วิทยาลัยฯ ป๋วย อึ๊งภากรณ์-พอช. ลงนาม MoU. เดินหน้า ‘สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’

วิทยาลัยฯ ป๋วย อึ๊งภากรณ์-พอช. ลงนาม MoU. เดินหน้า ‘สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’

ผู้บริหาร-นักศึกษา  วิทยาลัยฯ ป๋วย  และผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่ พอช. หลังบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง

พอช. / วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ‘พอช.’ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU.) โดย พอช.จะสนับสนุนความรู้ด้านงานพัฒนาชุมชนทุกมิติ  ทุกประเด็นงาน  ส่วนวิทยาลัยฯ สนับสนุนงานด้านวิชาการ  งานวิจัย  ขณะที่ขบวนองค์กรชุมชนพร้อมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา  เป้าหมาย “สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี  พึ่งตนเองได้”  

วันนี้ (19 ตุลาคม) ระหว่างเวลา 9.00-15.00 น.  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการจัดงาน ‘โครงการสัมมนาความร่วมมือการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งสู่      การพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์  

โดยในช่วงเช้านักศึกษาจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ  จำนวน 70 คน  ได้ร่วมศึกษาเรียนรู้กระบวนการทำงานของ พอช. ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  โดยใช้แนวคิดองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก  พื้นที่เป็นตัวตั้ง, บทบาทของขบวนองค์กรชุมชนกับการขับเคลื่อนงานพัฒนาจากฐานราก, รูปธรรมการขับเคลื่อนงานพัฒนาโดยใช้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทเป็นเครื่องมือ  และพลังของคนรุ่นใหม่กับการทำงานพัฒนาในพื้นที่ ฯลฯ

นักศึกษาวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ  ร่วมเรียนรู้

ทั้งนี้วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เดิมชื่อ ‘สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร’  เป็นหน่วยงานในสังกัด ม.ธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2512  โดย ศ.ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  (เกิด 2459  เสียชีวิต 2542)        เพื่อให้บัณฑิตได้ไปเรียนรู้สภาพชีวิตความเป็นอยู่  ปัญหา  และความต้องการของชาวชนบท  และใช้ความรู้ไปทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนชนบท

ศ.ดร.ป๋วยเคยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  และอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์  ในปี 2559 UNESCO  ประกาศให้ ศ.ดร.ป๋วยเป็นบุคคลสำคัญของโลก  ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา  สังคมศาสตร์  และมนุษยศาสตร์

 ในปี 2558 สำนักบัณฑิตอาสาสมัครเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  มีภารกิจให้การศึกษา  อบรม  สร้างเสริมประสบการณ์เกี่ยวกับท้องถิ่นชนบทให้แก่บัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากทุกสาขาวิชา  และทุกสถาบัน  เพื่อให้มีความสนใจและเข้าใจปัญหาของชนบท  รวมถึงการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม

ศ.ดร.ป๋วยกับชาวบ้านในชนบท

MoU. ‘สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’

ส่วนช่วงบ่าย  มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum  of  Understanding) ‘การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์  ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มีเป้าหมายเพื่อ “พัฒนาชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี  พึ่งตนเองได้”

นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รองผู้อำนวยการสถาบันฯ  กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ว่า   ที่ผ่านมา พอช.กับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ มีการร่วมงานกัน  โดยจัดประกวดรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนมาหลายปี  ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ขับเคลื่อนทั่วประเทศได้รับการกระตุ้น  ส่งเสริม ทำให้เรื่องสวัสดิการชุมชนมีความเข้มแข็ง  เป็นที่ยอมรับของขบวนองค์กรชุมชนและหน่วยงานภายนอก

นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รอง ผอ.พอช.

ส่วนความร่วมมือในวันนี้จะยกระดับการทำงานร่วมกันมากกว่าเรื่องสวัสดิการชุมชน ทำงานพัฒนาชุมชนในทุกมิติ   นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน โดยการปรึกษา ออกแบบการทำงานร่วมกัน และสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดภายใต้โครงการพัฒนาต่าง ๆ  เช่น เรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย  สวัสดิการชุมชน สวัสดิการสังคม การประยุกต์ใช้ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง รวมทั้งงานด้านวิชาการ การจัดการความรู้ การเขียน การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม  เป็นต้น

นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ  กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการทำงานของ พอช. กับภาคีบนความร่วมมือในการหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนว่า  พอช. มีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน  เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ  การพัฒนาอาชีพ  การเพิ่มรายได้  การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท  โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม  หรือบูรณาการ  โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง  และหลักคิดการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญ  โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชน  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคมไปพร้อมกัน

นายกฤษดา สมประสงค์   ผอ.พอช.

นับตั้งแต่การจัดตั้ง พอช.ในปี 2543  จนถึงปัจจุบัน   พอช.ทำงานการด้วยการประสานงานและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ  ภาคธุรกิจเอกชน  วิชาการ  สถาบันการศึกษา  ทั้งในระดับท้องถิ่น  ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

ส่วนเป้าหมายความร่วมมือในการบันทึกความร่วมมือกับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ ในครั้งนี้คือ  การพัฒนาชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี  พึ่งพาตนเองได้  โดย พอช. จะสนับสนุนองค์ความรู้จากการทำงานพัฒนาชุมชน  ประสานการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย  ให้เกิดระบบการทำงานร่วมกันที่ดี     วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่  ให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ  รวมถึงเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชนเข้าร่วมขบวนการเรียนรู้และการพัฒนาต่างๆ  อย่างต่อเนื่อง  ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานของ พอช. ร่วมดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่

“ในนามของ พอช. ขอขอบคุณ  ผศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร  พร้อมด้วยคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ที่ให้เกียรติกับ พอช.ในการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน  หลังจากวันนี้  ทั้ง 2 หน่วยงาน  และขบวนองค์กรชุมชน  จะร่วมกันเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา  เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป”  ผอ.พอช. กล่าว

ผศ.ดร.นิธินันท์  วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร  คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ฯ  กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการทำงานของวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ กับภาคี  บนความร่วมมือในการหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนว่า  วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ฯ  มีความยินดีที่องค์กรทั้ง 2 จะร่วมกันพัฒนาชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี  พึ่งตนเองได้   โดยวิทยาลัยมีความพร้อมและจะสนับสนุนภารกิจของ พอช. ให้เกิดการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนได้   

ที่สำคัญประการแรก  คือ  การสนับสนุนบริการทางวิชาการ  เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรและบุคลากรของพอช.  ผ่านการวิจัยร่วมกัน  รวมถึงการพัฒนาชุมชนและสังคม ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการพัฒนาทางสังคม

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้กับบุคลากรของ พอช. เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากร  ส่วนวิทยาลัยเองก็เปิดโอกาสให้นักศึกษาลงไปศึกษาในชุมชน  นำความรู้มาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้ 

“ดังนั้นการทำงานร่วมกันของ 2 หน่วยงาน จะเป็นการร่วมกันพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับเยาวชน  จนถึงผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อจะนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน  นอกจากนี้ก็จะประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน และภาครัฐในการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการหนุนเสริมการทำงานขององค์กรชุมชนตามศักยภาพและความเชี่ยวชาญของทางวิทยาลัยฯ  รวมทั้งสนับสนุนบุคลากรเพื่อร่วมกันดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่  ถือเป็นก้าวสำคัญของ 2 หน่วยงานที่จะร่วมกันดำเนินงานด้านบริการวิชาการ  เพื่อเป็นเครื่องมือนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”  คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ กล่าว

 

นางสาวจรรยา  กลัดล้อม  ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน

นางสาวจรรยา  กลัดล้อม  ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของขบวนองค์กรชุมชนในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนว่า  ในนามขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่ได้รับเกียรติจากสถาบันการศึกษา  และ พอช.ที่มาร่วมมือเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา  ซึ่งจะมีงานวิชาการเข้ามาผลักดันการพัฒนาพื้นที่  ให้พื้นที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ   มีงานวิจัย  มีงานวิชาการเข้ามาเสริม  เพื่อให้พื้นที่และขบวนองค์กรชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

“ขบวนองค์กรชุมชนมีเจตนารมณ์หลัก  คือใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อนงานทุกประเด็นงาน  เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีความเข้มแข็งมากขึ้น  วันนี้เราได้ฝ่ายวิชาการ  และ พอช.มาเป็นพี่เลี้ยง  และเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาในพื้นที่  จะทำให้พื้นที่มีความเข้มแข็ง  และพวกเราจะเป็นหุ้นส่วนหลักในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  ต่อไปนี้ประชาชนในพื้นที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  และชุมชนจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น”  ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนกล่าว  

บทบาท พอช.– วิทยาลัยฯ ป๋วย

ส่วนบทบาทของ 2 หน่วยงานภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้   ซึ่งมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี  มีดังนี้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ 1.สนับสนุนองค์ความรู้จากการทำงานด้านงานพัฒนาชุมชน  ประสาน เอื้ออำนวยให้การทำงานของภาคีความร่วมมือ  เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบันทึกความร่วมมือ  2.วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เพื่อเสนอเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ  รวมถึงประสาน  เชื่อมโยง  ขบวนองค์กรชุมชนเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการพัฒนาต่าง ๆ   และ 3.สนับสนุนบุคลากรเพื่อร่วมดำเนินงาน  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่

วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ฯ  1.สนับสนุนการบริการทางวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรชุมชนและบุคลากรของสถาบันฯ ผ่านการดำเนินงานวิจัยร่วมกัน  รวมถึงงานพัฒนาชุมชนและสังคม อันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการพัฒนาทางสังคม  2.ประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน  ภาครัฐในการจัดทำหลักสูตรการพัฒนา  การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการหนุนเสริมการทำงานขององค์กรชุมชน  และ 3.สนับสนุนบุคลากรเพื่อร่วมดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่

(โลโก้ พอช.)
(โลโก้  วิทยาลัย ป๋วย)

เส้นทางสู่ชุมชนเข้มแข็ง

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และวิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ฯ จะร่วมกันดำเนินงานในประเด็นและเนื้อหาที่สำคัญ  เช่น 

1.หนุนเสริมการพัฒนาต่อยอดทุนเดิมในชุมชนและการปฏิบัติการในพื้นที่  ภายใต้งานประเด็นต่าง ๆ ได้แก่  งานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนเมืองและชนบท  งานเศรษฐกิจและทุนชุมชน งานสวัสดิการชุมชน งานตัวชี้วัดตำบลต้นแบบชุมชนเข้มแข็งในการจัดการตนเอง  และงานนวัตกรรมจัดการความรู้และสื่อสาร

2.สนับสนุนการจัดการความรู้พัฒนาองค์ความรู้  และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาชุมชนและสังคม  เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางสังคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก 

3.ออกแบบแนวทางและกระบวนการพัฒนาบุคลากร  รวมถึงผู้นำองค์กรชุมชนในด้านงานวิชาการ  การเขียน  และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนและสังคม 

4.ประสานงาน และสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR- Corporate   Social Responsibility) เพื่อหนุนเสริมการทำงานสนับสนุนองค์กรชุมชนในพื้นที่

นศ.วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ชนบทที่ จ.ลำพูนเรียนรู้ปัญหาที่ดิน (ภาพจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ)

                                           ***********

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ