สังคมไทยในปัจจุบันนี้ก็ไม่ต่างกับเผด็จการทหารสมัย 14 ตุลา

สังคมไทยในปัจจุบันนี้ก็ไม่ต่างกับเผด็จการทหารสมัย 14 ตุลา

ในอดีตถึงปัจจุบันประเทศไทย ได้มีพัฒนาการทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ในการพัฒนานั้นก็เป็นเพียงการพัฒนาเพื่อรับใช้บุคคลกลุ่มชนชั้นนำของประเทศซึ่งถือว่าเป็นบุคคลกลุ่มน้อย อีกทั้งกลุ่มชนชั้นนำก็ใช้อำนาจกดขี่ บุคคลกลุ่มใหญ่อันหมายถึงประชาชนด้วยการเอารัดเอาเปรียบเรื่อยมา เช่นการที่รัฐเขียนและประกาศใช้กฎหมายบนธงของตัวเอง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพวกพ้อง ทำให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือกลไกของรัฐ ซึ่งเครื่องมือนี้ใช้เพื่อควบคุมไม่ให้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคมเปลี่ยนมือ อีกทั้งใช้ควบคุมพลังในการต่อสู้ของประชาชน รวมถึงใช้ควบคุมความคิดของประชาชนด้วย จึงทำให้ประชาชนกลุ่มใหญ่นี้ยังเป็นทาสทางเศรษฐกิจสังคม ทาสทางความคิดมาโดยตลอด และด้วยสาเหตุเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของขบวนการนิสิตนักศึกษา ในสมัย 14 ตุลา ที่ออกมาเรียกร้องเพื่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ล้มล้างอำนาจเผด็จการ ซึ่งการเรียกร้องประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นี้ต้องการให้ความเป็นธรรมกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกกดขี่ และเอารัดเอาเปรียบจากคนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชนชั้นนำของประเทศ

สังคมไทยในปัจจุบันนี้ก็ไม่ต่างกับเผด็จการทหารสมัย 14 ตุลา ที่นักศึกษาได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย สถานการณ์ในตอนนี้ก็เป็นการปกครองแบบเผด็จการที่รัฐไม่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม อีกทั้งยังปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดและการแสดงความคิดเห็นในทุกรูปแบบ จึงทำให้เริ่มเกิดปัญหาและความขัดแย้งที่ค่อยๆชัดเจนขึ้นทุกๆระยะ ระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหาร (คสช.)ที่มาจากการล้มรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กับกลุ่มประชาชน นักศึกษาที่ไม่เห็นและไม่ยอมรับกับการยึดอำนาจในครั้งนั้น ซึ่งเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อกลุ่มนักศึกษากลุ่มดาวดิน ได้ชูสามนิ้วหน้าท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของกลุ่มประชาชนและนักศึกษา เมื่อนักศึกษาดาวดินกลุ่มนั้นถูกจับกุมตัว ซึ่งต่อมาก็มีการต่อต้านรัฐบาลเชิงสัญลักษณ์อีกหลายรูปแบบนอกจากการชูสามนิ้ว เช่นการกินแซนวิช การโปรยใบปลิว การพ่นสี เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์พวกนี้ไม่ได้กระตุ้นจิตสำนึกของรัฐบาล คสช. ให้รู้ถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมเลย แต่ในทางกลับกันรัฐบาลได้โยนความผิดให้กับประชาชนและนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องคัดค้านว่าเป็นผู้ทำลายความสงบสุขของประเทศ เป็นกลุ่มผู้มีปัญหา และเป็นกลุ่มที่ต้องจัดการ

รัฐบาล คสช. ได้ใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า “กฎอัยการศึก” เป็นกฎหมายในการควบคุมจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในการแสดงความคิดเห็น เช่นในกรณี ของกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมีการจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 4 ราย ฐานขัดคำสั่งของ คสช. ในการจักการชุมนุมทางการเมือง มีการจัดการกับบุคคลที่มีความเห็นต่างทางความคิด เช่นกรณีที่นังแสดง “เจ้าสาวหมาป่า” 2 รายโดนโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในคดีหมิ่นเบื้องสูง และมีประชาชนอีกหลายร้อยราย โดนเรียกตัวไปเพื่อปรับทัศนคติและห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง รัฐบาลยังใช้วิธีการกดดันต่างๆนาๆ เช่น การติดตาม ก่อกวน ข่มขู่ครอบครัวของ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.รายจุด โดย คสช.ให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัย กดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไล่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากการเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า จำนวนคดีการเมืองที่ศูนย์ทนายให้การช่วยเหลือมีทั้งหมด 35 คดี จำนวน 40 ราย โดยแยกเป็น คดีฝ่าฝืนประกาศ/คำสั่ง 12 ราย คดีหมิ่นสถาบัน 17 ราย คดีอาวุธ 4 ราย คดีอื่นๆ (ม.116) 2 คดี ซึ่งมีคดีที่ขึ้นศาลทหาร19 คดี และคดีที่ขึ้นศาลพลเรือนมี 10 คดี อีกทั้งยังมีจำนวนคดีที่อยู่ในขั้นพนักงานสอบสวน 6 คดี 

ข้อมูลเหล่านี้ได้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล คสช. ได้พยามที่จะทำลายพลังของประชาชน นักศึกษาที่มีความคิดความเห็นที่แตกต่าง การออกมาต่อต้านหรือแสดงความคิดเห็นจะตีตราว่าเป็นการบ่อนทำลายความเป็นเอกภาพของสังคมต้องได้รับโทษ ซึ่งแท้จริงแล้วเอกภาพนี้ก็เป็นเอกภาพระหว่างนายกับทาส เป็นเอกภาพระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน และเป็นอกภาพระหว่างผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอนาคตว่าจะก้าวไปด้วยความรุนแรงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของรัฐบาลในการมองเอกภาพของสังคมไทย

เคยมีคำกล่าวว่าของสหายท่านหนึ่งว่า “สำหรับผู้ต่อต้านเผด็จการทหารนั้น อนาคตของเขาไม่มี มีแต่อนาคตอันสดใสของประชาชนเท่านั้น”

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ