วงเสวนาจี้หยุดเขื่อนหลวงพระบาง ชี้ไฟสำรองไทยเกินพอ หวั่นทำลายมรดกโลก

วงเสวนาจี้หยุดเขื่อนหลวงพระบาง ชี้ไฟสำรองไทยเกินพอ หวั่นทำลายมรดกโลก

วงประชุมนานาชาติตั้งคำถามที่มาโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบางที่ไทยเล็งทำสัญญาซื้อไฟนาน 35 ปี ชี้กำลังไฟสำรองไทยล้นเกินแล้ว แจงผลกระทบอื้อ ทั้งมรดกโลก แผ่นดินไหว เรียกร้องธนาคารไทยพิจารณาความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ก่อนให้เงินกู้

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมเอเชีย (Fair Finance Asia) และ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ( Fair Finance Thailand ) จัดการสัมมนา หัวข้อ การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ กรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบางบนแม่น้ำโขงสายประธาน เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 ที่โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเทพฯ ลุมพินีพาร์ค เพื่อร่วมสำรวจและตรวจสอบความเสี่ยงของโครงการดังกล่าว รวมไปถึงกระบวนการ “การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ” ของสถาบันการเงินในประเทศไทยในโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

มาร์ทึน เวาสท์​ (Maarten d Vuyst)​ ตัวแทนจากคณะทำงาน Fair Finance Asia องค์กร Oxfam Novib กล่าวถึงแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมเอเชียหรือ Fair Finance Asia ว่าเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคเริ่มต้นเมื่อ 4 ปีก่อน มีเครือข่ายขององค์กรมากกว่า 50 องค์กรในเอเชียที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในเอเชีย เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้วจากการทำงานในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา วันนี้เป็นครั้งแรกที่มีการประชุมหลังจากวิกฤตโควิด ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทำให้คนมากกว่า 3 ใน 4 ของโลกต้องประสบความยากลำบาก และยังเป็นวิกฤตที่สร้างช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น เราต้องการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้น้อยลง

“ในการทำงานของพวกเรา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการทำให้ผู้ลงทุนมีการลงทุนอย่างเป็นธรรมและได้รับการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมอย่างยุติธรรม เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แต่ต้องใช้เวลา ผมหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคต”

ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล (Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถานำโดยชี้ว่า ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญขององค์กรภาคการเงินการธนาคารที่มีบทบาทต่อการตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการกดดันไปยังองค์กรเหล่านี้ให้ดำเนินการอย่างยั่งยืนและโปร่งใสมากขึ้นตามมา อย่างน้อยบางองค์กรเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่ออย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งที่องค์กรภาคการเงินการธนาคารจะดำเนินงานในแนวทางการส่งเสริมวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อแก้ปัญหาท้าทายต่าง ๆ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ สหภาพยุโรปได้รับร่างกฎหมายการสอบทานธุรกิจด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Corporate sustainability due diligence) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดองค์กรที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่คุณค่า สำหรับผู้บริโภคและผู้ลงทุน กฎเกณฑ์เหล่านี้จะช่วยให้มีความโปร่งใสมากขึ้น กฎนี้เรียกร้องให้ภาคธุรกิจในยุโรปต้องตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน ภาคการเงินในสหภาพยุโรปต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ให้ได้ ธนาคารต่าง ๆ เริ่มมีการใช้แนวคิดการลงทุนที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG เข้ามาใช้ในการลงทุนมากขึ้น”

เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวต่อว่า ในสวีเดน แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมดำเนินการมาหลายปีแล้ว ล่าสุดเมื่อมิถุนายนปีนี้ พบว่า ธนาคารต่าง ๆ สามารถปรับปรุงแนวปฏิบัติ มีการพิจารณาอย่างระมัดระวังมากขึ้นในการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ แม้จะยังมีบางธนาคารในนอร์เวย์ที่ยังไม่ได้นำเอากฎเกณฑ์เหล่านี้มาใช้พิจารณา ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการทำงานของธนาคารเหล่านี้ต้องมี 2 ด้านคือ การพัฒนาที่ยั่งยืนและการตรวจสอบที่ชัดเจน เราหวังจะเห็นความร่วมมือด้านนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ตั้งคำถามที่มาโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ชี้กำลังไฟสำรองไทยล้นเกินแล้ว

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อฉายให้เห็นภาพว่าไทยไม่มีความจำเป็นในการซื้อไฟฟ้าสำรองเพิ่มเติมจากเขื่อนหลวงพระบาง โดยปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ราว 50,000 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าของรัฐ 33% และอีกเกือบ 70% มาจากผู้ผลิตเอกชน แต่ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในไทย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาไม่นาน ในค่ำคืนหนึ่งของเดือนเมษายน 2565 เพียง 32,000 เมกะวัตต์ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเหลือกว่า 16,000 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 52%

“ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบค่อนข้างสูง แต่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 และในฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีการเปลี่ยนหลักคิดใหม่ด้วยการกระจายความต้องการใช้ไฟฟ้าออกเป็นรายภาค ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าบางภาคมีโรงไฟฟ้าไม่เพียงพอ และเขาก็ตัดระบบสายออกไปจากหลักการระบบการผลิตไฟฟ้าของเมืองไทย ที่เชื่อมโยงระบบการผลิตไฟฟ้าของทั้งประเทศ แล้วขีดเส้นพรมแดนของโรงไฟฟ้าแต่ละภาคแยกออกจากกัน ทำให้เกิดการเปิดช่องให้พื้นที่ที่จะให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวเข้ามาใส่ได้ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วไฟฟ้าล้นระบบอยู่ นี่คือการบิดเบือนข้อมูล และโกหกประชาชน”

แม้ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าสำรองล้นเกิน แต่ก็ปรากฏว่า กฟผ. ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าโครงการเขื่อนหลวงพระบางเพิ่มเติมอีก โดยบริษัท CK Power ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจการซื้อขายไฟฟ้าของโครงการเขื่อนหลวงพระบางกับ กฟผ. ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2573 โดยอ้างข้อมูลจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มีรายชื่อของเขื่อนทุกเขื่อนในลาวที่ไทยจะซื้อไฟฟ้า ทั้งเขื่อนเซเปียน เขื่อนน้ำเงี๊ยบ 1 และเขื่อนไซยะบุรี แต่ไม่มีรายชื่อของเขื่อนหลวงพระบางอยู่ในแผนฉบับนี้เลย

“นี่คือสิ่งที่เราตั้งข้อสงสัยว่า เขื่อนหลวงพระบางถูกอนุมัติเข้ามาสู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้อย่างไร”

อิฐบูรณ์ ระบุด้วยว่า คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 11 คน ประกอบไปด้วยคนของกระทรวงพลังงาน 7 คน และคนของหน่วยงานรัฐ เช่น สภาพัฒน์ฯ หรือพนักงานอัยการสูงสุด อีก 4 คน ไม่มีองค์ประกอบของภาคประชาชนและภาคเอกชนใด ๆ ทั้งสิ้น แต่อนุกรรมการชุดนี้สามารถจะพิจารณานำเอาโรงไฟฟ้าจากประเทศลาวเข้ามาสู่ระบบของการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยได้ ตั้งแต่โครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง

นอกจากประเด็นเรื่องที่มาของโครงการเขื่อนหลวงพระบางแล้ว ในประเด็นเรื่องการซื้อขายไฟฟ้ายังพบว่า เขื่อนหลวงพระบางซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,460 เมกะวัตต์ โดยจะขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. 1,400 เมกะวัตต์ในราคา 2.40 บาทต่อหน่วย ซึ่งก่อนหน้านี้ กฟผ. ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม จำนวน 1,285 เมกะวัตต์ ในราคาหน่วยละ 2 บาทเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่าการสร้างเขื่อนและทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง ยิ่งทำให้ภาระค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของไทยจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก และผู้ที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายนั้นก็คือประชาชนชาวไทย ในนามค่า FT

“ปี 2565 ค่า FT ของไทย อยู่ที่ 93 สตางค์หรือประมาณ 1 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อรวมกับค่าไฟฐานจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 บาทต่อหน่วย และภาระทั้งหมดตกอยู่กับผู้บริโภค ซึ่งก็คือประชาชนชาวไทยทุกคน กับประเทศที่มีค่าแรงอยู่ที่ 300 กว่าบาท ซึ่งถือว่าแพงมาก และนี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย หากมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบางและซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง” อิฐบูรณ์กล่าว

จี้ธนาคารไทยพิจารณาความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนให้สินเชื่อ

ไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานการรณรงค์องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญกับประชาชน 65 ล้านคนในจีน พม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา มีการจับปลามากที่สุดในโลก มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลา และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่หลากหลายทางระบบนิเวศ โดยตอนบนของแม่น้ำโขงมี 14 เขื่อนในจีน สร้างเสร็จแล้ว 13 แห่ง และตอนล่าง 11 แห่ง ที่กำลังดำเนินการ โดยมี 8 เขื่อนจาก 11 เขื่อน มีเป้าหมายเพื่อขายไฟฟ้าให้กับไทย หนึ่งในนั้นคือ โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ที่มีเป้าหมายขายไฟฟ้าให้ไทยนานถึง 35 ปี ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาที่นานที่สุดที่ไทยเคยมี

จากการทำงานของแนวร่วมฯ ประเทศไทย พบว่า โครงการดังกล่าวจมีความเสี่ยงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อาทิ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ซึ่งในรายงานทบทวนด้านเทคนิคของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC TRR) อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ระบุว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดจากการดักตะกอนและระบายน้ำของเขื่อนที่จะส่งผลกระทบต่อการพังของตลิ่งโดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงพระบาง ขณะที่ด้านการประมงและนิเวศวิทยาในน้ำ สังคมและเศรษฐกิจข้ามพรมแดนก็ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงไม่ได้ระบุมาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนที่ครอบคลุม

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า โครงการเขื่อนหลวงพระบางดำเนินการตามโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยไม่มีการทบทวนบทเรียนจากเขื่อนไซยะบุรีเลย โดยเฉพาะกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 6 ประเทศ และผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งที่กรณีเขื่อนไซยะบุรี หลังดำเนินการในปี 2562 สิ่งที่เกิดขึ้นคือระดับน้ำลดลงผิดปกติ น้ำโขงใสไร้ตะกอน สอดคล้องกับรายงานร่วมเพื่อติดตามข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของ MRC (Joint Environment Monitoring Report) ที่บอกว่า มีการลดลงอย่างมากของการสะสมของตะกอนบริเวณท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี และความหลากหลายทางชีวภาพด้านการประมงลดลงอย่างมากถึง 40-60%

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่างคือความปลอดภัยด้านแผ่นดินไหว เนื่องจากเขื่อนแห่งนี้จะตั้งอยู่ใกล้รอยเลื่อนเดียนเบียนฟู ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาขอให้มีการทบทวนด้านความปลอดภัย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยเรื่องความคืบหน้า ขณะที่คณะกรรมการมรดกโลกเสนอให้ผู้พัฒนาโครงการชะลอการก่อสร้าง หรือย้ายที่ตั้งเขื่อนจากจุดเดิม เนื่องจากความเสี่ยงต่อผลกระทบต่อเมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงพระบางไม่ได้เป็นเมืองมรดกโลกเพียงเพราะตัวเมืองเอง แต่เพราะเมืองหลวงพระบางตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง ซึ่งก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน

ส่วนความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน พบว่า แม้โครงการฯ จะยังไม่เซ็นสัญญาแต่พบการเตรียมการของผู้พัฒนาโครงการแล้ว เช่น การสร้างแคมป์คนงาน สะพานข้ามโขง และเคลื่อนย้ายประชาชนลาวแล้ว 1 หมู่บ้าน เป็นประชาชน 74 ครัวเรือน แต่ชาวบ้านบางส่วนแสดงความกังวลต่อชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคตเนื่องจากที่ดินใหม่ที่ได้รับการจัดสรรอยู่ห่างจากที่ทำกินถึง 10 กม. และยังไม่ได้รับที่ดินทำการเกษตรที่เพียงพอ

ไพรินทร์ กล่าวต่อถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อการให้สินเชื่อของธนาคารไทยว่า แนวร่วมฯ ในฐานะภาคประชาสังคมได้มีโอกาสพูดคุยเพื่อให้ข้อมูลกับธนาคารที่เกี่ยวข้องที่คาดว่าจะให้กู้กับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง เพื่อขอให้พิจารณาใช้กรอบด้านความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล เป็นหนึ่งในการตัดสินใจ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีธนาคารไทยใดที่มีท่าทีชัดเจน

“อยากให้ผู้ลงทุนหรือผู้ให้สินเชื่อได้นำหลักการสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเป็นกรอบการพิจารณาให้สินเชื่อ เพราะมีตัวอย่างจากเขื่อนไซยะบุรีที่มีผลกระทบไม่เฉพาะไทย แต่ยาวถึงเวียดนาม แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสำคัญของคน 65 ล้านคน ไม่ควรมีใครแสดงความเป็นเจ้าของ เอาทรัพยากรไปทำกำไร ขณะที่ประชาชนต้องแบกรับผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น ชาวบ้านในลาวต้องอพยพจากพื้นที่เดิมที่อยู่มาไม่รู้กี่ร้อยปี และประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำโขงก็ต้องใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อน และขอให้ธนาคารไทยประกาศรับหลักการ Equator Principle และประกาศนโยบายเพิ่มกรณีเขื่อนแม่น้ำโขงเป็นสินเชื่อต้องห้ามของธนาคาร (Exclusion list)”

หมายเหตุ:
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand: FFT หรือ “แนวร่วมฯ”) ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 โดยบริษัทวิจัย 1 แห่ง (บริษัท ป่าสาละ จำกัด) และองค์กรภาคประชาสังคม 4 แห่ง (International Rivers, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)) ที่มีความสนใจร่วมกันในการติดตามผลกระทบของภาคธนาคารไทย แนวร่วมฯ รณรงค์และผลักดันให้ภาคธนาคารปฏิบัติตามแนวคิด “การธนาคารที่ยั่งยืน” มากขึ้น ด้วยการนำเกณฑ์ Fair Finance Guide International (FFGI) มาประเมินนโยบายที่เปิดเผยต่อสาธารณะของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 11 แห่ง ทุกปี รวมถึงจัดทำและเผยแพร่กรณีศึกษาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความท้าทายของการปล่อยสินเชื่อแก่เขื่อนในแม่น้ำโขง และผลกระทบของโควิด-19 ต่อลูกหนี้รายย่อยในไทย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ