การจัดระบบดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางกลุ่มสูงอายุ เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเราทุกคนมีโอกาสสูงอายุและชัดเจนว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอัตราประชากรมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุบว่าปี ปี 2565 ทั่วโลกมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 963 ล้านคน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ บอกว่า ประเทศไทยตอนนี้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ปีนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเกิน 12 ล้านคนแล้ว และในปี 2578 ไทยจะเข้าสู่ยุค “Super Aged Society” หรือสังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด
นั่นทำให้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป สังคม ชุมชน และประชาชนคนไทยทุกคน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง จำนวนประชากรวัยสูงอายุมีสัดส่วนที่มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งต่าง ๆ เป็นวงกว้างอย่างแน่นอน
แต่ถ้าทุกคนเรียนรู้ที่จะเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะพัฒนาสู่สังคมผู้สูงอายุในทุกมิติ ทุกคนก็จะสามารถดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข เริ่มต้นที่ตัวเอง ครอบครัว และก้าวสู่การเตรียมพร้อมในระดับชุมชน สร้างสภาพแวดล้อมที่จะนำพามาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกในชุมชน ที่ไม่เพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่รวมถึงคนทุกเพศทุกวัยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และอิ่มเอมไปด้วยมวลความสุข
“ชุมชนร่วมใจพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับชีวิตหลังเกษียณ”
สุขภาพที่แข็งแรง สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของตัวเอง ในชุมชนของตัวเอง หรือพื้นที่ที่เหมาะสม และดูแลตัวเองได้ คือเป้าหมายสำคัญของผู้สูงอายุในปัจจุบัน เพราะประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว นี่เป็นความท้าทายที่ต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี
รายการฟังเสียงประเทศไทยตอนนี้ ออกเดินทางมายังพิกัดที่ 8 ที่จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุเฉลี่ยสูงสุดในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ลำปางเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และหลายพื้นที่กำลัง หรือเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดแล้ว ในขณะที่การเตรียมตัว และสร้างระบบรองรับของคนในพื้นที่เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องช่วยกันคิด เพราะสวัสดิการของรัฐไม่เพียงพอและครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนและท้องถิ่นจึงต้องเตรียมตัว เตรียมชุมชนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด
ทีมงานจึงชวนคนในชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำชุมชน ตัวแทนท้องถิ่น และเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มารวมตัว ล้อมวงคุยและฟังอย่างใส่ใจกันที่ ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง คุยกันถึงชุมชนรองรับสังคมสูงอายุ ให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของตัวเอง อยู่ในชุมชนของตัวเอง และดูแลตัวเองได้ อย่างอยู่ดีมีสุข
เพื่อให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วม ย้ำกันอีกครั้งว่า หัวใจของการมาเจอในทุกครั้ง คือ ได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคต
ก่อนเริ่มวงสนทนาทีมงานได้ให้ผู้คนที่มาร่วมวงได้เขียน ด้วยคำถามที่ว่า สูงอายุอยู่ได้ อย่างมีความสุขอย่างไร ?
ข้อความสั้น ๆ ที่บอกเล่าถึงสถานการณ์และความสุขของคนสูงอายุในปัจจุบัน เช่น การมีสวัสดิการที่ดี สุขภาพแข็งแรง มีคุณค่า ยอมรับการเปลี่ยนแปลง มีรายได้ และอื่น ๆ แต่การจะมีความสุขแบบนี้ก็ต้องเตรียมความพร้อมของชุมชนเพื่อรองรับ โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสูงสุด ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า และแน่นอนว่าทางทีมงานฟังเสียงประเทศไทยได้รวบรวมข้อมูลไว้ตั้งต้นเพื่อคุยและมองภาพอนาคต ของชุมชนรองรับสังคมสูงอายุมากขึ้น ทั้งข้อมูลพื้นฐาน สถานการณ์ และความพยายามปรับตัวของชุมชนเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ มาแบ่งปันให้ผู้อ่านได้เห็นภาพมากขึ้น
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Societ แล้วเพราะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมีมากว่า 20% ของสัดส่วนประชากรของประเทศ
และคาดว่าปี 2035 ไทยจะมีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 30 และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด Super Aged Society
จังหวัดที่มีสัดส่วนร้อยละประชากรสูงอายุมากที่สุด 5 อันดับ คือ ลำปาง สิงห์บุรี ลำพูน แพร่ และชัยนาถ
(ข้อมูล: ข้อมูลจากรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จากเว็บกรมกิจการผู้สูงอายุ 2564)
ปี 2564ข้อมูลกรมการปกครอง พบว่าจังหวัดลำปาง มีผู้สูงอายุจำนวน 177,944 คน คิดเป็น 24.4 % ของประชากรทั้งจังหวัด นับว่าจังหวัดลำปางเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว คือมีผู้สูงอายุมากกว่า 20 % ของจำนวนประชากรและยังเป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุเป็นอันดับ 1 ของประเทศ
มีสถานให้บริการดูแลผู้สูงอายุสังกัดเอกชนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 5 แห่ง ใน 2 อำเภอคือ อำเภอเมือง และอำเภอเถิน จำนวน 90 เตียง นอกจากนี้ยังมีในสังกัดของรัฐและท้องถิ่น หรือส่วนอื่น ๆ ที่บริการด้วย
ตำบลวอแก้วมีประชากร 4067 คน เป็นผู้สูงอายุ 1,050 คน เด็กและเยาวชนจำนวน 377 คน
ผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.81 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของจังหวัดลำปาง
มีสถานพยาบาลในพื้นที่ คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล1 แห่ง และคลินิกเอกชน 1 แห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์ 4 คนและอสม. 117 คน
พื้นที่ของตำบลวอแก้วเป็นพื้นที่ภูเขา เนินเขา และที่ราบเชิงเขา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยาสูบ ยางพาราและพืชอายุสั้น ทำประมง ปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์
เนื่องจากชุมชนในตำบลวอแก้วได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว จึงได้มีการพยายามจัดการชุมชนของส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รวมตัวกันเป็นชมรมผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคม มาทำกิจกรรมร่วมกัน ดูแลสุขภาพ การส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุพึ่งตัวเองได้นานที่สุด
- เป็นชุมชนดั้งเดิม มีความเป็นเครือญาติ ที่เอื้ออาทรกัน
- มีหน่วยงานให้บริการด้านสุขภาพในพื้นที่ รพสต. อสม. และคลินิกเอกชน
- ผู้สูงอายุมีการรวมกลุ่มกันในการทำกิจกรรม
- ท้องถิ่นมีการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย และรวมกลุ่มอาชีพ กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
- มีสถาบันการศึกษา ม.ราชภัฎลำปาง ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ให้บริการในเขตพื้นที่
- พื้นที่ป่าบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ
- แรงงานในภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนน้อยลง
- จำนวนเด็กและเยาวชนมีน้อย และวัยแรงงานออกทำงานนอกพื้นที่
- ผู้สูงอายุยังพึ่งพาเบี้ยยังชีพจากภาครัฐ
- ยังขาดความรู้ความเข้าใจและเตรียมครอบครัว ชุมชนเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ
- ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ความสำคัญกับสังคมสูงอายุและมีแผนย่อยรองรับสังคมสูงอายุในเชิงรุก
- ท้องถิ่นตระหนักและให้ความสำคัญ และมีการบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ของพื้นที่
- ลำปางมีเครือข่ายในการทำงานด้านผู้สูงอายุ มีหลักสูตรนักบริบาล และมีการเชื่อมต่อกันกับส่วนต่าง ๆ สถานบันการศึกษา โรงเรียนผู้สูงอายุ หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบรองรับสังคมผู้สูงอายุ
- ยังขาดการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐทั้งในพื้นที่ตำบล อำเภอและจังหวัดที่ยังขาดประสิทธิภาพ
- คนในชุมชนยังไม่ได้เตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงอายุ ทั้งเรื่องความรู้ความเข้าใจ การเตรียมสุขภาพ และรายได้ที่พอเพียง
- ยังขาดกลไกการดูแลผู้สูงอายุและสังคมอย่างเป็นระบบ
- รัฐส่วนกลางยังไม่มีสวัสดิการที่รองรับสังคมสูงอายุได้เพียงพอ
จะออกแบบชุมชนเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ให้ทุกวัยอยู่ร่วมกันได้ และดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี มีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองให้นานที่สุด แบบ Active Aging
และจากข้อมูลทางทีมงานรายการเลยลองประมวลภาพความน่าจะเป็น ชุมชนรองรับสังคมสูงอายุ มา 3 แบบ เพื่อให้วงสนทนาชวนกันมองว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นไปในทิศทางใด ?
ภาพอนาคตชุมชนรองรับสังคมสูงอายุ
ภาพที่ 1 การจัดการให้ผู้สูงอายุพึ่งตนเอง ตามสภาพบริบทชุมชน
ชุมชนมีระบบการจัดการและดูแลผู้สูงอายุตามสภาพกาล รัฐท้องถิ่น หรือ อปท. มีระบบสวัสดิการต่าง ๆ ตามศักยภาพของแต่ละท้องถิ่น เช่นการส่งเสริม กิจกรรมของผู้สูงอายุ การออกเยี่ยมบ้านติดตามสภาพปัญหา ดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง สาธารณะสุขเข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพ หรือการส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อให้เกิดการร่วมกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ รายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ในยังอยู่ในระดับต่ำ วัยแรงงานลดลงและทำงานนอกชุมชนเป็นหลัก ภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการของประชากรโดยเฉพาะการดูแลคนสูงอายุตกอยู่กับ ภาครัฐและท้องถิ่น เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่ทั่วถึงและครอบคลุมความต้องการของผู้สูงอายุ ส่วนคนที่มีศักยภาพทางการเงินแต่ไม่มีเวลาจะจ้างนักบริบาลหรือมีเนอร์เซอรี่เพื่อดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวของตัวเอง
ภาพที่ 2 ระบบท้องถิ่นดูแลผู้สูงอายุ สูงอายุพึ่งพาหน่วยงานหรือ องค์กรในชุมชน
ชมรมผู้สูงอายุ รวมกลุ่มกันโดยการสนับสนุนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และท้องถิ่น มีการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมตามที่สมาชิกกลุ่ม ต้องการ ท้องถิ่นมามีบทบาทในการจัดการร่วมกับ(รพ.สต.)และทางชมรมผู้สูงอายุ โดยมีการสร้างระบบกลางของชุมชนเพื่อออกแบบการทำงาน ทั้งการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิตให้ผู้สูงอายุพึ่งตัวเองได้นานที่สุด ความรู้ ทักษะต่าง ๆ ต้องมีการออกแบบแผนการจัดการร่วมกันที่ผ่านมติของประชาคมหมู่บ้านและถูกบรรจุอยู่ในแผนของท้องถิ่นเพื่อให้สามารถใช้งบประมาณในการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ โดยพึ่งพางบประมาณของรัฐท้องถิ่น ชุมชนสร้างกลไกอาสา สมัครในการติดตามผู้สูงอายุติดบ้าน และติดเตียงให้สามารถดูแลตัวเองได้ คนรุ่นใหม่ออกไปทำงานข้างนอก และยังไม่มีการสร้างอาชีพรองรับสังคมสูงอายุ
ภาพที่ 3 ชุมชนวิสาหกิจดูแลผู้สูงอายุ
ชุมชนมองเห็นโอกาสในการเป็นสังคมผู้สูงอายุ สร้างความร่วมมือกันภายในและหน่วยงานสนับสนุนภายนอกสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชนด้านผู้สูงอายุ โดยมีอปท. รพสต.ชมรมผู้สูงอายุ สถาบันการศึกษา หน่วยงานด้านสาธารณะสุข มาร่วมกันออกแบบหลักสูตรในการสร้างนักบริบาล เกิดอาชีพนักบริบาลในชุมชนจำนวนมาก ที่ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนหรือออกไปช่วยดูแลผู้สูงอายุในชุมชนอื่น ในโรงพยาบาล สร้างงาน สร้างการกระจายรายได้ คนวัยทำงานกลับมาในชุมชนเพราะเห็นโอกาสทางอาชีพ มีการออกแบบระบบจัดการ เช่น ใช้เทคโนโลยีมาในการติดตามดูแลผู้สูงอายุ กองทุนหมุนเวียนที่เกิดจากการจัดการวิสาหกิจชุมชน และกลไกในการทำงานเพื่อใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน มีงานอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง มีกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้ทำ มาเจอกัน มีรายได้ มีสุขภาพกายและจิตที่ดี
เพื่อให้ตรงกับแนวคิดของรายการ คือ ฟัง” ด้วยหัวใจที่เปิดรับ เพื่อส่ง “เสียง”แลกเปลี่ยนกันด้วยข้อมูลที่รอบด้าน ลองไปอ่านและฟังเสียงส่วนหนึ่งจากวงสนทนาโดยตัวแทนข้อมูลทั้ง 3 ภาพอนาคตมาร่วมให้ข้อมูล โดยตัวแทนผู้ร่วมแลกเปลี่ยน
1. คุณ สายัณห์ ฉัตรแก้ว//หัวหน้าสำนักงานปลัดตำบลวอแก้ว
2. คุณ วุฒิพล มณฑาทอง//ปลัดเทศบาลตำบลเวียงตาล
3.ว่าที่ร.ต.ดร.อุดม สุวรรณพิมพ์ // ผู้ช่วยคณบดีด้านกิจการภายนอก คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ตัวแทนภาพที่ 1 คุณ สายัณห์ ฉัตรแก้ว – ปลัดอบต.วอแก้ว
ในพื้นที่ยังคงรักษาจารีตประเพณีและความเข้มแข็งของชุมชนและในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุในพื้นที่ของเราแต่ด้วยความเป็นสังคมชนบทดูแลผู้สูงอายุในบ้านก็จะมีญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงดูแลกันได้ ในส่วนของกรมการปกครองหรือส่วนท้องถิ่นเอง การจัดการในตำบลวอแก้ว ของเรามีนโยบายที่ชัดเจนในการที่จะเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะเรื่องของผู้สูงอายุเป็นนโยบายหลักของเราส่งเสริมในเรื่องของการดูแลสุขภาพการมีอาชีพและสร้างรายได้และควบคู่ไปกับเรื่องของการรักษาประเพณีของท้องถิ่นผ่านกลไกในส่วนของเรียนผู้สูงอายุ มีการจัดทำหลักสูตรเป็นนักฝึกอบรมผู้สูงอายุการมีส่วนร่วมของทางเครือข่ายทั้งส่วนของการส่งเสริมสุขภาพตำบลชมรมผู้สูงอายุเรามีการทำเป็นหลักสูตรแบ่งเป็นหลายด้าน คือด้านสุขภาพอาชีพและควบคู่ไปกับเรื่องของการถ่ายทอดภูมิปัญญาต่าง ๆ เพื่อให้ลูกหลานได้สืบต่อและไม่ถึงจารีตประเพณีดั้งเดิมชุมชน ไม่ได้ปิดกั้นเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาควบคู่กันไปอันนี้เป็นภาพรวมของท้องถิ่นที่เราวางแผนที่จะทำไว้
และในแผนของท้องถิ่น ปี 66 มีการสานต่อหลักสูตร โรงเรียน ผู้สูงอายุ มาต่อเนื่องในปี 66 ออกแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุจริง ๆ
ในส่วนของผู้สูงอายุบ้านเราแบ่งผู้สูงอายุ 3 แบบ ติดสังคม ติดบ้าน ติดเตียง ส่วนใหญ่เป็นติดสังคม สามารถไปมาหาสู่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนได้ส่วนหนึ่งติดบ้านติดบ้านไม่ค่อยเยอะ สุดท้ายคือ ติดเตียงจะมีรักบริบาลเข้าไปดูแล เรื่องของสุขภาพกายสุขภาพใจ แต่ในส่วนของติดบ้านมีภาวะที่จะกลายเป็นติดเตียงในส่วนนี้จะมีนักบริบาลที่ทำงาน ร่วมกับ รพสต. ในการช่วยป้องกัน ลดจำนวนประชากรผู้ป่วยติดเตียงให้มากที่สุด เป็นนโยบายของทางหน่วยงานท้องถิ่นจะดูแลในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุต่อไป
ตัวแทนภาพที่ 2 คุณ วุฒิพล มณฑาทอง – ปลัดอาวุโส อบต.เวียงตาล
ในส่วนของตำบลเวียงตาล ถ้าโดยข้อมูลจำนวนประชากรล่าสุดอยู่ที่ 8,470 คน ส่วนใหญ่อายุ 60 ปี 2000 ครอบครัว ถือว่าเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในส่วนของติดบ้าน 43 ติดเตียง 26 คน ซึ่งทั้งสองกลุ่มรวมอยู่ที่ 60 คน จากปัญหาที่พัฒนาคุณภาพชีวิต ลงตรวจสอบหลาย ๆ ส่วน ส่วนใหญ่คุณภาพชีวิตตั้งแต่วัยทำงานจนถึงสูงอายุส่วนใหญ่จะมีปัญหาโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เบาหวาน ความดัน จำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพาของในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งลักษณะของบริบทของเวียงตาลคล้ายบ่อแก้ว มีต้นทุนทางวัฒนธรรมความเป็นอยู่คล้ายกันกับเวียงแก้ว ปัญหาลูกหลานวัยทำงานไม่ได้เข้ามาดูแล ได้มีการหารือทางผู้บริหาร ท้องถิ่น ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษา ในพื้นที่ตำบลเวียงตาลมีหน่วยงานที่ให้การดูแล รพสต. ทีมงานข้าราชการจะทำอย่างไรให้แก้ปัญหาตรงนี้ จากสิ่งที่มีอยู่ เช่น กองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ เม็ดเงินท้องถิ่นเองที่มีอยู่ได้มีการบริหารจัดการในการดูแลสองระบบที่เอื้อกันอยู่ ในการรองรับการแก้ปัญหาจะต้องแบ่งงบประมาณ ทั้งสองอันจะใช้อย่างไรเพื่อรองรับขับเคลื่อน มีการจัดตั้งศูนย์ปัจฉิมวัยขึ้น เพื่อให้เป็นหน่วยงานองค์กรที่มาจากภาคีเครือข่ายที่จะมาดูแล ในเรื่องการบริหารจัดการกองทุน long term care รายหัว 6,000 บาท ได้รับงบประมาณจากกองทุนในการแก้ปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ได้ทีการขับเคลื่อนอบรม ให้เห็นความสำคัญ มีการอบรมตั้งแต่ปี 61 ได้รุ่นที่ 1 20 กว่าคนขับเคลื่อน รุ่นต่อ ๆ ไปจนปัจจุบัน 35 คน เพื่อรองรับการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ
มีการพัฒนาบุคคลใช้เทคโนโลยี โดยมีความร่วมมือต่าง ๆ มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุลงมาช่วย เรื่องการใช้ application และเก็บข้อมูลรายต่าง ๆ โดยที่พนักงานสาธารณะสุขใช้พูดคุยกันในพื้นที่ ต่อมาใช้นักบริบาล กรงส่งเสริมสนับสนุน ให้งบประมาณตามมาตอนนี้ท้องถิ่นลงไปรองรับงบประมาณ และพาทในการบริหารจัดการดูแล ผู้ดูแลผู้สูงอายุคัดเลือกจาก อสม.ที่มีจิตอาสา ทำให้เรื่องการดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้รับการดูแลมากขึ้น ญาติพี่น้องมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ในส่วนของผู้สูงอายุที่ติดสังคม ให้มีการจัดตั้งให้มีกิจกรรมในส่วนของโรงเรียนผู้สูงอายุมีการจัดอบรมปี 2 ทุก วันศุกร์ เดือนละ 4 ครั้ง ตามความต้องการและการประสงค์ของผู้สูงอายุ ซึ่งในพื้นที่มีภาคีเครือข่าย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาลัยต่าง ๆ และมาร่วมทำ MOU พื้นที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ ขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อใช้พื้นที่ในการลงมาทำกับคนสูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุคนเวียงตาลเพิ่มมากขึ้นในทุกปีกองทุนคนเวียงตาล กองทุนวันละบาท เป็นจุดเชื่อมโยงในการดูแลกัน ช่วยเหลือพึ่งพา ใช้ลักษณะเข้าใจตรงกันว่าเป็นกองทุนที่ไม่ใช่กองทุนหวังการแบ่งผล แต่เป็นกองทุนกองบุญ ออมทุนเพื่อจ่ายสวัสดิการตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงสูงอายุ ด้วยแรงผลักดันต้องอาศัยองคาพยพให้เกิดในการขับเคลื่อนทุกส่วนทุกมิติ ในส่วนของการขับเคลื่อนของกิจกรรมที่เกิดขึ้นต้องกำหมดเป็นแผนงานตั้งแต่ สปสช. สาธรณะสุขลงมาบรรจุในแผนงานของท้องถิ่น และมาดูกันว่าเม็ดเงินเหมาะกับฟังชั่นไหน ให้เป็นลักษณะสังคมพึ่งพา
ตัวแทนภาพที่ 3 ว่าที่ร้อยตรี อุดม สุวรรณพิมพ์ – ผู้ช่วยคณบดีด้านกิจการภายนอก คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หลายคนจะไม่รู้จักแต่จะรู้จักจากซิโนฟาร์มช่วง โควิด-19 ที่ท้องถิ่นซื้อไว้ฉีดให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ ทางราชณวิทยาลัยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องราวและเป็นต้นแบบหนึ่งของประเทศไทยที่ จังหวัด ลำปาง เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ควบคู่กับสังคมสูงอายุของประเทศของประเทศที่ลำปางเป็นที่หนึ่งของประเทศเรามีสิ่งที่ดีดีเกิดขึ้นควบคู่กับสถานการณ์ผู้สูงอายุที่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เป็นระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยภาคประชาสังคมที่นำเอาชุมชนเข้มแข็ง โดยที่พื้นที่ ต.วอแก้วเป็นชุมชนเข้มแข็งมีความรักใครสามัคคีกัน ใช่วัฒนธรรมชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงในการทำความรู้จักดูแลกันทาง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำโดยคณบดีพยามที่จะเรียนรู้พยายามที่จะเรียนรู้โดยให้ผ่านกระบวนงานวิจัยต่าง ๆ ในการค้นหาชุมชนที่มีความเข้มแข็ง
การที่ชุมชนจะเข้มแข็งได้ต้องเริ่มจากเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งก่อนเพื่อจุนเจือครอบครัวและทำให้คนในพื้นที่อยู่ได้ ขณะเดียวกันข้อจำกัดของสังคมผู้สูงอายุ ของประเทศไทยที่เราเห็นอยู่อีกห้าปีข้างหน้าโรคภัยไข้เจ็บเริ่มมาเห็นชัดเจนว่าอย่างไรก็อยู่ไม่ได้ทำอย่างไรจะพลิกตรงนี้ให้เป็นโอกาส สร้างเป็นอาชีพให้กับจิตอาสาที่มีฐานอยู่เดิม เช่น อสม. มีงานวิจัยหนึ่งชิ้นของศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์อำเภอห้างฉัตรเป็นพื้นที่วิจัยหนึ่งเพราะรัฐสวัสดิการเราตั้งใจดีมากครอบคลุมผู้สูงอายุที่เป็นผู้สูงอายุติดสังคมมีโรงเรียนผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุติดบ้านมาติดสังคมด้วยในขณะเดียวกันให้ความรู้ให้ตนเองเตรียมตัวที่จะเป็นผู้สูงอายุจะติดสังคมติดบ้านอยากมีความรู้ดูแลตัวเองได้ฉลองความเป็นผู้สูงอายุติดเตียงนี่คือกระบวนการที่ทางท้องถิ่นพยายามและมีความสำเร็จเป็นอย่างมากแต่พอติดเตียง ทุก ๆ ท้องถิ่นทุก ๆ พื้นที่หลับตานึกถึงนักบริบาลนึกถึง 4G ของกระทรวงสาธารณสุข (การมีส่วนร่วมของอาสาสมัคร สาธารณสุข และชุมชน ในการป้องกัน เฝ้าระวังและป้องกันโรค) ที่เวียงตาล ผู้สูงอายุติดเตียงประมาณ 20 กว่าคนถามว่าในสองคนนั้นดูแลผู้สูงอายุ 20 คน ทั้งเดือนภารกิจจะเป็นอย่างไรอันนี้คือโจทย์ที่ประเทศไทยยังขาดและไขทางออกไม่ได้ ส่งที่อยู่ที่อยู่ติดเตียงที่จำเป็นจะต้องดูแล 24 ชั่วโมง มีหรือไม่ ! หลังจากที่นักบริบาลของท้องถิ่นของ รพสต. ไปแล้ว จะเป็นคนดูแลต่อคนที่ดูแลมีความรักและมีความรู้พอหรือไม่
นี่เป็นโจทย์ใหญ่ใหญ่ที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์พยายามที่จะหาทางออกและเรามีคำตอบแล้ว และคำตอบนั้นผ่านกระบวนการอย่างไรที่สุดท้ายเจ้าของเรื่องและเจ้าของความสำเร็จไม่ใช่ราชวิทยาลัย เป็นชุมชนนั่นเองและเป็นชุมชนที่สร้างนักบริบาลด้วยตัวของเขาเอง ที่ไม่ได้ของบจากท้องถิ่นแม้แต่บาทเดียว ไม่ได้ของบประมาณจากของรัฐ
ยังมีบทสนาทนาอีกมากมาย รับชมย้อนหลังผ่านทางไลฟ์ Facebook
นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ทีมงานรายการฟังเสียงประเทศไทย ฟังด้วยหัวใจที่เปิดรับ ส่งเสียงด้วยข้อมูลที่รอบด้าน ซึ่งเสียงของพี่น้องวอแก้วในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมร่วมกันผลักดันก้าวต่อไปของระบบชุมชน เพื่อรองรับสังคมสูงอายุเพื่อให้สามารถดูแลให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และให้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
คุณผู้อ่านสามารถติดตาม รายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่น่าจะเป็น ชุมชนรองรับสังคมสูงอายุของคุณเป็นแบบไหน หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus
หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวกับแฟนเพจTheNorth องศาเหนือ
เพราะทุกการเดินทางและการฟังกันและกัน เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”