ย้อนรอยประวัติศาสตร์ “ลำไย” ผลไม้เศรษฐกิจเมืองเหนือ

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ “ลำไย” ผลไม้เศรษฐกิจเมืองเหนือ

เรื่อง : ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่-City Heritage Centre Chiang Mai Municipal

ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลของ “ลำไย” ออกผลผลิตต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน 2566 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) รายงานสถานการณ์ผลิตลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน ปีนี้มีเนื้อที่ยืนต้น 1,270,319 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 1.43 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นลำไยที่มีอายุมากออก เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ทุเรียน เงาะ ยางพารา มันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกาแฟ

มีผลผลิตรวม 972,330 ตัน (ลำไยในฤดู 641,919 ตัน นอกฤดู 330,411 ตัน) ลดลงจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 5.04 เนื่องจากสภาพอากาศร้อนแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตลำไยลดลง

ลําไยมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Dimocarpus longan Lour. ในวงศ์ SAPINDACEAE หรือวงศ์มะซัก/มะคำดีควาย

‘ลำไย’ สันนิษฐานว่าเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาจีนว่า ‘หลงเหยี่ยน’ แปลว่า นัยน์ตามังกร ถิ่นกำเนิดของลำไยสันนิษฐานว่าอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ เนื่องจากมีการปลูกกันมานานหลายพันปี มีการปลูกกันมากในมณฑลฟูเกี้ยน กวางตุ้ง กวางสี ไต้หวัน และเสฉวน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลฟูเกี้ยน ลำไยจากประเทศจีนนี้ได้แพร่กระจายเข้าไปสู่ อินเดีย ลังกา พม่า ฟิลิปปินส์ ยุโรป สหรัฐอเมริกา (มลรัฐฮาวาย และฟลอริดา) คิวบา หมู่เกาะอินเดียตะวันตก และ เกาะมาดากัสกา สำหรับในประเทศไทยนั้นมีการพบลำไยตามป่าในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ได้แก่ ลำไยพื้นเมืองมีผลขนาดเล็กและกระจายพันธุ์อยู่ทั่วๆ ไปที่ไม่ได้งอกงามมากมายอะไรซึ่งเรียกกันว่า ‘ลำไยกะลา’ หรือลำไยธรรมดา

ลําไยที่ปลูกในภาคเหนือแบ่งได้เป็น 2 พันธุ์ใหญ่ๆ คือ ลำไยเมือง กับ ลำไยกะโหลก ลำไยเมือง มีลำต้นตรงสูงใหญ่ ผลเล็ก มีเนื้อบาง ชุ่มน้ำจนแฉะ และมีเม็ดในโตมาก จนมีสมญาจากคนจีนว่า ลำไยคือ ‘ตามังกร’ แต่ก็ไม่ได้มีการตั้งชื่อพันธุ์ลำไยเป็นที่แน่นอน นอกจากว่า หากผลมีสีเหลืองและเนื้อออกเหลือง หวานจัด เคยมีคนเรียกว่า ลำไยน้ำผึ้ง สมัยก่อนคนทางเหนือปลูกลำไยเมืองกินกันในบ้านเท่านั้น แต่ต่อมาได้มีการคัดสรรพันธุ์ลำไย จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจไป ลำไยพื้นเมืองก็เป็นที่เสื่อมความนิยมลงและกลายเป็นของหายากในปัจจุบันลำไยกะโหลก เป็นลำไยที่ถูกพัฒนาพันธุ์ จนได้ลูกใหญ่กว่าลำไยเมืองถึง 2-3 เท่า คนจึงหันมานิยมปลูกกันแพร่หลายจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ลำไยที่นิยมปลูกกันมีประมาณ 7 พันธุ์คือ อีดอ, อีแดง, อีแห้ว, อีออน, เบี้ยวเขียว, อีดำ และอีเหลือง

ชวนย้อนรอยประวัติศาสตร์ “ลำไย” ถิ่นกำเนิดผลไม้เศรษฐกิจเมืองเหนือ

แม้จะเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่ผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมล้านนาเข้ากับสยาม กระนั้นบทบาทที่สำคัญของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ที่ยังคงมีหลักฐานประจักษ์ชัดและเป็นคุณูปการให้กับชาวเชียงใหม่และภาคเหนือจนถึงทุกวันนี้ ในด้านการเกษตรกรรมโดยเฉพาะการปลูก ‘ลำไย’

เจ้าดารารัศมีเป็นผู้ริเริ่มนำลำไยสายพันธุ์จากจีนเข้ามาในล้านนา จนเกิดการพัฒนาสายพันธุ์ทำให้ลำไยกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของภาคเหนือทำรายได้ปีละหลายพันล้านบาทในปัจจุบัน

ลำไย จัดเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูนที่การปลูกลำไยมากที่สุด นับตั้งแต่ พ.ศ.2439 มีชาวจีนผู้หนึ่งนำกิ่งตอนลำไย 5 กิ่ง จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาถวายเจ้าดารารัศมี พระราชชายาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เจ้าดารารัศมี ได้แบ่งลำไยเอาไว้ปลูกที่กรุงเทพฯ 2 กิ่งซึ่งเคยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ลำไยตรอกจันทร์’ ส่วนอีก 3 กิ่งได้มอบให้เจ้าน้อยตั๋นปลูกที่สวนบ้านสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เขตติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ต่อมาได้แพร่กระจายพันธุ์ ไปยังจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะจังหวัดลำพูน

ลำไยที่ปลูกที่บ้านเจ้าน้อยตั๋น ได้กลายพันธุ์ทำให้ผลมีรสดีกว่าพันธุ์ดั้งเดิม จึงมีการแพร่พันธุ์ลำไยไปปลูกในที่ต่างๆ รวมทั้งจังหวัดลำพูนด้วย มีการนำไปปลูกที่บ้านหนองช้างคืน ตำบลหนองช้างคืน อำเภอเมืองลำพูน เป็นแห่งแรก เป็นที่มาของลำไยขนาดใหญ่มากต้นหนึ่ง ซึ่งในแต่ละปีออกผลได้เงินหลายหมื่นบาท จึงเรียกกันว่า ‘ลำไยต้นหมื่น’ นับตั้งแต่นั้นมามีการปลูกลำไยอย่างแพร่หลาย และมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้น 

ลำไยพันธุ์ ‘เบี้ยวเขียว’ ต้นแรกของเชียงใหม่ เจ้าน้อยตั๋น ณ เชียงใหม่ นำไปปลูกบริเวณบ้านสบแม่ข่า หรือบ้านน้ำโท้ง ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เขตติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดลำพูนติดบริเวณแม่น้ำปิงจำนวน 3 ต้น

รูปภาพจาก: http://www.sobmaekha.go.th/travel.php

ปัจจุบันต้นลำไยต้นแรกของจังหวัดเชียงใหม่ อายุกว่า 100 ปี ได้ยืนต้นตายลงไปก่อนจะมีการเตรียมเคลื่อนย้าย แต่มีต้นลำไยที่ขยายพันธุ์จากลำไยต้นดังกล่าวอีก 5 ต้น ปัจจุบันอายุประมาณ 100 กว่าปีเช่นกัน โดยทุกวันนี้เจ้าของที่ดินต้องการที่จะพัฒนาใช้ประโยชน์บนที่ดิน ทางกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จึงประสานขอการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการเคลื่อนย้ายต้นลำไยประวัติศาสตร์ทั้งหมดไปปลูกรักษาดูแลไว้เพื่ออนุรักษ์ต้นลำไยพันธุ์ดั้งเดิมไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตลอดจนได้ชื่นชม สืบทอด และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาลำไย

แกงฮังเล “ลำไย ” อำเภอเมืองลำพูน 

นอกจากประวัติศาสตร์ แกงฮังเลลำไย ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นอาหารประจำจังหวัดลำพูน ตามการดำเนินการจัดกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการการส่งเสริม และพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามประกาศของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566

อ้างอิง:เชียงใหม่มรดกโลก. (2560). 5 พระราชกรณียกิจสำคัญที่เจ้าดารารัศมีฯ ฝากไว้ให้คนล้านนา. My Heritage, สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2566. จาก http://www.chiangmaiworldheritage.net/detail_show.php?id=125ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2560). ล้านนาคำเมือง : ลำไย. มติชนสุดสัปดาห์, สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2566. จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_55254

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ