นับเป็นปีที่ 3 แล้ว ที่คนทวาย ประเทศเมียนมา ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ปีนี้จึงมีการจัดงาน คิดถึงทวาย ครั้งที่ 3 “ตัวอยู่ไกล ใจอยู่บ้าน” โดยนอกจากการมาแบ่งปันความคิดถึงแล้ว ในวงเสวนา แรงานพม่า : สิทธิ อาศัย ทำงาน กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ชวนมองความเปลี่ยนแปลงในทวาย ชีวิตที่ต้องพลิกผัน รวมถึงสถานการณ์แรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาในเมืองไทย หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความรุนแรงในประเทศเมียนมา 1 ปีที่การเมืองในพม่าถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหารอีกครั้ง
สถานการณ์แรงงานเพื่อนบ้านในปัจจุบัน
อดิศร เกิดมงคล Migrant working group ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังผลกระทบโควิด-19 และการรัฐประหารในเมียนมา คือ จำนวนของแรงงานที่ลักลอบเขามาในแถบชายแดนไทยเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม หลัก ๆ คือ 1) กลุ่มที่หนีการสู้รบชั่วคราว ส่วนใหญ่มักอยู่แถวชายแดนเป็นหลัก 2) กลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง จะอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ 3) กลุ่มแรงงานที่มีเป้าหมายมาทำงานหารายได้ เพราะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศพม่า
อดิศร เล่าถึงความน่าสนใจ ว่า ไทยเจอสถานการณ์คนการลักลอบเข้ามาที่มีความรุนแรงขึ้น เช่น มีการขนคนเข้ามาในรถขนผัก นี่สะท้อนว่าสถานการณ์การเมืองในพม่ารุนแรงมากอย่างชัดเจน เพราะทำให้คนต้องหาทางหลบหนีเข้ามา และทางเลือกที่จะหลบหนีเข้ามาอย่างถูกกฎหมายก็ไม่ใช่ทางเลือกที่คนส่วนใหญ่ใช้ ทั้งนี้ ด่านพรมแดนทุกด่านของฝั่งพม่าทางบนบกปิดหมด แต่ฝั่งไทยยังเปิดในเส้นทางขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยังเข้าออกได้
ด้าน ศิววงศ์ สุขทวี Migrant working group ระบุว่าในอุดมคติตนเองนั่น อยากเห็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า เพื่อทำให้ชีวิตของคนที่ต้องเคลื่อนย้ายไปมามีชีวิตที่ดีขึ้น เข้าถึงการเดินทางที่ปลอดภัย เข้าถึงสิทธิทำงานที่ควรจะเป็น ควรจะเป็นคือ ความเจริญทั้งสองฝั่ง แต่ความเป็นจริงยังพบว่า รัฐบาลไทยกังวลกับการเข้ามาของคนพม่าในฐานะแรงงานค่อนข้างมาก การยอมรับแรงงานพม่าในประเทศไทยกลายเป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจอย่างจริงจัง ไม่มองเห็นถึงความเจริญในระยะยาว
ศิววงศ์ กล่าว่า ในขณะเดียวกันรัฐบาลพม่าก็มีความกังวลจากประเด็นความมั่นคง ตั้งแต่ความหวาดกลัวที่มีคนไทยบางส่วนที่ยังต่อต้านรัฐประหารประเทศพม่า รวมถึงการเดินทางออกไปทำงานในประเทศพม่าในฐานะช่องทางหลบหนี เอาเข้าจริงแล้ว การเปิดชายแดนของทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นคำตอบในปัจจุบัน เพราะคนพม่าจำนวนมากที่พยายามเดินทางเข้ามาในช่องทางปกติ มีความกังวลว่าจะมีการตรวจสอบจากทางเจ้าหน้าที่พม่าถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง จึงทำให้เลือกเส้นทางเข้าประเทศไทยอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงน้อยลง ผลตามมาคือทำให้การจัดการเอกสารในประเทศไทยมีความวุ่นวายเพราะเดินทางเข้ามาไม่ถูกต้อง
มุมมองการแก้ไขปัญหาระยะยาว
ทั้งนี้ ไทยเองก็ต้องการแรงงานเพื่อนบ้าน เพราะถือเป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่หากพูดถึงการพาเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ยังมีช่องทางน้อย ยิ่งในสถานการณ์การเมืองช่วงรัฐประหารทำให้เห็นได้ชัดมาก
อดิศร ระบุถึงประเด็นนี้ว่า การแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างเป็นระบบ มันควรเป็นการย้ายถิ่นฐานอย่างเสรีตามความต้องการจ้างงานของนายจ้างและต้องการทำงานของแรงงาน แต่ในเชิงการจัดการระยะสั้นที่ควรจะเป็นต้องมองให้เห็นปัจจัยของการเคลื่อนตัวของคนงานที่มีหลายลักษณะ แล้วทำให้ทุกกลุ่มได้รับโอกาสในการเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง เช่น ผู้ลี้ภัยจะมีการให้สถานะที่สามารถทำงานและอยู่ในประเทศไทยจนกว่าสถานการณ์ประเทศตนเองจะดีขึ้น หรือประเภทเข้ามาเป็นแรงงาน กลุ่มนี้เป้าหมายชัดเจนว่ามาทำงาน อาจจะต้องมีเรื่องของตัวระเบียบต่าง ๆ เข้ามาจัดการ
“ที่คิดว่าน่าสนใจคือ การจัดการชายแดน เพราะว่าปัจจุบันรัฐไทยจัดการชายแดนในเชิงของตัวคนไม่ได้ เพราะเราไม่มีกลไกคัดกรองคนที่เข้ามาในประเทศว่าเข้ามาเพราะสาเหตุอะไร เขาอยู่ที่ไหนบ้าง มาจากที่ไหน มีความเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์อย่างไรบ้าง ซึ่งกรอบวิธีคิดการทำงานของรัฐไทยที่ผ่านมายังไม่ได้มองกรอบสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก แต่มองปัญหาความมั่นคงเป็นหลักมากกว่า ทำให้ประเด็นสิทธิถูกมองข้ามไป” อดิศร กล่าว
อนาคตแรงงานควรเดินหน้าไปอย่างไรต่อ
Khaing Min Lwin (คายน์ มิน ลวิน) อาสาสมัครกลุ่มผู้ใช้แรงงานและทำงานมูลนิธิรักษ์ไทย ระบุว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันคือเรื่องของ ผู้ลี้ภัย สมัยก่อนผู้ลี้ภัยอาจจะมีฐานะระดับหนึ่ง แต่ ณ ปัจจุบันนี้ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ต้องหนีตายจากรัฐปะหาร ดังนั้น ความจำเป็นคือการได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัย และต้องหาช่องทางสร้างรายได้ คนที่เป็นผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพานายหน้าอยู่
อดิศร กล่าวว่า หลังรัฐประหารมีแรงงานพม่าที่เข้ามาในไทยแบบผิดกฎหมาย มีจำนวนมากถึงประมาณ 3-4 แสนคน โดยมีสถานะรอขึ้นทะเบียนเป็นสถานะแรงงานมากกว่าผู้ลี้ภัย
ด้าน ชาติชาย อมรเลิศวัฒนา Myanmar response network ระบุว่า สื่งที่ควรแก้ไขคือ ควรนำเข้าแรงงานที่ไม่ใช่เฉพาะแรงงานไร้ทักษะ หากมองดี ๆ แรงงานส่วนใหญ่ที่เข้ามา เป็นหมอก็มี แต่ถูกจับและอยู่ในห้องขัง ดังนั้น ต้องแก้ที่ตัวกฎหมายก่อน ว่าไม่ใช่เฉพาะแรงงานไร้ทักษะเท่านั้นที่เข้ามาทำงานที่ไทยได้ แต่ควรเป็นแรงงานที่มีทักษะด้วย อย่าลืมว่าในประเทศไทย มีผู้ลี้ภัย 50 สัญชาติแล้วเป็นผู้ลัยส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีทักษะ ความรู้ระดับสูงพอสมควร
ส่วน อดิศร มองว่า ขึ้นอยู่กับว่าไทยอยากเห็นอนาคตไปในทิศทางไหน ในระยะยาวไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่า ประเทศไทยหรือพม่าจะโตได้ในภูมิภาคเอเชีย มันอาจจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ทั้งไทยและแถบประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด
“ผมคิดว่าต้องวางที่ตัวคน และแก้ไขนโยบาย เราพบว่าบางภูมิภาคมีหลายสัญชาติ เป็นข้อดีของเศรษฐกิจในภูมิภาคนั้น เพราะคนสามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปลงทุนหรือสร้างสิ่งดี ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ เราต้องมาสร้างจิตนาการร่วมกันให้ได้ว่าท้ายที่สุด คนพม่าที่อยู่ในไทย ระยะยาวไทยและพม่าอยากเห็นสังคมนี้เป็นอย่างไร การเริ่มต้นสร้างคนก็จะตามมา โดยวางตัวนโยบาย” อดิศร กล่าว
มิติทางกฎหมายแรงงานในปัจุบัน
ศิววงศ์ ให้ข้อมูลว่าปัจจุบัน มี 2 กฎหมายที่สำคัญ คือ 1) มีการส่งข้อเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ประเด็นการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้คือ การยอมรับให้แรงงานที่มีสัญชาติไทยสามารถก่อตั้งเป็นสหภาพแรงงานได้ ซึ่งสำคัญในมาตรฐานสากล เพราะไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานสัญชาติใดก็ตามย่อมมีสิทธิที่จะรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้างได้
2) มีการพยายามจะแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เนื่องจากแรงงานเพื่อนบ้านถูกเก็บภาษีทุกเดือน ๆ มันจึงควรเป็นหลักการพื้นฐานที่ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทยคนอื่น ๆ ไม่ควรมีการแบ่งแยก และปัจจุบันพยายามจะแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. ประกันสังคม ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ ครม. คือ จะกำหนดเปลี่ยนว่า การสรรหาคณะกรรมการบริหารกองทุน จะขึ้นอยู่กับตามที่รัฐมนตรีแรงงานเป็นคนกำหนด กฎหมายฉบับนี้มันส่งผลทางอ้อมกับคนทำงานทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนทวายอย่างเดียว เราควรลุกขึ้นมาเรียกร้องในฐานะแรงงานคนหนึ่งของประเทศไทย
000