ฟังเสียงประเทศไทย I “ออนซอนกาฬสินธุ์ ดินดำน้ำชุ่ม”

ฟังเสียงประเทศไทย I “ออนซอนกาฬสินธุ์ ดินดำน้ำชุ่ม”

เรียบเรียง : นาตยา สิมภา

ฟังเสียงประเทศไทย ยังคงออกเดินทางในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมรับฟังเสียงของผู้คนด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อให้มีข้อมูลที่รอบด้านและหวังจะร่วมหาทางออกจากโจทย์ความท้าทายของผู้คนในแต่ละพื้นที่

รายการฟังเสียงประเทศไทย Next normal พาออกเดินทางมาถึงพิกัดที่ 12 ของภาคอีสาน ณ พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (หอศิลป์) ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นอีกเมืองรองที่กำลังเผชิญข้อท้าทายจากปัญหาความยากจนเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 5 ปี มีข้อมูลเมื่อปี 2562 ระบุว่ากาฬสินธุ์มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ และเพื่อให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างใคร่ครวญ ได้ไตร่ตรอง ฟังโดยไม่ตัดสิน และชวนรับฟัง แลกเปลี่ยนและเว้าจา โสเหล่ ถึงภาพอนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจกาฬสินธุ์ให้ทุกคนเดินไปพร้อม ๆ กัน เพื่อร่วมหาทางออก ผ่านการจัดวงคุยภายใต้แนวคิด  Citizen Dialogues ประชาชนสนทนา

เราเชื่อว่าการเดินทางทุกครั้งหัวใจของการมาเจอคือได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคต โอกาสและข้อท้าทายมาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น รายการยังมีข้อมูลพื้นฐาน โอกาสและข้อท้าทาย เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ภาพรวมเพิ่มมากขึ้น

จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ในภาคอีสานตอนกลางเชื่อมต่อกับสกลนคร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และขอนแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 6,946.75 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4 ล้าน 3 แสนไร่ แบ่งออกเป็น 18 อำเภอ 135 ตำบล 1,584 หมู่บ้าน มีประชากร 983,418 คน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ในวัยแรงงานช่วงอายุ 25 – 59 ปี ร้อยละ 27.7
ประชากรวัยเด็กร้อยละ 23.28  และประชากรวัยสูงอายุ ร้อยละ 22.15

– แผนพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2566 – 2570 –

ระบุเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ “มั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย ท่องเที่ยววิถีใหม่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

– ข้อมูลโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2562 –

มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP 58,517 ล้านบาท เป็นการผลิตภาคเกษตร 13,552 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.1 ของ  และการผลิตภาคนอกเกษตร 45,065 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.9  เฉลี่ย 73,587 ต่อคนต่อปี

– ข้อมูลด้านการเกษตร –

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ 28 พฤษภาคม 2565 ระบุว่า ปี 2563 จังหวัดกาฬสินธุ์มีเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตร รวมทั้งสิ้น 2,832,890 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 65.25 ของพื้นที่ทั้งหมด และมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 274,107 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 88.10 ของครัวเรือนทั้งจังหวัด

มีพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้  คือ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน รองลงมา คือ ยางพารา แตงโม ปาล์มน้ำมัน และพุทรา มีสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ คือ  โคเนื้อ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ดไข่ กระบือ สุกร และโคนม

โดยในปี 2559-2563 มีการจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เฉลี่ย 5,917,134.738 กิโลกรัม มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทำรายได้ คือ กุ้งก้ามกรามและปลากระชัง

– ข้อมูลด้านอุตสาหกรรม –

จังหวัดกาฬสินธุ์มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสะสม 386 โรงงาน และมีจำนวนคนงาน 6,813 คน
ข้อมูล ณ  31 สิงหาคม 2564 เงินทุนรวม 20,506.71 ล้านบาท โดย หมวดอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรกของจังหวัด ได้แก่
1.หมวดอุตสาหกรรมผลิตอื่น ๆ ผลิตส่งและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพ การผลิตไอน้ำของกิจการโรงแรม
2.หมวดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืช  แป้งมันสำปะหลัง โรงสีข้าว มันเส้น
3.หมวดอุตสาหกรรมอาหาร  น้ำตาลดิบ น้ำตาลทราย น้ำแข็งก้อนเล็ก สาคูเม็ด
4.หมวดอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เอทานอล (ไม่ใช่เพื่อการบริโภค) น้ำดื่ม
5.หมวดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์ปูนปลาสเตอร์

– สินค้า GI จังหวัดกาฬสินธุ์ –

กาฬสินธุ์ยังมีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ สินค้า GI ได้แก่ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ซึ่งในปี  2562 สร้างรายได้ 982.13 ล้านบาท และข้าวเหนียวเขาวง   นอกจากนี้สินค้า OTOP ยังสร้างรายได้ต่อเนื่อง มีมูลค่า 5,924.19 ล้านบาท ในปี 2563 ที่ผ่านมา

– แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดกาฬสินธุ์ –

มีทั้งเชิงวัฒนธรรม แหล่งโบราณคดีแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน และแหล่งท่องเที่ยงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่

  • เมืองฟ้าแดดสงยาง บ้านเสมา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
  • วัดพุทธนิมิตภูค่าว บ้านนาสีนวล อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์
  • พระพุทธรูปสถานภูปอ
  • พุทธสถานภูสิงห์
  • วัดวังคำ บ้านนาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
  • อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (เจ้าโสมพะมิตร)
  • กลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน
  • หมู่บ้านวัฒนธรรมโคกโก่ง
  • พิพิธภัณฑ์สิรินธร
  • รอยเท้าไดโนเสาร์ วนอุทยานภูแฝก
  • สะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว
  • น้ำตกผานางคอย
  • ผาเสวยภูพาน อุทยานแห่งชาติภูพาน

จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ ข้อมูล ปี 2561 ระบุว่า ปี 2562 คนจังหวัดกาฬสินธุ์มีรายได้เฉลี่ย 70,564 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คนละ  2,314 บาท โดยอำเภอที่มีรายได้เฉลี่ยมากที่สุด คือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มีรายได้เฉลี่ย 78,145 บาทต่อคนต่อปี และอำเภอที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุด ได้แก่ อำเภอเขาวง เฉลี่ย 59,242 บาทต่อคนต่อปี

กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรังติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี และจากข้อมูลรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2562  จังหวัดกาฬสินธุ์มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดปัตตานี โดยมีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ร้อยละ 31.26

จุดแข็ง

1. มีสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช
2. มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลินาปีและนาปรังที่อยู่ในเขตชลประทานมากกว่า 338,000 ไร่ สามารถที่จะทำนาได้ตลอดปี
3. มีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 700 ตัน เป็นศูนย์รวมข้าวจาก จ.สกลนคร นครพนม สุรินทร์ ศรีษะเกษ มุกดาหาร เพื่อขนส่งสู่ภาคกลาง และ ภาคใต้
4. มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ในพื้นที่มากกว่า 583 แห่ง มูลค่าการลงทุน 19,858,140,000 บาท
5. มีซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสชิล) ยุคโบราณไดโนเสาร์ล้านปี มีเป็นพิพิธภัณฑ์สิรินธร ที่เป็นแหล่งจัดแสดงและรวบรวมฟอสชิลไดโนเสาร์มากที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดใน ประเทศไทย
6. มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ทางวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น
7. เป็นแหล่งผลิตสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพ เช่น ผ้าไหมแพรวา ไส้กรอก ปลากาฬสินธุ์ หมูทุบ หมูเค็ม อาหารปลอดภัย ข้าวเกรียบเขาวง ข้าวเหนียวเขาวง มะม่วงมหาชนก พุทรานมสด
8. มีวัฒนธรรมประจำถิ่นที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ เช่น วัฒนธรรมผู้ไท งานบุญบั้งไฟตะไลล้าน การแสดงโปงลาง และปราสาทรวงข้าว
9. มีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นแหล่งศึกษาความรู้ของบุคลากรสนับสนุนวิชาการให้จังหวัด
10. การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ในจังหวัดกาฬสินธุ์
11. มีความได้เปรียบที่ตั้งอยู่บนภูมิศาสตร์เส้นทางสาย EWEC ผ่านจังหวัด ส่งผลต่อการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการเพื่อการผลิตสินค้ามุ่งสู่ตลาดอาเซียน

จุดอ่อน

1. รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรต่ำ
2. ระบบชลประทานยังมีไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร
3. ผลผลิตภาคการเกษตรเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ
4. โฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐานมีน้อย
5. ระบบสาธารณูปโภคด้านการท่องเที่ยวยังไม่ได้มาตรฐานขาดการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวที่ดี
6. ระบบการขนส่ง และ ระบบโลจิสติกส์ยังไม่ครอบคลุมและเชื่อมโยงในทุกพื้นที่
7. ปัญหาแรงงานสูงอายุ และการอพยพย้ายถิ่นของวัย แรงงาน
8. การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนยังมีน้อย
9. ปริมาณขยะมีจำนวนมากขึ้นจากการขยายตัวเมือง พร้อมทั้ง อปท. ไม่มีการจัดการที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
10. ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ (ผลสอบ O-net)
11. อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรต่ำ
12. สัดส่วนคนจนค่อนข้างสูง
13. การลงทุน SMEs จากภาคเอกชนยังมีน้อย
14. ขาดแหล่งดึงดูดใจด้านการท่องเที่ยว (Landmark)

อุปสรรค
1. สภาพเศรษฐกิจของประเทศและของโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและอยู่ในภาวะชะลอตัวส่งผลการลงทุนทางเศรษฐกิจ
2. อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น
3. ภัยธรรมชาติ
4. ปัจจัยการผลิตมีการปรับราคาสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตภาคเกษตรปรับสูงขึ้น
5. การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการแข่งขันสินค้าเกษตรมีการไหลเข้าของแรงงานต่างชาติส่งผลต่อการจ้างงานของประชาชนในประเทศ รวมทั้งสุขภาพอนามัยของประชาชนและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
6. กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
7. ปัญหายาเสพติด

โอกาส

1.รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน และการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย
2.นโยบายรัฐบาลส่งเสริม SME จัดตั้งบริษัทประชารัฐ จำกัด และนโยบายสานพลังประชารัฐ
3.กระแสความนิยมการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
4.ADB และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนกลาง ให้ความมั่นใจและสนับสนุนให้เป็นจังหวัดนา ร่องการผลิตอาหารปลอดสารพิษ (KS) เกษตรอินทรีย์
5.นโยบายรัฐบาลส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
6.นโยบายประเทศไทย 4.0
7.นโยบายรัฐบาลสนับสนุนโครงการนำร่อง kalasin Rice City และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองข้าว

กาฬสินธุ์เป็นอีกเมืองรองในพื้นที่อีสานตอนกลาง ที่มีต้นทุนทรัพยากรน้ำ ผลผลิตทางการเกษตร และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เข้มแข็ง การมองภาพอนาคตเพื่อร่วมหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหารายได้เฉลี่ยของประชากรที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนก็มีหลายฝ่ายร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง ฟังเสียงประเทศไทย จึงชวนตุ้มโฮมกับคนในพื้นที่เพื่อมองภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเกื้อกูล ซึ่งเป็นโจทย์ร่วมในภาคอีสานหลายจังหวัด ให้ชาวกาฬสินธุ์เห็นถึงโอกาส และบทบาทของแต่ละภาคส่วน จาก พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (หอศิลป์) ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ทางรายการจึงได้ประมวลฉากทัศน์หรือภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นมาเพียง 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาได้พูดคุย ถึง “ภาพอนาคต พัฒนาเศรษฐกิจกาฬสินธุ์แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 

ฉากทัศน์ A  กาฬสินธุ์เมืองเศรษฐกิจศิลปะสร้างสรรค์

•  เกิดการยกระดับงานประเพณี ฮีต 12 คอง 14 และศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานให้เป็นเทศกาลท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี บนฐานวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนเชื่อมโยงสู่การออกแบบงานหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์สู่ระดับสากล ทั้ง แฟชั่นผ้าไหมแพรวา ผ้าพื้นเมือง โดยแรงงานทักษะฝีมือชั้นสูงได้รับการสนับสนุนพัฒนาทักษะความรู้จากสถาบันการศึกษาและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือ สถาบันวิชาชีพ โดยต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมหุ่นยนต์ หรือ AI และใช้ฐานข้อมูล big data เพื่อมาการออกแบบการผลิต การตลาดเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม การสื่อสารที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวกับการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และอาจใช้ระยะเวลานานในการพัฒนา

ฉากทัศน์ B  กาฬสินธุ์เมืองท่องเที่ยวทางผ่าน OTOP ขึ้นห้าง

•      เกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community – Based Tourism – CBT) เพื่อชุมชน ซึ่งคำนึงถึงวิถีท้องถิ่นและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม มีการกำหนดทิศทางโดยชุมชนที่จะสร้างการเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนผ่านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น สวนพุทรานมสด สวนมะม่วงมหาชนก ข้าวเขาวง และแหล่งเรียนรู้บรรพชีวินซากไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน และรัฐท้องถิ่นเพื่อยกระดับการบริการ ทั้ง เส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อจังหวัดโดยรอบ เกิดเครือข่ายการท่องเที่ยวระดับกลุ่มจังหวัด พร้อมพัฒนาเพิ่มความหรูหราให้สินค้าโอทอปพรีเมียม เช่น ผ้าไหมแพรวาแฟชั่น มาลัยไม้ไผ่กุดหว้า และข้าวเหนียวอินทรีย์ GI เขาวง เป็นต้น ให้มีความหลากหลายร่วมสมัยสอดคล้องความต้องการของตลาดและนักท่องเที่ยว     

ฉากทัศน์ C  กาฬสินธุ์เมืองอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัยไปครัวโลก

•      เกิดการยกระดับภาคเกษตรและการผลิตแบบดั้งเดิมพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร โดยมีการพัฒนาระบบชลประทานให้เชื่อมโยงแหล่งน้ำต่าง ๆ กระจายให้ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด ด้วยเกษตรกรรมอัจฉริยะ (Smart farm) เพื่อเพิ่มผลผลิตสินค้าทางการเกษตร ทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อย พร้อมพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชน SMEs เกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตเพื่อยกระดับการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และกาฬสินธุ์เมืองข้าว kalasin Rice City ซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี กว่า 380,000 ไร่  แต่ต้องมีการสนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณจากรัฐและเอกชนให้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการตลาดส่งออกและตลาดออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคอาหารอินทรีย์กลุ่มเฉพาะและคู่ค้าในวงกว้าง

นอกจากข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องถึงศักยภาพและต้นทุนของชาวกาฬสินธุ์ในมิติเศรษฐกิจและทรัพยากร ที่รวบรวมมาแบ่งปันแล้ว ยังมีข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฉากทัศน์มาให้ร่วมตัดสินใจ โดย คุณนาตยา สิมภา  เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ Thai PBS เป็นผู้ดำเนินวงเสวนา เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ได้พูดคุยและรับฟังกันอย่างเข้าใจจะนำไปสู่การออกแบบภาพอนาคตได้เพราะเสียงของทุกคนมีความหมาย

  ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ A  

– กาฬสินธุ์เมืองเศรษฐกิจศิลปะสร้างสรรค์ –

รศ.ดร.กตัญญู แก้วหานาม ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

“ในฐานะที่เป็นนักวิชาการและนักวิจัยในพื้นที่มิติฉากทัศน์เมืองกาฬสินธุ์เมืองเศรษฐกิจศิลปะสร้างสรรค์ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ จากการที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทางนายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ Learning city ก็เห็นหลายมิติโดยเฉพาะจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในเมืองกาฬสินธุ์คือต้องมาที่หอศิลป์ (พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์) ของดีของเด่นทั้ง 18 อำเภอรวมอยู่ตรงนี้ ตอนนี้ก็จะมีเป็นภาพวาดภาพศิลปะจากศิลปินชื่อดัง ซึ่งตรงนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเมืองกาฬสินธุ์มีต้นทุนทางวัฒนธรรมประกอบกับต้นทุนเดิม ในส่วนของผ้าไหมแพรวาก็เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละอำเภอที่มีการถักทอออกมาเป็นรายภาคต่าง ๆ ศิลปะวัฒนธรรมตามฮีต 12 คอง 14 ก็มีเกือบทุกอำเภอแล้วก็เป็นจุดเด่น ถ้ายกตัวอย่างง่าย ๆ บ้านโพนก็มีผ้าไหมแพรวาราชินีแห่งไหม ถ้าเป็นเขาวงเพิ่งจัดงานไปก็ผู้ไทนานาชาติ ถ้าของกุดหว้าก็มีบั้งไฟตะไลล้านและก็มีมาลัยไม้ไผ่ ถ้าเป็นโซนทางกมลาไสยก็มีพระธาตุยาคูซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มารวมกันอยู่ที่หอศิลป์ดังนั้นในเรื่องของเศรษฐกิจศิลปะสร้างสรรค์มันก็เลยเป็นจุดเด่นที่จะยกระดับเมืองกาฬสินธุ์ให้เป็นที่รู้จักกับคนทั่วไป สังเกตจากงานงานวิจัยที่เราทำในหลายมิติเลยโดยเฉพาะเราพยายามทำให้คนรู้จักเมืองกาฬสินธุ์โดยการทำภาพ 360 องศาผ่านเว็บไซต์ Kalasin learning city ทำไป 1 ปีมีคนเข้ามาเยี่ยมชมกว่าหมื่นคน เรามีการออกแบบสถานที่ท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่กาฬสินธุ์และที่ผ่านมาก็มีการจัดการท่องเที่ยวเป็นลักษณะประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นให้เด็ก ๆ นักศึกษามาเรียนรู้

ผมเห็นทางท่านนายกแล้วก็ทางภาคีเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม ภาคราชการได้ร่วมกันทำงานในเชิงลักษณะกลไกความร่วมมือในการพัฒนาเมืองมีการทำตลาดวันอังคาร ตลาดวันพฤหัส ตลาดสร้างสุข ตลาดนัดเด็กดี เป็นพื้นที่ในการที่จะทำให้เกิดการถ่ายโอนองค์ความรู้เรียกว่าเป็น Knowledge translation ทางนักวิจัยหรือตัวผมเองหรือคณะทำงานก็พยายามที่จะทำให้เมืองกาฬสินธุ์ได้เอาจุดเด่นโดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือในลักษณะศิลปะสร้างสรรค์ให้เป็นตัวชูโรงให้สอดคล้องสะท้อนให้คนมาท่องเที่ยวประกอบกับอาจจะดึงในเรื่องของเกษตรปลอดภัย ท่องเที่ยววิถีใหม่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังมาเป็นจุดเชื่อมให้คนมาท่องเที่ยวเมืองกาฬสินธุ์มากยิ่งขึ้น อันนี้ก็สนับสนุนในเรื่องของเมืองกาฬสินธุ์เศรษฐกิจศิลปะสร้างสรรค์ครับ”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ B

กาฬสินธุ์เมืองท่องเที่ยวทางผ่าน OTOP ขึ้นห้าง

คุณวิไลลักษณ์ เวชยาพันธุ์ รักษาการ ประธานหอการค้า จังหวัดกาฬสินธุ์

“จริง ๆ แล้วพูดถึงกาฬสินธุ์ถ้าถามว่าจะมาท่องเที่ยวอีสานถ้ามากาฬสินธุ์นึกถึงอะไร ส่วนตัวแล้วถ้าสำหรับเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปก็จะคิดถึงเขื่อนเหมือนกัน แต่ทีนี้ถ้าถามว่าเขื่อนในปัจจุบันเราเราทำอะไรกับมันบ้างเพราะฉะนั้นเขื่อนจริง ๆ แล้วเราถูกวางไว้ในสัดส่วนว่าเป็นเขื่อนเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการเกษตร แต่จริง ๆ แล้วในบริบทของน้ำมันมีอะไรมากกว่านั้นเพราะฉะนั้นในกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างเนี่ยตอนนี้หอการค้าเองก็จะพยายามปลดล็อคกฎเกณฑ์บางอย่าง แล้วก็พยายามจัดตั้งมาสเตอร์แปลนของเขื่อนเพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุดในการพัฒนา เพื่อการท่องเที่ยวแล้วก็เพื่อความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน เมื่อกี้เราพูดถึงว่าเรามีผ้าแพรววา เรามีเรื่องของไดโนเสาร์ จริง ๆแล้วไดโนเสาร์ของกาฬสินธุ์เรา ไม่ใช่แค่ค้นพบที่สมบูรณ์แล้วก็ใหญ่ที่สุดแล้วก็มีจำนวนชิ้นมากที่สุดในประเทศไทยนะคะ แต่ตอนนี้เรา Top of SEA หมายถึงว่าเป็นที่หนึ่งของ South East Asia นะคะ จริง ๆ ลักษณะที่เราค้นพบเพิ่มเติมมาก็คือที่ภูน้อย ตอนนี้ก็ 6000-7000 ชิ้นแล้ว ซึ่งลักษณะการค้นพบแบบนี้นอกจากทางประเทศจีนแล้วก็จะมีเฉพาะในกาฬสินธุ์เรานะคะจะมีแค่สองแห่งที่ค้นพบตอนนี้

เพราะฉะนั้นภูมิใจได้ค่ะว่าเป้าหมายต่อไปในลักษณะที่สู่เวทีโลกแล้วก็อาจจะได้เป็นอุทยานธรณีโลกในอนาคตเพื่อความยั่งยืนนะคะ แล้วจริง ๆ ในเรื่องของวัฒนธรรมบ้านเราจะบอกว่าสวยงามและซับซ้อนแล้วก็มีความเป็นอัตลักษณ์ค่อนข้างจะสูงในเรื่องของ 18 อำเภอที่เกิดขึ้นเราพยายามจะดึงเขาเข้ามาในส่วนของปฏิทินการท่องเที่ยวทั้งหมดเพื่อการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนและอย่างน้อย ๆ เนี่ย เมืองกาฬสินธุ์น่าจะเกิด อีเว้นท์เดือนนึง 2 ครั้งเนื่องจากว่าเป็นเป็นอีเว้นท์ประจำที่มีอยู่แล้วกับอีเว้นท์แต่ละอำเภอเพื่อจะให้ดึงศักยภาพของแต่ละอำเภอขึ้นมาส่วนเรื่องของการคมนาคมตอนนี้โครงข่ายการคมนาคมของบ้านเราก็มีการพัฒนาขึ้นเยอะถ้าเทียบกับปี 2562

แล้วก็เรื่องของงบประมาณการจัดทำเรื่องของเส้นถนนหนทางในเรื่องของทางหลวงชนบทซึ่งจริง ๆ แล้วเราไม่ใช่มีแค่สะพานเทพสุดา เราจะมีอีกสองสะพานที่จะข้ามซึ่งในอนาคตคิดว่าแหล่งท่องเที่ยวก็น่าจะมีอะไรเพิ่มขึ้น แล้วก็กระจายความเจริญไปในทุก ๆ จุดของกาฬสินธุ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนค่ะ แล้วก็ในส่วนของลักษณะของพื้นที่ที่เรามีเป้าหมายต่อไปก็คิดว่าจะเป็นในเรื่องหลัก ๆ เลยก็คงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเพื่อพัฒนาทางด้านการเกษตรให้เกิดการเกษตรได้ยั่งยืนแล้วก็ได้ผลิตผลมากขึ้นนะคะ”

ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติมฉากทัศน์ C

– กาฬสินธุ์เมืองอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัยไปครัวโลก –


คุณสุจารี ธนศิริธนากร  ผู้ประกอบการสวนปันบุญ เกษตรอินทรีย์ อ.ฆ้องไชย จ.กาฬสินธุ์

“ถ้าเราดูภาพรวมของจังหวัดกาฬสินธุ์ทั้งหมดเราจะพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลักใช่ไหมคะ รายได้หลักของจังหวัดมาจากภาคการเกษตร แต่ทำไมจังหวัดกาฬสินธุ์ยังมีคนยากจนรั้งท้ายของประเทศ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดนะคะ ทำเกษตรมี GDP มีมูลค่ารายได้เยอะมากแต่เกษตรกรยังยากจน คนส่วนใหญ่ของจังหวัดกาฬสินธุ์คือเกษตรกรแล้วเราไม่ทิ้งเขาไว้ข้างหลังใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นจึงอยากชวนมาคิดว่าการพัฒนาจังหวัดควรจะเอาเรื่องของการเกษตรเป็นตัวนำ ส่วนการท่องเที่ยวเราเป็นเมืองรอง ดีนะคะไม่ใช่ไม่ดีแต่ว่าสิ่งที่จะทำให้เกิดแรงเหวี่ยงแล้วก็พัฒนาอาชีพและรายได้จริง ๆ คือภาคการเกษตร แล้วที่ทำผ่านมาเนี่ยเรามีปัญหาอะไร อันนี้เราต้องมาคิดนะคะซึ่งเวลาเราจำกัดมากใช่ไหมค่ะ มีอะไรที่ต้องพูดมากมายนะฮะที่จะให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในวงการเกษตรแล้วก็จะทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดเราเปลี่ยนด้วย เพราะว่ากาฬสินธุ์ดินดำน้ำชุ่มอันนี้เป็นข้อได้เปรียบเลย จริงๆแล้วกาฬสินธุ์เราอุดมสมบูรณ์มากทั้งแหล่งน้ำและกทรัพยากรธรรมชาติมีพื้นที่ GI มากมายแต่เราไม่ควรจะยากจนใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นมันต้องมีความผิดพลาดในการพัฒนา

เดิมทีก็ไม่ได้เป็นเกษตรกรก็ทำธุรกิจทำการค้าอยู่ พอได้มาสัมผัสกับชีวิตเกษตรกรเราจึงต้องมาคิดว่าเราจะมาช่วยพัฒนาบ้านเกิดเรายังไง เราเริ่มจากการชวนชาวบ้านทำตั้งกลุ่มเล็ก ๆ ขึ้นมาเพื่อที่จะทำกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อันนี้คือการที่เราจะพัฒนาเพื่อให้เกิดมูลค่า เดิมที่เราก็ทำแบบไม่มีคุณภาพแล้วก็ขายไม่มีราคาจากนั้นเราก็ไม่มีความรู้ ก็มีแต่การลงทุน สาเหตุที่ยากจนคือส่วนต่างของรายได้ ทุนกับกำไรคืออาจจะขายได้เยอะมาก ปีหนึ่งได้หลายแสนแต่ว่าส่วนที่คุณเหลือเท่าไหร่ ค่าแรงไม่คิดเลยเพราะฉะนั้นเราต้องพึ่งหวังเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะกลับมาช่วยพัฒนาแต่อย่าไปทิ้งเกษตรกรรุ่นเก่า อย่างที่เราทำเนี่ยเราพยายามที่จะประสานสองคนสองรุ่นให้เข้ากันใช้ภูมิปัญญาของคนดั้งเดิมแล้วก็นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยอันนี้เราทำสำเร็จแล้วที่ปันบุญ สามารถที่จะเป็นโมเดล เกษตรอินทรีย์วิถีปั้นบุญ แล้วก็สร้างความยั่งยืนเกิดรายได้ที่มั่นคงขอบคุณค่ะ”

ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน

แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่การฟังข้อมูลอย่างรอบด้านคือหัวใจในการสนทนาโสเหล่ในครั้งนี้ และนี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้

โอกาสการฟื้นตัวและตั้งหลักด้านเศรษฐกิจปากท้อง จากศักยภาพของเมืองและคนกาฬสินธุ์ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนค่ะ ทั้งการมีส่วนร่วมตัดสินใจ ร่วมใช้ประโยชน์ และการบริการจัดการงบประมาณที่เป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ของคนในชุมชน สามารถติดตามรายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวในอีสานกับแฟนเพจอยู่ดีมีแฮง

เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”

ร่วมโหวตฉากทัศน์ “ออนซอนกาฬสินธุ์ ดินดำน้ำชุ่ม”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ