สันติสนทนากับผู้นำศาสนา “อับดุลอาซิซ เจะมามะ” รอมฏอนกับการสร้างสันติภาพ (1)

สันติสนทนากับผู้นำศาสนา “อับดุลอาซิซ เจะมามะ” รอมฏอนกับการสร้างสันติภาพ (1)

สะรอนี ดือเระ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)

ในวาระแห่งเดือนอันประเสริฐ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้สัมภาษณ์พิเศษอุซตาซอับดุลอาซิซ เจะมามะ รองประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ในประเด็นกิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานกรรมการอิสลามในเดือนรอมฎอนพร้อมทั้งสะท้อนแง่มุมทางสังคมในฐานะผู้นำศาสนาในพื้นที่และมุมมองต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

20162706182835.jpg

กิจกรรมและบทบาทต่างๆ ในเดือนรอมฏอนของสำนักงานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสมีอะไรบ้าง

อับดุลอาซิซ เจะมามะ – ทางสำนักงานคระกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาสได้เป็นตัวเชื่อมประสานกับมูลนิธิเพื่อความดีแห่งประเทศไทยและมูลนิธิมัรฮามะห์ที่กรุงเทพมหานครได้จัดอาหารเพื่อละศีลอดในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส จำนวน 1,830 คน ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดในเรือนจำและไม่ใช่เฉพาะมุสลิม แต่จัดอาหารให้กับทุกคนทั้งไทยพุทธ ทั้งชายหญิงเพราะถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนแห่งการทำความดีจึงไม่แยกแยะว่าจะต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น เป็นการทำข้าวกล่องโดยจะแจกในวันนี้ (16 มิ.ย.) ช่วงบ่ายโมงครึ่ง ซึ่งงานอย่างนี้ได้ทำทุกปี

ผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นผู้ที่น่าสงสาร เขาได้รับโทษแล้วถ้าเราไม่ดูแลก็เหมือนกับเราไปซ้ำเติม ข้าวกล่องในวันนี้ที่แจกไปอย่างน้อยเขาก็ได้รับรสชาติใหม่ที่เปลี่ยนไปบ้าง อีกส่วนหนึ่งคือ ทางสำนักงานคณะกรรมการอิสลามนราธิวาสได้จัดมอบน้ำแข็งถึงจำนวนวันละ 30 ถุงให้ผู้ต้องขังในเรือนจำตลอดทั้งเดือนรอมฎอนและจนถึงปอซอ  6 ด้วย

นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจากครั้งนี้ได้มีกำลังพลของ ฉก.นย.นราธิวาสที่บางปอได้เป็นหน่วยที่จะช่วยขนข้าวกล่องไปยงเรือนจำ ในสัปดาห์หน้าจึงได้เตรียมจัดทำข้าวกล่องมอบให้กับกำลังพลในฉก.นย.นี้จำนวน 50 คน ซึ่งในหน่วยนี้มีกำลังพลที่เป็นมุสลิมประมาณ 15 คน โดยครั้งนี้เป็นการทำอาหารโดยงบส่วนตัวเพื่อเป็นความดีเดือนรอมฏอนด้วย

ในปีที่ผ่านมามีการรณรงค์เรื่องรอมฏอนสันติภาพ แต่ในปีนี้ไม่มีการรณรงค์อย่างปีที่ผ่านมา คิดว่าการสร้างรอมฏอนสันติภาพมีความสำคัญอย่างไร

อับดุลอาซิซ เจะมามะ – สำหรับความหมายของรอมฎอนสันติภาพนั้น จริงๆ แล้วในอิสลามไม่ได้กำชับในเรื่องการสร้าสันติภาพเพียงในเดือนรอมฏอนเท่านั้น เพราะอิสลามเวลาเจอกันก็ต้องให้สลามกัน เวลาละหมาดก็จบด้วยสลามหรือเวลาที่เราเจอกันแล้วยิ้มให้กันก็เป็นศอดาเกาะห์เป็นการบริจาคทานให้กัน ดังนั้นอิสลามจึงให้มีการสร้างสันติภาพทั้ง 12 เดือนไม่เฉพาะในเดือนรอมฎอน

แต่ว่าในเดือนรอมฏอนจะพิเศษเพราะจะเป็นการอบรมเข้มของมุสลิมในการปฏิบัติศาสนากิจ เริ่มจากสิ่งที่ฮาลาลที่อนุมัติเคยกินเคยดื่มแต่ต้องงดทั้งหมดต้องควบคุมอารมณ์ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นเดือนที่พระเจ้าอำนวยให้กับมุสลิมทั้งหมดเช่นกันคือ ประตูสวรรค์ได้เปิดประตูนรกถูกปิด มารร้ายชัยฎอนก็จะถูกล่ามโซ่ และท่านนบีบอกกับเราว่าในเดือนรอมฎอนขอให้เราฟุ่มเฟือยในการใช้จ่ายให้มากที่สุดโดยเฉพาะในการบริจาคทาน และที่สำคัญอย่างยิ่งของการสร้างสันติภาพในเดือนรอมฎอนคือท่านนบีบอกว่าเป็นเดือนที่มุสลิมจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องไร้สาระทั้งการเล่น การรื่นเริงต่างๆ

หากมุสลิมสามารถทำให้ 11 เดือนที่เหลือเหมือนกับเดือนรอมฎอน แน่นอนว่าเราจะมีสันติภาพอย่างแน่นอน เพราะเราจะไม่มองคนในแง่ไม่ดี ไม่อิจฉาริษยา ท่านนบีบอกว่าหากใครมาชวนทะเลาะก็ไห้บอกเขาไปว่าวันนี้ฉันถือศีลอด และในเดือนนี้จะมีเสียงเล็ดลอดมาจากฟากฟ้าว่าโอ้ผู้ที่จะทำความดีรีบทำเถอะ โอ้ผู้ที่จะทำความชั่วรีบหยุดเถอะ และทำสิ่งที่สุนัทในเดือนนี้จะได้รับผลบุญเหมือนสิ่งที่ฟัรฎูในเดือนอื่น และสิ่งที่ฟัรฏูในเดือนนี้จะเท่ากับ 70 ฟัรฏูในเดือนทั่วไป  หากมุสลิมเข้าใจและซึมซับคำสอนเหล่านี้อย่างแท้จริงเชื่อแน่นอนว่าจะเกิดสันติภาพขึ้น

ในเดือนนี้ศาสนาเรียกร้องให้กระทำความดีโดยเฉพาะการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คิดว่าความช่วยเหลือที่คนทั่วไปในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือกันและกันมีมากน้อยเพียงใดและเพียงพอกับความเป็นจริงอย่างไร

อับดุลอาซิซ เจะมามะ – ยังไม่เพียงพอและยังน้อยมากเพราะเรายังไม่สำนึกในเรื่องการช่วยเหลือกันในหมู่พวกเราเอง ท่านนบีย้ำเรื่องนี้มาก เช่นที่ท่านนบีบอกว่าจะไม่มีอีหม่านศรัทธาในตัวบุคคลใดที่เขาเข้านอนในสภาพที่ท้องอิ่มแต่เพื่อนบ้านของเขาท้องหิวโหย แต่บ้านเรายังมีน้อย แต่ก็ยังต้องมีคนจากที่อื่นมาช่วย เช่น มูลนิธิเพื่อความดีก็เป็นของประเทศซาอุดิอาระเบียที่เปิดสาขาประเทศไทย มูลนิธิมัรฮามะห์ก็เป็นของคนอาหรับที่มีสาขาที่กรุงเทพ ต้องให้พวกเขามาดูแลทั้งที่พวกเราก็สามารถดูแลได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะคนบ้านเรายังไม่ซึมซับจริงๆ เรื่องของหลักศาสนา ถ้าเรารู้จริงเรื่องความประเสริฐของเดือนรอมฎอมทั้งๆ ที่คนบ้านเราไม่ใช่คนจน พอมีพอกิน แต่ที่จะเป็นมือบนได้นั้นยังไม่ถึงขั้นนั้น มุสลิมบ้านเราในเรื่องการบริจาคจะเทียบกับคนกรุงเทพ เทียบคนเชียงใหม่ไม่ได้เลย ที่เชียงใหม่ตารางการบริจาคละศีลอดที่มัสยิดเต็มแล้วทั้งปี

ในฐานะที่เป็นผู้ศาสนาในพื้นที่ขัดแย้ง ได้ติดตามกระบวนการสันติภาพมากน้อยเพียงใด

อับดุลอาซิซ เจะมามะ – ได้ติดตามและมีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพ แต่เท่าที่เห็นกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมายังเหมือนเดิมเหมือนเมื่อสมัยก่อนๆ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนในกระบวนการสร้างสันติภาพในบ้านเราก็นำตัวแทนจากฝ่ายนี้และตัวแทนของฝ่ายโน้นมาพูดคุยกัน ครั้งใหม่นี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่ต่างกัน ผมมีข้อเสนอว่าถ้าจะให้เกิดสันติภาพในบ้านเราขึ้นได้เราต้องมีการศึกษา ต้องเรียนรู้ว่าความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับอาเจะห์เป็นอย่างไร ความสำเร็จของรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มต่อต้านโมโรในสมัยนั้นเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ ต้องศึกษา

ประการที่สอง จะเกิดสันติภาพได้นั้นคนที่ไปเจรจาสันติภาพต้องเป็นตัวจริงและเป็นคนที่สามารถตัดสินใจตรงนั้นได้ ไม่ใช่ไปรับข้อมูลมาแล้วต้องกลับมาถามอีกครั้ง อีกฝ่ายก็เช่นกันรับข้อมูลมาเพื่อต้องไปถามการตัดสินใจกับอีกคนซึ่งจะไม่เกิดผล และประการที่สามคือเรื่องความจริงใจ ความบริสุทธิ์ใจ สันติภาพจะเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจ ถ้าพูดคุยสันติภาพบนพื้นฐานของเรื่องอื่นสันติภาพจะไม่เกิด

โดยส่วนตัวเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะทุกคนเริ่มเห็นความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ความสูญเสียด้านโอกาส แต่เราก็ยังไม่บรรลุผลเพราะเรายังขาดปัจจัยทั้งหลายตามที่กล่าวมา

จะเรียนรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพได้อย่างไรเพื่อจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

อับดุลอาซิซ เจะมามะ – เรื่องการศึกษาและการเรียนรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพที่โมโร ที่อาเจะห์ มีข้อเสนอว่าจะต้องจัดคณะเพื่อไปเรียนรู้อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด อย่างน้อยผู้นำชุมชนผู้นำท้องที่และภาครัฐเพื่อไปดู ไปถามว่าสันติภาพที่เกิดขึ้นที่นั่นเป็นอย่างไรเพราะว่าที่โน่นไม่ใช่แค่นามธรรมแต่เป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งที่โน่นก็มีความรุนแรงเช่นเดียวกันกับที่นี่แล้วทำไมจึงประสบความสำเร็จได้ จึงต้องกำชับให้ผู้มีอำนาจว่าทำอย่างไรจึงจะมีคณะจากบ้านเราไปดูงานที่อาเจะห์หรือที่โมโรได้ สร้างกระบวนการเรียนรู้สันติภาพแทนคณะทัวร์เดิมๆ ที่จัดคณะทัวร์ไปเชียงใหม่ เชียงราย อย่างน้อยคณะทัวร์นี้ก็จะได้ไปเรียนรู้กระบวนการสันติภาพด้วย

ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจและติดตามกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้มากน้อยเพียงใด

อับดุลอาซิซ เจะมามะ – การรับรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพมีหลายระดับ ถ้าเป็นคนแก่ที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ คนเหล่านี้จะไม่รู้เรื่องเลย แต่มีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก แต่ถ้าเป็นคนที่อ่านออกเขียนได้ คนที่ไม่ได้อาวุโสมากนักทั้งหมดรู้เรื่องนี้กันทุกคน แต่ก็อย่างที่รู้ คนเหล่านี้คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งคือคิดว่าพูดไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ประการที่สามพวกเขารู้สึกว่าวิธีการที่เป็นอยู่ก็เหมือนเดิมๆ ไม่ได้มีวิธีการใหม่ๆ คนที่มาเจรจาก็ไม่ใช่ตัวจริง มาเพื่อถ่ายรูปกลับไป แต่ในความเป็นจริงคนที่รู้เรื่องนี้มีอยู่มาก

คณะทำงานในกระบวนการสันติภาพจะมีคณะทำงานระดับพื้นที่คือฝ่ายความมั่นคงและกองทัพภาคที่ 4 จะมีข้อเสนอต่อคณะทำงานนี้อย่างไร

อับดุลอาซิซ เจะมามะ – อยากเสนอให้คณะทำงานในพื้นที่ลงพื้นที่อย่างจริงจัง ต้องมาให้ความรู้กับประชาชนอย่างแท้จริงว่าประโยชน์ของการมีสันติภาพคืออะไร เพราะเมื่อประชาชนรู้แล้วประชาชนก็จะเป็นฝ่ายสนับสนุนด้วยที่จะให้สันติภาพเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น

แต่ในความเป็นจริงสิ่งนี้ยังไม่เกิดขึ้นเลย คนที่รู้เรื่องนี้ก็ได้จากการที่หาเรื่องมาเองอ่าน ในด้านชาวบ้านทั่วไปนั้นต้องการให้ฝ่ายรัฐนิยามสันติภาพให้ถูกต้องเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะยังมีความขัดแย้งในเรื่องนิยามสันติภาพระหว่างชาวบ้านกับฝ่ายรัฐอยู่ ในมุมชาวบ้านแล้วเขาต้องการสิทธิในการจัดการตนเอง สิทธิในการพัฒนาบ้านเกิดตนเอง เช่น ชาวบ้านคิดว่าเมื่อลูกเรียนจบก็สามารถทำงานพัฒนาพื้นที่ตนเองบ้านเกิดได้ จบเกษตรก็สามารถพัฒนาด้านการเกษตรได้ จบกฎหมายก็สามารถพัฒนากฎหมายได้ เขาต้องการให้พื้นที่เขาเป็นไปตามที่ศาสนาของเขาบัญญัติ ไม่มีคาราโอเกะ การพนัน หรือถ้ามีก็จัดทำเป็นโซน ไม่อยากให้มีสิ่งที่ขัดกับศาสนา เชิญดารามาให้ชาวบ้านดู เขาไม่เอาแบบนั้น ต้องการอยู่ในพื้นที่ที่สามารถปฏิบัติตามหลักศาสนาได้ แต่ฝ่ายรัฐบอกว่าไม่ได้เพราะจะมาปกครองตนเอง จึงจำเป็นที่จะต้องหาทางจูนสองอย่างนี้ให้ได้

ต้องทำความเข้าใจโดยเอาหลายฝ่ายมาคุยกัน เพราะวันนี้เรามีเครือข่ายมากมาย เครือข่ายโรงเรียนเอกชน เครือข่ายกำนันผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายอีหม่ามผู้นำศาสนา เครือข่ายผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องมาพูดคุยกันเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายเยาวชนที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นี่คือวิธการที่จะต้องทำเพื่อให้เกิดสันติภาพ

คาดหวังกับกระบวนการสันติภาพอย่างไร

อับดุลอาซิซ เจะมามะ – ผมยังคาดหวังและมองโลกในแง่ดีและมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าบ้านเราจะต้องเกิดสันติภาพอย่างแน่นอนสักวันหนึ่ง ขึ้นอยู่กับวิธีการและกระบวนการ ถ้ากระบวนการช้าก็ช้า ถ้ากระบวนการเร็วก็จะได้สันติภาพเร็ว ถ้าเราไม่มีความหวังเราก็ต้องอยู่ในสภาพนี้ คือ ขับรถไม่นานก็ต้องชะลอเพราะมีด่านตรวจ ริมถนนมีรั้วมีลวดหนาม ไม่มีความสวยงามของถนนเลย ความสูญเสียก็มากแล้วทั้งเด็กกำพร้า แม่หม้าย เราควรจะเริ่มต้นใหม่ได้แล้วบนพื้นที่ฐานของความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่บ้านเรา

เผยแพร่ครั้งแรก 
สัมภาษณ์ผู้นำศาสนา (1) “อับดุลอาซิซ เจะมามะ” รอมฏอนกับการสร้างสันติภาพ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สันติสนทนากับผู้นำศาสนา “แวดือราแม มะมิงจิ” รอมฏอนกับการสร้างสันติภาพ (2)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

May 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

28
29
30
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1

24 May 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ