สัมภาษณ์อ.พรรษาสิริ กับโจทย์ท้าทายสื่อพลเมืองรุ่นใหม่ สื่อสารเนื้อหาให้เกิดบทสนทนาทางสังคมอย่างไร?

สัมภาษณ์อ.พรรษาสิริ กับโจทย์ท้าทายสื่อพลเมืองรุ่นใหม่ สื่อสารเนื้อหาให้เกิดบทสนทนาทางสังคมอย่างไร?

ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนรับรู้ส่วนใหญ่ มาจากองค์กรสื่อกระแสหลักที่เราคุ้นชินกันผ่านช่องโทรทัศน์หรือวิทยุ แต่ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ๆ เรียกว่า สื่อภาคพลเมือง เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่สนใจทำการสื่อสารสาธาณะในประเด็นต่าง ๆ โดยอาศัยอินเทอร์เน็ตมาเป็นเครื่องมือและพื้นที่การสื่อสาร แทบจะเรียกว่าเรื่องพื้นฐานของการทำสื่อในปัจจุบันก็ว่าได้

Journalism that Builds Bridges เชื่อมสื่อภูมิภาคด้วยพลังนักข่าวพลเมือง

ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทีมสื่อพลเมืองเข้าร่วมงานเปิดตัวโครงการ Journalism that Builds Bridges จากชายขอบสู่ศูนย์กลาง: ถึงเวลาทบทวนภูมิทัศน์สื่อไทย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เป็นโครงการการอบรมตัวแทนนักข่าวพลเมืองรุ่นใหม่จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยถึงบทบาทและความสำคัญของนักสื่อสารรุ่นใหม่และการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย

ผศ. ดร. พรรษาสิริ กุหลาบ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัย “ภูมิทัศน์สื่อไทย : ความท้าทายและโอกาส” ทำให้เห็นถึงบทบาทของสื่อกระแสหลักที่ประชาชนยังคงให้ความเชื่อถืออยู่และเปลี่ยนมาเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์มากขึ้น เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊ก แต่ในขณะเดียวกันมีสื่อกลุ่มใหม่ที่เรียกว่าสื่อภาคประชาชนเกิดขึ้นมากมายนำเสนอประเด็นท้องถิ่นเป็นสำคัญ

ผศ. ดร. พรรษาสิริ กุหลาบ

ทีมสื่อพลเมือง สัมภาษณ์ อ.พรรษาสิริ เพิ่มเติมถึงความหมาย และบทบาทของสื่อพลเมืองในปัจจุบัน โดยอ.พรรษาสิริ ชี้ว่า ถ้าภาพรวมก็คือสื่อภาคประชาชน เป็นคนธรรมดาที่อาจจะไม่ได้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนเป็นหลัก แต่เห็นความสำคัญของการสื่อสารสาธารณะในประเด็นที่ทุกคนต้องรับรู้หรือประเด็นที่เห็นว่าควรจะแก้ไข ขณะเดียวกันก็มีการรวมตัวกันของชุมชนเพื่อแจ้งข่าวสารในชุมชน หรือนำเสนอข้อมูลที่จะส่งเสริมอัตลักษณ์ สร้างความภาคภูมิใจในชุมชนก็ถือว่าเข้าข่ายเช่นกัน

สื่อภาคประชาชน ในที่นี้จึงหมายถึงสื่อขององค์กรภาคประชาสังคม สื่อพลเมือง สื่อชุมชน ที่เป็นประชาชน อาสาสมัครทำกันเอง รวมถึงสื่อทางเลือกด้วยที่มีองค์กรเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อจะทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

Dot easterners กลุ่มอาสาสมัครเยาวชนที่สื่อสารประเด็นต่างๆ ของคนพื้นที่ภาคตะวันออก โดยใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีอยู่และเป็นตัวกลาง พื้นที่รวบรวมข้อเสนอของประชาชนตะวันออก

บทบาทตัวตนคนทำสื่อภาคพลเมืองเป็นแบบไหนในปี 2022

อ. พรรษาสิริ กล่าวถึง บทบาทขององค์กรสื่อภาคประชาชนว่าคือ การส่งเสริมสิทธิของการสื่อสารของประชาชน ทุกคนมีสิทธิที่จะพูด บอกกล่าวได้ว่าเขาประสบปัญหาอะไร แล้วอยากจะให้เกิดการแก้ไขอย่างไร  อาจจะเป็นเสียงที่มาจากทั่วทุกสารทิศแต่เสียงเหล่านี้คนที่เกี่ยวข้อง คนที่รับผิดชอบรับฟังรวบรวมจัดหมวดหมู่ ก็จะทำให้เห็นว่าข้อเสนอของประชาชนบางทีเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนทั้งในระดับปัจเจกและระดับชุมชนได้

การที่เขาได้ส่งเสียง เข้าถึงข้อมูลก็ทำให้สังคมในภาพรวมได้รับข้อมูล มุมมองใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา แล้วท้ายที่สุดทุกคนได้มีส่วนร่วมในการที่จะบอกว่าเราอยากให้สังคมไปในทิศทางไหนได้บ้าง ดีกว่าว่าเราฟังผู้รู้เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นมันจะถูกกำหนดโดยข้างบนอย่างเดียว แต่ว่าคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้มีส่วนในการพูดคุยเรื่องเหล่านี้ด้วย ก็จะสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนได้ ไม่ใช่แค่ต้องไปโหวต ลงคะแนนเสียงเท่านั้น

อ.พรรษาสิริย้ำว่า คนเหล่านี้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้เขาสามารถที่จะเห็นแนวทางที่มันควรจะเป็นไปอย่างไรได้ ไม่ใช่แค่มาจากความคิดเห็นของตนเองอย่างเดียว การที่คนเขามีสัมพันธ์กับคนอื่นก็สามารถสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาแล้วนำเสนอมุมมองอื่นที่นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญอาจจะคิดไม่ได้เหมือนกัน

ก้าวต่อไปนักสื่อสารพลเมืองรุ่นใหม่ ไปทางไหนดี?

อ. พรรษาสิริ กล่าวถึงนักสื่อสารรุ่นใหม่ (ขอเรียกว่านักสื่อสาร ใช้คำกว้าง ๆ เพราะบางคนอาจจะอยากผลิตเนื้อหาที่ไม่ได้เป็นเนื้อหาเชิงข่าวอย่างเดียว แต่ยังตอบสนอง เป็นประโยชน์กับสาธารณะเหมือนกัน) ว่า กลับมาที่หลักการเหตุที่เราจะสื่อสารหรือมีสิทธิที่จะสื่อสารเพราะว่า มีเสรีภาพ ในขณะเดียวกันต้องมีความรับผิดชอบในสิทธิของคนอื่นด้วยเหมือนกัน

เราต้องเห็นความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต้องคำนึงถึงว่าสิ่งที่เราจะสื่อสารช่วยส่งเสริมสิทธิของคนในสังคมได้อย่างไร ไม่ใช่มองตัวประเด็นที่จะสื่อสารอย่างเดียว แต่ต้องมองวิธีการสื่อสารด้วยที่ทำให้สังคมมาฉุกคิดหรือนั่งคุยกัน และนำเสนอสิ่งที่ทำให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน

อีกประเด็นคือ ถ้าเรายึดมั่นในการแสดงความคิดเห็นเสรีภาพและหลักการของประชาธิปไตย ไม่พูดถึงการเลือกข้างแต่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ทำให้ประชาธิปไตยไปข้างหน้าได้ ซึ่งหมายถึงเราจะต้องเชื่อมโยงกับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในส่วนอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการเรียกร้องของชาวบ้าน แรงงาน กลุ่ม LGBTQ หรือการเรียกร้องสิทธิของผู้พิการ ทุกอย่างสัมพันธ์กันเพราะเราใช้สิทธิเดียวกันคือสิทธิของสังคมประชาธิปไตย

เวลาที่เรานำเสนอจึงไม่ได้แค่บอกว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ว่ามันส่งเสริมสิทธิหรือเสรีภาพของคนในสังคม จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วยกันอย่างไร อันนี้น่าจะเป็นจุดที่คนทำงานสื่อรุ่นใหม่น่าจะย้อนกลับมาตรงนี้ ส่วนจะผลิตแบบไหน ผลิตอย่างไร นั้นเชื่อว่าสามารถจะใช้สื่อได้อย่างชาญฉลาดและมีความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำกว่าคนรุ่นเดิม ๆ มาก

อ.พรรษาสิริ กล่าวทิ้งท้าย

อนาคตของสื่อไทยนอกจากสื่อกระแสหลักที่เราคุ้นตากัน ก็จะมีผู้เล่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสื่อภาคพลเมือง สื่อท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มนักสื่อสารรุ่นใหม่ ๆ แม้จะมีทรัพยากรไม่มากเท่าสื่อใหญ่ ๆ แต่ด้วยแรงผลักดันที่อยากจะนำเสนอ ส่งเสียงประเด็นในพื้นที่ที่ต้องการให้แก้ไขนั้นเป็นก้าวสำคัญของสื่อในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าต่อไป

อนึ่ง โครงการ Journalism that Builds Bridges จากชายขอบสู่ศูนย์กลาง : ถึงเวลาทบทวนภูมิทัศน์สื่อไทย สนับสนุนโดย The Citizen.plus, มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชน(The Isaan Record), UNESCO, UNDP, สถานฑูตเนเธอร์แลนด์, สถานฑูตฟินแลนด์และสถานฑูตนิวซีแลนด์

รวมถึงสื่อรุ่นใหม่ในภูมิภาค ได้แก่ ประชาไท(ภาคกลาง), Lanner(ภาคเหนือ), Wartani(ภาคใต้), The Isaan Record และ Louder(ภาคอีสาน) 

ชมการถ่ายทอดสด โครงการเปิดตัว Journalism that Builds Bridges จากชายขอบสู่ศูนย์กลาง : ถึงเวลาทบทวนภูมิทัศน์สื่อไทย และการนำเสนอผลงานวิจัย “ภูมิทัศน์สื่อไทย : ความท้าทายและโอกาส” ได้ที่ทางเพจ นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ