‘กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช. หนุนเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมปลูกไม้มีค่าไร่ละ 2 ล้านบาท-สร้างป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต

‘กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช. หนุนเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมปลูกไม้มีค่าไร่ละ 2 ล้านบาท-สร้างป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต

การปลูกไม้มีค่า  เช่น  ยางนา  ที่อำเภอหนองฉาง  จ.อุทัยธานี  เส้นรอบวงกว่า 3 เมตร  มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท

พอช. : ‘กอบศักดิ์  ภูตระกูล’ ประธานบอร์ด พอช. หนุนโครงการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง  สร้างเศรษฐกิจชุมชน  โดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า  ต้นละ 2-3 หมื่นบาท  ไร่ละ 2 ล้านบาท  หากชุมชนปลูก 1 พันไร่จะมีมูลค่า 2  พันล้านบาท  พร้อมร่วมมือกับกรมป่าไม้ส่งเสริมป่าชุมชน  ตั้งเป้าปี 2570 สร้างป่าชุมชน 15,000 แห่งทั่วประเทศ  เนื้อที่รวม 10 ล้านไร่ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร  สร้างระบบนิเวศน์ ดิน น้ำ  ป่า  เผยปัจจุบันมีป่าชุมชนแล้วกว่า 12,000 แห่ง  ชาวบ้านได้ประโยชน์เกือบ 4 ล้านครัวเรือน  มูลค่าการใช้ประโยชน์กว่า 4,900  ล้านบาท

วันนี้ (23 พฤศจิกายน)  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ครั้งที่ 17/2565 โดยมีนายกอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันฯ เป็นประธานการประชุม  พร้อมด้วยคณะกรรมการ  นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันฯ  และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประมาณ 40 คน   โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญเรื่องหนึ่ง  คือการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

นายกอบศักดิ์  อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด พอช.  เมื่อ 27 กันยายนที่ผ่านมา

ประธานบอร์ด พอช.หนุนปลูกไม้มีค่า-ป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต

นายกอบศักดิ์  ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันฯ  กล่าวว่า  ในการประชุมในช่วงแรกๆ มีโครงการที่ได้หารือกับ ผอ.พอช.  และเตรียมโครงการไว้  คือจะมีการขับเคลื่อนโครงการเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง  โครงการ “การออมต้นไม้” และ “โครงการป่าชุมชน”  เป็นพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านบริหารจัดการและไม่ผิดกฎหมาย  หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้  คือกรมป่าไม้ได้เล็งเห็นความสำคัญ  เพราะเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอในการดูแล  และทำให้เห็นถึงพื้นที่ป่าไม้ลดน้อยลง

การประชุมบอร์ด พอช. วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565

แต่มีข้อสังเกต คือพื้นที่ที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลมีพื้นที่สีเขียว  จึงเกิด พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562  และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ  อยากให้มีพื้นที่ป่าชุมชน 20,000  แห่งทั่วประเทศไทย  ตนจึงอยากให้ พอช. ตั้งทีมและกระจายข้อมูลข่าวสารให้กับชุมชน  และชุมชนใดที่มีความพร้อมก็จะมาร่วมกับกรมป่าไม้  และร่วมกับเอกชนที่มีความพร้อมในการลงทุนกับชาวบ้าน  ป่าชุมชนเป็นพื้นที่อาหาร  เป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน  และมีโครงการที่เกี่ยวเนื่อง  เช่น  “ฝายมีชีวิต”  ที่สามารถดำเนินการในพื้นที่อุทยานและพื้นที่ป่าได้  หากทำ 2 โครงการนี้ได้  ป่าไม้ประเทศไทยก็จะอุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านก็จะอยู่ดีมีสุข

               “พอช.มีงบประมาณจำกัด  แต่สามารถเอาโครงการของภาครัฐมาให้ชุมชน  จะสามารถนำงบประมาณมาส่งเสริมพี่น้องชุมชนได้  มีการแบ่งกลุ่มป่าชุมชน  ทั้งขนาดเล็ก  กลาง  ใหญ่  เช่น 10,000 – 20,000 ไร่  จะเป็นพื้นที่เชิงภูมินิเวศน์ครอบคลุม 3 ตำบล  เป็นต้น  งานของ พอช. เป็นงานเปลี่ยนประเทศไทย  สิ่งที่มาร่วมหารือครั้งนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่จะร่วมขับเคลื่อนในการทำป่าชุมชนทั่วไทย  ขณะเดียวกันจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ 2 คณะ คือ   คณะทำงานป่าชุมชน  และคณะทำงานฝายมีชีวิต  โดยจะมีภาคเอกชนมาร่วมกัน และขับเคลื่อนเรื่องคาร์บอนเครดิตอย่างเหมาะสม  รวมถึงการสนับสนุนชุมชน  โดยการลดหย่อนด้านภาษี”  นายกอบศักดิ์กล่าว

ตัวอย่างการปลูกไม้ยางนาซึ่งเป็นไม้มีค่า  เป็นธนาคารต้นไม้  หรือการ ‘ออมต้นไม้’ สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จาก ธ.ก.ส.ได้

ประธานบอร์ด พอช. ยกตัวอย่างว่า  พื้นที่  1 ไร่  จะปลูกต้นไม้ดีๆ ได้ประมาณ 200 ต้น  ได้ต้นละ 2-3 หมื่นบาท  จะได้มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท  หากทำ 1 ชุมชน  จำนวน 1,000 ไร่  จะสร้างมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท  ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปใน 3 ปีด้วยมือเรา  และในอนาคตอาจจะมีการต่อยอดในพื้นที่ป่าชายเลนที่สามารถจัดทำแผนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์   สร้างอาชีพ  สร้างรายได้  สร้างพื้นที่สีเขียวได้

ส่วนการสร้างฝายมีชีวิตนั้น  นายกอบศักดิ์ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในปี 2561 โดยสนับสนุนโครงการ ‘ประชารัฐร่วมใจสร้างฝายมีชีวิต’ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ  สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน  ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้   โดยใช้ “ฝายกั้นน้ำ”

หรือ “ฝายชะลอน้ำ”  เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยสร้างความชุ่มชื้น  เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้  ต้นน้ำลำธาร  คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แผ่นดิน  โดยจะให้ พอช.  ชุมชน  ภาคีเครือข่าย  รวมทั้งภาคเอกชนมาร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฝายมีชีวิตต่อไป

กรมป่าไม้ตั้งเป้าปี 2570 สร้างป่าชุมชน 15,000 แห่งทั่วประเทศ         

               นางนันทนา  บุญยานันต์  ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน  กรมป่าไม้  ซึ่งเข้าร่วมประชุมบอร์ด พอช. กล่าวว่า   การผลักดันกฎหมายหลายๆ ฉบับ  พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 เป็นกฎหมายที่พี่น้องชุมชนรอคอยกว่า 20 กว่าปี  และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปีเป็น ‘วันป่าชุมชนแห่งชาติ’  เพราะเป็นวันที่ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงลงพระปรมาภิไธย   และการดำเนินงานการส่งเสริมป่าชุมชนได้น้อมนำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่  10 นำมาใช้  คือ  อยากเห็นป่าไม้หมู่บ้าน  อยากเห็นชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่มาดูแลปกป้องและฟื้นฟูผืนป่า  พ.ร.บ.ป่าชุมชน  สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด

 

นางนันทนา  ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562  ให้ความหมายว่า  “ป่าชุมชน  คือ  ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐ  นอกเขตป่าอนุรักษ์  ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน  โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์  ฟื้นฟู   จัดการ  บำรุงรักษา  ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืนตามพระราชบัญญัตินี้”

                ผอ.สำนักจัดการป่าชุมชนกล่าวว่า  ชุมชนจะต้องมีแผนการจัดการป่าชุมชน และเสนอผ่านคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด  กลไกในพื้นที่จะรับรองแผน  ซึ่ง อปท. และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่สามารถที่จะสนับสนุนชุมชนตามแผนนั้นได้  รวมถึงแผนภูมินิเวศน์ที่มีการเสนอเป็นแผนอนุรักษ์  ฟื้นฟู  ควบคุม  พัฒนา  และแผนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน

               ขณะที่ชุมชนสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนตามกฎหมายได้ในบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์  เช่น  เก็บหาของป่า  การใช้ประโยชน์จากไม้เพื่อการดำรงชีพ  และการใช้สอยและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ภายในชุมชน  การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอื่น  เช่น  น้ำ   ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน   การใช้ประโยชน์จากไม้  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากภัยพิบัติหรือเหตุจำเป็น  ฯลฯ

               ส่วนการจัดตั้งป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562  ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศแล้วจำนวน 12,117 แห่ง  ชุมชนมีส่วนร่วม 13,855 หมู่บ้าน  เนื้อที่รวม 6.64 ล้านไร่  

จากการประเมินของกรมป่าไม้  มีประชาชนได้รับประโยชน์จากป่า 3,948,675  ครัวเรือน  เกิดมูลค่าการพึ่งพิงป่าชุมชน  ลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  จำนวน 4,907 ล้านบาท  การกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าชุมชนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน  รวม 42 ล้านตันคาร์บอน  การกักเก็บน้ำในดินและการปล่อยน้ำท่า  4.562  ล้านลูกบาศก์เมตร  และการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศน์ของป่า  595,857 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายภายในปี 2570  กรมป่าไม้ตั้งเป้าสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มเป็น 15,000 แห่งทั่วประเทศ  ชุมชนมีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน  เนื้อที่รวม 10 ล้านไร่

ผอ.สำนักจัดการป่าชุมชนกล่าวด้วยว่า  สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นคือ  การพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้  การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์โดยชุมชน   ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวและให้บริการ  ซึ่งรูปแบบการดำเนินการต้องดำเนินการในรูปแบบกลุ่ม/วิสาหกิจชุมชน  และการใช้ไม้ต้องไม่ใช่การใช้ไม้หวงห้ามในพื้นที่ป่าสงวน  เพื่อนำมาใช้ในการขายไม้ท่อน  การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชนจากฐานราก (BCG)

“แต่ปัญหาอุปสรรคการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชน  คือ  ชุมชนจะต้องได้รับการส่งเสริมและได้รับความรู้เพื่อจัดทำแผน  โดย พอช. เป็นภาคีสำคัญในการส่งเสริมกลไกในพื้นที่ให้เกิดกระบวนการสร้างความเข้าใจและการจัดทำแผน”  ผอ.ผอ.สำนักจัดการป่าชุมชนกล่าวในตอนท้าย

                                                            ************

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ