จะ “บุก” หรือจะถอย แปรรูป วิจัย และการไปต่อ

จะ “บุก” หรือจะถอย แปรรูป วิจัย และการไปต่อ

มูฟออนเป็นวงกลม ที่ดิน/ไฟฟ้า/ป่า กับการแปรรูปบุก

  • ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรในประเทศไทย คือ ขาดตลาดในการรองรับผลผลิตทางการเกษตร  
  • หลายชุมชนแก้ปัญหาโดยการรวมตัวตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อทำการแปรรูปเพื่อจำหน่ายผลผลิตด้วยตนเอง   
  • สำหรับเกษตรกรผู้ปลูก “บุก” ที่ ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก  เพราะบุกถูกจัดให้เป็น “ของป่า” โดยกฎหมาย ต้องขอสัมปทานและจ่ายค่าภาคหลวงก่อนนำออกจากพื้นที่   เพราะที่ดินทำกินซึ่งเกษตรกรถือครองถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวน และพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา   
  • แม้การแปรรูปบุก คือ ทางออก แต่ยังติดอุปสรรคที่พื้นที่เขตป่าสงวนนั้น ชุมชนเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า และถนน

กว่าเราจะออกจากตัวตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้นั้น ก็เป็นเวลาเกือบพลบค่ำแล้ว มันเป็นฤดูฝนปลายเดือนกันยายนที่ดินชุ่มอุ้มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ฝนชุกอย่างปีนี้   เพื่อนหลายคนเตือนล่วงหน้าให้เรารีบออกเดินทาง อาจมีเรื่องที่คาดเดาไม่ได้หลายเหตุหลายปัจจัยระหว่างการเดินทางในพื้นที่ห่างไกลเช่นนี้ สำหรับผู้มาเยือนที่ไม่ชินในเส้นทางอย่างเรา เดินทางถึงจุดหมายก่อนค่ำย่อมดีกว่า

แล้วก็จริงอย่างเพื่อนว่า ขับรถลัดเลาะภูดอยออกมาจากตัวตำบลนับได้หลายสิบโค้ง แต่ผู้โดยสารยังไม่ทันได้เมารถ ก็เจอรถติดกลางดอยยาวเป็นร้อยเมตร เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่โดยสารมากับเราอย่าง “พี่อร” ปุณิกา กาญจนไพศร   ที่เดินทางสัญจรผ่านถนนเส้นนี้ในตำบลแม่สวดเป็นประจำ รู้ได้ในทันทีว่าคงมีดินถล่มสไลด์ลงมาทับถนน

รถทุกคันที่สัญจรไปมาเข้าแถวจอดรอระหว่างชาวชุมชนนำรถไถมาเคลียร์ดินถล่มออกจากถนน

“พื้นที่ชุมชน 95% ของตำบลแม่สวดอยู่ในอยู่บนพื้นที่สูง เขตป่าสงวนแห่งชาติ     กว่าจะได้ถนนคอนกรีตนี้มาก็ทำเรื่องนานประมาณหนึ่ง แต่บางช่วงก็ยังเป็นถนนลูกรัง ส่วนไฟฟ้านี่ยังเข้าไม่ถึง แต่คิดว่าอีกไม่นานน่าจะเข้าถึงแล้ว” 

ไม่มีกำหนดการชัดเจนว่า “อีกไม่นาน” นั้น “นานแค่ไหน” สำหรับการรอคอยไฟฟ้าของชุมชนชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยในเขตป่ามาทั้งชีวิต มาหลายชั่วคน อยู่อาศัยเป็นบ้านมายาวนานก่อนหน้าการประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2507 เสียอีก เท่าที่ฉันเคยพูดคุยกับพี่น้องในหลายชุมชน ก็อาจจะรู้สึกปนเปกันไประหว่างชินแล้ว หรือไม่ก็ยาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์   ไม่มีไฟก็เป็นที่แน่นอนว่าหมู่บ้านที่เรากำลังจะไปนั้นไม่มีน้ำแข็งขาย ตู้แช่เครื่องดื่มในร้านขายของชำกินไฟมากเกินกว่า ระบบโซลาเซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าได้ไม่มากและขนาดกำลังวัตต์ไม่สูงพอ ชาวชุมชนจึงเก็บไฟไว้ใช้แค่กับสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ และเมื่อไฟที่สำรองไว้หมดนั้น หมายความว่า แม้ใช้ชีวิตในความมืดก็ต้องอดทน (หรือชินแล้วอีกเช่นกัน) ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ให้ได้ โดยอาศัยแสงสว่างอื่นที่อาจเป็นไฟฉาย เทียนไข หรือก่อกองไฟด้วยไม้ฟืน 

บ้านแทบจะทุกหลังในตำบลแม่สวด มักมีไฟเปิดไว้เพียงหนึ่งถึงสองดวงเพื่อประหยัดไฟฟ้าจากโซลาเซลล์

ไม่แน่ใจว่าคนเมืองอย่างฉันที่บริโภคไฟฟ้าในทุกกิจกรรมในเกือบทุกลมหายใจจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ในเงื่อนไขเดียวกันกับที่ผู้คนในตำบลแม่สวด และอีกหลายพื้นที่ในประเทศนี้เผชิญอยู่… 

เราเดินทางไปลงพื้นที่ศึกษาเรื่องราวของ “บุก” จากชื่อเสียงที่ได้ยินมาว่าบุกที่แม่สวดนั้นเป็นบุกคุณภาพ   พื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์และสภาพดินที่นี่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชประจำถิ่นชนิดนี้   เลื่องลือในหมู่พ่อค้าคนกลางชาวจีนที่รับซื้อว่า ในปริมาณน้ำหนักเท่ากันกันกับบุกที่ปลูกในพื้นที่อื่น บุกแม่สวดนั้นมี “สารกลูโคแมนแนน” ซึ่งเป็นสารที่ถูกสกัดเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสูงมาก   “สารกลูโคแมนแนน” นี้เองที่มีคุณสมบัติทำให้อิ่มนาน ช่วยลดน้ำหนัก   สำหรับผู้ซึ่งกำลังควบคุมน้ำหนักแต่ชานมไข่มุกก็แสนจะเย้ายวนใจ ที่ร้านมักมีไข่มุกบุกเป็นตัวเลือกเผื่อไว้เป็นทางเลือก   และสารสกัดจากบุกนี้เองก็ถูกนำไปใช้ในวงการอาหารเสริมลดน้ำหนักอย่างกว้างขวาง  

“ที่นี่ปลูกบุกได้เยอะมาก คนแม่สวดนี่น่าจะรวยนะ” ฉันคิดเสียงดัง เพื่อที่จะพบข้อเท็จจริงในภายหลังว่า ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายต่าง ๆ มีหลายอุปสรรคที่ชะลอความรวยของคนที่นี่ 

ซ้าย): หัวบุกสด (ขวา): บุกตากแห้ง 

สารกลูโคแมนแนนที่ถูกสกัดมาทำเป็นบุกผง

ที่ดิน

เมื่อที่ดินทำกินของคนที่นี่ไม่มีเอกสารสิทธิ การขายบุกที่ปลูกก็ยังนับว่าเป็นการนำของป่าออกจากป่า ต้องขอสัมปทานและจ่ายค่าภาคหลวงก่อนการนำออกจากพื้นที่ตามการคาดการณ์ปริมาณล่วงหน้า มีความซับซ้อนยุ่งยากในกระบวนการจัดการพอสมควร 

ต้นบุกที่ถูกนำมาปลูกร่วมกับพืชสวนอื่น เช่น ยางพารา

ตามกฎหมายแล้วบุกเป็นของป่า เหมือนกล้วยไม้ ไม้สัก น้ำมันยาง เป็นต้น ที่สามารถนำมาเพาะปลูกขยายพันธุ์ได้   “นายกดิโก้” หรือ ยอดชาย พรพงไพร นายก อบต.แม่สวด อธิบายตัวอย่างในการนำ “ไม้สัก” ออกจากป่ามาเทียบเคียงเพื่อให้เราได้เห็นภาพ 

“เราไม่สามารถนำไม้สักออกจากพื้นที่ เว้นแต่จะทำการสัมปทานกับป่าไม้ แต่เมื่อถูกแปรรูปเป็น เก้าอี้ไม้สักแล้วสามารถขนย้ายไปจำหน่ายที่อื่นได้   บุกก็เช่นกัน การแปรรูปบุกให้เป็น “บุกผง” คือคัดแยกเฉพาะสารกลูโคแมนแนนเพื่อส่งจำหน่าย คือความเป็นไปได้ในการหาทางออกของพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อพื้นที่ชนิดนี้”   

ป่า

ไร่ถั่วเหลืองในตำบลแม่สวด

ที่ดินทำกินในเขตป่าเดียวกันนี้ หากเกษตรกรปลูกถั่วเหลืองซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของที่นี่ ชาวชุมชนสามารถซื้อขายได้โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ซับซ้อน แม้ถั่วเหลืองจะราคาไม่ดีเท่ากับบุก   แต่ก็ต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ขายถั่วเหลืองนั้นได้เงินเร็ว ทำให้ชีวิตคนที่นี่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ แม้จะใช้ชีวิตอยู่กับป่า แต่ก็ไม่ไกลเกินทุนนิยมจะมาถึง และเร่งเร้าการจับจ่าย   แม้การปลูกบุกจะทั้งมีรายได้ดี และดีต่อป่ามากกว่าการถางไร่ปลูกถั่วเหลือง แต่ในการตีความนิยามคำว่า “ของป่า” ยังทำให้การจำหน่ายบุกมีสภาพคล่องน้อยกว่า

ดูเหมือนว่า “หัวบุก” ถูกแปรรูปให้เป็น “บุกผง” แล้ว ก็น่าจะหมดปัญหา แต่…

ไฟฟ้า

สิ่งปลูกสร้างโรงงานขนาดเล็กสำหรับแปรรูปบุก ตั้งอยู่ในมหา’ลัยในเงา แหล่งเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ในเงาอย่างยั่งยืน องค์การบริการส่วนตำบลแม่สวด 

ในการแปรรูปในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กในชุมชนนั้นมีความจำเป็นต้องปลูกสร้างโรงงาน  ปัจจุบันแม้ทางชุมชนจะตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น สามารถดำเนินการขออนุญาติสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตป่าสงวนได้แล้ว แต่หากมองอนาคตที่ไกลกว่านี้ พื้นที่เขตป่าสงวนยังมีเงื่อนไขทางกฎหมายอื่น ๆ ที่ทำให้การแปรรูปบุกยังไม่คล่องตัวเท่าที่ควร   เช่น ต้องใช้ไฟฟ้าเครื่องมือ ในอุปกรณ์แปรรูปต่าง ๆ   ปัจจุบันแม้ชุมชนมีโรงงาน แต่ยังต้องใช้ไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ที่พึ่งพาแสงแดดตามธรรมชาติ ในวันฟ้าครึ้มฝนตกไฟฟ้าก็อาจไม่เพียงพอต่อการผลิต   หรือจะพึ่งเครื่องปั่นไฟ ก็ต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เมื่อคำนวณต้นทุนดูกลับพบว่าไม่คุ้ม ไม่ตอบโจทย์ของชุมชน สิ่งนี้เองที่สะท้อนปัญหาสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า   หรือหากขนส่งไปขายที่อื่น ก็พบว่าถนนคอนกรีตก็ยังเข้าไม่ครอบคลุมหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล ทำให้การขนส่งเป็นไปได้อย่างล่าช้า   หากเรื่องพื้นฐานยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไข ก็อาจยังไม่ต้องไปหวังในส่วนการช่วยสนับสนุนโดยรัฐในการจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตบุก  

สมาชิกกลุ่มแม่บ้านบ้านนาดอย ต.แม่สวด แปรรูปบุก

เมื่อฉันได้อ่านข้อมูลจาก รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยคณะกรรมมาธิการพลังงาน วุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ.2564 พบว่า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นมีหมู่บ้านที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้จำนวนถึง 116 หมู่บ้าน คิดเป็นประมาณ 28% ของทั้งจังหวัด และที่สำคัญคือ…

 ทุกหมู่บ้านที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ 

“ป.แสน” ที่ชาวชุมชนเรียกกันติดปาก หรือ ธวัชชัย ใจแสน ปลัด อบต.แม่สวดแสดงความเห็นต่อกรณีการเข้าถึงไฟฟ้าของชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่ากับเราว่า 

บางคนบางกลุ่มเขาสันณิษฐานว่าถ้าถนนดี ไฟฟ้าดี ป่าจะหมด   แต่ผมไม่เชื่อครับ ผมอยู่ในแม่ฮ่องสอนมา 20 กว่าปี   ผมเห็นว่าถ้าตรงไหนถนนหนทางดีเศรษฐกิจดี คนได้รับการสื่อสารที่ดีและเข้าใจ   เขาจะรักหม้อข้าวของเขา เขาจะรักธรรมชาติของเขา”

ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย คือ ขาดตลาดในการรองรับผลผลิตทางการเกษตร   หลายชุมชนแก้ปัญหาโดยการตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นเพื่อทำการแปรรูปและจำหน่ายผลผลิตด้วยตนเอง   แต่ที่หลายชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตป่ายังแทบไม่มีทางไปต่อกับการจัดการต้นทุนผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นของของตัวเอง 

ข้อเสนอหนึ่งที่รัฐทำได้คือการปรับมุมคิดจากการกันคนออกจากป่า หรือบีบคนที่อยู่กับป่าให้อัตคัดขันสน ขาดสาธารณูปโภคพื้นฐานอันเป็นสิทธิที่พลเมืองทุกคนต้องได้รับ   มาเป็นการออกแบบกลไล นโยบาย กฎหมายโดยเห็นคนเท่ากัน สนับสนุนให้คนอยู่กับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยอยู่ดีมีกิน   การตระหนักถึงหลักการดังกล่าวจะพาบุกออกจากการมูฟออนเป็นวงกลม เป็นพืชเศรษฐกิจอนาคตไกลที่สนับสนุนให้คนอยู่กับป่าได้เป็นอย่างดี    

นักพัฒนาชุมชนและชาวชุมชนตำบลแม่สวดหน้าโรงเรือนตากแห้งบุก

ขอขอบคุณ:

ชาวชุมชนตำบลแม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

ศรัณย์  ชอบชัยชนะ   ผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร อบต.แม่สวด

อลงกรณ์  หยกวณิชกิจ   เกษตรกรบ้านแม่หลุย ต.แม่สวด

จันทร์เพ็ญ เลิศชูทรัพย์   ชาวชุมชนบ้านแม่หลุย ต.แม่สวด

พิมพา เงินไพศาลสิริ   สมาชิกกลุ่มแม่บ้านบ้านนาดอย ต.แม่สวด

ปุณิกา กาญจนไพศร   นักพัฒนาชุมชน อบต.แม่สวด

ยอดชาย พรพงไพร   นายก อบต.แม่สวด

ธวัชชัย ใจแสน   ปลัด อบต.แม่สวด

ที่มาข้อมูล:

โครงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ในเขตป่าบนฐานการจัดการทรัพยากรบุกในตำบลแม่สวด จังหวัดแม่ฮ่องสอน (New economic system development project in forest areas on the basis of resource management in Mae Su Sub-district Mae Hong Son Province) จัดทำโดยองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด 

‘บุก’ เศรษฐกิจคนรากหญ้า กับการลอยแพใต้นโยบาย ‘ของป่า’(กม.อุทยาน)

​​เผย 18 ชนิด “ของป่าหวงห้าม” จะเข้าไปเก็บต้องขออนุญาต

​​เผย 18 ชนิด “ของป่าหวงห้าม” จะเข้าไปเก็บต้องขออนุญาต

ส่วนอนุญาติใช้พื้นที่ป่าไม้ กรมป่าไม้, ขั้นตอนในการขออนุญาติ

รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยคณะกรรมมาธิการพลังงาน วุฒิสภา, บทสรุปผู้บริหาร

https://www.senate.go.th/document/Ext25962/25962461_0002.PDF

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ