สร้างทุนในชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตามแบบฉบับคนบึงพะไล

สร้างทุนในชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตามแบบฉบับคนบึงพะไล

รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

“ถึงแม้จะมีหนี้ แต่เราก็มีสถาบันจัดการเงินชุมชนที่มารองรับหนี้ ทำให้ครอบครัวดีขึ้น มีอันอยู่อันกิน มีรายได้ดีขึ้น” นายบำรุง มณฑาทิพย์
 
“ฉันภูมิใจที่ชุมชนฉันเข้มแข็ง สามารถเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นได้” นางลำดวน นวมโคกสูง

“รู้สึกภูมิใจที่บ้านหัวบึงทำได้ ก็มีโครงการหลาย ๆ อย่าง มีโรงสีข้าวชุมชน มีเลี้ยงหมู เลี้ยงควาย เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ มีลานตากข้าว ภูมิใจที่พวกเราทำได้” นายคมขำ ทับสุขา

“ผู้นำเขาเข้มแข็ง ถ้าเราไม่มีอาชีพเสริม ผู้นำก็ไปจ้างครูมาช่วยสอนทำขนม และทำอะไรหลายอย่าง ช่วยเหลือกลุ่มให้ดีขึ้น เราก็มีรายได้เพิ่มขึ้น เลี้ยงครอบครัวได้” นางคำบาง หยวกกลาง

“ตั้งแต่มุมานะมาก็เป็นเวลา 14-15 ปี ถึงวันนี้คิดว่าทะลุเป้า ดีใจมาก ภูมิใจ นึกสนุก ปลื้มในใจมาก ๆ เวลามีเพื่อนต่างจังหวัดมาดูงาน มาชมมาเชย” นางทองสาย ปิตาทะสา

นี่คือเสียงสะท้อน และคำบอกเล่าความรู้สึกสั้น ๆ ของคนตำบลบึงพะไลส่วนหนึ่ง ที่ยืนยันถึงความสำเร็จ และความภาคภูมิใจ ที่พวกเขาได้พัฒนาเศรษฐกิจรากฐานและทุนชุมชนให้เข้มแข็งด้วยตนเอง 

ตำบลบึงพะไล อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย 15 หมู่บ้าน 2,409 ครัวเรือน ประชากร 10,709 คน คนที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ปลูกมัน ทำนา เลี้ยงสัตว์ และมีวิถีวัฒนธรรมไม่ต่างจากเกษตรกรในภาคอีสานโดยทั่วไป 

แต่ที่นี่… มีความโดดเด่นในการรวมกลุ่มของชาวบ้าน โดยเฉพาะที่บ้านหัวบึง ที่ร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตนเองให้เกิดความเข้มแข็งในหลายด้าน ทั้งเรื่องการรวมกลุ่มออมทรัพย์ การดำเนินวิสาหกิจชุมชนผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด ศูนย์สาธิตการตลาด การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง การช่วยกันดูแลรักษาป่า การเรียนรู้อดีตจากของเก่า การฝึกอาชีพเสริมในการทำขนมกล้วย-เผือก-มัน สานหมวก และทอเสื่อจากวัสดุในท้องถิ่น มีธนาคารข้าว โรงสีข้าวชุมชน มีข้าวให้กู้ยืมบริโภคเพื่อคนในตำบล อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มเลี้ยงหมู เลี้ยงโค-กระบือ เลี้ยงไก่เนื้อโคราช ไก่ดำสมุนไพร และการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอีกด้วย 

20161505113936.jpg

 

ฐานรากเศรษฐกิจที่บ้านหัวบึง 

ถ้าจะลองยกตัวอย่างกิจกรรมสำคัญ ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนก็คงต้องพูดถึงเรื่องโรงสีข้าวชุมชน ที่เป็นของชุมชน เพื่อคนในชุมชน เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 แต่เดิมตั้งอยู่ในหมู่บ้านเป็นโรงสีเล็ก ๆ พัฒนาจนขยับขยายมาตั้งที่ศูนย์เรียนรู้เมื่อปี 2557 มีเครื่องสีข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นโรงสีขนาดกลาง ชาวบ้านทุกคนได้ใช้ประโยชน์ สามารถกู้ยืมข้าวไปบริโภคได้ และมีกองทุนโรงสีชุมชน ซึ่งสมาชิกจะได้รับการปันผลกำไรทุกสิ้นปี

หรือการเลี้ยงไก่เนื้อพันธุ์โคราช ชาวบ้านบอกว่า ไก่พันธุ์นี้มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ เนื้อเหนียวนุ่มติดสปริง รสชาติอร่อย พัฒนาสายพันธุ์โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นอกจากขายเนื้อได้แล้ว ขี้ไก่ก็ยังขายได้ เพราะมีความต้องการที่จะนำไปทำเป็นปุ๋ยให้คุณภาพดี ซึ่งการเลี้ยงไก่ของที่นี่ได้รับการสนับสนุนจาก ธกส. จะเลี้ยงเป็นรุ่น รุ่นละ 500 ตัว ใช้เวลา 75 วัน ก็ขายเอาเงินทุนไปคืน ธกส. กำไรที่เหลือก็ปันผลคืนสมาชิก กำไรต่อที่สองคือได้ปุ๋ยมูลไก่ไว้จำหน่าย

20161505114001.jpg

อีกทั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ที่เกิดการจากลงหุ้นกันในชุมชนเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการทำเกษตร แก้ไขปัญหาสภาพดินที่เป็นกรดเป็นด่าง ช่วยเพิ่มแร่ธาตุอาหารให้กับดินและพืชพรรณ และที่สำคัญช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีอีกด้วย

ถ้าเป็นเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ต้องพูดเรื่องป่าชุมชน และธนาคารต้นไม้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านหัวบึง พื้นที่ 4 ไร่ มีการปลูกป่าเพิ่มทุกปี มีการออกกฏระเบียบข้อห้ามร่วมกัน ห้ามตัดไม้ ห้ามเอาสัตว์เลี้ยงเข้าไป ห้ามบุคคลอื่นเข้าไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากสมาชิกชุมชน จนเกิดความภาคภูมิใจที่ป่ากำลังเติบโตฟื้นคืนให้ความร่มรื่น

20161505114023.jpg

และที่เป็นหัวใจนั่นก็คือเรื่อง “การออม” ชาวบ้านมองว่ามันคือการออมเพื่อไว้ใช้ในวันข้างหน้า หากไม่รู้จักออมครอบครัวจะไม่มีกินมีใช้ และเมื่อออมแล้วก็สามารถสะสมไว้กู้ยืมได้ในยามจำเป็น เวลาขาดเหลือก็ไปยืมที่กลุ่ม ไม่ต้องไปกู้นายทุน ทั้งยังสร้างรายได้ให้กลุ่ม แถมสมาชิกยังได้ปันผลคืนตอนสิ้นปี โดยทุกวันที่ 1 และ 2 ของเดือน พี่น้องจะนำเงินมาออมร่วมกันทุกเดือน ทั้งออมเพื่อสวัสดิการชุมชน ออมเพื่อกู้ยืม ออมเพื่อกองทุนกลุ่ม ซึ่งมีการแยกการบริหารจัดการอย่างชัดเจน

ในการประกอบอาชีพและการดำเนินวิถีชีวิตนั้น เรื่องทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ที่นี่มีกองทุนต่าง ๆ มากมายที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อหนุนเสริมให้กับสมาชิกของชุมชน ทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหมู่บ้าน กองทุน ก.ข.ค.จ. กองทุนธนาคารข้าว กองทุนโรงสีชุมชน กองทุนปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ กองทุนป่าชุมชน กองทุนน้ำดื่มออมทรัพย์ กองทุนกลุ่มไก่เนื้อโคราช เป็นต้น โดยมีสถาบันจัดการเงินทุนชุมชนตำบลเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเงินทุนให้กับกลุ่มต่าง มีเงินทุนหมุนเวียนภายในตำบลกว่า 25 ล้านบาท ที่เกิดจากการระดมทุนภายในชุมชน และการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการจัดตั้งสถาบันการเงินขึ้นมา 

20161505114053.jpg

นายกระมล สุจริต กำนันตำบลบึงพะไล กำนันแหนบทองแกนนำคนสำคัญที่มุ่งมั่นทำงานเสียสละเพื่อตำบลมา 15 ปี นับจากปี 2539 โดยริเริ่มพัฒนาหมู่บ้านหัวบึงให้เป็นต้นแบบกับหมู่บ้านอื่น ๆ บอกเล่าให้ฟังว่า ความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากการวางตัวของผู้นำที่ทำจริง เสียสละ ละลายความคิดด้านลบของผู้นำให้เกิดเป็นศรัทธา ชาวบ้านจึงให้ความร่วมมือ และต้องใช้คนให้ถูกกับงานจึงสามารถทำให้งานลุล่วงได้

“ก่อนหน้านี้ก็มีการเชื่อมโยงการทำงานกองทุนต่าง ๆ กันมาเรื่อย ๆ ก่อนจะยกสถานะเป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มออมทรัพย์ที่ปลูกฝังพี่น้องให้รู้จักการออม การใช้จ่ายเงินในครัวเรือน การใช้จ่ายในภาคการเกษตร รายได้ในครัวเรือน ซึ่งเป็นการขยายผลมาจากกลุ่มออมทรัพย์ จนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โรงสีข้าว กลุ่มจักสาน กลุ่มทำขนม และอื่น ๆ เป็นการนำผลกำไรจากกลุ่มต่าง ๆ มารวบรวม มาจัดตั้งเป็นกองทุนกลาง เพื่อไปหนุนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่มีทุน จนเกิดแนวทางการรวมกลุ่มกองทุนต่าง ๆ ยกสถานะเป็นสถาบันการจัดการเงินในที่สุด”

สมาชิกเริ่มต้นจากบ้านหัวบึง 200 กว่าราย และจากนั้นก็มีสมาชิกจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลมาร่วมเป็นสมาชิก เข้ามาถือหุ้นเพิ่มเติม ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 971 คน มีเงินทุนหมุนเวียนที่เป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตร เพื่อมาทำในหลายกิจกรรมรวมทั้งหมดประมาณ 25 ล้านบาท

โดยกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน มีทั้งหมด 25 กลุ่ม ทุกกลุ่มตั้งเพื่อสร้างผลกำไรเป็นต้นทุนให้ชุมชนได้มีทุนโดยไม่ต้องไปพึ่งพาจากภายนอก กลุ่มที่สำคัญ ๆ ที่เป็นต้นแบบก็คือกลุ่มออมทรัพย์ ทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการออม และยังเป็นการระดมทุน ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกอัตตาดอกเบี้ยต่ำ เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ได้เสียสละ ทำบุญกับคนที่มีความเดือดร้อน คนที่ไม่เดือดร้อนก็เอาเงินมาออมถือว่าเป็นการช่วยเหลือกัน

20161505114121.jpg

อีกกลุ่มที่ดำเนินการได้ผลอย่างน่าพอใจคือวิสาหกิจชุมชน ที่นำผลิตผลทางการเกษตรในพื้นที่นำมาแปรรูป สร้างรายได้ให้กับสมาชิก เป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าทางการเกษตรแบบพึ่งพากัน หรือกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ กลุ่มนี้ก็ช่วยกันเพื่อให้ดินดีขึ้นใช้ปุ๋ยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าที่ขายปุ๋ยเคมี

อย่างไรก็ตาม กำนันเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า การพัฒนาที่ตำบลบึงพะไล เริ่มต้นจากพัฒนาบ้านหัวบึงให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ ในตำบล เป็นการจุดประกายทำให้เห็นผลสำเร็จ เป็นตัวอย่างในการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้น ผู้คนมีจิตใจที่จะมีส่วนร่วมกัน เกิดแนวความคิดการพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ช่วยกันสร้างทุนในชุมชน สร้างอาชีพรองรับ สร้างรายได้ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกันของคนบ้านหัวบึง

เพราะการเกษตรเป็นพื้นฐานชีวิตของชุมชน ที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างอาชีพ สร้างให้เกิดรายได้ จนพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยชุมชนเป็นแกนหลัก หน่วยงานภาครัฐสนับสนุน ท้องถิ่นท้องที่ให้การหนุนเสริมจึงทำให้ตำบลบึงพะไลมาถึงจุดที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับที่อื่น ๆ ได้

หากลองพิจารณาปัจจัยที่ทำให้ตำบลบึงพะไลมีความเข้มแข็ง นอกจากจะมีต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อแล้ว ผู้นำทางการ ผู้นำธรรมชาติก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการระดมทุนจากสมาชิกในชุมชน ด้วยความสามัคคี และพร้อมมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน จนเกิดกองทุนต่าง ๆ จากการที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ วางแผน ลงมือปฏิบัติ กำกับ ติดตาม ประเมินผลในการพัฒนาชุมชนของตนเอง และมีการนำความรู้มาประยุกต์ใช้จากการเรียนรู้ทั้งจากภายในและภายนอก โดยมีเครือข่าย หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทั้งด้านวิชาการ และทุน จนสามารถก่อให้เกิดการพัฒนาที่กำลังขยับต่อเนื่องไปทั้งตำบล

20161505114137.jpg

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ