BCG โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

BCG โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

เงื่อนไข โอกาส และการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ชุมชน

หลายคนคงได้ยินคำว่า “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” หลังคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยประเทศไทยต้องนำโมเดลนี้มาใช้เพื่อให้ไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป้าหมายการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้และยั่งยืน ซึ่งเราจะพาไปทำความเข้าใจว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่กล่าวถึงนี้คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และสามารถลดความเหลื่อมล้ำ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนได้อย่างไรบ้าง

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในการประกอบกิจการต่าง ๆ ซึ่ง BCG นั้นย่อมากจาก Bioeconomy, Circular Economy และ Green Economy ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นไปที่ 

1.การสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) 

2.การใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและยาวนานที่สุด (Circular Economy) 

3.การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Green Economy) 

BCG เป็นการสร้างคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้สามารถสร้างรายได้และสื่อถึงอัตลักษณ์ความเป็นชุมชนนั้น ๆ ซึ่งแต่ละชุมชนมีความหลากหลายของทรัพยากรเป็นอย่างมาก รวมถึงให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากร เพื่อคงความหลากหลายและยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในชุมชน

นอกจาก BCG จะมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังคำนึงถึงการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย มีการกระจายรายได้ให้คนในชุมชน ทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากโมเดลนี้อย่างเท่าเทียม โดยเป้าหมายของ BCG คือ การสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองของชุมชน สร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชน และทำให้ทรัพยากรในชุมชนฟื้นตัวเร็วจากการดูแบเอาใจใส่จากคนในชุมชนที่ทีบทบาทในการจัดการ นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่ชุมชน ชุมชนเข้มแข็ง และสิ่งแวดล้อมก็จะมีความสมบูรณ์ยั่งยืนต่อไปได้แม้จะมีการนำมาใช้ในการส่งเสริมเศรษฐกิจ

ประเทศไทยกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด19 ผู้คนเริ่มกลับมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวและบุคคลที่ทำงานเป็น Digital Nomad เช่น โปรแกรมเมอร์ ยูทูปเบอร์ เมื่อผู้คนเริ่มได้เห็นว่าธรรมชาติเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหลังจากไม่มีการรบกวนของมนุษย์ เทรนด์การท่องเที่ยวในปี 2023 จึงเน้นไปที่การรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด ไม่เพียงแต่ลดการสร้างมลพิษ แต่ยังตระหนักถึงการสร้างประโยชน์ รายได้ ให้กับคนในท้องถิ่นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ด้วย 

ในงาน การพัฒนาองค์ความรู้และยกระดับการดำเนินงานจากการอนุรักษ์ฐานชีวภาพ ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันแบบยั่งยืน” ที่จัดขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2566 นั้นได้มีช่วงที่กล่าวถึงการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง เนื่องจากชุมชนต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดธุรกิจการท่องเที่ยว แต่แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมยังคงไม่ชัดเจน และในบางชุมชนพบว่า การท่องเที่ยวในชุมชนของตนเองยังไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนในชุมชนอย่างทั่วถึงอย่างที่ควรเป็น

เทรนด์ท่องเที่ยวกับโอกาสของชุมชนจัดการป่า 

ข้อกังวลของการท่องเที่ยวชุมชน : ผลประโยชน์ที่ไม่ทั่วถึง ขาดการบูรณาการร่วมกัน การตกเป็นจำเลยสังคม และข้อจำกัดทางกฎหมาย

เราต้องคิดว่าทำยังไงให้คนที่มาเที่ยวแบบเสพความสุขได้เรียนรู้อัตลักษณ์ของชุมชนไปด้วย และให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึง

ผศ.ดร. จิตศักดิ์ พุฒจร ภาควิชาการจัดการการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เสนอเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม ให้ชุมชนได้มีบทบาทในการจัดการและได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวนั้นอย่างทั่วถึง ซึ่ง คุณอิสรา พลศรีเมือง ก็ได้ให้ความเห็นว่า การท่องเที่ยวชุมชนแบบเดิมนั้น คนในชุมชนยังไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับที่ คุณนันทกานต์ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้เสนอว่า การท่องเที่ยวในชุมชนนั้นยังไม่มีการกระจายรายได้กันอย่างทั่วถึง ทำให้มีบางคนที่ยังไม่มีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวในชุมชน

ส่วนด้านการบูรณาการร่วมกันของแต่ละภาคส่วน คุณปรีชา ที่ปรึกษาสอ.ชต.เพชรบูรณ์ ได้พูดถึงกรณีที่น่าสนใจอย่าง “เขาค้อ” ที่โด่งดังและมีศักยภาพในการท่องเที่ยวมาก แต่ยังพัฒนาไปได้ไม่เต็มที่เพราะขาดการบูรณาการร่วมกันของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งต้องติดตามต่อว่าในอนาคตจะสามารถสร้างแผนบูรณาการด้านการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมร่วมกันได้หรือไม่และเป็นไปในทิศทางใด 

อำพร ไพรพนาสัมพันธ์ เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงความเจ็บปวดของคนปกาเกอะญอในอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ว่าในทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์หมอกควัน คนปกาเกอะญอจะตกเป็นจำเลยสังคมในการสร้างหมอกควันเหล่านั้นเสมอ จึงอยากให้คนภายนอกเข้ามาเรียนรู้ว่าคนปกาเกอะญอมีการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างดีเพียงใด แต่ตอนนี้ยังขาดความรู้ในการสื่อสารอยู่ ทำให้ภูมิปัญญาและวิถีที่ชีวิตที่คนในชุมชนต้องการเผยแพร่นั้นยังคงไปไม่ถึงสังคมภายนอกและยังไม่สามารถลบภาพการเป็น “ผู้ก่อมลพิษ” ได้

คุณดิเรก อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จังหวัดลำปาง ได้เสนออีกเรื่องที่น่ากังวลคือ การนำสมุนไพรไปใช้ในบางพื้นที่ยังเป็นการลักลอบขุดไปขาย ซึ่งหากสมุนไพรเหล่านั้นเป็นพืชเศรษฐกิจ ทางภาครัฐก็ควรสนับสนุนให้มีการเข้าไปเก็บอย่างถูกกฎหมาย เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและเพิ่มจุดขายของชุมชนนนั้น ๆ 

จากข้อกังวลทั้งหมดที่กล่าวมา คุณจิตศักดิ์จึงได้นำเสนอขั้นตอนการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม 10 ขั้นตอนที่จะทำให้เกิดผลดีและนำเสนออัตลักษณ์ของชุมชนออกมาได้อย่างชัดเจนและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคส่วนอื่น ๆ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนแบบมีส่วนร่วมดังนี้

การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม 10 ขั้นตอน

  1. สำรวจชุมชนร่วมกัน
  2. ศึกษาความเป็นไปได้
  3. กำหนดเป้าหมายร่วมกัน
  4. วางแผนการดำเนินงาน
  5. การบริหารจัดการองค์กร
  6. กำหนดโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสม
  7. การพัฒนาศักยภาพการสื่อความหมาย
  8. การตลาด ประชาสัมพันธ์ 
  9. การสร้างและพัฒนาเครือข่ายฯ
  10. การติดตาม ประเมินผล

ในขั้นตอนที่ 1 ถึงขั้นตอนที่ 7 นั้นต้องมีการคิดและทดลองจนกว่าจะเจอจุดขายของชุมชนนั้น ๆ แต่ในบางครั้งชุมชนมักจะข้ามไปทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ก่อนที่จะค้นพบว่าในชุมชนมีอัตลักษณ์ใดที่นำมาทำการตลาดได้ จึงอาจทำให้การตลาดนั้นไม่ได้ผล ประกอบกับการที่จะทำตามขั้นตอนอย่างมีประสิทธิผลต้องมี “พี่เลี้ยง” ในการให้คำปรึกษา รวมถึงดูแบบอย่างจากชุมชนที่ประสบความเร็จด้านพัฒนาการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม แต่อย่างไรก็ตาม บริบทของแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถทำเลียนแบบกันได้ทุกขั้นตอน แต่สามารถนำวิธีของชุมชนอื่นมาประยุกต์ใช้ในชุมชนตัวเองได้

ผลงานการจัดการการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมที่ได้ผล

คุณเดชา อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอพื้นที่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้แก่ บ้านไร่กองขิง ซึ่งเป็นสถานที่ที่นำของดีเชียงใหม่มาสร้างเป็นจุดขาย โดยนำสมุนไพรในชุมชน เช่น ไพล น้ำมันงา มาใช้ในการ “ย่ำขาง” ที่เป็นการบำบัดรักษาอาการปวดเมื่อยแบบล้านนา ซึ่งเป็นการนำพืชในชุมชนมายกระดับเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและอาชีพของคนในชุมชน

คุณลุงสาน จากจังหวัดชัยภูมิ ได้นำเสนอว่าชัยภูมิมีท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ “ฅนอินทรีย์วิถีไทคอนสาร” ที่ได้นำศาสตร์พระราชามาใช้ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนมีรายได้ที่ยั่งยืน และหวังว่าในอนาคต ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาท่องเที่ยว คุณภาพชีวิต ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้พัฒนาไปเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมได้ดียิ่งขึ้น

สมุนไพรกับป่าชุมชน : เครือข่ายการผลิต แปรรูป ตลาด

คุณนฤนาถ เครือชัยแก้ว ที่ปรึกษาวิสาหกิจสหกรณ์สมุนไพรแม่มอก จังหวัดลำปาง ได้ยกตัวอย่างการนำวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชนอย่าง ขมิ้นชัน ไพล มายกระดับให้เป็นสินค้าที่สามารถขายได้ในท้องตลาดอย่าง “ลูกประคบ” และยังได้รับการยอมรับทางการแพทย์จนสามารถส่งไปยังโรงพยาบาลลำปางได้ถึง 200-500 ลูก เป็นรายได้เสริมของคนในชุมชนหลังจากช่วงเก็บเกี่ยว โดยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรของวิสาหกิจสหกรณ์สมุนไพรแม่มอกจะทำตามออเดอร์ที่สั่งเท่านั้น ทำให้ควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากลูกประคบแล้วยังมี สมุนไพรพอกเข่า ที่สามารถขายให้กับผูู้งอายุที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันได้ และกำลังจะขยายองค์ความรู้นี้ไปยังต่างอำเภอและจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง 

ด้านการทำการตลาด วิสาหกิจสหกรณ์สมุนไพรแม่มอกได้มีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างต่อเนื่องในหลายช่องทาง เช่น เพจเฟซบุ๊ค แผ่นพับ วิทยุชุมชน และออกบูธจัดจำหน่ายในงานต่าง ๆ 

ด้านความยั่งยืน วิสาหกิจสหกรณ์สมุนไพรแม่มอกได้ให้ความสำคัญกับการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่

  1. เก็บสมุนไพรที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างอนุรักษ์ให้มีใช้อย่างต่อเนื่อง
  2. ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรตามระบบเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย

“จากสิ้นเนื้อประดาตัว สู่เศรษฐีต้นไม้”

ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ปราชญ์ชาวนาจังหวัดสระแก้ว ผู้ที่เคยล้มเหลวจากการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงได้หวนกลับมาตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองว่าจะต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ จึงได้เริ่มศึกษาเรื่อง “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จนได้นำแนวทางนี้มาปรับใช้ในที่ดินของตนเองจนประสบความสำเร็จในการพึ่งพาตนเอง และเป็นที่พึ่งของครอบครัวและชุมชนได้

ป่า 3 อย่าง

  1. ปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก 
  2. ปลูกไม้กินได้ เช่น ไม้ผล สมุนไพร ผักต่าง ๆ 
  3. ปลูกไม้ใช้สอย เช่น ไผ่ 

ประโยชน์ 4 อย่าง

  1. พออยู่ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้
  2. พอกิน มีพืชที่ปลูเองเพื่อกินและรักษาโรค
  3. พอใช้ เป็นเชื้อเพลิง จักสาน
  4. พอร่มเย็น จากความสมดุลของระบบนิเวศ

แนวทางการปลูกต้นไม้ 5 ไร่ 5 ปี พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง

“ตอนที่เริ่มศึกษา เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร เพราะไม่เห็นมีใครสนใจจะทำมาก่อน” 

คุณเกริกกล่าว หลังจากหาต้นแบบไม่เจอ จึงได้เริ่มทำทุกอย่างด้วยตนเองตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบันนี้ โดยในแต่ละปีก็ได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ

ปีที่ 1 ถึง ปีที่ 3 คุณเกริกได้ทำการปลูกต้นไม้โดยมีระยะปลูก 4*2 เมตร จะปลูกได้ทั้งหมด 1,000 ต้น โดยปลูกผสมผสานกัน และไม่ให้ต้นไม้ชนิดเดียวกันอยู่ติดกันเพื่อไม่ให้แย่งอาหารกัน โตเร็ว และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยพืชที่ปลูกคือพืชอายุสั้นอย่างข้าว ข้าวโพด ผักสวนครัส สมุนไพร มีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เพาะขยายพันธุ์พืช

ปีที่ 4 เริ่มปลูกพริกไท ดีปลี พลู พืชเหล่านี้ให้ผลผลิตเต็มที่เมื่อปลูกได้ 2 ปีขึ้นไป

ปีที่ 5 ถึงปัจจุบัน คุณเกริกมีรายได้จากการปลูกต้นไม้เดือนละ 100,000 ปีละ 1,200,000บาท 

โดยคุณเกริกเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางด้วยตัวเองทั้งหมดตั้งแต่ปลูกพืช นำมาแปรรูป บรรจุหีบห่อ และนำไปขาย ซึ่งคุณเกริกเรียกสิ่งนี้ว่า “การพึ่งพาตนเองที่แท้จริง” ที่ทั้งมีรายได้เลีั้ยงดูตนเองอย่างพอมีพอใช้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การนำโมเดล BCG มาใช้ในการท่องเที่ยวชุมชนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องการการบูรณาร่วมกันของหลายภาคส่วน ซึ่งข้อกังวลของประชาชนเรื่องความทั่วถึงในการได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนกับภาครัฐ การตกเป้นจำเลยสังคม และการกำหนดตัวกฎหมายที่เพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ของประชาชนยังคงต้องการการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้และสามารถนำองค์ความรู้ของชุมชนมาพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความ “ยูนีค” และ “ยั่งยืน” ได้ต่อไปในอนาคต

สามารถรับชม Live ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/Arsa4Thai/videos/1261001174448976

อ้างอิง

BCG เป็นมายังไง? https://www.bcg.in.th/background/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ