สมัชชาสุขภาพแห่งชาติผนึก 280 เครือข่าย รับมือสารพัดปัญหาสุขภาวะคนไทยปี 2559

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติผนึก 280 เครือข่าย รับมือสารพัดปัญหาสุขภาวะคนไทยปี 2559

ปิดฉากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 ผนึกกำลัง 280 กลุ่มเครือข่าย รับมือสารพัดปัญหาสุขภาวะคนไทย ใน 5 ประเด็นหลัก 1.วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ 2.สุขภาวะชาวนา: การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา 3.ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม 4.นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ และ 5.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เสนอทั้ง 5 มติ ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต่อไป

20160201173320.jpg

ความพยายามสร้าง “สังคมสุขภาวะ” ที่ดีภายใต้กระบวนการ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในปีนี้ ถือเป็นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยการประชุมเมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม 2558 ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย” มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,400 คน จาก 280 กลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศ

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในปีนี้ 5 ประเด็น ประกอบด้วย วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ, สุขภาวะชาวนา: การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา, ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม, นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ 

20160201174013.jpg

ดร.ไชยยศ บุญญากิจ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 1 เปิดเผยว่า ในประเด็นเรื่องวิกฤติเชื้อแบคทีเรียดื้อยาฯ ขณะนี้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงผลักดันเป็น วาระแห่งชาติ และมีกลไกกลางระดับชาติ ขับเคลื่อนร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการปัญหาและบูรณาการโครงสร้างทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด ซึ่งสมัชชาสุขภาพจังหวัดตื่นตัวและเตรียมพร้อมกันมาก จึงเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือในการขับเคลื่อนอย่างแน่นอน 

ขณะที่ประเด็นสุขภาวะชาวนาฯ ได้เน้นสร้างความเข้มแข็งขององค์กรเครือข่ายชาวนา ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะชาวนา อาทิ การส่งเสริมการผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ปัญหาการตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งทุกอย่างควรต้องมีคุณภาพได้มาตรฐาน การใช้การตลาดนำการผลิต พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนาให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ดร.วณี ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 2 กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง ระบบสุขภาพเขตเมืองฯ ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ พร้อมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง ที่เน้น บริการปฐมภูมิ ที่เข้มแข็ง โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ อาทิ การให้บริการ บุคลากร ระบบสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ วัคซีน และเทคโนโลยี การเงินการคลังสุขภาพ เป็นต้น

ส่วนระเบียบวาระการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมฯ นั้น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กังวลต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาทางสุขภาพ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต จึงเสนอให้ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ และจัดทำแผนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเป็นการเร่งด่วน ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องออกมาตรฐานและข้อบังคับเกี่ยวกับปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารประเภทต่างๆ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า รวมทั้งการจัดทำฉลากแสดงข้อมูลปริมาณที่เหมาะสมและเข้าใจง่าย เช่น การใช้แถบสี มีการรณรงค์สื่อสารให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ลดการปรุงหรือเติมเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ปลาร้า บูดู กะปิ เป็นต้น

อ.ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 3 กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบ การทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะหลังจากขับเคลื่อนไปได้ 3 ปี พบว่า ปัญหาปริมาณหมอกควันยังไม่ลดลง และมีบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป 

ควรให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานรวม 2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานความร่วมมือสนับสนุนการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืน ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาระบบและบูรณาการแผนจัดการในระดับภาคและประเทศ และคณะทำงานขับเคลื่อนพลังชุมชนแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับจังหวัด ในทุกจังหวัดที่มีปัญหา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

20160201174051.jpg

สำหรับการขับเคลื่อนหลังจากนี้ จะมีการเสนอทั้ง 5 มติ ไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต่อไป

นอกจากนั้น ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ยังมีการนำมติในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา จำนวน 64 ประเด็น มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความก้าวหน้า ปัญหา และอุปสรรค โดยพบว่าส่วนใหญ่ขับเคลื่อนไปได้ดีในระดับจังหวัด พื้นที่ ชุมชน แต่ก็มีบางมติที่ยังเป็น ประเด็นท้าทาย ต่อไปในปี 2559 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน การคุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์ การรับมือสังคมผู้สูงวัย การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน เป็นต้น

ขณะเดียวกันในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยังมีการแสดงนิทรรศการให้ความรู้ การแก้ไขปัญหาประเด็นต่างๆ เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ผ่านกระบวนสมัชชาสุขภาพฯ หรือรูปแบบอื่นๆ โดยแต่ละองค์กร อย่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะท้อนถึงพลังองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งมากว่า 15 ปี 

สว่าง สุขแสง นักพัฒนาชุมชน ผู้ที่พยายามปลุกปั้นโครงการต่างๆ ในพื้นที่บ้านเกิดกว่า 20 ครัวเรือน ณ ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบในการปลุกชุมชนให้ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างความยั่งยืนในชีวิต และกำลังขยายผลไปอีกนับร้อยหมู่บ้าน

“ยังบอกไม่ได้ว่าประสบผลสำเร็จ เพราะมีหลายอย่างที่ต้องทำต่อ แต่ที่แน่นอน คือการรวมตัวของชาวบ้านได้ก่อรูปขึ้นแล้ว” 

ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ตำบลนี้ เป็นเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกข้าว และพืชไร่ กำลังมุ่งไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ โดย พอช. ไม่มีการยัดเยียดหรือสั่งการ แต่ชาวบ้านได้เรียนรู้และปรับพฤติกรรมของตนเอง ซึ่ง พอช. ได้นำสินค้าของชุมชนมาจำหน่าย อาทิ ข้าวกล้องอินทรีย์ ข้าวเหนียว ถั่วเขียว ตะไคร้หอม และผ้าทอ 

อีกนิทรรศการที่น่าสนใจ “ศูนย์เพื่อนไทยพีบีเอส” โดยองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่มาร่วมจัดแสดงและเผยแพร่การทำงานตลอด 8 ปีของการเป็นสื่อสาธารณะที่สร้างการเรียนรู้ด้านสุขภาวะให้กับผู้ชมทุกเพศทุกวัย 

“เราอาจนำเสนอเรื่องหนักๆ แต่ประเด็นที่เสนอล้วนตั้งอยู่บนเรื่องราวที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ ผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นพิษภัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และเป็นช่องที่จะคงความเชื่อถือของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะปล่อยให้เด็กดูช่องนี้ได้ แม้จะเป็นหนังหรือละครก็ตาม” บุษบา คุณากรสวัสดิ์ จากสภาประชาชนไทยพีบีเอส กล่าว 

ทุกหน่วยงานและองค์กร ที่มาร่วมจัดนิทรรศการและลานเสวนา สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ยังคงเดินหน้าภารกิจของตนเองอย่างต่อเนื่อง แม้ระยะเวลาของการผลักดันในบางประเด็น จะผ่านมานับสิบปี เพราะการแก้ปัญหาสุขภาวะที่ยั่งยืน จำเป็นต้องผ่านการเรียนรู้ พัฒนาและปรับปรุงให้ตรงสู่เป้าหมาย

20160201174035.jpg

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้ให้ข้อคิดทิ้งท้ายกับเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ว่า อยากให้ทุกฝ่ายอาศัย กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา (New Development Paradigm) ที่เน้น 6 เรื่อง ประกอบด้วย 

1. ต้องให้สุขภาพเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา ไม่ใช่กำไรสูงสุด ที่นำพาประเทศไปสู่การแย่งชิง ขัดแย้ง รวมถึงโลกที่ร้อนขึ้นอย่างในปัจจุบัน 

2. แนวคิด สุขภาพคือทั้งหมด (Health is the whole) ไม่ใช่เรื่องมดหมอหยูกยา และโรงพยาบาลเท่านั้น แต่เป็นการมองภาพรวมของนโยบายโดยไม่แยกส่วนอีกต่อไป        

“การปฏิรูประบบสุขภาพที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง 20 ปี ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่การปฏิรูปอื่นๆ ตามมา อาทิ ชุมชนเข้มแข็ง ปฏิรูปการศึกษาฯลฯ”

3. พระเจดีย์ต้องเริ่มสร้างจากฐานเท่านั้น จะสร้างจากยอดไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็พังลงมา เช่นเดียวกันประเทศต้องสร้างจากฐานรากคือความเข้มแข้งของชุมชน ประเทศจึงจะแข็งแรงและมั่นคง 

4. มุ่งแนวทางสาน สร้าง เสริม ไม่ใช่โค่นล้มกันเหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะทำให้ประเทศเกิดความอ่อนแอ

5. กระบวนการทำงานใหม่ ต้องอยู่กับความเป็นจริง โดยทุกคนเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์จริง เพราะการสอนแต่ท่องหนังสือ โดยไม่อยู่ในบริบทความจริง ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ 

6. สร้างสังคมเครือข่าย โดยเปรียบเครือข่ายเหมือนกับเซลล์สมองของมนุษย์ที่เชื่อมโยงกัน ทำให้มนุษย์สามารถมีชีวิตรอดได้ เช่นเดียวกับสังคมเครือข่าย ที่มีแต่จะกว้างออกไป แม้จะมีใครล้มหายตายจาก แต่เครือข่ายก็ยังขยายต่อไปได้

นี่คือบทสรุปการขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาวะ ที่มุ่งเน้น 2 ประการคือ ฐานรากและเครือข่าย ซึ่งก็คือแนวทางของสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั่นเอง

แม้ในปี 2559 ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางสุขภาพอีกมหาศาล แต่ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดแนวทางนี้ไปด้วยกัน ก็จะสามารถก้าวข้าวอุปสรรคไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของสังคมไทยได้อย่างแน่นอน
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ