ถ้าโลกนี้ไม่มีการอุ้มหายจะเป็นอย่างไร? กลไกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธินั้นคุ้มครองเราได้มากแค่ไหน? การยกระดับสิทธิมนุษยชนของอาเซียนทำได้จริงไหม? เหล่านี้คือคำถามท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่การบังคับบุคคลให้สูญหายยังคงมีอยู่
กรณีการหายตัวไปกว่า 10 ปี ของ “สมบัด สมพอน” นักกิจกรรมชาวลาว จากท้องถนนในเมืองเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2555 ยังคงอยู่ในความสนใจขององค์กรสิทธิระหว่างประเทศ และเพื่อนนักกิจกรรมในอนุภูมิภาค
องค์กรภาคประชาสังคม 66 องค์กรร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลาวให้ความกระจ่างต่อชะตากรรมของผู้สูญหาย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลลาวเพิ่มความพยายามในการสอบสวน เพื่อนำผู้ตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งให้มีการชดเชยเยียวยาเหยื่อและครอบครัว โดยระบุว่า การบังคับให้สูญหายถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย มีตัวเลขผู้สูญหายที่ได้รับการบันทึกไว้โดย องค์กรภาคประชาสังคมและแอมเนสตี้ ข้อมูลนับตั้งแต่มิ.ย. 2534 ถึง เม.ย. 2557 คือ 74 กรณี รวมประมาณ 101 ราย ตัวเลขนี้ ไม่รวมผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยอย่างน้อย 9 ราย ที่สูญหายไปหลังการรัฐประหารเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2557 แต่นี่เป็นแค่ตัวเลขบนยอดภูเขาน้ำแข็งที่มองเห็นได้เท่านั้น แม้ล่าสุดแม้ไทยจะมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 25 ต.ค. 2565 แต่นั่นไม่ใช้บทสรุปจบของปัญหา
00000
รายการคุณเล่า เราขยาย ร่วมขยายประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยและอาเซียน กับสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย
Q: เหตุการณ์บังคับให้สูญหายสะท้อนความรุนแรงของปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับไหน อย่างไร
A: ปัญหาการบังคับให้สูญหายไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะร่วมคือเป็นอาชญากรรมปลายเปิดในลักษณะที่ไม่มีคำตอบ เป็นเรื่องที่ครอบครัวต้องทนทุกข์ทรมานทุกวัน เพราะไม่รู้ชะตากรรมว่าคนที่เขารักเป็นตายร้ายดีอย่างไรนับตั้งแต่วันที่หายไป แม้แต่เสียชีวิตหรือศพอยู่ที่ไหนก็ไม่มีคำตอบ ใครเอาตัวไป ไม่ต้องพูดไกลไปถึงกระบวนการยุติธรรมว่าเอาคนผิดมาลงโทษได้หรือเปล่า มันเป็นเรื่องที่ทำให้คนที่อยู่ข้างหลังต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
มันเป็นลักษณะปลายเปิด ไม่มีคำตอบ คนที่ทำผิดลอยนวล ไม่สามารถเอาตัวมาลงโทษได้ แล้วเมื่อไม่มีการนำตัวคนผิดมาลงโทษ มันจึงมีลักษณะของการย่ามใจ รายนี้ทำได้ รายอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตก็ทำได้ วัฒนธรรมการลอยนวลมันทำให้เกิดการทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่สิ้นสุด
ตัวเลขบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายในไทย Human Rights Watch นับอยู่ที่ 75 ถึง 80 กว่าราย ทุกกรณีไม่สามารถคลี่คลายได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา กรณีที่ตัวเลขอาจลดน้อยลง การร้องเรียนลดน้อยลง เป็นเพราะครอบครัวเขายอมแพ้ ยอมถอนการร้องเรียนไป แต่ไม่ใช่เพราะรัฐสามารถอำนวยความยุติธรรมหรือให้คำตอบได้
Q: การที่ไทยมีกฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับให้สูญหาย ช่วยอะไรได้บ้างไหม
A: การประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ลงในราชกิจจานุเบกษาถือเป็นก้าวที่สำคัญ แต่อย่างที่เราก็รู้กันดีว่ายังไม่มีการบังคับใช้จนกว่าจะครบ 120 วัน นับจากมีวันประกาศฯ ซึ่งก็คือต้นปีหน้า แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อครบกำหนด 120 วันแล้วจะมีการเลื่อนหรือเปล่า ตรงนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนจากรัฐบาล
แล้วหลังจากนั้นต่อให้มีการบังคับใช้จริง การปฏิบัติให้เกิดผลจริงจังจะเป็นไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือเปล่าก็ยังไม่มีคำตอบ เพราะมาตรการที่เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่นำไปสู่การบังคับสูญหายมันยังเกิดขึ้นได้ทั่วไป หลัก ๆ คือเรื่องการบังคับสูญหายเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะกระทำการโดยเจ้าหน้าที่เอง หรือคนที่เป็นเหมือนกับตัวแทนของเจ้าหน้าที่ เป็นมือเป็นไม้ให้เจ้าหน้าที่ที่ไปเอาคนมาคุมตัวโดยไม่ได้บอกว่าเอาตัวคนเหล่านั้นไปไว้ที่ไหน เอามาแล้วก็ไม่ยอมรับว่าเอาตัวเขามา แล้วหลังจากนั้นเกิดชะตากรรมเป็นตายร้ายดีก็ไม่ยอมรับ หลัก ๆ ก็เป็นแบบนี้
หากดูในข่าวประจำวัน เราเห็นข่าวแบบนี้อยู่ทุกวัน ว่าเอาตัวคนไปขังอยู่ในเซฟเฮาท์ แต่เซฟเฮาท์ไม่ใช่ที่คุมตัวอย่างเป็นทางการ บอกว่านี่ไม่ใช่การสอบสวน ไม่ใช่การเอาตัวมาภายใต้กฎหมายแต่เป็นการเชิญตัวมา หรือเขาสมัครใจมาเอง เหล่านี้มันเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดช่องว่างในการบังคับสูญหายได้
หรือการที่บอกว่ามีอำนาจในการที่จะเอาตัวคนมาโดยไม่บอกว่าอยู่ที่ไหนก็ยังมีการใช้วิธีการแบบนี้อยู่ โดยบอกว่าเป็นวิธีการพิเศษ ต้องการเห็นผลรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เหล่านี้ยังเป็นวิธีการที่เจ้าหน้าที่คิดว่ามันได้ผลไว แล้วพอกฎหมายบังคับจริงจะเลิกใช้วิธีการ พฤติกรรม ทัศนคติแบบนี้หรือเปล่า ยังไม่มีหลักประกันเลย
Q: การบังคับให้สูญหายในระดับอาเซียนสถานการณ์เป็นอย่างไร
A: ปัญหาในอาเซียนแย่ขนาดถึงที่ว่า Human Rights Watch เราเรียกว่าอาเซียนเป็นตลาดที่ทำให้คนเห็นต่างจากรัฐที่ต้องหลบลี้หนีภัยจากประเทศตัวเองไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านสูญหายไปได้โดยที่ไม่มีคำตอบ และประเทศที่เป็นจุดเกิดเหตุปฏิเสธความรับผิดชอบ
กรณีของ “สมบัด สมพอน” เป็นคนลาว แต่จากเทปกล้องวงจรปิดพบว่าโดนตำรวจจราจรควบคุมตัวบทท้องถนนกลางเวียงจันทน์ แม้จะมีหลักฐานนี้แต่รัฐบาลลาวปฏิเสธความรับผิดชอบ และล่าสุดมีการตั้งคำถามว่าคนที่อยู่ในคลิปเป็นสมบัดจริงหรือเปล่า ทั้งที่รถซึ่งอยู่ในคลิปเป็นรถของสมบัด
มีกรณีผู้ลี้ภัยไทยที่อยู่ในลาวหายไปอย่างน้อย 5 คน และ 2 ใน 5 พบว่าเป็นศพลอยอยู่ในแม่น้ำโขง ก็ไม่มีการสืบสวนดำเนินคดีว่าเกิดอะไรขึ้น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ทั้งเวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เหล่านี้มีปัญหาการบังคับสูญหายเกิดขึ้นทั้งสิ้นในภูมิภาคนี้
เพราะฉะนั้นการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีพัฒนาการกฎหมายภายในประเทศก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญ แต่จุดยืนร่วมของภูมิภาคที่จะประกาศว่าภูมิภาคอาเซียนซึ่งปัจจุบันมีกติกาเรื่องมนุษยชน
อาเซียนจะเอาการต่อต้านการบังคับสูญหายเป็นวาระหลักที่สมาชิกอาเซียนมีจุดยืนร่วมกันในการทำให้ปัญหานี้มันจบลง และกรณีที่ค้างคาอยู่จะอำนวยให้เกิดความยุติธรรม ยังไม่มีใครพูดเรื่องนี้ออกมาเลย
Q: อนุสัญญาที่เกี่ยวนื่องกับการบังคับให้สูญหายมีอยู่ แต่ยังมีหลายประเทศที่ไม่เข้าร่วม
A: มีแทกติกที่น่าสนใจของประเทศสมาชิกอาเซียนคือการลงนามแต่ไม่ยอมให้สัตยาบัน ไทยก็เช่นเดียวกัน ไทยอ้างว่ากฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ ลุล่วง สมบูรณ์ คือกฎหมายยังไม่บังคับใช้ เพราะฉะนั้นการที่จะยื่นเรื่องแจ้งให้ยูเอ็นรับทราบว่านับแต่นี้ต่อไป หลังจากที่ไทยลงนามมาแล้ว 10 ปี จากนี้จะให้สัตยาบัน ก็ยังรอก่อน ส่วนลาวลงนามแต่ยังไม่บอกว่าจะให้สัตยาบันหรือไม่ ประเทศอื่น ๆ ก็ใช้วิธีแบบนี้ เพราะฉะนั้นการผูกพันตามพันธะระหว่างประเทศเป็นไปเหมือนว่าถ้าอยากจะทำก็ทำ ไม่มีข้อบังคับผูกมัดใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นแทกติกเหมือนการเลี่ยงบาลี