ชาวเลราไวย์ ส่งปลาพร้อมกำลังใจให้บางกลอย

ชาวเลราไวย์ ส่งปลาพร้อมกำลังใจให้บางกลอย

ฟังเสียงทะเลจากเปลือกหอย : ภาพโดย ไมตรี จงไกรจักร

ฟังเสียงทะเลจากของที่ระลึกจากชาวเล

“หอยตัวเล็กๆ  ของที่ระลึกจากชาวเล ทำให้ตื่นเต้นกันทั้งชุมชน  เพราะเราบอกว่า เมื่อฟังเสียงจะได้ยินเสียงทะเล” ไมตรี จงไกรจักร เจ้าหน้าที่มูลนิธิชุมชนไท เขียนเล่าใน Facebook ส่วนตัวของเขาหลังเดินทางกลับจากบ้านบางกลอยล่าง เขาเป็นหนึ่งในคณะชาวเลที่เดินกว่า 800 กม. จากชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต ไปยังหมู่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ตากปลาระหว่างรอผลเจรจาเข้าพื้นที่บางกลอย : ภาพโดย ไมตรี จงไกรจัก

แต่กว่าจะได้เห็นรอยยิ้มของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงบางกลอย กลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ที่นำโดยสนิท แซ่ซั่ว และนิรัน หยังปาน เครือข่ายชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต, เครือข่ายชาวเลอันดามัน โดย นายวิทวัส เทพสง, เครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และมูลนิธิชุมชนไท ที่ช่วยกันตั้งแต่กิจกรรม #Saveบางกลอย จนถึงการออกไปจับปลาในทะเลอันดามัน เพื่อส่งให้พี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย

เจรจาขอเข้าพื้นที่ในรอบแรก ณ ที่ทำการอุทยานแก่งกระจาน : ภาพโดย ไมตรี จงไกรจักร

บันทึกการเดินทางจากชุมชนชาวเล ถึงชุมชนกะเหรี่ยง บ้านบางกลอยล่าง

 วันที่ 23 ก.พ.64

  • เวลา 10.00 น. ชาวเลได้นำปลาแห้งเกือบ 150 กก. ที่ได้จากความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวเลราไวย์ ในการออกไปจับมาได้กว่า 500 กก. เพื่อมาแปรรูปเป็นปลาแห้ง และยังมีปลาสดอีก 50 กก. ที่ขนขึ้นรถกระบะ 3 คัน และตัวแทนรวม 12 คน
  • เมื่อมาถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เวลาประมาณ 18.17 น. มีเสียงโทรศัพท์จากอุทยานแก่งกระจานดังขึ้น พร้อมแจ้งว่าไม่อนุญาตให้ชาวเลเข้าไปส่งปลาในหมู่บ้านบางกลอยล่างได้
  • เมื่อชาวเลทราบข่าวต่างเป็นกังวล ว่าจะทำอย่างไร ปลาคงเน่าเสียหายแน่นอน จึงเริ่มประสานหาทางแก้ปัญหา จนถึงที่พักบริเวณแห่งกระจาน เวลา 24.00 น.
ภาพโดย มูลนิธิชุมชนไท

24 กพ.64 เวลา

  • ประมาณ 10.00 น. เครือข่ายได้เดินทางไปขออนุญาตที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มาแจ้งให้ ทีมที่ส่งปลาไปพบ ผู้ช่วยที่ห้องประชุมด้านล่าง ทำให้คณะพวกเราประมาณ 30 คน (รวมสื่อมวลชน) เดินไปถึงหน้าห้อประชุม พบเด็กหนุ่มใส่ชุดเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยืนเฝ้าห้องประชุมอยู่ และบอกให้รอหน้าห้องประชุม ซึ่งรออยู่เกือบชั่วโมง
  • “เขาเลิกประชุมแล้ว เขาหลบออกจากห้องประชุมหมดแล้ว คุณต้องหาคนเจรจา” นักข่าวคนหนึ่ง เดินมาบอกเรา จึงได้เริ่มถามหาผู้รับผิดชอบ หลังเราเจอกับรักษาการอุทยานฯ แล้วการเจรจาก็เกิดขึ้น
  • “ขึ้นไม่ได้ครับ แต่มิใช่เราไม่อนุญาต แต่เราขอให้ไปขอนุญาตกับกระทรวงแทน” หน.อช. กล่าวกับเรา “ขอให้ทำตามขั้นตอนเดิม” รอก่อน ว่ากระทรวงว่าอย่างไร
  • เมื่อไม่อนุญาต เราทั้งหมดจึงนำปลาออกมาพร้อมกับไปแถลงข่าวหน้าอุทยานฯ และเดินทางไปด่านเขามะเร็วต่อ
  • เราถูกกักตัวต่อที่ด่านเขามะเร็ว และพวกเราก็นำปลาออกตากแดด (เพื่อไม่ให้ปลาเน่าเสีย) จนกว่าจะได้เข้า และเมื่อรักษาการหัวหน้าอุทยานฯ ตามมาเจรจรต่อที่ด่านโดยมีการทำ MOU เพื่อยืนยันว่าเราจะไปมอบปลาและกลับเลย ไม่ข้างคืนในคืนนี้ พร้อมให้พวกเราทุกคนยืนถ่ายรูปพร้อมบัตรประชาชน จึงทำให้ปลาและข้าวสารได้เข้าไปถึงชุมชนบางกลอยล่าง
  • ใช้เวลาเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง จึงถึงบางกลอยในเวลา 15.30 น.

พิธีการส่งมอบปลา ได้เกิดขึ้นด้วยความตื่นเต้นของชาวกะเหรี่ยง ชาวเลย้ำว่าวันนี้ (24 ก.พ. 64) ชาวเลได้ก่อไฟย่างปลาสดให้กะเหรี่ยงได้ลิมลองปลาทะแบบสด ๆ หลังจากปลาสุก ชาวกะเหรี่ยงก็ล้อมวงกินปลาร่วมกันทั้งชุมชน แล้วพวกเราก็กลับออกมา ตอนเวลาประมาณ 22.00 น. (วันที่ 24 ก.พ. 64)

ภาพและเรื่องราวจาก : คุณไมตรี จงไกรจักร มูลนิธิชุมชนไท

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ