สิทธิชุมชน VS การอนุรักษ์ป่า เส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ?

สิทธิชุมชน VS การอนุรักษ์ป่า เส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ?

สิทธิชุมชน VS การอนุรักษ์ป่า เส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ?

การเรียกร้องสิทธิชุมชนของผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่ามาก่อน และต้นแบบ “ป่าชุมชน”  ที่ใช้ภูมิปัญญาร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ดำเนินมาคู่กับนโยบายของภาครัฐ ที่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย จับกุมผู้บุกรุกป่า เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ 

ชุมชนดูแลป่าได้จริงไหม ?

เจ้าหน้าที่รัฐมีประสิทธิภาพหรือไม่ ?

การจัดการพื้นที่ป่าจะไปต่ออย่างไร ?

หลากคำถามอาจเกิดขึ้น เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า บทบาทของชุมชน และการจัดการของภาครัฐมีโอกาสที่จะบรรจบกันได้หรือไม่ ?
 

20160209094913.jpg

เพื่อหาคำตอบให้กับโจทย์นี้ สำนักงานศาลยุติธรรมในบทบาทของผู้ใช้ และตีความกฎหมาย จึงได้จัดโครงการสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 เรื่อง “สิทธิชุมชนกับการอนุรักษ์ป่าไม้ : เส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ ?” ในวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพมหานคร 

 

เรื่องที่เถียงกันไม่เคยจบ…ป่าชุมชน หรือ พื้นที่อนุรักษ์

หมู่บ้านยูไนท์ อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยกขึ้นมาอธิบายถึง “หลักการจัดการพื้นที่ป่าอย่างมีส่วนร่วม” ภายใต้โครงการจอมป่า (Joint management of Protected Areas-JoMPA) เพื่อจัดการความขัดแย้งเรื่องป่าไม้  และที่ดิน โดยผลักดันให้เกิดการยอมรับในแนวเขตสำรวจร่วมกัน ระหว่างคนในชุมชนกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้

ตลอดระยะเวลา 10 ปีของการเป็นตัวกลาง ได้พยายามสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนชาวปกาเกอะญอกับเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่าการจัดการอย่างมีส่วนร่วมทำให้ไม่มีคดีความ หรือการรุกล้ำพื้นที่ป่าเกิดขึ้นแม้แต่คดีเดียว โดยเจ้าหน้าที่รักษาป่าได้ร่วมประชุม และเดินลาดตระเวนตามแนวเขตป่ากับคนในชุมชน

ต่างกับผลการทำงานในหมู่บ้านปางสังกะสี และหมู่บ้านผาผึ้ง อ.วังเจ้า จ.ตาก ที่ไม่สามารถจัดการปัญหารุกล้ำพื้นที่ป่าได้เลย เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ จากการเปลี่ยนหัวหน้าพื้นที่อุทยานที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง 

ศศิน ได้สะท้อนว่า “จอมป่าคือตัวอย่างของกระบวนการหนึ่งที่อาจทำให้ชุมชน และภาครัฐมีวันบรรจบกันอย่างสันติสุขได้ แต่ถามว่าถูกกฎหมายไหมถ้าขึ้นศาลกัน? พื้นที่ทุกแปลงสามารถโดนจับได้หมด แต่ด้วยเป็นแค่ข้อตกลงและเป็นแค่โครงการ ซึ่งวันนี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรหมดระยะโครงการกับกรมอุทยานไปเมื่อปี 2557 จึงไม่รู้ว่ากระบวนการนี้กรมอุทยานจะนำไปใช้หรือเปล่า ถามว่าใช้ได้ไหม กรมอุทยานอาจบอกว่าใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีข้อกฎหมายให้ทำแบบนี้” 

20160209095123.jpg

อนุรักษ์ป่าเพื่อใคร ? คำถามจากชุมชน

“กฎหมายมาทีหลัง แล้วมาทับพวกผม และพวกผมกลายเป็นคนบุกรุกป่า เดินลงมาจากบันไดก็ผิดแล้ว” พฤ โอโดเชา ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ กล่าว

ในขณะที่กระบวนการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นจากองค์กร NGO ไม่สามารถทดแทนข้อบังคับตามกฎหมายได้ เป็นเสียงสะท้อนหนึ่งจาก  พฤ เล่าสถานการณ์จริงในพื้นที่ชุมชนปกาเกอญอว่า เมื่อหัวหน้าอุทยาน หรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาหลังโครงการการจัดการพื้นที่ป่าอย่างมีส่วนร่วมจบลง คำสั่ง หรือแนวทางการทำงานบนฐานกฎหมายก็กลับมาอีกครั้ง 

การตีความกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการจัดการพื้นที่ป่าอย่างมีส่วนร่วม ได้กลายเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้คนในชุมชนถูกดำเนินคดีอาญา และคดีแพ่ง พร้อมเรียกร้องให้ชุมชนซึ่งไม่มีโฉนดที่ดิน จะต้องพิสูจน์สิทธิในที่ดินนั้น ๆ จึงไม่มีทางที่ชุมชนจะอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะไม่ได้รับสิทธิในที่อยู่อาศัย หรือที่ทำกิน

“ชุมชนอย่างผมก็ยืนหยัดที่จะดีต่อไป แต่มันจะดีได้นานขนาดไหน เพราะผิดกฎหมาย คนในห้องนี้มีอาชีพไหนที่ผิดกฎหมายเนี่ย จะใช้ชีวิตอย่างไร? ตอนนี้ผมกลายเป็นคนผิดกฎหมายและออกมาเรียกร้องสิทธิ ก็คือกลายเป็นคนผิดอยู่ ทั้ง ๆ ที่กฎนั้นมาละเมิดสิทธิผม”  พฤกล่าว  

20160209095209.jpg

“การตั้งโจทย์ว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ พฤ มองว่าเป็นการหาทางให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่า ด้วยความเชื่อที่ว่า “การอนุรักษ์ป่าเกิดขึ้นเพื่อคน” แต่ในปัจจุบันคนในชุมชนยังไม่ถูกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนออกแบบการดูแลป่าไม้ ความหวังของชุมชนจึงฝากไว้กับมาตรฐานใหม่ในการตัดสินคดี ที่สามารถรวมมิติด้านวิถีชีวิต และประเพณีวัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้หยิบยกส่วนหนึ่งของบทความวิจัย “คนรุกป่าหรือป่ารุกคน : การตีความกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมกรณีชนเผ่าพื้นเมืองในผืนป่า” โดย ธัญญานุช ตันติกุล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ที่มองถึงการตีความกฎหมายให้ครอบคลุมประเด็นสิทธิชุมชนมาอธิบายเสริมว่า

“การตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชน เมื่อตีความพระราชบัญญัติป่าไม้ พระราชบัญญัติป่าสงวน พระราชบัญญัติอุทยาน ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งสิ้น ดังนั้นการใช้กฎหมายต้องใช้ในขอบเขตที่เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ 

ในเมื่อสิทธิชุมชนให้สิทธิภายในขอบเขตความสมดุล และยั่งยืนตามธรรมชาติย่อมไม่ขัดกัน จึงต้องตีความกฎหมายให้สอดคล้องกัน จะตีความตามตัวอักษรเป็นหลัก โดยหลับตาไม่เห็นความมุ่งหมายของกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังไม่ได้”  ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว

เพิ่มกรอบใหม่ รองรับคนอยู่ร่วมป่า

นอกจากนี้ ความเป็นไปได้ที่ชุมชนจะอยู่ร่วมกับป่าถูกนำเสนอผ่าน “หลักการอนุรักษ์สากล” ว่าด้วยการสงวน คุ้มครอง ป้องกัน ใช้ประโยชน์ และฟื้นฟูเมื่อเสื่อมสภาพ โดยเป็นการอนุรักษ์เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน หนึ่งในประเด็นที่ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล หยิบยกขึ้นมานำเสนอ

20160209095319.jpg

กรอบพื้นที่คุ้มครอง (World Commission on Protect Area) ได้มีการกำหนดพื้นที่คุ้มครอง 6 ประเภท ซึ่งรวม “เขตการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Protected Area of Sustainable use of natural source)” โดยมองการใช้พื้นที่จากสถานการณ์จริง ที่ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตสงวนธรรมชาติ ทำให้มีการกำหนดพื้นที่คุ้มครองในลักษณะนี้ขึ้นเพื่อเอื้อต่อคนที่อยู่ร่วมกับป่า

“ถ้าไม่กำหนดประเภทนี้ขึ้นมา สงครามระหว่างรัฐกับประชาชนจะเกิดขึ้นทั่วโลก และป่าที่เหลือจะรักษาไว้ไม่ได้ เพราะจะเอาคนไปไว้ที่ไหน นี่จึงเป็นการชี้ทางออกโดยวงวิชาการที่เป็นสากล” 

ดร.เพิ่มศักดิ์ มีข้อเสนอในการกำหนดให้พื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่ที่ไม่เข้าเงื่อนไขคุณสมบัติการเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ นำมาจัดการในรูปแบบเขตการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการส่งเสริมพันธุ์ไม้ในที่อยู่อาศัยในลักษณะของป่าล้อมบ้าน ป่าล้อมเมือง โดยอาจไม่ได้มีลักษณะเป็นป่าผืนใหญ่ แต่สามารถมีบทบาทในการอนุรักษ์ระบบนิเวศได้เช่นกัน 

ความท้าทายของชุมชนกับคนรุ่นใหม่

ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 143 ล้านไร่ อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ 61 ล้านไร่ โดยมีชุมชนอาศัยอยู่ 6 ล้านไร่ (เท่ากับ 6 เท่าของกรุงเทพมหานคร) ที่รอเป็นคดีอยู่ ส่วนที่อยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ กรมชายฝั่ง และที่ลาดพัสดุทั้งสิ้น 41 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าที่มีชุมชนอาศัยอยู่ 33 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีชุมชนเกิน 40% ของพื้นที่มีอยู่มากกว่า 40 แห่ง  

ศศิน ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายใหม่ ๆ ในวันที่วัฒนธรรมเปลี่ยน และไร่หมุนเวียนไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้อีกต่อไป โดยยอมรับว่า วันนี้พี่น้องในผืนป่าตะวันตกที่เคยเข้าไปร่วมสู้เรื่องป่าหมุนเวียนไม่เหลืออีกแล้ว พื้นที่ป่าหมุนเวียนถูกแทนที่ด้วยการปลูกข้าวโพด เนื่องจากมีการส่งเสริมพันธุ์ข้าวโพด ประกอบกับสถานการณ์ที่ของป่าขายไม่ได้ 

มาวันนี้หลักปรัชญาของชุมชนชาติพันธุ์ชาวโพล่ว ที่กล่าวถึง ต้นไม้ ดิน น้ำ ลม ไฟ สัตว์ป่า และคน 7 สิ่งอยู่ร่วมกันได้จะสมดุล และความคิดเรื่องสัตว์ป่า 7 ชนิดที่ห้ามล่า โดยเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ และความสมดุลของธรรมชาติ จึงได้กลายเป็นเรื่องของคนรุ่นเก่า

“ความรู้นี้อยู่เฉพาะเจเนอเรชันคุณลุง อายุ 60 เจเนอเรชันใหม่ ๆ วันนี้ก็อยากปลูกข้าวโพดกันหมดทุกคนแล้ว หมู่บ้านที่ลึกที่สุดก็ออกรถปิ๊คอัพกันลึ่มเลย เป็นเรื่องใช้สารเคมี เป็นหนี้ มีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่ จึงเป็นปัญหาว่าแล้วจะทำอย่างไร ถ้ากรมอุทยานจัดการอย่างมีส่วนร่วมให้อยู่อย่างพอดีได้ ก็จะพอไปได้ ” ศศิน กล่าว

ทั้งนี้ พฤ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เองได้มองถึงการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มคนที่มีองค์ความรู้ เท่าทันต่อกระแสการพัฒนา เพื่อช่วยสนับสนุนพลังของกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในป่า ที่จะเป็นกำลังหลักในการดูแลทรัพยากรให้ยั่งยืนต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ