่มีชื่อว่า “อูรักลาโว้ย” ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกและอาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงและสนธิสัญญาที่ได้ลงนามไว้ กลับปล่อยปะละเลยให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มนี้
ดังนั้นทางเครือข่ายชาวเลอันดามันและชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จึงมีข้อเรียกร้องมายังองค์การสหประชาชาติดังนี้
1.ขอให้องค์การสหประชาชาติได้ทำการตรวจสอบและพิจารณาว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือสนธิสัญญาที่ได้ลงนามไว้หรือไม่ และเร่งให้คำแนะนำกับรัฐบาลไทยถึงแนวปฏิบัติที่ดีต่อชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
2.ขอให้องค์การสหประชาชาติพิจารณาดำเนินการสร้างความเข้าใจกับรัฐบาลไทยในความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการหรือกฎหมายที่มีลักษณะคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
3.ขอให้องค์การสหประชาชาติได้ประสานการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล การติดตามการดำเนินการแก้ปัญหาของรัฐบาลต่อกรณีปัญหาชาวเลเกาะหลีเป๊ะอย่างต่อเนื่อง และประสานติดตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ว่าเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่อย่างไร
ชาวเลหลีเป๊ะยื่น หนังสือ กระทรวง “ศึกษา แก้ปัญหาครู-นักเรียน ถูกคุกคาม
วานนี้ (16 ม.ค. 2566) ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล และเครือข่ายได้เดินทางมายื่นหนังสือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง เรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวข้องกับกรณีที่ดินเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล
โดยหนังสือระบุว่า ตามที่ได้ทำการปิดกั้นทางเข้าโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล โดยภาคเอกชน ได้มีความพยายามที่จะปิดกั้นทั้งทางเดินสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมานานนับร้อยปี ในระหว่างการดำเนินการปิดทางเข้าโรงเรียนอยู่นั้น ก็ได้เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้รับเหมากับเด็กนักเรียนบ้านเกาะอาดัง ทำให้ เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะอาดังได้พร้อมใจกันออกมาปกป้องทางเข้าโรงเรียน จนส่งผลให้เด็กนักเรียนบางส่วนได้รับบาดเจ็บ
ทางเครือข่ายชาวเลอันดามันและภาคีเครือข่าย มีข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาดังนี้
- ขอให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งสอบสวนหาข้อเท็จจริงด้านการคุกคามสิทธิและสวัดิการของเด็กนักเรียนและบุคลากรครูโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง และนำไปสู่การกำหนดมาตรการในการป้องกันมิให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก
- ขอให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิสูจน์ขอบเขตที่ดินของโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง และหากพบว่ามีการบุกรุกที่ดินของโรงเรียนควรเร่งดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการยกเลิกเอกสารสิทธิที่ดินที่ทับที่ดินของโรงเรียน
- ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา เร่งกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการเยียวยาหรือปลอบขวัญเด็กนักเรียนและบุคลากรครูในสังกัด เพื่อให้กลับมามีขวัญและกำลังใจที่ดีเหมือนเดิม
กระทรวงมหาดไทย เร่งแก้ปัญหากรณีที่ดินหลีเป๊ะให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
ในวันเดียวกันทางเครือข่ายชาวเลได้ยื่นหนังสือ เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ปัญหากรณีที่ดินหลีเป๊ะ เกิดจากการทับซ้อนกันของเอกสารสิทธิที่ดิน การแจ้งความครอบครองที่ดินที่ไม่ตรงกับเอกสารสิทธิที่ดินดั้งเดิมคือ สค.1 การออกเอกสารสิทธิที่ดินทับพื้นที่สาธารณะ และบางรายก็มีการรุกที่ดินของโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องคดีอาญาต่อกลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ยมากกว่า 30 คดี ในปัจจุบัน
ทางเครือข่ายชาวเลอันดามันและภาคีเครือข่ายมีข้อเรียกร้องต่อ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยในทุกระดับดังนี้
- ขอให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่สาธารณะประโยชน์ บนเกาะหลีเป๊ะตามผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดต่างๆ และรายงานขององค์กรอิสระ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
- ขอให้กระทรวงมหาดไทยได้มีการติดตามผลจากการตรวจสอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อ 19 มิถุนายน 2533 ว่ามีความคืบหน้าและมีการดำเนินการต่อเนื่องอย่างไร
- ขอให้กระทรวงมหาดไทยได้เร่งดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกทับพื้นที่สาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ภายในเวลา 6 เดือน
สำหรับเกาะหลีเป๊ะถือเป็นดินแดนสวรรค์ของคนที่รักและชื่นชอบการเที่ยวทะเล อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 70 กม. มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 1,800 คน ในจำนวนนี้กว่า 1,200 คน คือชาวเลอุรักลาโว้ย ปัจจุบันพวกเขาไม่ได้มีบ้านบนหาดติดทะเลตามวิถีชีวิตเดิม เพราะส่วนใหญ่ถูกย้ายเข้าไปกลางเกาะห่างจากหาด200-500 เมตร โดยหมู่บ้านถูกห้อมล้อมไปด้วยโรงแรม ที่พัก รีสอร์ทการเดินทางขอ ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ
ก่อนหน้านี้ตัวแทนประชาชนได้ร่วมระดมทุนคนละ 30 บาท เพื่อเป็นกองทุนให้ชาวเลไปพบนายกรัฐมนตรี ผ่านเพจ “เครือข่ายชาวเลอันดามัน” เพื่อให้ชาวเลเกาะหลีเปะ ได้เดินทางไป“ทวงคืนแผ่นดินชาวเล” ตามเป้าหมายที่วางไว้เพื่อรักษาแผ่นดินของบรรพบุรุษของชาวเลอูรักลาโว้ย เเละให้เกาะหลีเป๊ะยังเป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่าสรรค์บนดินสำหรับนักท่องเที่ยว
จุฑามาส เรืองนุ่น เยาวชนชาวเลมอแกลนบ้านทุ่งหว้า อวยพรพี่ป้าน้าอาขอให้พี่น้องหลีเปะสู้ต่อไปเเละเยาวชนที่เป็นลูกหลานในพื้นที่จะสู้ไปด้วยกัน รวมถึงเราจะสู้เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวเกาะหลีเปะได้มีพื้นที่สาธารณะ
พร้อมกันนี้ในบางพื้นที่ก็มีการจัดกิจกรรม วงเสวนา เเละคอยให้กำลังใจอย่างที่บ้านทับตะวัน จ.พังงา ชาญวิทย์ สายวัน ปักหมุดผ่านเเอพพิเคชั่นcsite เล่าวว่า คืนนี้นอกจากจะมีวงเสวนาแล้วยังมีการฉายหนังสั้นอันดามัน”ชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวเลในหลากหลายพื้นที่ ซึ่งการสื่อสารของชาวเลนั้นจำเป็นต้องมีความหลากหลาย และนี่คงเป็นอีกช่องทางการสื่อสารหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงความอ่อนไหวและเปราะบางของชาวเลอีกช่องทางหนึ่ง
บรรยากาศชาวบ้านบ้านทับตะวัน จ.พังงา ดูหนังสั้นอันดามัน”ชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง”
ไมตรี จงไกรจักร มูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ปัญหาชาวเลในอันดามันไม่ได้สื่อสารให้สาธารณะรับรู้รับทราบมาก่อน ช่วงเหตุการณ์สินามิที่ผ่านมาชาวเลในพื้นที่อันดามันถูกเบียดขับจากการพัฒนา ก่อนหน้านี้เราได้สื่อสารให้สังคมรับรู้มาโดยตลอด เราใช้การชุมนุมหน้าศาลากลางบ้าง การชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลบ้างเเละใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมในการสื่อสารผ่านผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้สังคมเองยังไม่เข้าใจ วิถีชีวิตชาติพันธ์ุ
เราค้นพบว่าการที่เราจะสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ต้องสื่อสารในรูปแบบที่เรียบง่ายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ โดยใช้สารคดี ภาพยนต์มาเป็นเครื่องมือหนึงในการสื่อสารกับสาธารณะ เพื่อให้เห็นวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธ์ชาวเลเเต่ละกลุ่ม มีศักยภาพ มีความเป็นอยู่อย่างไร เเละหนังก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างพลัง ทำให้เห็นความเป็นมนุษย์อย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่มีอคติ ทำให้คนอยากเรียนรู้เเละเข้าใจชาติพันธ์มากขึ้น
เตือนใจ ดีเทศน์ หรือ“ครูแดง” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จุดเด่นจของของหนังสั้น อันดามัน”ชาติพันธุ์มิใช่ความต่าง” เรื่องนี้ ที่มีชาวมอแกนเป็นคนเดินเรื่อง มีฉากที่เป็นธรรมชาติ ที่เป็นวิถีชีวิต ทำให้คนที่ไม่รู้จักชาวเล มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย ได้เข้าใจว่าพี่น้องชาวเลเหล่านี้อยู่กับธรรมชาติ รวมถึงหลักคิดของชาวเล
ธรรมมะอันสูงสุด ไม่เป็นเจ้าของ ไม่ครอบครองแต่ใช้ประโยชน์อย่างเคารพอ่อนน้อม