น้ำท่วม VS ฝนแล้ง อาการผิดสำแดงของ “โลกรวน”

น้ำท่วม VS ฝนแล้ง อาการผิดสำแดงของ “โลกรวน”

ปี 2565 หลายสถานการณ์ผ่านมาแล้วเหมือนจะผ่านไปกับบรรยากาศส่งท้ายปลายปี แต่…อาจจะมีอีกประเด็นที่ผ่านเข้ามา แต่ทว่ายังไม่ผ่านไป เพราะอาจจะวนเวียนเปลี่ยนเวลาและอาจจะหมุนมาอีกครั้ง นั่นคือ น้ำท่วม VS ฝนแล้ง  

ผลกระทบจากสถานาการณ์น้ำท่วม ปี 2565 ท่วม กระจายไปอย่างน้อย 58 จังหวัดทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหายทางการเกษตรกว่า 5 ล้านไร่ ข้อมูลจากสภาหอการค้าเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ระบุว่ามีมูลค่าความเสียหายรวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 12,000-20,000 ล้านบาท โดยความเสียหายของภาคการเกษตรอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลางอย่าง มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, สุรินทร์, ศรีสะเกษและอุบลราชธานี

นี่เป็นประเด็นสำคัญในการแลกเปลี่ยนและพูดคุยเสวนา “ท่วมคักแหน่ ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือความผิดพลาด…” ในงานผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ฟื้นชีวิตคนลุ่มน้ำมูล เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนคนทาม ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นอกจากการแชร์ข้อมูลพื้นที่ความเสียหายแล้ว เรื่องของ “ภาวะโลกรวน” ก็เป็นอีกเรื่องที่ถูกหยิบเอามาพูดถึงในเวทีเสวนาวันนั้น ว่าน้ำท่วมในครั้งนี้เกิดจากสภาพอากาศหรือการจัดการน้ำของใครกันแน่

“ภาวะโลกร้อน” Global Warming คือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีค่าสูงขึ้น อันเนื่องมากจากที่ปกติแล้วโลกเรามีเกราะหุ้มทั่วโลกคือ Ozone ทำหน้าที่ในการป้องกันรังสี UV ไม่ให้ส่องมาถึงพื้นดินมากเกินไป แต่ให้ความร้อนบางส่วนส่องผ่านลงมา และทำหน้าที่ป้องกันการสูญเสียความร้อนของโลก นอกจากนี้ ยังมีก๊าซเรือนกระจก ที่ทำหน้าที่คล้ายกัน คือ ภาวะเรือนกระจก ในส่วนของการดูดซับความร้อนเอาไว้ในชั้นบรรยากาศ ให้อุณหภูมิไม่น้อยเกินไปจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่ได้

ในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม กิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนหลักที่ทำให้ ก๊าซเรือนกระจกเยอะขึ้นมาก ตัวเด่น ๆ คือ คาร์บอนไดออกไซด์ และ มีเทน ทำให้มีการสะสมความร้อนมากเกินไปและทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น เกิดเป็น “ภาวะโลกร้อน” หรือ Global Warming พอสูงขึ้นจนกระทบกับวิถีธรรมชาติและภูมิอากาศเดิม เลยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความแปรปรวนกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ บนโลก การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ Climate Change ซึ่ง ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรียกว่า “ภาวะโลกรวน”

“เรากำลังเผชิญกับความรวนอยู่แล้ว เราเห็นว่าตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ประเมินดูแล้วมีฝนตกค่าเฉลี่ยสูงกว่าปกติ และชอบมาระดมช่วงสิงหาคม-ตุลาคม ถ้าพื้นที่อีสาน 40 กว่าล้านไร่ เป็นพื้นที่นาข้าว ระยะเวลานั้นเป็นระยะเวลาที่ข้าวกำลังตั้งท้อง ไม่มีเกษตรกรคนไหนที่จะกักน้ำเอาไว้ในนาอยู่แล้ว เพราะจะทำให้ท่วมท้องข้าว ต้องระบายออก พอเร่งระบายออก มันก็จะทำให้น้ำท่วม แต่ในทางกลับกันปีหน้าพอมันน้ำหลากแบบนี้เราอาจจะเจอความแล้งเข้ามาแทนที่ได้”

ดร.จตุพร เทียรมา ที่ปัจจุบันผันตัวมาทำเกษตรชื่อว่าสวนลุงมะโหนกนานาพรรณ ได้อธิบายถึงสภาวะโลกรวนที่ตนเองได้เจอหลังจากการทำเกษตรและเก็บสถิติค่าเฉลี่ยฝนตกในสวนของตน ก่อนจะนำมาวิเคราะห์กับข้อมูลพื้นที่

รู้จัก ลานีญา ก่อนปีหน้าอาจจะเจอ เอลนีโญ

จากข้อมูลเก็บสถิติของ ดร.จตุพร เทียรมา สอดคล้องกับข้อมูลองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ประกาศว่าปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ซึ่งทำให้ฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบแปซิฟิก มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปอีกนานหลายเดือนในปีนี้และปีหน้า ทำให้นับเป็นปีที่สามแล้วที่สภาพภูมิอากาศแบบดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกัน

ทีมผู้วิจัยยังระบุในรายงานว่า ปรากฏการณ์ลานีญาแบบผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้น ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบในแบบจำลองภูมิอากาศโลก (climate model) ซึ่งใช้เป็นหลักในการทำนายความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศในปัจจุบัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ความผิดปกตินี้น่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มากกว่าจะเป็นวงจรความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และจะส่งผลเอื้อให้ปรากฎการณ์เอลนีโญซึ่งตรงข้ามกับลานีญาเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า โดยคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิก แทนที่ภาวะฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในขณะนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นเท่านั้น


ปรากฏการณ์ ลานีญา
เกิดจากกระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิม แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและฝนตกหนักมากกว่าปกติ ในทางตรงข้ามก็เกิดภาวะความแห้งแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้

ลานีญา

ปรากฏการณ์ เอลนีโญ

เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหล ไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

เอลนีโญ

“สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่คือลม ฟ้า อากาศที่หมายถึงฤดูกาล หมายถึงการระเหยของน้ำที่มากผิดปกติในฤดูร้อนอุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส ในวันที่อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ 1 องศาน้ำในอากาศจะเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 7-10% น้ำในอากาศที่มันเพิ่มขึ้นหมายถึงอะไร มันหมายถึงว่ามันจะมาตกใส่เราตอนฤดูฝนมากกว่าปกติก็เท่านั้นเอง เราจึงพบว่าระยะหลัง ๆ มันเกิดน้ำท่วมมากขึ้น ฝนไม่ตกกระจาย แต่ตกกระจุก เป็นอิทธิพลของการเคลื่อนตัวของร่องมรสุมและความกดอากาศ

เราจะเห็นว่าตอนขึ้น ขึ้นเร็ว ตอนต้นฤดูฝนเราเจอกับฝนทิ้งช่วงหรือฝนแล้ง แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีฝนนะครับ แต่มันตกและเว้นระยะเกิดกว่า 10 วัน จนพืชไม่สามารถทนรอฝนที่จะตกมาได้ แล้วพอฤดูฝนที่จะไหลมาจากเหนืออีสานไปกลางและไปใต้ที่เจอขณะนี้ มันไปเร็ว อย่างตอนที่พายุโนรูมา ก็กระหน่ำในอีสานตอนใต้หนักไหลลงไปเรื่อย ๆ ทางอ่าวไทย

ผมมองว่าเกษตรในอนาคตเราจะพึ่งพาระบบลมฟ้าอากาศไม่ได้แล้ว เราจะต้องทำเกษตรแบบใหม่ เป็นเกษตรเชิงนิเวศ ที่เข้าใจความสัมพันธ์ของลม ฟ้า อากาศมากขึ้น”

ดร.จตุพร เทียรมา กล่าวเสริมในวงเสวนาเพื่อยืนยันการเปลี่ยนแปลงของโลก ผลจากปรากฏการณ์นี้อาจทำให้เกิดการสูญเสียในด้านต่างๆตามมามากมาย ประชาชนจึงต้องมีการเตรียมแผนรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝน คอยติดตามสภาพอากาศ และประเมินแนวโน้ม สถานการณ์น้ำ ปริมาณฝน และพายุอย่างใกล้ชิด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ เตรียม มาตรการช่วยเหลือเยียวยา และแผนการฟื้นฟูเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้น ภัยพิบัติเกิดขึ้นได้เสมอการการวางแผนเตรียมการรับมือจึงมีความสำคัญมากที่สุดที่จะช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ขอบคุณภาพจากศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส

ถอดบทเรียนสู่การปรับตัวในอนาคต

ในวงเสวนา “ท่วมคักแหน่ ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือความผิดพลาด…” นอกจากจะแลกเปลี่ยนเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละพื้นที่และความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังพูดถึงการถอดบทเรียนน้ำท่วมครั้งนี้เพื่อนำไปสู่ทางออกที่อาจจะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวกับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น

“บทเรียนจากน้ำท่วมอุบลราชธานีที่เราถอดออกมาร่วมกัน เพราะเราเคยเผชิญน้ำท่วมใหญ่ในปี 2562 เรามีเครื่องมือ 1 ชิ้นจากการพัฒนาของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเรียกว่าเครื่องทำนายการไหลของน้ำ ว่ามันจะทำให้ท่วมหรือไม่ท่วม แล้งหรือไม่แล้ง ซึ่งคาดเดาได้ถึง 50% และอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 80% ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานที่มีทุนเข้ามาพัฒนาต่อ เพราะมันจำเป็นต้องใช้ทุนค่อนข้างสูงในการพัฒนาเครื่องมือตัวนี้

เรามีระบบสาธารณูปโภคเรื่องไฟฟ้า ประปา แต่สาธารณูปโภคการจัดการภัยพิบัติยังไม่มี ทำให้เราต้องคิดระบบนั้นขึ้นมาร่วมกับชาวบ้านในการออกแบบ ส่วนข้อเสนอที่น่าสนใจจากอุบลฯ คือ

  1. จัดทำแผนรับมือร่วมกับรัฐ ร่วมออกแบบผังเมืองและทิศทางไหลของน้ำ
  2. ให้จัดทำเรือแพ 5 ลำต่อชุมชนในการเก็บของขนของ
  3. ลดขั้นตอนในการจัดการภัยพิบัติ และ ทำให้เร็วขึ้น
  4. จัดสรรงบประมาณในการจัดการภัยพิบัติทุกปี โดยโอนอำนาจให้ท้องถิ่นในการจัดการ

นี่คือการถอดบทเรียนของคนอุบลฯ ที่จะนำเสนอต่อภาครัฐ เพื่อการจัดการที่ดีขึ้น แม้ปีหน้าอาจจะไม่เกิด แต่ปีต่อไปอาจจะเกิดขึ้นมาได้”

ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีถอดบทเรียนน้ำท่วมอุบลฯ หลังจังหวัดอุบลราชธานีเผชิญน้ำท่วมใหญ่อยู่บ่อยครั้งและเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่มีน้ำท่วมซ้ำซากหลายจุด โดยมองว่าการทำข้อเสนอแบบนี้และส่งต่อให้กับภาครัฐในการจัดการจะช่วยให้เกิดความร่วมมือของคนในพื้นที่และตอบสนองต่อความต้องการอย่างทั่วถึง

“ถ้าถามผมนะว่าน้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากอะไร ผมตอบถูกทุกข้อ เรื่องของสภาพอากาศทั้งโลกก็พูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตการปรับตัวของผู้คน แต่สิ่งสำคัญที่ผมว่าเรามองข้ามไปไม่ได้เลยคือความผิดพลาดของการบริหารจัดการน้ำ ตรงนี้เป็นสิ่งไม่ยุติธรรมถ้าเราจะไปปรับตัวให้กับความผิดพลาดนี้ มันกำลังสะท้อนบอกว่าความรู้และเทคโนโลยีจัดการน้ำเหล่านี้ มันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์สภาพภูมิอากาศหรือน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราตั้งสมมติฐานแบบนี้เราจะมองได้ว่าจริง ๆ แล้วหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำอาจจะต้องปรับตัว ปรับวิธีคิดและกระบวนทัศน์ในการมองปัญหาเรื่องน้ำใหม่ น้ำเกี่ยวข้องกับคน เกี่ยวข้องกับวิถีการเกษตร เกี่ยวข้องกับวิถีวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นการบริหารน้ำเพื่อชลประทานแบบเดิมอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์แล้ว

แล้วจะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ ชาวบ้านเองก็ต้องสะท้อนให้กับภาครัฐเห็นแล้วว่าการบริหารจัดการน้ำแบบนี้อาจจะไม่สอดคล้อง คุณจะคิดจากข้างบนลงล่างไม่ได้แล้ว ต้องฟังเสียงประชาชน สรุปบทเรียนให้ชัด และต้องคิดเป็นระบบ เพราะน้ำมันเชื่อมโยงกันทั้งอีสาน เวลาจะแก้ไขต้องมองเป็นระบบทั้งหมด”

อ.นิรันดร คำนุ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวเสริมเรื่องของการปรับตัวในสถานการณ์แบบนี้ว่าอาจจะไม่ใช่แค่ชาวบ้านหรือเกษตรกรปรับอยู่ฝ่ายเดียว หน่วยงานที่ดูแลเรื่องของการบริหารจัดการน้ำก็ต้องปรับตัวและฟังเสียงของชาวบ้านให้มากขึ้น ร่วมแก้ปัญหาด้วยกันอาจจะเป็นการตอบโจทย์การจัดการน้ำที่แท้จริง

การเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งต่อไป ถือว่าสำคัญโดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างละเอียดรอบคอบร่วมกันทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานที่ต้องจัดการน้ำต้นทุนและหน่วยงานที่ต้องจัดการเรื่องการใช้น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำเพื่อรับมือกับ “ลานีญา” และ “เอลนีโญ” ที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศก็ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก, BBC NEWS ไทย และ Little Big Green

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ