‘เขื่อนหลวงพระบาง’ กับ ‘ธนาคารไทย’ และคำถามถึงการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ

‘เขื่อนหลวงพระบาง’ กับ ‘ธนาคารไทย’ และคำถามถึงการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ

นักวิชาการชี้ โครงการเขื่อนหลวงพระบาง มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,460 เมกะวัตต์ แต่สวนทางความจำเป็นต่อการใช้ไฟฟ้าของคนไทย พบบริษัทไทยถือหุ้นโครงการมากสุด 80% พร้อมเล็งทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้านาน 35 ปี หากยังเดินหน้าสร้างโครงการ เสี่ยงกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง จี้เรียกร้องธนาคารไทยควรพิจารณาก่อนให้สินเชื่อ

วงสัมมนา “ความเสี่ยงในการให้เงินกู้ กรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง”

จากการสัมมนาหัวข้อ การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ กรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบางบนแม่น้ำโขงสายประธาน จัดโดย Fair Finance Asia (แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมเอเชีย) และ Fair Finance Thailand (แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 มีการตั้งคำถามสำคัญถึงกระบวนการ ‘การให้สินเชื่อ’ ของสถาบันการเงินในประเทศไทยในโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่าง “โครงการเขื่อนหลวงพระบาง” ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 

ไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานการรณรงค์องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเสนอถึงข้อมูลความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่น่าสนใจ และควรพิจารณาก่อนมีการลงทุนใดๆ ในโครงการดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอถอดความและเรียบเรียงมานำเสนอ

โครงการเขื่อนหลวงพระบาง กับสัญญาขายไฟฟ้า 35 ปี นานที่สุดที่ไทยเคยมี

ไพรินทร์ ให้ข้อมูลว่า แม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีความสำคัญกับประชาชนกว่า 65 ล้านคนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำสายนี้ เป็นลุ่มน้ำที่ผ่านประเทศจีน พม่า ลาว ไทย และเวียดนาม ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่มีปริมาณการจับปลามากที่สุดในโลก เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ปลา และ 2 ใน 3 ของพื้นที่ถือว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ส่วนจุดสร้างโครงการเขื่อนหลวงพระบาง อยู่บริเวณบ้านห้วยย้อ เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง บริเวณปากแม่น้ำอูห่างไป 4 กิโลกเมตร ซึ่งเป็นปากแม่น้ำที่สำคัญที่อยู่ทางเหนือของ สปป.ลาว และมีถ้ำปากอู หรือ ถ้ำติ่ง ที่เป็นพื้นที่ความเชื่อทางวัฒนธรรมของชาวลาว ซึ่งห่างจากตัวเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง 25 กิโลเมตร และเหนือเขื่อนไชยะบุรีประมาณ 130 กิโลเมตร 

ทั้งนี้ ตอนบนของแม่น้ำโขงมี 14 เขื่อนในจีน สร้างเสร็จแล้ว 13 แห่ง และตอนล่าง 11 แห่ง ที่กำลังดำเนินการ โดยมี 8 เขื่อนจาก 11 เขื่อน มีเป้าหมายเพื่อขายไฟฟ้าให้กับไทย หนึ่งในนั้นคือ โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ที่มีเป้าหมายขายไฟฟ้าให้ไทยนานถึง 35 ปี ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาที่นานที่สุดที่ไทยเคยมี 

“โครงการเขื่อนหลวงพระบาง มีเป้าหมายที่จะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย โดยมีระยะซื้อขายเป็นสัญญา 35 ปี แต่ปัจจุบันแม้โครงการยังไม่ได้มีการเซ็นต์สัญญา แต่ว่าในพื้นที่เราพบเรื่องการเตรียมการของผู้พัฒนาโครงการแล้วระดับหนึ่ง คือ มีการสร้างแคมป์คนงาน มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง และมีการย้ายชาวบ้านที่อยู่ตรงหัวงานเขื่อนแล้วประมาณ 74 ครอบครัว” ไพรินทร์ กล่าว 

ไพรินทร์ ระบุว่า โครงการเขื่อนหลวงพระบางมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,460 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท ผู้พัฒนาโครงการหลัก คือ บริษัท หลวงพระบางพาวเวอร์ จํากัด จดในทะเบียนในลาว โดยมีผู้ถือหุ้นหลักคือ CK.Power PCL 42%, CH. Karnchang 10%, PT Sole 38% (ข้อมูล ณ ต.ค. 2565)  ซึ่งทั้งสามบริษัทนี้เป็นบริษัทไทยที่อยู่ในเครือเดียวกัน ดังนั้น 80% สามารถพูดได้ว่าผู้ถือหุ้นของโครงการนี้ คือ บริษัทไทยทั้งหมด นอกจากนั้นเป็นบริษัท Petro Vietnam Power 10%

ไพรินทร์ ระบุว่า กรณีเขื่อนหลวงพระบาง ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 ที่ว่าด้วยระเบียบปฎิบัติ การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedure for notification, Prior consultation and Agreement : PNPCA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ในมาตราที่ 5 ที่ว่าด้วยการหากประเทศใดที่ต้องการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงเป็นหลัก ทางประเทศนั้นจะต้องมีการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นเข้าสู่กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้ากับคณะกรรมาธิการก่อน ซึ่งกรณีเขื่อนหลวงพระบาง เป็นโครงการที่ 5 ที่ถูกหารือในกระบวนการนี้ 

ผลคือ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 (พ.ศ.2563) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ ไทย ลาว เวียดนาม พม่า ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบางทำการศึกษามาตรการลดผลกระทบเพิ่มเติม โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะรัฐบาลเวียดนามได้เสนอถึงข้อกังวลที่ 4 ประเทศเสนอไปนั้น ว่าต้องมีการทำให้เสร็จก่อนที่จะมีการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ พร้อมเสนอว่า ให้หาทางเลือกอื่นในการผลิตไฟฟ้าที่มีผลกระทบน้อยกว่าเขื่อน 

ไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานการรณรงค์องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่ธนาคารไทยควรพิจารณาก่อนให้สินเชื่อ

ไพรินทร์ สรุปความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล หากมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ดังนี้

1. ไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 1,460 เมกะวัตต์ ไม่มีความจำเป็นต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนไทยเลย เพราะการซื้อกำลังการผลิตจำนวนนี้ เสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนไทยจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้น ทั้งที่ปัจจุบันคนไทยก็จ่ายค่าไฟแพงมากอยู่แล้ว 40-50% 

2. ความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ซึ่งจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคของ MRC ที่ได้พูดถึงกรณีเขื่อนหลวงพระบาง โดยเฉพาะเรื่องตะกอน มีข้อกังวลที่สำคัญว่า เมื่อเขื่อนมีการทำงานทุกวัน ดังนั้น จะทำให้มีการกักตะกอนที่ไหลมาจากข้างบน รวมไปถึงระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ย่อมส่งผลกระทบต่อตลิ่งตั้งแต่ตัวเขื่อนไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง ซึ่งอาจจะทำให้ตลิ่งของแม่น้ำโขงพังลง

นอกจากนี้ในรายงานการประเมินของผู้พัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ไม่ได้พูดถึงความเสี่ยงด้านการประมง และนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง ทั้งที่การประมงเป็นเรื่องสำคัญของวิถีชีวิตชาวบ้าน แต่ในรายงานที่บริษัทพัฒนาโครงการนำมาเสนอต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่มีการพูดถึงว่าความเสียหายจะมากเท่าไหร่ และจะมีมาตรการลดผลกระทบเรื่องการประมงอย่างไรบ้าง รวมไปถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคมข้ามพรมแดน และในรายงานยังไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจนในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดน ผู้เชี่ยวชาญของ MRC จึงเสนอให้เจ้าของโครงการพัฒนาทำมาตรการผลกระทบข้ามพรมแดนที่มีความครอบคลุม

3. ประเด็นที่สำคัญ พบว่า ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบางไม่ได้มีการทบทวนบทเรียนจากผลกระทบการสร้างเขื่อนไชยะบุรี เขื่อนหลวงพระบางมีการดำเนินการแบบแผนตามเขื่อนไชยะบุรี ซึ่งประเด็นสำคัญในการถกเถียงและถูกพูดถึงมากที่สุดจากการสร้างเขื่อนไชยะบุรีก็คือ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศ และเขื่อนไชยะบุรีไม่ได้มีการทำรายงานปลกระทบข้ามพรมแดนด้วย 

ทั้งนี้ในกรณีเขื่อนไซยะบุรี ผลกระทบข้ามพรมแดนที่เห็นได้ชัดหลังจากมีการเปิดใช้ ในปี 2562 สิ่งที่เกิดขึ้นคือระดับน้ำที่ลดลงผิดปกติ ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงใส ไร้ตะกอน  สอดคล้องกับรายงานร่วมเพื่อติดตามข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของ MRC (Joint Environment Monitoring Report) ที่บอกว่า มีการลดลงอย่างมากของการสะสมของตะกอนบริเวณท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี และความหลากหลายทางชีวภาพด้านการประมงลดลงอย่างมากถึง 40-60% 

4. นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว และความปลอดภัยของเขื่อน เนื่องจากเขื่อนหลวงพระบางตั้งอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนเดียนเบียนฟู ซึ่งเป็นความเสี่ยง ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาขอให้มีการทบทวนด้านความปลอดภัย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยเรื่องความคืบหน้า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ตัวเขื่อนที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงพระบางเพียง 25 กิโลเมตร จะส่งผลกระทบต่อเมืองหลวงพระบางที่เป็นเมืองมรดกโลกด้วย 

5.เนื่องจากเมืองหลวงพระบางที่เป็นเมืองมรดกโลก ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกเรียกร้องให้รัฐบาลลาวทำรายงานเพื่อดูว่าจะเกิดผลกระทบอะไรต่อเมืองมรดกโลกหรือไม่ และจะมีมาตรการเพื่อลด ป้องกันผลกระทบอย่างไร

ทางยูเนสโกได้ลงพื้นที่หลังจากได้รับรายงานจากทางลาว แล้วพบว่ารายงานที่ลาว และผู้พัฒนาโครงการส่งให้ยังไม่เพียงพอ และครอบคลุมที่จะตอบคำถามเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทางยูเนสโกจึงเสนอให้ผู้พัฒนาโครงการชะลอการก่อสร้าง หรือย้ายที่ตั้งเขื่อนออกไปให้ห่างจากพื้นที่ตรงนี้ และทางยูเนสโกก็แจ้งมายังกระทรวงพลังงานของไทยให้ชะลอการซื้อขายไฟฟ้าไปก่อน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าของการตอบรับข้อเสนอดังกล่าว

6.ส่วนความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน พบว่า แม้โครงการฯ จะยังไม่เซ็นสัญญาแต่พบการเตรียมการของผู้พัฒนาโครงการแล้ว เช่น การสร้างแคมป์คนงาน สะพานข้ามโขง และเคลื่อนย้ายประชาชนลาวแล้ว 1 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นความเสี่ยงเรื่องการอพยพ และการดำรงชีวิตของชาวบ้าน 

ทางผู้พัฒนาโครงการได้ใช้แบบแผนเดียวกับกรณีเขื่อนไซยะบุรี คือมีการสร้างบ้าน สร้างวัด สร้างโรงเรียน สาธารณูปโภคอื่น ๆ ให้กับชาวบ้าน แล้วก็จะมีการช่วยเหลือ 3 ปี แต่ว่าบทเรียนในกรณีเขื่อนไซยะบุรี มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับการอพยพไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ว่าเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จไหม เนื่องจากเดินทางเข้าไปยากมาก ซึ่งชาวบ้านที่หลวงพระบางก็พูดมาในทางเดียวกันว่า จะมีชีวิตอยู่ในหมู่บ้านใหม่ได้อย่างไร เนื่องจากอยู่ห่างจากพื้นที่ทำกินกว่า 10 กิโลเมตร แล้วตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับที่ดินในการทำการเกษตร 

ท่าทีและความรับผิดชอบต่อการให้สินเชื่อของธนาคารไทย 

ไพรินทร์ ระบุว่า หากจะพูดถึงความรับผิดชอบต่อการให้สินเชื่อของรัฐบาลไทย จากการทำงานร่วมกันในนามของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมมาตลอด 4-5 ปี พบว่าในธนาคารไทยมีการออก “Responsible Lending Guideline” ที่มุ่งในธนาคารทุกธนาคารที่เกี่ยวข้องนำหลักการเรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมมากขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ด้าน ดังนี้ 

  1. การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (leadership and responsible lending commitment)         
  2. การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) 
  3. การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน (Internal Implementation Mechanisms) 
  4. การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส (Transparency)

นอกจากนี้ทางสมาคมธนาคารไทยได้มีการออก ESG Declaration (ประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) รวมไปถึงการทำแนวปฏิบัติที่จะกำหนดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของสมาชิกธนาคารซึ่งมี 15 ธนาคารที่ได้ไปลงชื่อแล้วก็ออกประกาศร่วมกัน

สำหรับธนาคารไทยตอนนี้ มี 2 ธนาคารที่มีความคืบหน้า คือ 1.) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ประกาศเข้าเป็นสมาชิก Equator Principle (กรอบการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงินที่ได้ชี้แนะแนวทางในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเป็นระบบสำหรับการพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ ที่มา: SCB) โดยเป็นธนาคารที่มีแนวทางปฏิบัติในการให้สินเชื่ออุตสาหกรรมเฉพาะในเรื่องเขื่อน ที่มีอ่างเก็บน้ำขนาด 100 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป แล้วก็พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป ส่วนความเสี่ยงด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญก็พูดเรื่องการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ การสูญเสียพื้นที่ชุมชน การยอมรับจากชุมชนในพื้นที่ 

“ถึงแม้ว่าจะมีแนวทางปฏิบัติเรื่องการให้สินเชื่อเฉพาะ แต่ว่าก็ไม่มีการระบุถึงผลกระทบจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่อาจจะมีผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งใหญ่กว่าโครงการเขื่อนที่อยู่ใน policy ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเราคิดว่าต้องให้ธนาคารไทยพาณิชย์มีการปรับแนวทางเรื่องการให้สินเขื่อโครงการที่มีผลกระทบข้ามพหรมแดนมากขึ้น” ไพรินทร์ กล่าว

ข้อท้าทายของการนำไปปฏิบัติในการให้สินเชื่อของธนาคารไทย

ผลักข้อเสนอให้เขื่อนแม่น้ำโขงเป็นสินเชื่อต้องห้ามของธนาคาร (Exclusion list)

ผู้ประสานงานการรณรงค์องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังกล่าวอีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมฯ พยายามที่จะคุยกับธนาคารในฐานะของภาคประชาสังคมและตัวแทนของประชาชน จนทางองค์กรได้มีโอกาสได้รับเชิญจากธนาคารแห่งประเทศไทย และเคยมีการส่งหนังสือเรียกร้องไปถึง 6 ธนาคาร (ประกอบด้วย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) ที่เคยเป็นผู้ให้กู้ในโครงการเขื่อนไซยะบุรี เพราะกังวลว่า 6 ธนาคารที่เคยให้กู้จะให้กู้อีกครั้งกับกรณีเขื่อนหลวงพระบาง

มีการเสนอให้แต่ละธนาคารให้มีการพิจารณาความเสี่ยงเรื่องการให้เงินกู้ โดยเฉพาะกรอบความเสี่ยงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล มาประกอบในการตัดสินใจ และมีการเสนอให้แต่ละธนาคารนำโครงการเขื่อนไฟฟ้าในแม่น้ำโขงเข้าไปใน Exclusion list ของธนาคาร 

“อยากให้ผู้ลงทุนหรือผู้ให้สินเชื่อได้นำหลักการสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเป็นกรอบการพิจารณาให้สินเชื่อ เพราะมีตัวอย่างจากเขื่อนไซยะบุรีที่มีผลกระทบไม่เฉพาะไทย แต่ยาวถึงเวียดนาม แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสำคัญของคน 65 ล้านคน ไม่ควรมีใครแสดงความเป็นเจ้าของ เอาทรัพยากรไปทำกำไร ขณะที่ประชาชนต้องแบกรับผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น ชาวบ้านในลาวต้องอพยพจากพื้นที่เดิมที่อยู่มาไม่รู้กี่ร้อยปี และประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำโขงก็ต้องใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อน และขอให้ธนาคารไทยประกาศรับหลักการ Equator Principle และประกาศนโยบายเพิ่มกรณีเขื่อนแม่น้ำโขงเป็นสินเชื่อต้องห้ามของธนาคาร (Exclusion list)” ไพรินทร์ กล่าว 

ทั้งนี้ช่วงท้ายของวงเสวนา ไพรินทร์ ตอบคำถามของตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศถึงท่าทีในการให้เงินกู้ของธนาคารว่า ธนาคารในประเทศยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนมากต่อการให้เงินกู้ในเขื่อนแม่น้ำโขง และตอนนี้ทางไพรินทร์ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีธนาคารไหนประกาศว่าจะไม่ให้เงินกู้กับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไพรินทร์ และองค์กรเครือข่ายอยากได้ยิน

ไพรินทร์ กล่าวต่อถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อการให้สินเชื่อของธนาคารไทยว่า แนวร่วมฯ ในฐานะภาคประชาสังคมได้มีโอกาสพูดคุยเพื่อให้ข้อมูลกับธนาคารที่เกี่ยวข้องที่คาดว่าจะให้กู้กับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง เพื่อขอให้พิจารณาใช้กรอบด้านความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล เป็นหนึ่งในการตัดสินใจ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีธนาคารไทยใดที่มีท่าทีชัดเจน

ไพรินทร์ ระบุว่า ความท้าทายที่สำคัญต่อการให้เงินกู้ของสถาบันการเงินในเมืองไทยเพื่อพัฒนาโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก ทางเครือข่ายแนวร่วมทางการเงินที่เป็นธรรมได้เสนอให้ธนาคาร ปรับปรุงเรื่องการให้สินเชื่อที่เข้มแข็งขึ้น โดยต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยนำหลักการเช่นเดียวเดียวกับธนาคาร SHBC และ standard chartered ที่ระบุชัดเจนว่าจะไม่ให้สินเชื่อโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขกรอบการตัดสินใจของคณะกรรมการเขื่อนโลก (WCD) ที่มีการกำหนดแนวปฏิบัติอย่างรอบด้านเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะ

000 

คลิกชมเสวนาย้อนหลัง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ