เราคือแรงงานของเมือง : การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และสิทธิในเมืองใหญ่

เราคือแรงงานของเมือง : การเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และสิทธิในเมืองใหญ่

พฤษภาคม ช่วงเดือนที่คุกรุ่นด้วยข้อเรียกร้องและการต่อรองว่าด้วยเรื่องสิทธิและความเป็นธรรมของขบวนคนทำงาน เนื่องใน “วันกรรมกรสากล” 1 พฤษภาคม เพิ่มเติมด้วยความพิเศษของปี 2565 จากการกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ และ สก.ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 22 พฤษภาคม ทำให้กระแสการเมืองกลางมหานครคึกคักอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องของผู้ใช้แรงงานกลับไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในนโยบายของท้องถิ่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนี่คือประเด็นใหญ่ในเชิงนโยบายที่เป็นภาพรวมของคนทั้งประเทศ

ณ จุดนี้ สิ่งที่ลืมไม่ได้ คือ ประชากรกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่คน 4,374,131 คน (ข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พ.ค. 65) ที่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ยังรวมผู้คนอีกนับล้านที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในเมืองแห่งนี้

ศิววงศ์ สุขทวี เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ชวนทบทวนว่า ทำอย่างไรให้กรุงเทพมหานคร หน่วยปกครองท้องถิ่นที่ใหญ่และมีประชากรที่สุดในประเทศ ไม่ละทิ้งคนจำนวนมากที่ช่วยสร้างความเจริญของเมือง และหันกลับมามองผู้คนที่อยู่ในอาศัยในเมืองนี้ใหม่อีกครั้ง… ใครบ้างที่เมืองนี้ได้ทิ้งขว้างไปเป็น และจะสร้างชีวิตในทางกฎหมาย เพื่อให้ชีวิตทางการเมือง และคืนสิทธิในการกำหนดอนาคตของเมืองแห่งนี้ร่วมกันในอนาคตได้อย่างไร

000

ข้อเรียกร้องของแรงงานในวันกรรมกรสากลโดยสรุป

เมื่อ 1 พฤษภาคม วันกรรมกรสากล ที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานที่กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว คือการเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ ตรึงราคาสินค้าอุปโภค บริโภคและพลังงานเชื้อเพลิง และบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นข้อเรียกร้องกรณีเร่งด่วนในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งสิ้น

สำหรับข้อเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ดูเหมือนรัฐบาลชุดนี้จะสนใจความอยู่รอดของธุรกิจมากกว่าชีวิตและครอบครัวของแรงงาน ขณะที่ข้อเรียกร้องอีกจำนวนหนึ่งก็เป็นข้อเสนอเชิงโครงสร้าง ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างประกันสังคม มาตรการคุ้มครองลูกจ้างภาครัฐ การจ้างงานที่ไม่มั่นคง การจ้างงานแบบชั่วคราว สวัสดิการพื้นฐานสุขภาพ การศึกษาถ้วนหน้า โครงสร้างทางภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างเป็นธรรม รวมถึงการให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

กระนั้นก็ดี ข้อเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่มากเพียงพอ จะสร้างกำลังการบริโภค กำลังซื้อในประเทศ ที่ส่งผลต่อการผลิตของภาคธุรกิจอย่างแน่นอน และเป็นกำลังซื้อในระดับรากฐานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน มากกว่าการกระตุ้นไปที่ผู้บริโภคระดับสูงที่มีแนวโน้มจะไม่ใด้ใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงเป็นเงื่อนไขกึ่งบังคับให้ภาคเศรษฐกิจของเรา เปลี่ยนผ่านจากการใช้แรงงานเข้มข้นไปเป็นการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น เพียงแต่ผลกระทบเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในช่วงการปรับเพิ่มค่าแรงแบบก้าวกระโดดจะส่งผลต่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอเฉพาะกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังคงเรียกร้องให้มีการพิจารณาลดค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารลง ปราบปรามบุคคลที่เกี่ยวข้องที่หาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ เลิกทำเหมือนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นตู้เอทีเอ็ม และเลิกการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติกรณีเงินเยียวยาแรงงาน โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากโควิด-19 อย่างเท่าเทียม โดยปราศจากทัศนคติของการเลือกปฏิบัติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ จะต้องไม่ระบุคุณสมบัติเรื่องสัญชาติ

แต่ข้อเรียกร้องในวันแรงงานกลับไม่มีข้อใดเลยที่มุ่งตรงไปที่กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งที่ก็เป็นหน่วยงานบริการพื้นฐานที่มีผลต่อชีวิตของแรงงานประจำวันเช่นเดียวกัน

000

กรุงเทพมหานคร หน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนของประชาชน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แม้จะไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยตรง จึงไม่เคยถูกเรียกร้องให้มีนโยบายด้านแรงงานที่มากกว่าการส่งเสริมการมีอาชีพ แต่กรุงเทพฯ ก็เป็นพื้นที่ที่มีแรงงานอยู่มากที่สุด

นโยบายด้านแรงงานของกรุงเทพมหานคร ควรจะเริ่มจากลูกจ้างในสังกัดของตนก่อนเรื่องอื่น แม้ว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานจะยกเว้นการบังคับใช้กับหน่วยงานภาครัฐ แต่การยกเว้นนั้นก็คงไม่ได้หมายความว่าลูกจ้างภาครัฐจะได้รับการคุ้มครองต่ำกว่าภาคเอกชน ในทางตรงกันข้าม หน่วยงานภาครัฐควรจะทำให้เป็นตัวอย่าง รวมถึงกรุงเทพมหานครในฐานะนายจ้าง ควรยกระดับมาตรฐานการจ้างงานของตนเองขึ้นให้อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย แม้ว่าจะได้รับการยกเว้นตาม โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างรายวันของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นตัวอย่างได้

หน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงก็คงเป็นสำนักพัฒนาสังคม ที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องสวัสดิการสังคมและการส่งเสริมอาชีพที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เน้นตามกลุ่มประชากร และการส่งเสริมอาชีพเป็นหลัก ยังคงไม่มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งก็คงเป็นไปตามกฎหมายที่ไปมอบอำนาจให้กับหน่วยงานในส่วนกลางเป็นหลัก

ขณะที่ภารกิจหลักของกรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่นที่จัดบริการสวัสดิการพื้นฐาน ในพื้นที่ของตนเองนั้นก็เป็นบทบาทที่สำคัญในการช่วยเหลือ และลดภาระของคนทำงานในกรุงเทพมหานครได้มากอยู่แล้ว หากทำได้มีประสิทธิภาพ เพียงพอ และเป็นการจัดให้กับทุกคน เช่น ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก โรงเรียน สถานพยาบาล การจัดการที่อยู่อาศัย และหากทำในเชิงรุกที่เข้าไปในชุมชน สถานประกอบการ โรงงานก็ยิ่งจะเป็นการลดภาระได้มาก

อีกฐานะหนึ่งของกรุงเทพมหานคร กทม. ที่เป็น “ตัวแทนประชาชนในท้องถิ่น” ก็ควรจะเพิ่มบทบาทของตัวเองในการประสานงานและให้ความช่วยเหลือ กรณีการถูกละเมิดสิทธิแรงงานเพิ่มเข้ามา เนื่องจากกลไกของกรุงเทพมหานครก็มีมากกว่ากระทรวงแรงงานอยู่แล้ว สำนักงานเขตใน 50 เขต ศูนย์ฝึกอาชีพกว่า 20 แห่ง ซึ่งยังไม่รวมชุมชนจัดตั้งกว่าพันนแห่งในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย เพียงแต่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเท่านั้น ก็สามารถทำหน้าที่ประสานงานระหว่างแรงงานกับกระทรวงแรงงานก็น่าจะช่วยได้มาก

000

การเลือกตั้งกรุงเทพฯ ข้อเสนอเพื่อสร้างเมืองมีส่วนร่วมของทุกคน

แม้ว่าเราทุกคนจะเป็นคนทำงาน แต่ความเป็นแรงงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ไม่ควรถูกแยก หรือทำให้หายไปจากชีวิตภายในเมือง เรายังคงใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ในเมืองนี้เช่นเดียวกัน เราจึงมีอีกสถานะ คือ การเป็นผู้อยู่อาศัยในเมืองนี้ด้วย

กรุงเทพมหานครมีประชากรตามทะเบียนราษฎร 5.6 ล้านคน และถ้าหากรวมประชากรแฝงด้วย ก็คงมีมากเกินกว่า 10 ล้านคน ประชากรอีกเกือบ 5 ล้านคน คือใคร ส่วนใหญ่ที่สุดก็คือ คนต่างจังหวัดที่ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร จำนวนราว 4 ล้านคน อีกกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมากเป็นอันดับสองก็เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

สถิติจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วประเทศในปี พ.ศ.2564 จำนวน 2.35 ล้านคน ร้อยละ 24 (0.55 ล้านคน) อยู่ในกรุงเทพมหานคร และคาดว่ามีประชากรแรงงานข้ามชาติไม่มีเอกสาร หรือเอกสารหมดอายุ ในจำนวนใกล้เคียงกัน รวม ๆ ก็ประมาณอีก 1 ล้านคน

กลุ่มประชากรที่ตกหล่นและหายไปจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรุงเทพมหานคร คือคนทำงานจำนวนมากที่กำลังสร้างความเจริญให้กับกรุงเทพฯ พวกเขาเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ พวกเขาเป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาด้วยวัตุประสงค์ที่ไม่แตกต่าง ซึ่งที่ผ่านมาเมืองแห่งนี้ได้หลงลืมไป

ข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญของเมือง คือ ข้อมูลจำนวนประชากรผู้อยู่อาศัยของเมือง แต่คนกว่า 5 ล้านคนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ แต่กลับไม่มีข้อมูลพวกเขาในทะเบียนราษฎรของกรุงเทพมหานคร ทั้งที่อำนาจในการจัดทำทะเบียนราษฎรภายในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็อยู่ภายใต้สำนักงานทะเบียนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนี่ควรเป็นภารกิจสำคัญที่เป็นพื้นฐานที่สุดเรื่องหนึ่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ คือการทำฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรให้สอดคล้องกับความจริงมากที่สุดให้ได้ก่อน และนี่เป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครทำได้

การมีข้อมูลในทะเบียนราษฎรที่ดี ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงจะทำให้กรุงเทพมหานครสามารถบูรณาการกลุ่มประชากรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประชากรเป้าหมายในแผนพัฒนากรุงเทพมหานครได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านการกำหนดตัวชี้วัดและงบประมาณในแผนการดำเนินงานประจำปีของหน่วยงานภายในกรุงเทพมหานคร เช่น สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม

การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่คนที่อยู่อาศัยเกือบครึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งที่พวกเขาอยู่อาศัย หรือทำงาน หรือเรียนอยู่ในกรุงเทพมหานครในปัจจุบันก็ตามก็คงตอบสนองความต้องการของเมืองไม่ได้

กรุงเทพมหานครจึงไม่เคยเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าอาศัย น่าทำงาน เพราะประชากรกว่าครึ่งถูกกีดกันออกไป ไม่ได้มีอำนาจในการร่วมกำหนดอนาคตของเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่

000

ข้อเสนอเมืองเป็นธรรม เราจะร่วมกันสร้างได้อย่างไร

เมืองที่ดีต้องเริ่มต้นจากผู้ที่อยู่อาศัยมีอำนาจร่วมกำหนดอนาคตเมืองของพวกเขา ทำให้เมืองเป็นของผู้อยู่อาศัยทุกคน ทุกคนที่อยู่อาศัยในเมืองต้องมีตัวตนทางกฎหมาย มีชีวิตทางสังคมการเมือง และมีอำนาจในการกำหนดเมืองที่เขาอยู่ได้

เมืองที่ทำให้ทุกคนมีสถานะทางกฎหมายในเมืองแห่งนี้ การทำให้ทุกคนมีชื่อในทะเบียนราษฎรจะเป็นการสร้างตัวตนของผู้อยู่อาศัยทางกฎหมายขึ้นมา คนไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรนั้นเหมือนไม่มีตัวตนทางกฎหมาย มีเพียงร่างกายที่ถูกใช้เพื่อสร้างเมืองนี้ขึ้นมาเท่านั้น ทั้งที่พวกเขามีความสำคัญ แต่กลับเปราะบางเพราะการเป็นย้ายถิ่นเข้ามาในเมือง ทั้งที่เป็นคนไทยต่างจังหวัดที่มาทำงาน คนที่ไม่มีสัญชาติไทย แรงงานจากเพื่อนบ้าน นักเรียน นักศึกษา ที่อย่างน้อยอยู่มากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป

เมืองที่มีพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างสำหรับชีวิตสังคมการเมืองร่วมกัน ครอบครัวได้มาพักผ่อน เด็ก ๆ ได้ออกมาเล่น หนุ่มสาวได้ออกมาทำความรู้จักกัน ผู้คนที่หลากหลายมีที่ทางแสดงตามวัฒนธรรมของตนเอง แรงงานได้ออกมารวมกลุ่มแสดงออกกัน เมืองก็จะมีชีวิตมากขึ้น อาจเป็นชีวิตที่วุ่นวายหน่อย แต่ก็มีสีสัน

เมืองที่กระจายอำนาจในการกำหนดอนาคตของเมืองให้กับผู้ที่อยู่อาศัยทุกคน ผู้อยู่อาศัยทุกคนจะต้องมีสิทธิเลือกตั้ง แม้ว่าในปัจจุบันเราจะมีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น ๆ จะมีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากระเบียบ ข้อกฎหมาย และความกังวลในเรื่องต่าง ๆ แต่ในหลายเมือง ในหลายประเทศทั่วโลก ได้ให้ทุกคนที่อยู่อาศัยในเมืองมีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารระดับเมือง ระดับท้อง โดยไม่กำหนดสัญชาติ แต่อาจมีการกำหนดเวลาเช่นอยู่อาศัยมากว่า 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น

เมืองที่มีขนาดเหมาะสมกับภารกิจของตนเอง มันจึงไม่ควรใหญ่เกินไปจนไม่สามารถทำให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองมีชีวิตเข้ามามีส่วนร่วมไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรเล็กเกินไปจนไม่มีศักยภาพในการจัดบริการพื้นฐานที่ดีได้

เมืองที่ทำงานร่วมกับเมืองอื่น ๆ ในแนวราบเพื่อบริหารการเคลื่อนย้ายของผู้คน ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ควรจะต้องมีกลไกทำงานกับนายก อบจ. นายกเทศมนตรีในจังหวัดปริมณฑล ในการจัดการกับการเคลื่อนย้ายประชากรในแต่ละวันที่มีมากขึ้นด้วย

000

คุณเล่าเราขยาย : ประชากรแรงงานร่วมสร้างเมืองเป็นธรรม : https://www.facebook.com/citizenthaipbs/videos/1488688811600994

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ