“บุก” พืชเศรษฐกิจใหม่ในเขตป่า ป่าอยู่ได้ คนอยู่รอด

“บุก” พืชเศรษฐกิจใหม่ในเขตป่า ป่าอยู่ได้ คนอยู่รอด

บุกเป็นพืชประจำถิ่นซึ่งอธิบายได้ทั้งโอกาส และข้อจำกัดของวิถีของคนอยู่กับป่า ปรากฎการณ์การสวนทางกันระหว่างกฎหมายป่าไม้และวิถีชีวิตผู้คนใน ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

หัวบุกที่ถูกล้างทำความสะอาด และตัดรากออกเรียบร้อยแล้ว

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีชื่อติดโพลอยู่บ่อยครั้งว่ามีจำนวนผู้มีรายได้น้อยมากที่สุดในประเทศไทย   แต่ขณะเดียวกันหนึ่งตำบลในจังหวัดที่ยากจนที่สุดนี้ มีรายได้หมุนเวียนจากการขายพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งมากกว่าร้อยล้านบาทต่อปี พืชประจำถิ่นที่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมหาศาลนี้ คือ “บุก” 

ที่ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้คนที่นี่เรียกตัวเองว่า “คนในเงา” ดูลึกลับเหมือนกับว่าเป็นดินแดนห่างไกลซ่อนลึกเร้น แต่จริง ๆ แล้วเป็นการเล่นคำล้อไปกับสายน้ำที่ไหลหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนที่นี่ – แม่น้ำเงา   บริเวณนี้เป็นจุดบรรจบของสายน้ำ 2 สาย นั่นคือ ลำห้วยน้ำโขงและแม่น้ำเงา เกิดเป็นเขตติดต่อของ 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่   ความลงตัวที่ธรรมชาติจัดวางสร้างความอุดมสมบูรณ์เฉพาะตัว จนเป็นที่เลื่องลือในหมู่พ่อค้าคนกลางชาวจีนว่า บุกจากตำบลแม่สวดเป็นบุกคุณภาพ เพราะสามารถสกัดเอาสารกลูโคแมนแนนได้มากกว่าบุกที่ปลูกจากที่อื่น สารกลูโคแมนแนนนี้เองที่มีคุณสมบัติช่วยลดน้ำหนัก เป็นสารสำคัญซึ่งถูกสกัดและนำไปใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และอาหารเสริมต่าง ๆ  

บริเวณที่แม่น้ำเงาและลำห้วยน้ำโขงไหลมาบรรจบกัน เกิดเป็นพรมแดนสามจังหวัดภาคเหนือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่, อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่อยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางของประเทศมากที่สุดในภาคเหนือ เพราะเหตุนี้หรือไม่ ไม่มีข้อพิสูจน์ แต่ข้อมูลทางสถิติบอกเราว่า แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในประเทศไทย   ชีวิตของผู้คนในจังหวัดนี้น่าจะสอดคล้องสมดุลกับธรรมชาติ มีชีวิตที่แสนจะเรียบง่าย เหมือนภาพจำของคนเมืองที่มีต่อผู้คนในชนบท   แต่ที่ตำบลแม่สวดซึ่งแม้จะส่งขายบุกและมีรายได้หมุนเวียนในตำบลถึงปีละกว่าร้อยล้าน ชีวิตผู้คนกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากหัวบุกที่สามารถขายได้ เมล็ดบนใบนั้นมีราคาสูงกว่าหัวบุกเสียอีก เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ปลูกต่อ

แม้บรรพบุรุษคนแม่สวดจะอยู่กับป่ามาเนิ่นนานคล้ายกับอีกหลายชุมชนในเขตป่า   กฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ที่ถูกเขียนขึ้นโดยรัฐ เช่น พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 หรือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562   ผลักผู้คนออกจากความศักดิ์สิทธิของพื้นป่าที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่ให้เป็น “ป่าปลอดคน” 

สภาพพื้นที่ผืนป่าสองฝั่งแม่น้ำเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

ที่ตำบลแม่สวดนั้นพื้นที่ 95% อยู่บนเขตพื้นที่สูง และผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ   ดังนั้น แม้อยู่มานานหลายต่อหลายชั่วคน แต่เมื่อไม่มี “เอกสาร” ที่แสดง “สิทธิ” ก็เสมือนว่าสิทธินั้นไม่มีอยู่จริง ทั้ง ๆ ที่อยู่มาก่อนการประกาศกฎ   ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐถือเจตนาดีที่จะปกป้องดูแลป่า โดยใช้กฎหมายประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติบังคับใช้ในพื้นที่ และพื้นที่นี้จะเข้มงวดไปอีกขั้น เพราะพื้นที่ซึ่งกำลังรอประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา และยังอยู่ในขั้นตอนการแจกแจงการแบ่งสัดส่วนในการใช้พื้นที่   

ความซับซ้อนของสิทธิในที่ดินทำกินนี้เอง นำมาสู่คำถามว่า นอกจากการกันคนให้ออกจากป่า มีวิธีการอื่นหรือไม่ที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยไม่เสียโอกาสการพัฒนาให้บุกเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ในเขตป่าของตำบลแม่สวด ซึ่งหากสุดท้ายแล้วบุกเหล่านี้ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศจีน รายได้นั้นที่กลับคืนมาก็เป็นรายได้เข้าประเทศ ไม่ต่างจากการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ

บุกเจริญเติบโตได้ดีเมื่ออยู่ร่วมกับต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา จึงเหมาะกับการปลูกแซมในสวนร่วมกับพืชอื่น ๆ เช่น ต้นกล้วย ไม้ยืนต้น เป็นต้น

จากงานวิจัย โครงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ในเขตป่าบนฐานการจัดการทรัพยากรบุกในตำบลแม่สวด จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อเทียบรายได้ต่อพื้นที่ต่อฤดูกาลในการปลูกบุกและปลูกถั่วเหลืองจะพบว่า เกษตรกรปลูกบุกได้รายได้มากกว่าถั่วเหลืองถึง 35 เท่า! (ราคาเมื่อ พ.ศ.2563 ปลูกถั่วเหลือง รายได้ 2,500 บาท ปลูกบุก รายได้ 85,340 บาท) และราคาของบุกนั้นมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นในทุกปี ยกเว้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่บุกมีราคาต่ำลง โดยเมื่อปี 2530 บุกราคากิโลละไม่เกิน 2 บาท ขณะที่เมื่อปี 2560-2563 ราคาพุ่งขึ้นถึง 30 บาท และลดลงเล็กน้อยเหลือประมาณ 20 กว่าบาทในปัจจุบัน

ถั่วเหลือง พืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของตำบลแม่สวด

“บุก” นั้นเป็นพืชท้องถิ่นที่มีตามธรรมชาติในป่า จึงถูกนับว่าเป็น “ของป่า” เทียบได้กับกล้วยไม้ป่า น้ำผึ้ง หรือไม้สัก ดังนั้นการนำออกจากพื้นที่ต้องทำการขอสัมปทานและจ่ายค่าภาคหลวง   ที่ จ.แม่ฮ่องสอนนี้ การจำหน่ายบุก 1 กิโลกรัม เกษตรกรหรือพ่อค้าคนกลางต้องจ่ายค่าภาคหลวงล่วงหน้า 3 บาท โดย 1 บาทจะถูกนำเข้าสู่องค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนอีก 2 บาทถูกเก็บเข้าป่าไม้  

พอจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในการจ่ายค่าภาคหลวงสำหรับการขุด “บุกป่า” หรือบุกที่เกิดเองตามธรรมชาติในเขตป่า แต่สำหรับ “บุกปลูก” ซึ่งชาวชุมชนขยายพันธุ์และปลูกเองในพื้นที่ทำกินซึ่งเป็นสวนป่าไม้ยืนต้น   การจ่ายค่าสัมปทานเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การปลูกบุกมีเงื่อนไขมากกว่าพืชชนิดอื่น ทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินการ เพราะต้องกะประมาณปริมาณบุกและจ่ายค่าภาคหลวงล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนขุด อาจทำให้ขาดทุนหากได้จำนวนบุกน้อยกว่าที่แจ้ง   สร้างความลังเลให้เกษตรกรซึ่งมีศักยภาพและพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก

บุก 3 หัวในภาพนี้ หากคิดคำนวณตามราคาสูงสุดที่คนแม่สวดเคยขายได้จะคิดเป็นเงินประมาณ 300 บาท

ทั้งเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อว่า บนปัจจัยการผลิตคือที่ดินซึ่งมีเงื่อนไขทางกฎหมายในลักษณะเดียวกัน หากชาวชุมชนถางป่าออกทั้งหมดแล้วปลูกพืชไร่จำพวกถั่วเหลืองหรือข้าวโพด กลับไม่มีราคาที่ต้องจ่ายในส่วนของค่าภาคหลวง   ซึ่งดูเหมือนเป็นการผลักให้ชาวชุมชนต้องถางป่าเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อยังชีพ แม้ต้องจ่ายราคาต้นทุนสูง ทั้งไม่ก่อให้เกิดทั้งความมั่นคงในชีวิตของเกษตรกรเพราะราคาตลาดผันผวน  จึงทำให้พบกว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวนี้ยิ่งทำยิ่งเกิดหนี้ในครัวเรือน อีกทั้งส่งผลเสียโดยตรงกับธรรมชาติ เพราะต้องถางป่า เกิดหน้าดินพังทลายทำให้ตะกอนดินไหลลงแม่น้ำลำธาร อีกทั้งใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสัตว์ป่า เกิดเป็นปัจจัยต่อเนื่องเป็นลูกโซ่อย่างครบวงจร

ในฤดูแล้ง น้ำในแม่น้ำเงาจะใสราวกับกระจกเงา สามารถมองเห็นก้อนกรวดพื้นด้านล่างได้ หากต้นไม้ถูกตัดจะทำให้เกิดตะกอนทรายไหลลงแม่น้ำ เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ

การปลูกบุกต่างออกไปจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว   ข้อดีของบุกนั้น คือเป็นพืชที่ “จำเป็นต้องอยู่กับป่า” เพราะหากนำบุกไปปลูกในพื้นที่โล่งแบบพืชเชิงเดี่ยว ต้นบุกอาจตาย หรือหัวบุกจะมีขนาดไม่ใหญ่เท่ากับที่ปลูกใต้ร่มเงาของต้นไม้หรือสวน   ซึ่งหัวบุกสามารถมีขนาดใหญ่ได้มากที่สุดถึง 10 กิโลกรัม และหากปีไหนราคาไม่ดีนัก เกษตรกรจะเก็บไว้ในดินก่อนเหมือนฝากธนาคารก็เก็บไว้ได้นานถึง 5 ปี หรือจนกว่าบุกจะออกดอก หากดูแลดี ๆ เกษตรกรสามารถปลูกบุกครั้งเดียวแล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดไป เพราะบุกมีเมล็ดบนใบที่สามารถขยายพันธุ์ต่อเองได้ 

โดยธรรมชาติของบุกนี้เองจึงเป็นพืชที่สนับสนุนให้เกิดการรักษาป่าโดยอ้อม   หากรัฐสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการปลูกบุก อีกทั้งมีตลาดรองรับที่แน่นอน บุกสามารถเป็นพืชทางเลือกที่สร้างแรงจูงใจให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้เป็นอย่างดี

เมล็ดบนใบของต้นบุก

การคาดหวังให้คนที่อยู่กับป่าโดยใช้ชีวิตแยกขาดต่อธรรมชาติเป็นการบริหารจัดการที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้คนท้องถิ่น   การปลดล็อกข้อจำกัดการสร้างรายได้ ด้วยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น   โดยทางออกคือรัฐต้องมีการจัดสรรพื้นที่ให้ชัดเจน ส่วนใดคือป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์   ส่วนใดคือป่าที่คนในพื้นที่สามารถทำเกษตรที่เกื้อกูลให้คนอยู่กับป่าได้ เช่น การปลูกบุก   รัฐต้องรับรองแปลงปลูกให้เป็นกิจลักษณะเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรให้ปลูกบุก เมื่อเกิดความมั่นใจก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวชุมชนเลือกปลูกพืชที่เอื้อต่อการดูแลป่า   และควรนำไปสู่การพิจารณาทบทวนการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับมิติการดำเนินชีวิตและบริบทพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของการอนุรักษ์ป่าไม้ในประเทศ

อ้างอิงที่มาข้อมูล:

ขอขอบคุณ:

  • คุณอลงกรณ์  หยกวณิชกิจ/ เกษตรกรบ้านแม่หลุย ต.แม่สวด
  • คุณจันทร์เพ็ญ เลิศชูทรัพย์/ ชาวชุมชนบ้านแม่หลุย ต.แม่สวด
  • คุณพิมพา เงินไพศาลสิริ/ สมาชิกกลุ่มแม่บ้านบ้านนาดอย  ต.แม่สวด
  • คุณปุณิกา กาญจนไพศร/ นักพัฒนาชุมชน อบต.แม่สวด
  • คุณศรัณย์  ชอบชัยชนะ/ ผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร อบต.แม่สวด
  • คุณยอดชาย พรพงไพร/ นายก อบต.แม่สวด
  • คุณธวัชชัย ใจแสน/ ปลัด อบต.แม่สวด
  • คุณเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล/ คอลัมนิสต์สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ