เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ขอผู้ว่าฯโคราชชะลอรื้อบ้านสมาชิก 28 หลัง

เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ขอผู้ว่าฯโคราชชะลอรื้อบ้านสมาชิก 28 หลัง

4 กรกฎาคม 2565 เครือข่ายริมรางเมืองย่าโมซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ -หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ณ ศาลากลางจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมเป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียน ขอให้ผู้ว่าฯมีคำสั่งชะลอการรื้อย้ายบ้านสมาชิกเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม 28 หลัง โดยให้ทำได้หลังบ้านพักชั่วคราวสร้างแล้วเสร็จ

นายนิยม พินิจพงษ์ ตัวแทนเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ระบุว่าปัญหาการไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟของสมาชิกเครือข่ายริมรางเมืองย่าโมนั้น ได้มีการหารือแนวทางการย้ายชุมชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา แต่การจะย้ายแบบกระชั้นชิดในช่วงนี้ไม่สามารถทำได้ “ตอนนี้ชาวบ้านย้ายไม่ทันแน่ ๆ เพราะมีเวลาแค่ 7 วัน แล้วพื้นที่ชุมชนใหม่ที่เราจะย้ายไปก็ยังไม่มีความพร้อมเรื่องน้ำ-ไฟ เลยต้องไปขอให้ผู้ว่าฯ มีคำสั่งชะลอการเร่งรัดย้ายชาวบ้านออกนอกพื้นที่ ซึ่งวันนี้ก็มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรมไปติดตามเรื่องให้ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการคุยกันแล้วว่า ขอให้ชาวบ้านไปอยู่ใหม่ก่อน ตามที่ได้หารือภายใต้การทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”   

รายละเอียดในหนังสือร้องเรียน ระบุถึงความทุกข์ร้อนของสมาชิกชุมชนที่ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มีคำสั่งเร่งด่วน ใน 2 ข้อ ดังนี้

1.ให้เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ และบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่กำลังดำเนินงานอยู่ในพื้นที่ ยุติการกระทำใด ๆ อันเป็นการกดดัน หรือส่อไปในทางข่มขู่ คุกคาม ให้สมาชิกของเครือข่ายฯ 28 หลังคาเรือน รื้อย้ายที่อยู่อาศัย จนกว่าเครือข่ายฯ จะก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวและระบบสาธารณูปโภคจนแล้วเสร็จ และสามารถย้ายเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านพักชั่วคราว โดยได้รับความช่วยเหลือในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการย้ายที่อยู่ใหม่ทั้งจากการรถไฟฯ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อตกลงที่เกิดขึ้น ซึ่งระบุไว้ในรายงานผลการร่วมศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ด้วย

2.ให้จังหวัดนครราชสีมา นัดหมายการประชุมระหว่าง การรถไฟฯ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม เพื่อร่วมกันวางแผนการรื้อย้ายชุมชน และการประสานให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการย้ายที่อยู่ใหม่ของสมาชิกเครือข่ายฯ 28 ครัวเรือน ไปยังพื้นที่พะไล หลังจากที่บ้านพักชั่วคราวสร้างแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ หนังสือยังระบุว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รถไฟ (อบ.) ได้นำคณะผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาในชุมชนประสพสุข แจ้งว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะใช้พื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสมาชิกเครือข่ายฯ ในการเบนแนวรางเดิมและก่อสร้างถนนในโครงการฯ ให้ชุมชนขนย้ายสิ่งของและที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ต่อมามีข้อตกลงการเจรจาในช่วงที่คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมฯ ลงพื้นที่ในชุมชนของเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565 ว่า

  1. การรถไฟฯ จะทำหนังสืออนุญาตให้สมาชิกเครือข่ายฯ ในกลุ่มเลียบนคร และชุมชนประสพสุข 28 หลัง สามารถเข้าที่ดินขอเช่าแปลงพะไลไปสร้างบ้านพักชั่วคราวในที่ดินได้ ก่อนที่การรถไฟฯ จะอนุมัติสัญญาเช่าที่ดิน ซึ่งมีการนัดหมายรับมอบสัญญาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565
  2. การรถไฟฯ เตรียมแผนการรื้อย้ายชุมชนและประสานให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการย้ายที่อยู่ใหม่ของสมาชิกเครือข่ายฯ 28 ครัวเรือน ไปยังพื้นที่เช่าใหม่ที่บ้านพะไลก่อน เพื่อสร้างบ้านพักชั่วคราวก่อนการรถไฟฯ จะทำสัญญาเช่าให้ชุมชน

อนึ่ง ชุมชนริมรางในเมืองโคราช ส่วนใหญ่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่เข้ามาบุกเบิกแผ้วถางที่ดินรกร้างริมรางรถไฟ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย และสร้างโอกาสในการทำมาหากินอยู่ในเมืองมายาวนานกว่า 60 ปี ปัจจุบันเครือข่ายริมรางเมืองย่าโมยังคงขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกับอีกหลายชุมชนทั่วประเทศ เช่น เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายชุมชนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ ขอนแก่น โดยมีหลักการในการเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สิทธิของคนจนในการอยู่อาศัยในเมือง เปลี่ยนการไล่รื้อเป็นการจัดหาที่อยู่อาศัยมั่นคงให้กับคนจนและผู้มีรายได้น้อยในเมือง โดยใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย คำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีอาชีพ การดำรงชีวิตของชุมชนผู้มีรายได้น้อย มีรูปแบบการอยู่อาศัยอาจเป็นรูปแบบบ้านมั่นคงแนวราบ บ้านแถว อาคารสูง หรือ อาคารสูงผสมอาคารแนวราบ ทั้งนี้ ต้องให้ชุมชนเจ้าของปัญหามีส่วนกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาและรูปแบบที่อาศัย ผ่านกลไกคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับการรถไฟฯ, กระทรวงคมนาคม  รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ