“ห้องเรียนภัยพิบัติบ้านเทิน” ท่วมจริง เสียหายจริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน

“ห้องเรียนภัยพิบัติบ้านเทิน” ท่วมจริง เสียหายจริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน

โรงเรียนบ้านเทินน้ำท่วมสูง

“ความเป็นครูของเรา เรานิ่งดูดายไม่ได้ ช่วงน้ำท่วมไม่มีการเรียนการสอนแต่เราต้องไปตามลูก ๆ นักเรียน ว่าเขาอยู่อย่างไรในชุมชน…” ธีระนันท์ พันธุ์เพ็ง หรือ “คุณครูตู้” โรงเรียนบ้านเทิน อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เล่าถึงภารกิจอันยาวนานตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา หลังพื้นที่โรงเรียนบ้านเทิน ต.บัวน้อย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และชุมชนใกล้เคียง ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำมูลได้รับผลกระทบจากฝนตกสะสมจากอิทธิพล “พายุโนรู” ทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมเสียหายทั้งตำบล กว่า 11 หมู่บ้าน รวมถึง โรงเรียนบะหมี่เกี๊ยวทุ่งเทิน

ธีระนันท์ พันธุ์เพ็ง

“พอเห็นบ้านหลังนี้ถูกน้ำท่วมแล้ว เด็ก ๆ นักเรียนจะอยู่อย่างไร เราก็ต้องไปหาผู้ปกครอง ในเมื่อถนนถูกตัดขาด จะทำอย่างไร เราเดินทางได้แค่ทางเรือ เราจะต้องประสานกับผู้ปกครองที่อยู่ต่างจังหวัดเพิ่มเติมอีกไหม  ในเมื่อน้ำขึ้นสูง เราอพยพอย่างไร เราต้องไปหาจุดที่ปลอดภัยนี้ให้เขา … ” หลายคำถาม หลากความรู้สึก ที่ครูตู้ไล่เรียงให้ฟัง แม้ในวันที่น้ำค่อย ๆ ทยอยลดลง แต่น้ำเสียงที่บอกเล่าย้ำชัดเหมือนว่าเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นในผ่านไปเพียงนาที ความสับสนอลหม่านแสดงผ่านปากคำที่บอกเล่าความห่วงใยต่อ “ลูก ๆ นักเรียน” ของคุณครูและสมาชิกในชุมชน

ประสบการณ์ คือ บทเรียนเตรียมรับมือ

“ห้องเรียนในความเป็นครูของเรา เราจะเห็นสภาพความตื่นตัวของชุมชนและนักเรียนเรา เราสามารถเรียนรู้ได้ว่าเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ที่มีน้ำไหลเข้ามาในโรงเรียน เราประสบปัญหาเมื่อปี 2545 ครั้งที่ 1 ต่อมาปี 2554 ครั้งที่ 2 เราจึงสามารถที่จะประเมินสถานการณ์ได้ว่าต้องเกิดน้ำท่วมในโรงเรียนและเกิดน้ำท่วมในชุมชน”

ครูตู้บอกเล่า การเตรียมความพร้อมจากประสบการณ์ที่ชุมชนเคยถูกน้ำท่วมใหญ่ อย่างน้อยในรอบ 20 ปี นับจากปี 2545 ซึ่งทำให้เธอ เพื่อนครู และผู้นำชุมชนสามารถนำประสบการณ์มาเตรียมความพร้อมรับมือได้ในเบื้องต้น แต่กระนั้นความเสียหายจากปริมาณน้ำที่ท่วมสูงกว่าเท่าตัวก็สร้างความเสียหายอย่างมาก แก่คณะครู นักเรียน และชุมชนบ้านเทิน

ครู นักเรียน จิตอาสาร่วมกันทำความสะอาดโรงเรียน

“เราเคยอยู่ตรงนี้มา 24 ปี อยู่ในสถานการณ์น้ำท่วม 2 ครั้งมาแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เราสามารถที่จะเล่าประสบการณ์เราให้เพื่อนครูในโรงเรียนว่า เราจะต้องเตรียมความพร้อมเก็บของ พร้อมทุกสถานการณ์ เราจะเก็บของเอาอะไรมา ของในห้องเรียนเราจะเตรียมแบบไหน ขนไปในที่สูงอย่างไร  เรื่องไฟฟ้า เรื่องอื่น ๆ เราจะทำอย่างไร แล้วก่อนที่เราจะออกจากตรงนี้เราก็พาเด็ก ๆ เก็บของ วัสดุอุปกรณ์ การเรียนการสอนจะเป็นกระดาน ประตู โต๊ะ เก้าอี้ สัมภาระของลูก ๆ นักเรียนเราทุกชิ้น เราเก็บให้เขาเอากลับบ้าน ประสบการณ์ตรงนี้เราก็เล่าให้นักเรียนเราฟัง 

การเตรียมการในครั้งนี้เราจะทำอย่างไร  แต่หลาย ๆ คนก็ประเมินสถานการณ์น้ำครั้งนี้ด้วยกัน เราประเมินต่ำ เพราะครั้งที่แล้วมันเคยท่วมอยู่ 1 เมตร 20 เซนติเมตร  แต่ปีนี้น้ำท่วม 2-3 เมตร ท่วมสูงเกือบ 1 เท่าตัว มันเลยทำให้เกิดปัญหาความเสียหายเยอะ”  

หากเป็นหนังเรื่องหนึ่งคงเป็นฉากตอนสำคัญที่ครู นักเรียน และคนในชุมชน ได้เรียนรู้การเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ชีวิตต้องเผชิญกับน้ำท่วมโดยไม่ทันตั้งตัว เพราะชุมชนและโรงเรียนที่นี่อยู่ในพื้นที่ลุ่มติดแม่น้ำมูล รายรอบไปด้วยบึงและหนองน้ำ ประกอบกับสมาชิกชุมชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีอาชีพทำนา ปลูกข้าว ปลูกพริก ปลูกหอมแดง กระเทียม ข้าวโพด ยางพารา และเลี้ยงปศุสัตว์ วัว ควาย หมู ไก่ และเลี้ยงปลาบ้างเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่ทั้งหมดนี้ เหมือนต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เพราะน้ำที่ท่วมนานนับเดือนได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเป็นวงกว้าง

ห้องเรียนภัยพิบัติบ้านเทิน เรียนรู้ อยู่รอด

นับจากพายุโนรูส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยมีพื้นที่ภาคอีสานเป็นด่านหน้าจุดประทะในขั้นต้น นับจาก จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และเคลื่อนไปสู่ภาคเหนือตามลำดับ นั่นทำให้ขณะที่น้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและโรงเรียนบ้านเทิน ยังมีชุมชนอีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมไม่ต่างกัน การพึ่งตัวเองในเบื้องต้น จัดระบบความช่วยเหลือ ประสานส่งต่อข้อมูล และสื่อสารสาธารณะจึงเป็นภารกิจที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ครู นักข่าวพลเมือง ผู้ประสบภัย และผู้ประสานความช่วยเหลือ

“เราอยู่ในชุมชนมานาน เราก็เป็นคนที่อื่นแต่ก็มาพักอาศัยในชุมชนมานานแล้ว สิ่งที่เราทำงานกับโรงเรียนบ้านเทินเราไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอน รับองค์ความรู้มาจากหลาย ๆ ที่ เราไปเจอพี่น้องเครือข่ายปลูกฝังให้เรามีจิตอาสา เหมือนกับว่าเราไม่ได้อยู่ในตัวคนเดียวในหมู่บ้านในชุมชนในสังคม ตรงนั้นมันก็ปลูกฝังให้เราช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย มันทำให้เราลุกขึ้นมาสู้เพื่อคนอื่น”

ครูตู้ไล่เรียงที่มาถึงแรงบันดาลใจที่ขับเคลื่อนการทำงานแม้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วม ซึ่งครูตู้ คณะครู นักเรียน และผู้ปกครองในชุมชน ต่างตกอยู่ในภาวะยากลำบาก ซึ่งไม่แน่ใจว่า แม้แต่ผู้เขียนเอง ก็อาจไม่มีกระจิตกระใจจะมาคำนึงนึกถึงผู้อื่น เพราะเพียงขนย้ายสิ่งของและจัดการปัญหาซึ่งหน้านาทีต่อนาที ก็อาจจะมีความยุ่งยากจนวางไม่ลงปลงไม่ได้ แต่ครูตู้และทีมงานสามารถจัดการสิ่งที่เผชิญได้ตามลำดับ จนสามารถร่วมเป็นหนึ่งในทีมข่าวพลเมืองสื่อสารสถานการณ์วิกฤตผ่านหน้าจอรายการ C-site Special ของ Thai PBS เพื่อบอกเล่าสถานการณ์น้ำท่วม ผลกระทบ และปักหมุดจุดช่วยเหลือ เพื่อแจ้งไปยังเครือข่ายองค์กรที่ร่วมทำงานและสะท้อนถึงความพยายามดูแลจัดการกันเองของชุมชน เพราะครูตู้บอกว่า “เราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน”

“เรามีคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนรอบข้างอย่างนักเรียน เราจะอยู่กันอย่างไร บางครอบครัวเขาก็อยู่ตัวคนเดียว เด็กอยู่กับยายเขาจะอยู่กันอย่างไร เราก็ต้องดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความลำบากของเราก็ไม่ได้หนักหนาขนานนั้น ต่างคนต่างช่วยกัน มันมีความสุขมากกว่าคำว่าลำบาก เราอยู่ตรงนี้ถามว่าเราสู้มาก”

ประสบการณ์ครั้งใหญ่ที่เจอในห้วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ครูตู้ต้องทั้งรับบทผู้ประสบภัย ผู้ส่งต่อช่วยเหลือ นักข่าว นักเขียน นักวิเคราะห์สถานการณ์ และทำงานเสมือนนักกู้ชีพกู้ภัยที่ช่วยอพยพหลายชีวิตไปในพื้นที่ปลอดภัย ทั้งยังส่งต่อเรื่องราวชีวิตผู้คนผ่านช่องทางออนไลน์ต่อเนื่องมายาวนานกว่าเดือน ด้วยความท้าทายที่เข้ามาเป็นอีกบททดสอบหนึ่งของชีวิตครูที่พูดได้เต็มปากว่า “เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว”

จงเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ เสริมทักษะชีวิต

“ที่เราสอนเขา ไม่ได้สอนแค่วิชาการ  กลุ่มเด็กเหล่านี้ที่กำลังเรียนรู้ “ธรรมชาติจะสอนเขา” เพราะภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญ  นี่คือห้องเรียนประสบการณ์ครั้งใหญ่ที่เราพาเขาเรียนรู้การแก้ไขปัญหา ในแผนการวางแผนของคุณครูตอนนี้มองว่าเรียนวิชาการ  70 %  และทักษะชีวิตอีก 30 %  สองคาบสุดท้ายในหนึ่งวัน อาจจะฟื้นฟูโรงเรียน หรือระยะเวลาในบางสัปดาห์อาจมีชดเชยวันหยุดที่ไม่ได้หยุด  ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์ อาจจะมีหน่วยงาน องค์กรเอกชน มีพี่น้องเครือข่ายมาฟื้นฟูโรงเรียนของเรา เด็กเราก็ต้องทำกิจกรรมตรงนี้  เขาก็จะมีทักษะชีวิตที่เยอะกว่าคนอื่น ถ้ามองในมุมดีเด็ก ๆ ได้ เราก็ได้เรียนรู้”

ครูตู้ชวนมองถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนในระยะต่อเนื่องหลังจากน้ำลด ที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างประสบการณ์และทักษะการแก้ปัญหาในสถานการณ์ภัยพิบัติ น้ำท่วมโรงเรียนบ้านเทิน ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน จนถึงช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 นับเป็นเวลานานนับเดือนที่บ้านเรือนประชาชน พื้นที่สาธารณะ และอาคารเรียนต่าง ๆ ต้องจมอยู่กับน้ำ การฟื้นฟู ซ่อมแซม และทำความสะอาดอาคารเรียน โต๊ะ เก้าอี้ และซ่อมแซมอุปกรณ์การเรียนที่เสียหาย รวมถึงแหล่งเรียนรู้ สวนสมุนไพรในโรงเรียน ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทำบะหมี่เกี๊ยวหลักสูตรวิชาชีพของที่นี่ ซึ่งถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด คือ โจทย์ใหญ่ที่ต้องใช้กำลังแรงใจ และแรงกายอีกจำนวนมาก

“ห้องเรียนในตรงนี้สำหรับตัวครูเองมันเป็นห้องเรียนที่ทำให้เราเห็นน้ำใจของคนอื่น ธารน้ำใจที่หลั่งไหลเข้ามาเกิดความมีจิตอาสาแบ่งปัน มีการอยากช่วยเหลือดูแลคนอื่น ในความเลวร้ายที่เกิดขึ้นก็มีสิ่งดี  ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาด้วย บทเรียนครั้งใหญ่ ห้องเรียนประสบการณ์ครั้งใหญ่สู้ภัยน้ำท่วม”

ห้องเรียนจำเป็น ณ วัดบ้านเทิน

หลังสนทนาพาทีเล่าย้อนไปถึงวันวานที่ผ่านมากับเหตุการณ์น้ำท่วมชุมชน ครูตู้ ยังปักหมุดรายงานเข้ามากับ C-site บอกว่าในวันแรกของการเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 เมื่อ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คณะครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านเทิน ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล- มัธยมศึกษาปีที่ 3 ยังไม่สามารถเข้ามาใช้ห้องเรียนได้ตามปกติ เพราะสภาพของห้องเรียน อาคาร และอุปกรณ์การเรียนการสอนเสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วม

“ศาลาการเปรียญ” ต่อหน้าพระประธาน จึงเป็นห้องเรียนชั่วคราวที่น้อง ๆ และคุณครูมาใช้บริการ เพื่อบอกเล่าแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการร่วมดูแลของผู้ปกครองในชุมชน และนั่นยืนยันแล้วว่า บ้าน วัด โรงเรียน ยังเกี่ยวร้อยเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกันอย่างเป็นรูปธรรม และทั้งหมดนี้ คือ “ห้องเรียนภัยพิบัติบ้านเทิน” ท่วมจริง เสียหายจริง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ