ฟังเสียงประเทศไทย ข้าวและที่ดินชาวนา

ฟังเสียงประเทศไทย ข้าวและที่ดินชาวนา

ในช่วงนี้เกษตรอยู่ในช่วงทำนาเพาะปลูก และรอให้ข้าวโต มี่ผ่านมาที่นอกจากปัจจัยเรื่องต้นทุนทำนา ปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่เป็นเพียงหนึ่งในวิกฤติปัญหาของชาวนาและภาคเกษตรกรรม แถมยังอยู่กับความเสี่ยงเรื่อวภัยพิบัติที่ถี่ขึ้นหรือปีนี้ที่ต้องเจอกับเอลนีโญ ฝนทิ้งช่วง ปัญหาเรื้อรังและสั่งสมมานานแต่ยังไม่มีแนวนโยบายและการแก้ไขอย่างตรงจุด และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่สุดในระบบเกษตรกรรมคือสิทธิและความเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งนี่เป็นวงจรทำให้ผลผลิตหลักจากการทำนา คือหนี้สิน  พอชาวนาเข้าไม่ถึงความรู้เรื่องการชำระหนี้ ก็เสี่ยงที่ที่ดินจะหลุดมือเพิ่มขึ้นอีก

แปลงนารวมคือพื้นที่เรียนรู้ แต่แปลงนาเดี่ยว ๆ ของชาวนาจำนวนมากวันนี้เป็นพื้นที่สู้ชีวิต เพราะหนึ่งในโจทย์ใหญ่ของชาวนาไทยคือไม่มีที่ทำกิน ต้องเช่านา  ปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า พื้นที่ทำเกษตรนำประเทศไทยมีประมาณ 1 ร้อย 49 ล้านไร่ ร้อยละ 48.32 ของพื้นที่เป็นการทำเกษตรบนที่ดินของตัวเอง ที่เหลือร้อยละ 51.68 ทำเกษตรบนที่ดินติดจำนอง ที่เช่า ที่ฝากขาย 

มีการเช่าที่ดินเพื่อใช้ในการเกษตร จำแนกตามประเพศการเช่า คือ เช่าแบบมีสัญญา 593,431 ครัวเรือน คิดเป็น 10,626,845.10 ไร่ เช่าแบบไม่มีสัญญา 626,694 ครัวเรือน คิดเป็น 8,232,430.96 ไร่  ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งถือครองที่ดินจำนวนไม่มาก และขนาดของที่ดินทำกินมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ครัวเรือนที่เช่าที่ดินทำกินจะมีสัดส่วนสูงในภาคกลางและเหนือตอนล่าง และครัวเรือนที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินจะกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค เช่นพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่ปัจจุบันชาวนาหลายพื้นที่พยายามปรับตัวและลดต้นทุนแต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าการเช่าที่ดินที่เป็นต้นทุนหลัก เกษตรกรหลายรายต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินและกลายเป็นผู้เช่าที่ดินต้องเสียค่าเช่าในอัตราสูงเกินควร เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม และเสียเปรียบจากการเช่าที่ดิน

ฟังเสียงประเทศไทย และทีมงานองศาเหนือ เดินทางลงพื้นที่ไปฟังเสียงของชาวนาที่ ต.วังใหญ่ อ.ท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ปลูกข้าวที่มีทั้งปริมาณพื้นที่และปริมาณผลผลิตข้าวสูงสุดในภาคเหนือ แต่โจทย์สำคัญของการผลิตข้าวของชาวนา คือต้นทุน โดยเฉพาะที่ดิน ที่จะใช้เพาะปลูก นี่เป็นโจทย์สำคัญที่ชวนมาพูดคุยและฟังเสียง ตอน ข้าวและที่ดินชาวนา อยู่กันที่ศาลาการเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จุดเรียนรู้หนึ่งของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อมาช่วยกันแลกเปลี่ยนและมองอนาคตของทิศทางข้าง และที่ดินของชาวนาภาคเหนือล่าง

จากคำถามที่องศาเหนือรวบรวมคำผ่านทางออนไลน์ที่ว่า ขอคำสำคัญแก้ปัญหาที่ดินชาวนา

ทีมงานเก็บเสียงส่วนหนึ่งของชาวนาในจังหวัดนครสวรรค์ถึงคำสำคัญ ที่บอกเล่าสถานการณ์ส่วนหนึ่งที่พวกเขาเผชิญ

ราคาข้าว : ปัจจัยคือเมื่อคุณวิ่งเข้าไปที่โรงสี คุณผลิตข้าว GAP ปลอดภัย หรือคุณจะฉีดยาฆ่าแมลง 10 วันเกี่ยว เวลาซื้อพ่อค้าคนกลางจะเอาไปกองรวมไว้กองเดียวกัน ชาวนาไม่สามารถที่จะกำหนดราคาข้าวได้  ผลผลิตข้าวของตนเอง ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากหลายที่ แต่คำตอบจากพ่อค้าคนกลางตอบกลับมาซึ่งชาวนาเจ็บมากคือ คุณก็วิ่งไปขายให้กับคนที่เขารับรองมาตรฐานสิ พอราคาข้าวช่วงไหนที่ข้าวขาดโรงสีพ่อค้าก็จะรับซื้อสูง แต่ช่วงไหนที่รถเข้าไปตามนาแปลงเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน แต่ราคาลดลงต่างกัน 500-1000 บาท ถ้าผู้มารับซื้อมองว่าพอแล้ว รับซื้อพอแล้วราคาก็จะลดลง จะขายก็ขายไม่ขายก็ไปขายที่ลานอื่น เหยีบราคาให้ต่ำลงเรื่อย ๆ

ปัญหานาเช่า ปัญหาหนึ่งถูกทำสัญญาปีต่อปี บางครั้งพื้นที่ของหมู่บ้านบางปีทำข้าวอายุสั้นเพิ่มได้อีก 1 รอบ จากที่เราทำข้าวหอมมะลิ 105 ได้อีก 1 รอบเกี่ยวช่วงประมาณ มีนาคม – เมษายน พอ 2 รอบ เจ้าของที่ก็จะคิดค่าเช่า 2 ครั้ง เจ้าของที่ไม่ได้คิดว่าคนทำนา 2 ครั้ง ลงทุน 2 ครั้ง เจ้าของที่ให้เช่าที่แล้วฉันจะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนเอง อยากให้ส่วนราชการรับฟังส่วนนี้ เช่น ในสถานการณ์น้ำท่วมภัยแล้ง อาจจะได้ทุนคืนมาซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้าง แต่เจ้าของที่ขึ้นทะเบียนเองน้ำท่วม แล้ง เจ้าของที่ได้ค่าชดเชยไป เจ้าของนาไม่ได้สนใจ เวลาเสียภาษีเสียนิดเดียว อยากสะท้อนภาพนี้ให้ชาวนาที่เช่านา จริง ๆ การขึ้นทะเบียนเกษตรให้เกษตรกรที่เช่าทั่วไป เช่น เช่าที่ 20 ไร่ ขึ้นทะเบียนได้ 20 – 30 ไร่ตามกำหนด แก้ให้ชาวนาไม่ถูกเอาเปรียบ

ปัญหาค่าเช่านา : ตนที่ดินหลุดมือไปช่วงกำลังวัยหนุ่ม ปัจจุบันค่าเช่านาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะมีเกษตรกรพากันแย้งเช่านา คือคนที่ทำนาอยู่ต้องถือครองที่ยอมให้นายทุนเจ้าของนาที่ให้เช่านาเป็นผู้กำหนดค่าเช่า ซึ่งค่าเช่านั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการผู้ให้เช่านา จะมีข้อตกลงตามภูมิภาคแต่ละตำบล แต่ลำอำเภอไป แต่ในปัจจุบันเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนค่าทำนาก่อน ต้องจ่ายค่าเช่าเป็นเงินก่อนทำนา ซึ่งแล้วแต่ว่าจะตกลงกันอย่างไร ปัจจุบันในเขต อ.วังทรายพูล ค่าเช่านาเปลี่ยนเป็นวงรอบของการผลิต ไม่ใช่เช่ากันปีละครั้ง แม้เกษตรจะทำนาปีละครั้งแต่เกษตรกรรายอื่นเสดงความจำนงต่อเจ้าของนาจะทำ 1 ปีให้ได้ 2 รอบ ผลิตข้าวอายุสั้นก็ทำให้ถูกเปลี่ยนมือได้ เป็นปัญหาที่ค่าเช่านาเกิน 2000 บาทแล้ว เป็นปัญหาที่ศูนย์ดำรงธรรมรับเรื่องไว้ในพื้นที่เยอะพอสมควร

เสียงของเจ้าของนา : จากหล่มพระ : มีทั้งที่เช่าเอง และแบ่งให้ผู้อื่นเช่า มุมมองจากคนในวงสะท้อนเรื่องของเจ้าของนาที่ลงทะเบียนเกษตรกรแล้วรับส่วนต่างน้ำท่วมน้ำแล้งก็มีจริงในพื้นที่ แต่ในส่วนของตนที่อยากสะท้อนการบริหารจัดการพื้นที่นาอีกส่วนที่บางที่ผู้เช่าเช่าแล้วและเจ้าของนาตามไปดูแล เช่น 1 คนเช่า เปลี่ยนไปอีกคนในฐานะที่เราเป็นเจ้าของนาบางผู้เช่าปล่อยที่ให้รก เหมือนการเช่าหอพักคล้ายกันคนที่เก็บห้องเรียบร้อยก่อนออก หรือปล่อยเป็นหน้าที่เข้าของหอก็มี อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่าต้องมองในอีกมุมของผู้ให้เช่านา

เกษตรกรชาวนาสูงวัย : จ้างไถ แต่ลงยา หว่าน ก็ลงไปทำเอง ทำนา 30 ไร่ ลูกชายขอทำด้วยแบ่งกัน ใช้แรงงานตนเองไหวก็ทำเอง แต่ในส่วนที่ไม่ไหวก็เริ่มจ้างเขาเอา งบประมาณในการใช่เครื่องมือค่อนข้างสูงและไม่พอ

นวัตกรรมช่วยชาวนา : ทำนามา 20 ปี ช่วยพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก ๆ ใช้แรงงานทำทั้งครอบครัว ต่อมาเริ่มทำนา 20 ไร่แล้วเก็บเอาที่ไปเข้า ธกส. กูเงินมาเก็บจนทุกวันนี้ได้ 200 ไร่ เริ่มใช้นวัตกรรมเข้ามาเช่นการใช้โดรน และทำรายได้หลายทาง ทำเกษตรอินทรีย์ผสม รับจ้างใช้โดรนหว่างนปุ๋ย

นี่คือส่วนหนึ่งของเสียงจากวง และจากการรวบรวมคำสำคัญทางออนไลน์ แน่นอนว่าทางทีมงานฟังเสียงประเทศไทยได้รวบรวมข้อมูลไว้ตั้งต้นเพื่อคุยและมองภาพอนาคต ข้าวและที่ดินชาวนา ทั้งข้อมูลพื้นฐาน สถานการณ์ และความพยายามปรับตัวขอชาวนามาแบ่งปันให้ผู้อ่านได้รู้

ชาวนาเป็นวิถีชีวิตและอาชีพที่มีความสำคัญในการเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันมีชาวนาที่มาขึ้นทะเบียนเกษตรกร อยู่ราว 4.8 ล้านคน

ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกข้าว 7.69 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 138,451.8 ล้านบาท

โดยมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดพิจิตร ซึ่งได้รับการพัฒนาระบบชลประทาน และเป็นพื้นที่หลักในการผลิตข้าวของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน โดยนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวได้อันดับ 1 ของประเทศ ผลิตได้ปีละ 1.88 ล้านตัน

มาดูต้นทุนในการทำนาของเกษตรกร

ต้นทุนการทำนาต่อรอบการผลิตมีปัจจัยดังนี้

1.ค่าเช่าที่ดิน  2101 บาท
2.ค่าไถดะ 241 บาท
3.ค่าไถพรวน 205 บาท
4.ค่าเมล็ดพันธุ์ 484 บาท
5.ค่าหว่านเมล็ด/ค่าจ้างปลูก 205 บาท
6.ค่าปุ๋ย 769 บาท
7.ค่าสารกำจัดศัตรูพืช 322 บาท
8.ค่าจ้างใส่ปุ๋ย 93 บาท 139 บาท
9.ค่าจ้างฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช 139 บาท
10.ค่าจ้างตัดข้าวดีด 123 บาท
11.ค่าเก็บเกี่ยว401 บาท
12. ค่าขนผลผลิตไปขาย 117 บาท

13. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง 107 บาท

รวมแล้วอยู่ที่ 5174 บาท/ไร่ โดยมีค่าใช้จ่าย หลัก ๆ คือ ค่าเช่าที่ดิน 40.6 % ในขณะที่ ‘ผลผลิตข้าวต่อไร่’ โดยเฉลี่ยทั้งประเทศจะอยู่ระหว่าง 400-800 กิโลกรัม  ขณะที่ราคาขายข้าวอยู่ที่ 7,000 -12000 บาท/ตัน

ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2564 ระบุว่ามีพื้นที่ถือครองเพื่อทำเกษตรกรรม 149,745,431 ไร่ เป็นที่ดินของตัวเอง 72,354,962 ไร่ หรือประมาณ 48.32 % ที่เหลือเป็นที่ติดจำนอง ที่เช่า ฝากขาย หรือประเภทอื่น ๆ

สำหรับนครสวรรค์ซึ่งผลิตข้าวได้มากที่สุดของประเทศ มีพื้นที่ถือครองเพื่อทำเกษตรกรรม 4,361,135 ไร่ เป็นที่ดินของตัวเอง 1,691,272 ไร่ หรือประมาณ 38.78 % ที่เหลือเป็นที่ติดจำนอง ที่เช่า ฝากขาย หรือประเภทอื่น ๆ และเป็นที่เช่าในการทำเกษตรกรรม 1,562,553  ไร่

ด้านสัดส่วนรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรม

พบว่า ปี 2558-59 ครัวเรือนเกษตรมีรายได้สุทธิครัวเรือนเฉลี่ย 101,978 บาท/คน/ปี

ขณะที่ในปี 2562-63 ครัวเรือนเกษตรมีรายได้สุทธิครัวเรือนเฉลี่ย 89,802 บาท/คน/ปี

และมีเงินช่วยเหลือด้านการเกษตรจากรัฐบาลเฉลี่ยจาก 338 บาท/คน/ปี  เพิ่มขึ้นเป็น 3,305 บาท/คน/ปี

ส่วนของหนี้สิน

พบว่าร้อยละ 90 ของครัวเรือนเกษตรมีหนี้สินเฉลี่ย 450,000 บาท และเกินครึ่งอยู่ในโครงการพักหนี้

ครอบครัวเกษตรกรครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ย 3.8 ก้อน ร้อยละ 57 ของครัวเรือนเกษตรกรที่มีหนี้สินเป็นหนี้สินรวมจากทุกแหล่งซึ่งสูงเกินศักยภาพในการชำระหนี้ ส่วนใหญ่จึงหมุนหนี้   “ผลัดผ้าขาวม้า” หรือการกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่าในวงกว้างทำให้ต้องตกอยู่ในวงจรหนี้สินไม่จบสิ้น

ส่วนหนึ่งก็จะไปพึ่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แต่กองทุนสามารถชำระหนี้แทนเกษตรกรได้เฉลี่ยปีละ 320 ราย คิดเป็นวงเงินโดยเฉลี่ย 105 ล้านบาท/ปี (หากมีเพียงกลไกเดียวใช้แก้หนี้สินชาวนา 4.8 ล้านคนใช้เวลาราว 15,000 ปี    

ค่าปัจจัยการผลิตที่สูง หนี้สิน รายได้ที่ไม่เพียงพอส่งผลให้ที่ดินของชาวนาหลุดมือไป ซึ่งก็มีความพยายามหาทางออกและแก้ไขเรื่องนี้มาโดยตลอด
ประเทศไทยเริ่มให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ราษฎรอย่างชัดเจน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2444 โดยเริ่มออกโฉนดที่ดินให้แก่ราษฎรเป็นครั้งแรก

แนวคิดการกระจายการถือครองที่ดิน ผ่านพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พุทธศักราช 2485 พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2504 และพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 ให้รัฐจัดที่ดินเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินโดยจัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองและนิคมสหกรณ์

มีการออกระเบียบว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนจัดซื้อที่ดินของกรมสหกรณ์ที่ดินเพื่อจัดให้แก่เกษตรกรตามวิธีการสหกรณ์ พ.ศ.2512 ที่เป็นมาตรการด้านเงินกองทุนที่ดินที่จะทำให้เกษตรกรชาวนาชาวไร่สามารถครอบครองที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

โดยการเช่าที่นาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493

สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการเคลื่อนไหวของ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิก 1.5 ล้านครัวเรือน ใน 41 จังหวัดและนักศึกษาเพื่อผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ. 2517 ทำให้ค่าเช่านาลดลง กฎหมายใหม่ฉบับนี้มีการกำหนดเพดานค่าเช่านา และพยายามแก้ไขหนี้สินของชาวนา

รัฐพยายามแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน ด้วยการปฎิรูปที่ดิน เพื่อให้ผู้เช่าเป็นเจ้าของที่ดินมากขึ้น โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและมีความเป็นธรรในการกระจายรายได้

ปี 2518 เกิด “กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” ที่เป็นทั้งกองทุนหมุนเวียนและกองทุนจัดหาที่ดินเพื่อช่วยเหลือชาวนา และปลดเปลี้ยงหนี้สินให้กับเกษตรกรที่ยากจน

ปี 2545 กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ที่ช่วยเหลือทั้งหนี้สินและที่ดินให้กับเกษตรกร ทั้งไถ่ถอนที่ดิน ใช้หนี้ เป็นกองทุนสำรองสำหรับประกอบอาชีพ

ปี 2554 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งรจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ดินของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และจัดซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อนำมาจัดให้เกษตรกร ผู้ยากจน หรือผู้ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เช่า เช่าซื้อ หรือเข้าทำประโยชน์และสนับสนุนทางการเงินแก่การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม งบประมาณประจำปี 2555 775,282,600 บาท แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทำให้การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเกิดความล่าช้า

พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2559 ออกมาเพื่อการควบคุมการเช่าที่นา เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ โดยการกำหนดอตัราค่าเช่าที่ขึ้นอยู่กับ คชก. ตำบ(คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจําตำบล)เป็นผู้กำหนดค่าเช่านาทุก ๆ 6 ปี เป้าหมายหลักคือป้องกันการมายึดครองที่ของคนต่างด้าว แต่ไม่ได้นำไปสู่การจัดการเรื่องราคาเช่าและการบังคับใช้ที่แท้จริง

แรงฉุด

นโยบายการปฎิรูปที่ดินที่ยังไม่ชัดเจน และ พรบ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2559  ยังไม่เอื้อต่อการกำหนดราคาค่าเช่าที่เหมาะสมเป็นธรรม

การไม่ส่งเสริมการทำเกษตรทั้งระบบของภาครัฐตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และขาดการบูรณาการร่วมกันของกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ร้อนแล้ง น้ำไม่เพียงพอ น้ำท่วม

แรงส่ง

เกษตรกรพยายามรวมกลุ่ม และจัดการเรื่องที่ดิน ผ่านฉโนดชุมชน

มีการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตของชาวนา และมีการปรับตัวของชาวนา

โอกาส

MOU ของว่าที่รัฐบาลใหม่ได้กำหนดวาระการปฎิรูปที่ดิน และส่งเสริมคุณภาพในการผลิตภาคเกษตร มากกว่าแค่ดูแลเรื่องราคาผลผลิต

อุปสรรค

ความไม่ชัดเจนทางการเมือง

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ การหนุนเสริมที่ไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่อง

ที่ดินยังกระจุดตัวอยู่ในมือของคนส่วนน้อย

นอกจากข้อมูลที่ทางทีมงานรวบรวมแล้ว เราอยากชวนคุณผู้อ่านมาร่วมมอง อนาคตของชาวนา ทีมงานได้ลองประมวล เรียบเรียงออกมาในเบื้องต้น เป็นฉากทัศน์ 3 ฉากทัศน์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการออกแบบ และอาจจะนำไปสู่การคุยในประเด็น “ข้าวและที่ดินชาวนา ภาคเหนือตอนล่าง” จังหวัดนครสวรรค์พื้นที่ผลิตข้าวแหล่งใหญ่ของประเทศ ที่กว่าครึ่งของเกษตรกรเป็นนาเช่า มีต้นทุนการผลิตที่สูง ชวนกันมองใน 10 ปีข้างหน้า จะมีทางออกและไปต่ออย่างไร ?

ฉากทัศน์ที่ 1 นาแบบคอยฟ้าคอยฝน

ชาวนายังคงมีต้นทุนการผลิตที่สูง จากปัจจัยการผลิตค่าปุ๋ย ค่ายา แรงงาน ค่าเช่าที่นา และหนี้หนี้สินที่อยู่ในระบบของ ธกส. หรือหนี้นอกระบบ จึงมีโอกาสที่ดินหลุดมือ  ผลผลิตข้าวคุณภาพยังต่ำ และไม่แน่นอน เพราะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่วนหนึ่งพยายามปรับตัว ทำนาแปลงใหญ่ หรือทำเกษตรแบบคุณภาพสูง แต่เป็นไปได้ช้าและน้อย เพราะการต้องเช่าที่ดินทำกิน รัฐพยายามออกนโยบายมาช่วยเหลือแต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น เน้นเรื่องราคา ยังไม่ได้มองระบบข้าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะยังขาดการเชื่อมโยงการทำงานของกระทรวง ทบวงกรมต่าง ๆ  ธนาคารที่ดิน(องค์กรมหาชน)ยังล่าช้าและอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ฉากทัศน์ที่ 2 นาชลประทาน

ชาวนาพยามปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดต้นทุน  ภายใต้การส่งเสริมของรัฐแต่เป็นไปได้ค่อนข้างช้า  เนื่องจากที่ดินยังไม่ได้อยู่ในมือ ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในวังวนของหนี้สินจากการกู้ยืม ธกส. และยังมีโอกาสที่ดินหลุดมือ ส่วนชุมชนที่มีความเข้มแข็งจะมีกองทุนธนาคารที่ดินของตัวเองเพื่อช่วยให้ชาวนามีเงินทุนในการผลิตและเข้าถึงแหล่งทุน ผ่านการวมกลุ่มเป็นฉโนดชุมชน มีการแก้กฎหมายหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า การกระจายการถือครองที่ดิน หรืออัตราการเช่าที่ที่เหมาะสมมากขึ้น หรือการจัดการหนี้ ทำให้ชาวนาที่รวมกลุ่มกันสามารถจัดการตัวเองได้มากขึ้น แต่ชาวนารายเดี่ยวหรือที่เข้าไม่ถึงข้อมูลและเทคโนโลยีตามไม่ทัน และยังคงวันเวียนอยู่กับการผลิตแบบเติม

ฉากทัศน์ที่ 3 นาแบบผสมผสาน

ชาวนามีความเท่าทันเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนการทำนาโดยลดต้นทุนการผลิต ด้วยการสนับสนุนของรัฐ มีการออกนโยบายควบคุมอัตราค่าเช่าที่นาและที่ดินเกษตรกรรมที่เป็นธรรม มีการกระจายการถือครองที่ดิน มีการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันของคนในชุมชนที่มีความเข้มแข็งเพื่อจัดตั้งกองทุนที่ดิน หรือระบบสหกรณ์ชุมชน จัดการหมุนเวียนจัดซื้อที่ดิน เพื่อให้คนที่ไม่มีที่ดินสามารถเข้าถึงที่ดินทำกินได้ในการเช่าราคาถูก รวมถึงมีเงินกู้ระยะสั้นเพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ในการผลิตและส่งคืนหลังเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้เกิดหนี้สินพอกพูน มีการปรับการผลิตที่หลากหลายมากขึ้น มีเมล็ดพันธุ์เป็นของตัวเอง พร้อมการหนุนเสริมทั้งระบบเพื่อให้เกิดเป็นผู้ประกอบการชาวนา

ได้แลกเปลี่ยนกัน เรามีตัวแทนข้อมูลในแต่ฉากทัศน์ หรือ ภาพความน่าจะเป็นภายใต้เงื่อนไขในปัจจุบัน พูดคุยให้ข้อมูลอีก 3 ท่าน ผู้ร่วม

คุณ รัสสิตา มาสว่าง ตัวแทนชาวนานาเช่า อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรที่ท่าตะโก จังหวัด นครสวรรค์ เมื่อเรียนจบทุกคนก็ทำงานตามระบบ แต่เราเพราะแม่ป่วยเราจึงกลับบ้านมาดูแลแม่ ซึ่งปัญหาของการกลับมาทำนากับครอบครัวคือ ที่ดินทำกินเราไม่มี เราเช่านามาโดยตลอด ซึ่งการเช่าที่ดินทำกินเราต้องวางเงินก่อน ไร่ละ 1,500 บาท ถ้าเราเช่า 10 ไร่ 15,000 บาท ถ้าเราไม่คอนเฟริมเราก็จะไม่มีสิทธิเช่า เป็นปัญหาที่ทำให้เราการที่คน ๆ หนึ่งกลับมาเป็นเกษตรกรเราจำเป็นต้องมีต้นทุนไว้สำรอง 1 ค่าเช่า 2 ค่าไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา เพราะแรงงานต่าง ๆ เราไม่มี ต้องมีเงิน ใช้เงินทำงาน เพราะฉะนั้นด่านแรกที่เราจะกลับมาเป็นเกษตรกรที่ติดอยู่คือเรื่องที่ดิน โจทย์ต่อมาคือค่าของผลผลิตต่าง ๆ การทำนาปีแรกช่วงแรก ๆ เทคโนโลยียังไม่สเถียร ไม่ได้ศึกษาสภาพอากาศระหว่างฝนตก ข้าวถ้าน้ำแช่ นาน ๆ ทำให้มันเน่าซึ่งปัจจัยที่เข้ามาอีกคือการสูบน้ำซึ่งใช้น้ำมัน ซึ่งท่อ เครื่องบิ๊ก คอยซูบออก ถ้าข้าวเริ่มงอกก็จะมีศัตรูพืช คือ หอยเชอร์รี่ ถามว่ายาอัตรายกับเราไหม แต่เราก็ต้องยอม

มองทางออกในฐานะผู้เช่า ให้แก้ปัญหาหลัก ๆ มองไปอนาคต 10 ปีข้างหน้า มองแบบเกษตรกรถ้าจะให้อยู่ได้เลยต้องแก้เรื่องปัญหาที่ดินก่อนเป็นอย่างแรก

คุณ รัศมี ขันทอง ผู้ใหญ่แมว ทำเรื่องธนาคารที่ดินในชุมชน วังทรายพูน จ.พิจิตร กล่าวว่า ในนามของชาวบ้าน และในฐานะของลูกชาวนา ผูกพันกับการเช่านา ใช้หนี้มาตลอด และทำงานกับภาคประชาสังคม 40 กว่าปี ช่วงหนึ่งที่เรามีโอกาสทำงานเรื่องที่ดิน ในชุมชนเราเองส่วนใหญ่เราทำนาเช่าทั้งหมด ซึ่งเจ้าของนาเช่าเราไม่เคยรู้จัก ทุกวันนี้ขนาดตนเองยังไม่เคยเก็นเจ้าของนาเช่าเลย เลยมีการทำข้อมูลเรื่องเช่านา เบื้องต้นเราทำในหมู่บ้านเราก่อน มีทั้งนาเช่าที่เป็นฉโฉนด และนาเช่าที่เป็นที่ ส.ป.ก. หลังจากนั้นเรามาขยายเป็นภาพรวมจังหวัด เป้าหมายที่รวมข้อมูลเราอยากทำเรื่องของธนาคารที่ดิน แต่เราไปไม่ถึง มีการเปลี่ยนนโยบาย เป็นบ้านเกษตรพอเพียง แต่ยังคงมีความเคลื่อนไหวในกลุ่มอยู่ และพูดถึงเรื่องการปรับตัวและทำเรื่องร้อนแล้ง เราจับไม่ถึงเรื่องของการเช่าที่ดิน ทำธนาคารที่ดิน

โจทย์แรกเราต้องการเข้าถึงเรื่องของทุน และการจัดการ ตอนนั้นเริ่มต้นมีกลุ่มออมทรัพย์มีแนวคิดเรื่องการใช้ดองทุนหมู่บ้านซื้อที่ดิน แต่เราไปไม่ถึง ขยับมาทำข้าวใหญ่มองว่าเรื่องของนโยบายที่ไม่เอื้อ เรื่องความรู้ความเข้าใจ พื้นที่ในจังหวัดพิจิตรแตกต่างจากทางเหนือ มองว่าชาวนาในพื้นที่พิจิตร ต่างคนต่างคิดและรวมกันยาก และปัญหาที่ดินหลุดมือ ที่หลาย ๆ คนสะท้อน ช่วงลูกหลานช่วงนี้ไม่ทำการเกษตรแบบพ่อแม่ เขาจะมาซึมซับข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ เป็นวิธีคิดที่ไปไม่ถึง วันนั้นที่เราเริ่มต้นกันเพื่อสร้างกลไกเปลี่ยนจากสถานะผู้เช่านา เป็นเจ้าของนา เป็นแนวทางให้คนเข้าถึงที่ดิน และตัดวงจร 40 % ที่เป็นต้นทุนเรื่องที่ดินออกไป

คุณตาม ธิวัชร์ ดําแก้ว คณะทำงานที่ดิน ตัวแทนนักการเมือง กล่าวว่า ตนเริ่มทำงานในภาคเหนือ อยู่เชียงใหม่ทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ในภาคเหนือทำงานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน พอจะเข้าใจภาพรวมนโยบายทั้งประเทศและทำงานในสภา 4 ปี โจทย์ที่สำคัญเรื่องของที่ดิน กรรมธิการที่ดิน ในสภาใหญ่มี 500 คน เขาจะประชุมทุกเรื่องในสภาใหญ่ 500 คนทุกเรื่องไม่สามารถเป็นไปได้ จึงมีการจัดห้องเล็ก ๆ 35 ห้องตามการทำงาน กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ดินทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และจะคาบเกี่ยวกับ 8 กระทรวง กรรมธิการมีหน้าที่รวมวิชาการ กระทรวงต่าง ๆ เพื่อนำมาคุยตามที่ชาวบ้านร้องเรียนมาประชุม รายงานที่เป็นประโยชน์จะตอบคำถามฉากทัศน์จะเป็นฉากทัศน์ที่ 3 ได้หรือไม่ ถ้าไปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือไม่มีเจตจำนงทางการเมืองพอที่จะผลักนโยบายเรื่องที่ดินได้ ยังไงก็ไม่เปลี่ยนแปลง ยังอยู่ฉากทัศน์ที่  1

ถ้าเราจะมองไปในอนาคต ต้องย้อนไปดูอดีต ดูตนเองจากที่มีเป็น 100 ไร่ ลูก 10 คน ที่ปัจจุบันน่าจะเหลือไม่ถึง 10 ไร่ แต่ลูกแต่ละคนได้เรียนสูง ๆ จนมาถึงรุ่นตนเองพ่อแถบไม่เหลือที่ดินให้แล้ว ซึ่งปัจจัยการผลิตที่ดินแพงขึ้นเรื่อย ๆ คนทำงานราชการเกษียณกลับไปซื้อที่ดินไม่ได้แล้วเพราะที่ดินมันแพงขึ้นเรื่อย ๆ แล้วมันหลุดไปเรื่อย ๆ

ปี 2493 มี พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่านา ถามว่าโฉนดที่ดินเกิดขึ้นครั้งแรกในปีอะไร ระบบโฉนดที่เป็นใบ ๆ แล้วมีกรรมสิทธิของเราแท้ ๆ เป็นกรรมสิทธิ์แบบเอกชนเกิดขึ้นปี 2444 สมัยรัชกาลที่ 5 ให้กรรมสิทธิ์เอกชน แล้วลองดู 2493 พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่านา ถ้ามันไม่มีปัญหามันก็จะไม่มีกฎหมาย แสดวงว่ามีปัญหาการเช่านามาก่อน 2493 ไม่งั้นไม่มีกฎหมายออกมาควบคุม และเป็นปัญหาหลัก บางกฎหมายมีเป็น 100 ปี ยังไม่เปลี่ยน แต่กฎหมายตัวนี้เปลี่ยน 4 ครั้ง มีสมมุติฐานที่เกี่ยวข้องในปีแต่ละปีกับกระบวนการแก้ไขกฏมาย ปีแต่ละปี เทียบกับสถานะความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละรัฐบาล มีสมมุติฐานที่เกี่ยวข้องจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง การลุกขึ้นสู้ของประชาชนในการผลักดันกฏหมาย ถ้ามองให้ลึกปัญหาที่ดินคือปัญหาทางการเมือง ไม่อยากให้มองเรื่องความขัดแย้ง แต่อย่างน้อยที่สุดกฎหมายที่เป้นหลักของประเทศไม่ได้ทำให้ผู้เช่ากับเจ้าของที่ขัดแย้งกันมาก คือ ต้องเป็นธรรม

ส่วนใหญ่เรื่องที่ร้องเรียน 80 เปอร์เซ็นของ 600 ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ดินที่มีข้อพิพาทกับรัฐ แต่ที่อยากแชร์คือปัญหาที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ์ยังไม่ถูกพูดถึง ไม่มีเรื่องร้องเรียน จึงแปลกใจไม่ใช่คนน้อย ๆ สมัย คสช. ทำเรื่องนี้ ช่วงปี 2559 ที่ผ่าน ส.น.ช. มา ช่วงปี 2558 มีการออกคำสั่งเรื่องค่าเช่านา และทำเรื่องลงทะเบียนค่าเช่านา 4 แสนคนเป็นผู้ให้เช่า คนเช่า ประมาณ 380,000 ซึ่งมันต่ำกว่า และยังมีคนที่ไม่เข้าสู่ระบบ ปัญหาคลาสสิกคือตัวกฏหมายไม่สามารถควบคุมได้จริง คชก.ตำบล พอลงไปในพื้นที่ชาวนาจริง ๆ มีใครเคยเรียกร้องหรือต่อรองราคาค่าเช่า กับคณะกรรมการเช่าที่ดินระดับตำบลน้อยมาก ปัญหาสำคัญที่พยายามแก้ พ.ร.บ. ครั้งสุดท้ายปี 2559 คือให้ประโยชน์กับผู้เช่ามากเกินไป เจ้าของเลยไม่ทำสัญญาเช่าตามกฎหมายจึงต้องแก้กฎหมายและปัญหาต่างชาติมาเช่าที่ แต่ปัจจุบันปี 2566 หลังจากแก้กฎหมายมา 7 ปี ผลของการบังคับใช้จะเป็นอย่างไรบ้าง มาครั้งนี้ไม่ได้มาคุยอย่างเดียวแต่เพื่อวางแผน ตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาให้เสียงของผู้เช่าได้เข้าไปส่งเสียง และเสียงของผู้เช่าทำเกษตรอื่น ๆ ด้วย ตามกฎหมายปี 59 เขียนไปถึงการเป็นผู้เช่าการเกษตร

แต่สิ่งที่จะให้เรากลับไปภาพอนาคตที่ 1 คือยังติดเรื่องการทำสัญญาขายฝาก การทำสัญญาจำนอง ที่เห็นตัวเลข เราขอตัวเลยไปที่กรมบังคับคดี รายงานชิ้นนี้ชื่อว่ารายงานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาปัญหาที่ดินและกาสรออกเอกสารสิทธิในที่ดิน กรมบังคับคดีให้เรามา 2 ตัว คือที่ดินหลุดมือ ตั้งแต่ 2557 – 2563 มูลค่าที่ดินหลุดมือ หลุดจำนองหลุดไป 1 แสนกว่า แต่มูลค่า 8 หมื่นล้าน พบว่าการจดจำนองขายฝากต้องทำต่อหน้านายทะเบียนต่อหน้ากรมที่ดินต้องมีชุดตัวเลขที่เป็นไร่บูรณาการยังไม่เสร็จเขาจะไม่เห็นจำนวนไร่ แต่เห็นจำนวนคน มีคนที่จะที่ดินหลุดมืออีก เกือบ 2 แสน มีถึง 8 แสนรายถ้ารวมกับข้อมูลที่ทำไว้แล้ว จึงอยากจะบอกว่าถ้ามันไม่มีการแก้ไข หรือเจตจำนงทางการเมืองในการผลักดันนโยบายเพื่อกระจายการถือครองหรือลดความเหลื่อมล้ำเช่นภาษีที่ดิน ธนาคารที่ดิน จะตกอยู่ในวังวนฉากทัศน์ที่ 1 แน่นอน

สามารถรับชมไลฟ์ย้อนหลัง

https://www.facebook.com/thaithenorth/videos/6371113226264851

ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงแลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้าน แม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่การฟังข้อมูลอย่างรอบด้านคือหัวใจในการสนทนาในครั้งนี้ และนี่เป็นเพียง 3 ฉากทัศน์ท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมายหรือบางครั้งก็อาจจะเกินกว่าจินตนาการได้

เสียงของพี่น้องชาวนานครสวรรค์วันนี้สะท้อนปัญหาและความพยายามปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่โจทย์สำคัญเรื่องของการไม่มีที่ดินทำกิน การเช่านา ก็ยังส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงอยู่ พวกเขาก็หวังว่ารัฐจะมีนโยบายที่มาช่วยเหลือ และดูแลชาวนาโดยคำนึงถึงการจัดการข้าวทั้งระบบทั้งแต่ต้นทางไปจนถึงการตลาด

คุณผู้อ่านสามารถรวมโหวตฉากทัศน์ได้ที่

คุณผู้อ่านสามารถติดตาม รายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ