อากาศดี๊ดี จริงหรือเราไม่รู้…กรณีลมเปลี่ยนทิศ พัดพามลพิษข้ามแดนถึงคนแม่สาย

อากาศดี๊ดี จริงหรือเราไม่รู้…กรณีลมเปลี่ยนทิศ พัดพามลพิษข้ามแดนถึงคนแม่สาย

นี้คือตัวอย่างหนึ่งที่แต่ละท้องถิ่นควรมีเครื่องตรวจวัดขนาดเล็ก ๆ กระจายตัว เพื่อเตือนภัยให้ชาวบ้าน

แต่ปัจจุบันการเตือนใช้ indicator รายบุคคลเตือนว่าร่างกายไม่ไหวแล้ว กรณีเหตุการณ์ลมเปลี่ยนทิศ พัดพามลพิษข้ามแดนจากฝั่งจังหวัดท่าขี้เหล็กรัฐฉาน ประเทศพม่า ขณะที่เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย เชียงราย รายงานดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) อยู่ในระดับดี และดีมาก ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องขนาดใหญ่วัดค่าอากาศ โดยคำนวณจาก ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เป็นฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ก๊าซโอโซน (O3) เป็นก๊าซที่ไม่มีสีหรือมีสีฟ้าอ่อน มีกลิ่นฉุน ละลายน้ำได้เล็กน้อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เป็นก๊าซที่ไม่มีสี กลิ่น และรส เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นก๊าซที่ไม่มีสีและกลิ่น ละลายน้ำได้เล็กน้อย มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เป็นก๊าซที่ไม่มีสี หรืออาจมีสีเหลืองอ่อนๆ มีรสและกลิ่นที่ระดับความเข้มข้นสูง เกิดจากธรรมชาติและการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน (ซัลเฟอร์)

แต่ความปกติ มีความผิดปกติซ่อนอยู่ โดยกลุ่มเฟสบุ๊ค ชุมชนคนแม่สายมีประชาชนผู้ใช้เฟสบุ๊คที่อาศัยในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โพสต์ข้อความตั้งคำถามของกลิ่นเหม็นในยามค่ำคืน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม จนถึง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน จนมีการยื่นเรื่องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวเร่งหาคำตอบ ของสาเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมกับตั้งคำถามจาก ข้อมูลภาพที่ตั้งข้อสังเกตุกับบริษัทข้ามชาติทุนจีน ตั้งโรงงานบ้านอิฐลม 999 ที่เช่าสถานที่ของชาวท่าขี้เหล็ก บริเวณเส้นทางเมืองไฮ-โป่งโล๊ะ อยู่ด้านล่างของโรงโม่หินอาผ่า ด้านตะวันออก ซึ่งถูกระบุเป็นสถานที่ปล่อยควันส่งกลิ่นเหม็นลอยข้ามพรมแดนกระทบประชาชนในฝั่งชายแดนไทย  ซึ่งจากจุดดังกล่าว ห่างจากจุดสะพานข้ามมิตรภาพพรมแดนอำเภอแม่สายราว 7 กิโลเมตร โดยการอ้างอิงจากข่าวของ Shan East News Mandrel ระบุว่าโรงงานดังกล่าวอาจ ใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิต

ต่อมาช่วงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ได้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่หลายตำบลของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นที่เกิดจากการเผาไหม้ในเวลากลางคืน โดยไม่ทราบแหล่งกำเนิดมลพิษที่ชัดเจน โดยทำการตรวจวัดก๊าซและสารระเหยในบรรยากาศ ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และตรวจวัดกลิ่นโดยเครื่อง Nasal Ranger ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ได้แก่ หมู่ที่ 1, 4, 9 และ 11 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ. เชียงราย

ผลการตรวจสอบ จากสำนักงานสิ่งแวดล้อม และควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) โดยเครื่อง MultiRAE

พบสาร ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide : HCN)สารไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide : HCN)เป็นแก๊ส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน (bitter almond) เกิดจากการทำปฏิกิริยาของ เกลือไซยาไนด์ (Cyanide salt) กับกรด ซึ่งสารดังกล่าว หากได้รับกลิ่นแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ มึนงง ง่วงซึม อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา

 Hydrogen cyanide  (HCN)  พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม 

Trans-boundary Externality มลพิษข้ามแดน สิ่งที่สังคมโลกกำลังตื่นตัวกับปัญหามลภาวะทางอากาศข้ามแดน แนวคิดในการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศภายในกลุ่มประเทศอาเซียนค่อนข้างติดกับ หลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยอยู่อย่างมาก โดยหลักการในเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายใน เป็นหลักการที่ยืนยันแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐต่าง ๆ ในอาเซียนอย่างเข้มแข็ง จนกระทั่งการ ดำเนินงานต่าง ๆ ของอาเซียนอาจเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเหตุแห่งความแตกต่างกันหลายด้าน และไม่พยายามที่จะปรับทัศนะทางการเมืองให้เกิดความสอดคล้องกัน ปัจจัยทางการเมืองจึงส่งผลสำคัญ ต่อการทำงานของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะไม่ได้มีมีกฎหมายที่ใช้ในการจัดการปัญหาอากาศเป็นพิษข้ามแดนโดยเฉพาะ

แต่ยังมี ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary HazePollution)

แต่นั้นก็ไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมายที่ชัดเจนเเต่อย่างไร มีเพียงแนวทางความร่วมมือเท่านั้น

ขณะที่ช่วงสัปดาห์นี้เป็นช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยใช้ หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นส่งเสริมความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ขณะที่การเกิดปัญหาขึ้นจากแนวพรมแดน เช่นอำเภอแม่สาย ยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ได้อย่างเป็นระบบ

โจทย์ใหญ่คือมลพิษข้ามพรมแดน…แต่แท้จริงแล้ว ภาคเหนือเผชิญกับมลพิษทางอากาศตามฤดูกาลมานาน ไม่ต่ำกว่า 15 ปีมาแล้ว คนแม่สาย คนเชียงราย ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบเช่นกัน

วงจรหมอกควันในประเทศไทยโดยเริ่มจากในเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน จะมีฝุ่นควันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อด้วยภาคใต้ที่ต้องเผชิญฝุ่นควันในช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม และภาคกลาง กรุงเทพมหานคร จะเผชิญฝุ่นควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์

มลพิษทางอากาศในภาคเหนือตอนบนเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังนี้ได้ท้าทายแผนการจัดการที่มีอยู่ของภาครัฐ และขณะนี้ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษก็กำลังเพิ่มขึ้น  แต่ละปีก็ดูแล้วมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น แล้วคนภาคเหนือจะต้องเสี่ยงชีวิตกับ กับพิษนี้อีกนานแค่ไหน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ