ย้อนรอยชีวิตแรงงาน : คนทำงานควรมีส่วนร่วมกำหนด “คุณค่าของงาน”

ย้อนรอยชีวิตแรงงาน : คนทำงานควรมีส่วนร่วมกำหนด “คุณค่าของงาน”

9 ตุลาคม 2565 เวที “คุณค่าของคน ≠ คุณค่าของงาน” จัดโดยเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาจารย์สมชายได้ให้ภาพของชีวิตแรงงานจากอดีตถึงปัจจุบัน แม้ว่าการจ้างงานจะมีการพัฒนาที่ดี แต่แรงงานก็ยังเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการผลิตเท่านั้น ยังพบเห็นว่าแรงงานยังคงถูกกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบทั้งในรูปแบบการจ้างงานแบบเดิมและการจ้างงานแบบใหม่ ทั้งนี้การให้คุณค่าของงานยังคงอยู่บนตรรกะของรัฐและนายทุนแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งควรมีการเปลี่ยนแปลงโดยคุณค่าของงานควรต้องถูกมองจากคนทำงาน และการให้ความหมายของงานจากแง่มุมของคนทำงานด้วย นอกจากนี้ยังให้ข้อคิดสี่ประการสำหรับขบวนการแรงงาน สหภาพแรงงาน และองค์กรขับเคลื่อนทางสังคมในการผลักประเด็นการจ้างงานและแรงงาน

อาจารย์สมชาย กล่าวว่า Modern Time เป็นหนังที่นำเสนอเกี่ยวกับแรงงานที่ทำงานในโรงงาน ในหนังคนงานทำงานมีหน้าที่ขันน๊อต แต่ขันน๊อตเพื่อไปทำอะไรคนงานไม่ทราบ ซึ่งในระบบทุนนิยมทำให้คนงานที่ทำงานในชิ้นเล็กๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการผลิตที่ใหญ่มาก ระบบอุตสาหกรรมภายใต้ระบบทุนนิยมซึ่งมีการสร้างการผลิตที่ทำให้คนกลายเป็นเพียงปัจจัยการผลิตเท่านั้น

ซึ่งที่ผ่านมามีข้อถกเถียงที่ว่า “มนุษย์กับงาน” ทำให้เกิดการแปลกแยกระหว่าง คนกับงาน งานที่เราทำ เราไม่ได้ภูมิใจ หรือทำให้รู้สึกว่ามันสร้างความภูมิใจให้กับเราอย่างไร เราเป็นเพียงแค่คนทำงานส่วนหนึ่งในท่ามกลางระบบที่ใหญ่ ในภาวะเช่นนี้เราเป็นเพียงปัจจัยการผลิต เราทุกคนที่เป็นแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจึงทำให้เรารู้สึกรวมกันว่าการจ้างงานในปัจจุบันที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรา “ไม่เห็นหัวเรา”  เห็นเพียงประโยชน์จากการใช้แรงงานจากตัวเรา  เมื่อพูดถึงระบบประกอบไปด้วยนายจ้าง คนที่จ้างเรา นายทุน อาจมีทั้งคนดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ระบบโดยรวมที่ไม่เห็นหัวเรา เช่นระบบประกันสังคมที่ไม่ได้ดึงเราเข้าไป หรือระบบประกันสังคมมีการคุ้มครองแต่ก็มีการคุ้มครองที่น้อยมาก

ระบบการจ้างงานที่ดั้งเดิม แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในโรงงาน เมื่อแรงงานอยู่ในโรงงานสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือคนงานทำงานคล้ายๆ กัน และอาจมีความรู้สึกที่คล้ายกันรวมกัน

ขอบคุณเจ้าของภาพถ่าย

นี่คือภาพของแรงงานอยู่ในโรงงานในช่วงระยะเริ่มต้นของอุตสาหกรรมทอผ้าในอังกฤษ ในช่วงต้นที่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าเราจะเห็นว่าคนทำงานเป็นเด็ก เขาออกแบบเครื่องมือให้เด็กทำงานได้ ซึ่งต่อมาภายหลังมีการต่อสู้ว่าต้องมีการกำหนดว่าเด็กต้องมีอายุขั้นต่ำเท่าไรจึงจะสามารถทำงานได้

การจ้างงานแบบดั้งเดิม ในระยะเริ่มต้น (อุตสาหกรรม) ค่าจ้างไม่ดี น้อยมาก ทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมง ระบบสวัสดิการไม่ดี การจ้างงานไม่ดี มีการกดขี่ขูดรีดเกิดขึ้นเยอะ  แนวคิดในตอนนั้นคือนายจ้างบอกว่าเราไม่ได้บังคับคุณนะ ถ้าไม่อยากทำก็ออกไป มีเด็กอีกจำนวนมากที่พร้อมจะเข้าสู่โรงงาน ในระยะแรกเขาบอกว่านี่คือเสรีภาพของแต่ละคน ใครอยากทำงานก็ทำ ไม่อยากทำก็ออกไป  ซึ่งการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบเห็นได้ชัดว่ามันอยู่ในตัวโรงงาน เมื่อแรงงานอยู่ในโรงงานทางออกของผู้ใช้แรงงานคือ “สหภาพ” คือต้องรวมกลุ่ม โดยลำพังตัวคนเดียวไปต่อรองกับนายจ้างมันไม่มีทางเป็นไปได้ การต่อรองคือสหภาพแรงงาน

สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการยกระดับของค่าจ้าง ในสังคมไทยเราจะคุ้นเคยกับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ในระยะเริ่มต้น (อุตสาหกรรม) เขาไม่ได้มีค่าแรงขั้นต่ำ แต่เขามีค่าแรงขั้นสูงซึ่งเป็นกฎหมายที่บอกว่านายจ้างห้ามจ่ายค่าจ้างเกินนี่ เพื่อบังคับไม่ให้นายจ้างดึงลูกจ้างกัน เช่นห้ามจ่ายค่าจ้างเกินกว่า 350 โรงงานใดจ่ายสูงกว่านี้ผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ในภายหลังผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพราะสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานเรียกร้องให้เกิดมาตรฐานการจ้างงานที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง สวัสดิการ วันหยุด สวัสดิภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงการพัฒนากลไกการเยียวยา การต่อสู้ต่อรองของแรงงาน สหภาพเป็นเครื่องมือการต่อรองที่สำคัญมาก

ภาพ:อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ภาพ:อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ในปัจจุบันสถานการณ์ของแรงงานยังอยู่ในโรงงาน ยังทำงานในโรงาน ทำงานในสถานประกอบการ และยังถูกเอารัดเอาเปรียบก็ยังมีอยู่เยอะ  ถ้าจะถามว่าต้องไปดูที่ไหนให้เห็นสถานการณ์ที่เห็นได้ชัดมาก ดูได้จากแรงงานเพื่อนบ้านเรา ที่ทำงานในแคมป์ก่อสร้าง ทำงานในสถานประกอบการ หรือทำงานในภาคการเกษตร ที่มีสวัสดิการ ค่าจ้าง ความปลอดภัย ค่อนข้างต่ำ นี่คือแรงงานกลุ่มหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพการจ้างงานที่มีปัญหา

มากกว่าทศวรรษที่มีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างสำคัญ  เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานในระดับโลกและส่งผลมาถึงสังคมไทย และมีการกระจายไปอย่างกว้างขวาง เราจะเห็นรูปแบบการจ้างงานระยะสั้น จ้างงานแบบพาสไทม์หรือฟรีแลนซ์มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในภาคเอกชน ในหน่วยงานรัฐก็มีการจ้างแบบนี้ด้วยเช่นกัน ราชการจะมีการจ้างงานแบบปีต่อปี แม้กระทั่งคนสอนหนังสืออย่างผม ตอนนี้ไม่ใช่เข้าไปเป็นราชการและเกษียณตอนอายุหกสิบปีแล้ว ตอนนี้เข้าไปก็ต้องมีการถูกประเมินเป็นช่วงระยะเวลา ซึ่งบางคนไม่ผ่านการประเมินก็ต้องออกไป เรากำลังอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานระยะสั้น ที่มีความมั่นคงสวัสดิภาพน้อยลง ผลการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อคนทุกๆ กลุ่ม แต่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือกลุ่มคนตัวเล็กๆ

วันนี้เรากำลังพูดถึง “Decent Work หรือ วันงานที่มีคุณค่า”  แต่เราต้องเผชิญกับ “Precarious Work หรือ งานที่ไม่มั่นคง”  ส่วนหนึ่งกำลังพูดถึงงานต้องมีคุณค่า งานต้องทำให้เราอยู่ได้ งานที่ต้องทำให้เราทำงานได้อย่างภาคภูมิใจ งานที่ต้องทำให้สามารถเลี้ยงเราและครอบครัวได้ สร้างความมั่นคงระยะยาว แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ทำให้งานไม่มั่นคงมากขึ้น นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

ภาพ: ประชาไท

ตอนนี้โรงงานมันอยู่ทุกที่ โรงงานมันใหญ่กว่าอดีต เราไม่ได้เข้าไปทำงานในโรงงาน แต่โรงงานมันเข้ามาครอบชีวิตเรา โรงงานอยู่ที่ไหน?

โรงงานอยู่บนท้องถนน ภาพของไรเดอร์ทำให้นึกถึงยามเช้าที่คนกำลังเข้าเรียงแถวไปทำงาน แต่การจ้างงานแบบใหม่ทำให้เกิดคำถามว่าใครคือนายจ้าง ถ้าแบบเดิมหากนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้เราน้อย เราก็เรียกร้องกับนายจ้าง ถ้านายจ้างไม่ให้ เราก็ต่อรองได้ อย่างเช่นบริษัทลดค่ารอบ (ไรเดอร์) จากสี่สิบบาท เหลือสามสิบสองบาท เหลือยี่สิบแปดบาท ถ้าทำงานในโรงงานอันนี้เขาเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนข้อตกลงสภาพการจ้าง อยู่ดีๆ นายจ้างจะมาลดไม่ได้ จะต้องผ่านการเจรจาต่อรองกันก่อน ต้องยื่นมาว่าจะลดเท่าไร แต่ผลปรากฏตอนบริษัทลดค่ารอบเขาถามไรเดอร์ไหม เขาประกาศเลยว่าจะลดจากสี่สิบบาทเหลือสามสิบสองบาท เหลือยี่สิบแปดบาท เพราะว่าอะไร เพราะนี่ไม่ใช่ลูกจ้างเรา นี่คือพาร์ทเนอร์  มีนักกฏหมายถกเถียงกันว่านี่เป็นลูกจ้างหรือไม่เป็นลูกจ้าง

ผมคิดว่านี่เป็นการจ้างงานอีกแบบหนึ่ง เรามีนายจ้าง แต่นายจ้างเราไม่เหมือนเจ้าของโรงงาน สภาพการจ้างที่ดูสับสน แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่มีนายจ้าง อย่างเช่นในสถานที่ราชการจำนวนมากตอนนี้งานทำความสะอาด ใช้วิธีจ้างบริษัททำความสะอาดเข้ามาทำความสะอาด (outsource) จ้างแม่บ้าน ซึ่งผลปรากฏคนที่มาทำงานแม่บ้านนอกจากบริษัทประเมินแล้ว ต้องถูกหน่วยงานราชการประเมินด้วย หมายความว่าอย่างไร มีนายจ้างกี่คนกันแน่ ถ้าแต่เดิมเป็นคนทำความสะอาดในมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานราชการ หัวหน้าก็คือหัวหน้าในหน่วยงาน แต่พอเราเปลี่ยนระบบการจ้างงาน จ้าง outsource เข้ามา แม่บ้านที่ทำงานในมหาวิทยาลัย อันหนึ่งคุณเป็นลูกจ้างบริษัทถูกประเมินจากบริษัท แต่คุณก็ถูกประเมินจากหน่วยงานราชการว่าทำงานดีหรือเปล่า  กลายเป็นว่ามีนายจ้างเพิ่มมากขึ้น นี่เป็นระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น ถ้าบริษัทไหนไม่ดี ไม่โอเค เราก็เปลี่ยน แต่สำหรับคนทำงานมันเป็นการจ้างงานที่ไม่มั่นคงมากขึ้น

ภายใต้ความไม่มั่นคงก็เกิดปัญหาที่ไม่ถูกเรียกว่าลูกจ้างแต่เรียกว่า พาร์ทเนอร์ (ไรเดอร์)  คำว่า พาร์ทเนอร์ฟังดูแล้วเหมือนมีความเท่าๆ กัน แต่ตอนลดค่ารอบไม่ถามกันก่อน เป็นพาร์ทเนอร์กันอย่างไร? การตัดสินใจแค่ฝ่ายเดียวไม่ได้เรียกว่าพาร์ทเนอร์ ความหมายของพาร์ทเนอร์ คือหุ้นส่วน หมายถึงการที่คุณลงทุนทำธุรกิจเป็นหุ้นส่วนกับใคร เวลาที่จะลงขันกันก็จะบอกว่ากำไรแบ่งกันเท่าไร ต่อรองกันได้ ไม่ใช่วันดีคืนดีมาบอกว่า ให้เธอแค่เนี่ยนะไม่สามารถต่อรองได้ อย่างนี้ไม่ใช่พาร์ทเนอร์ มันคือลูกจ้างที่ไร้ความสามารถการต่อรองอย่างสิ้นเชิง

ช่วงแรกที่มีการเกิดอาชีพไรเดอร์ คนส่วนมากก็จะพูดว่านี่คืออาชีพที่อิสระ ซึ่งต่อมาถึงตอนนี้หลายคนตระหนักได้ว่ามันอิสระจริงหรือเปล่า หรือว่าเราต้องขูดรีดตัวเองเพิ่มมากขึ้น หากเราทำงานบริษัทหรือทำงานข้าราชการทำงานตั้งแต่ 8:00 ถึง 16:00 แปดชั่วโมงมีเวลาพักหนึ่งชั่วโมง แต่เมื่อเป็นไรเดอร์ถ้าทำงานแปดชั่วโมง ผมไม่มั่นใจว่าจะมีรายได้เพียงพอต่อการยั่งชีพไหม นอกจากนี้อาชีพสมัยใหม่มักจะผลักให้ต้องรับผิดชอบตัวเอง นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ ที่ยกตัวอย่างไรเดอร์เพราะเป็นอาชีพและมีปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดว่า ไรเดอร์ต้องซื้อรถเอง ใช้โทรศัพท์ของตัวเอง ค่าอินเตอร์เน็ท หมวกกันน๊อค คือทั้งหมดเป็นของตัวเองหมด

เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยี แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุดมการณ์ที่เปลี่ยนไป อุดมการณ์ของการขยายตัวของธุรกิจขนาดใหญ่ การขยายตัวของกลุ่มทุนและใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งดึงกลุ่มคนเข้าไป แต่การดึงคนเข้าไปในแบบที่อยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคง

เมื่อพูดถึง คุณค่าของงาน และ คุณค่าของคน มีสี่เรื่องสำคัญที่พวกเราต้องคิดถึงกัน

  1. “คุณค่าของงานควรต้องถูกมองจากคนทำงาน และความหมายของงานจากแง่มุมของคนทำงานด้วย ไม่ควรปล่อยให้รัฐ นายจ้าง หรือ ระบบทุนคิดอย่างเดียวว่าอันใดสำคัญ พอคิดแบบนี้ก็จะนำไปสู่การจ้างงานใหม่ๆ เกิดขึ้น ที่ต้องถูกคิดถึง อย่างเช่น ไรเดอร์ ในเชียงใหม่ที่ช่วงฝุ่นมา ค่าตอบแทนก็ต้องเพิ่มมากขึ้น ฝุ่นมาหมายถึงคนทำงานต้องมีความเสี่ยงภัยมากขึ้น ก็ควรต้องได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันอนาคต
ขอบคุณเจ้าของภาพถ่าย

2. “การสร้างเครือข่ายคนทำงาน” อาจไม่ใช่ในรูปแบบสหภาพแรงงาน เพราะเงื่อนไขภายนอกมันเปลี่ยนไป แต่ต้องคิดถึงรูปแบบการรวมกลุ่มที่มีหน้าตาที่สอดคล้องกับแต่ละกลุ่ม  การรวมกลุ่มมีความสำคัญในการต่อรองกับนายจ้าง หากเราโดยลำพังไปต่อรองกับนายจ้างผลที่เกิดขึ้นน้อยมาก  การรวมตัวไม่จำเป็นต้องรวมตัวกันระยาวอย่างสหภาพแรงงานก็ได้ มารวมตัวกันเฉพาะกิจในประเด็นที่ต้องการเรียกร้อง ที่ผ่านมาเราเห็นการเรียกร้องของไรเดอร์ในหลายที่หลายจังหวัด เช่นการประกาศวันนี้ไม่รับงานตั้งแต่เวลา 9:00 – 15:00 น. เป็นต้น

3. “แรงงานคือแรงงาน” ต้องยึดมั่นไว้อย่างนี้ว่า “แรงงาน คือ แรงงาน”  เรามีประโยชน์  เราได้ผลประโยชน์ เราได้รับผลกระทบ เราร่วมทุกข์ ร่วมสุข ด้วยกัน ในปัจจุบันมีมายาคติกับแรงงานเยอะแยะเต็มไปหมด และมีการแบ่งแยกแรงงานออกเป็นหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานเหมาช่วง และแรงงานข้ามชาติ การยอมรับการซอยแยกย่อยทำให้แรงงานมีความไกลกัน นั้นไม่ใช่พวกเรา เวลาเรียกร้องเราไม่สนใจ ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดคือช่วงสถานการณ์โควิด แรงงานเพื่อนบ้านเราที่อยู่ในระบบประกันสังคม ตอนรัฐบาลให้เยียวยาห้าพันบาท “โครงการเรารักกัน”  ผมได้สัมภาษณ์แรงงานไทใหญ่บอกว่า “พวกเธอรักกัน แต่ฉันถูกลืม”  ประกันสังคมจ่ายให้แรงงานที่มีสัญชาติไทย ถ้าไม่มีสัญชาติไทยเราไม่ให้ ทั้งๆ ที่อยู่ในระบบประกันสังคมเหมือนกัน เราต้องทลายมายาคติเหล่านี้ให้หมดไป และเมื่อมีการเรียกร้องต้องยืนบนฐานที่ว่า เราคือแรงงานเหมือนกัน เรามีประโยชน์ เราได้ประโยชน์ เราได้ผลกระทบ ระบบมันต้องครอบคลุมแรงงานทั้งหมด

4. “แรงงานคือมนุษย์” เวลาที่เราคิดถึงแรงงานต้องคิดถึงมิติความเป็นมนุษย์ เมื่อถึงดความเป็นมนุษย์ไม่ใช่คิดถึงแค่ช่วงระยะเวลาการจ้างงาน เรามีชีวิตที่ยาวหลังจากการทำงาน เรามีชีวิตที่ครอบครัวเรา เพราะฉนั้นระบบการการจ้างงาน ไม่ใช่เพียงแค่คิดถึงการจ้างงานเท่านั้น เราต้องคิดถึงระบบสวัสดิการโดยรวมของสังคมที่มีระบบรองรับคนในทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวัยผ่านพ้นจากการทำงาน เราต้องการสวัสดิการสังคมเช่นบำนาญประชาชนเป็นสิ่งที่ควรต้องได้รับการผลักดัน บำนาญสำหรับประชาชนหมายความว่าใครก็ตามไม่ใช่เฉพาะแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมอย่างเดียว แต่หมายถึงประชาชนทุกคนที่อยู่ในสังคมไทย แรงงานหลังวัยทำงาน ควรต้องมีระบบสวัสดิการรองรับเพื่อให้มีชีวิตอยู่ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  และเงินนี่ไม่ใช่เงินสงเคราะห์ นี่เป็นเงินที่เรามีสิทธที่จะได้รับ

เราอยู่ในสังคมแห่งนี้ และเราทำงานให้กับสังคมแห่งนี้ทั้งชีวิต ทำประโยชน์ให้กับทั้งหน่วยงาน องค์กร และสังคมโดยรวม เมื่อเราถึงวัยหลังการทำงานเราต้องมีสวัสดิการที่จะรองรับเราทุกคน สวัสดิการของข้าราชการที่เยอะเกิน จนล้น ต้องถูกนำมาปรับให้มาเป็นสวัสดิการของประชาชน ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นเวลาคิดที่จะผลักดันเรื่องการจ้างงานหรือแรงงาน เราต้องคิดถึงระบบสังคมใหญ่ที่จะรองรับเราทุกคนด้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ