ลับ ลวง พราง : ศึกษาออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกาะสมุย กรมโยธาเตรียมยกเลิกโครงการศึกษาฯ

ลับ ลวง พราง : ศึกษาออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกาะสมุย กรมโยธาเตรียมยกเลิกโครงการศึกษาฯ

ขอบคุณที่หวังดี เเต่ไม่น่ารักเลย รู้นะคิดอะไรอยู่

หนึ่งในข้อความบนป้ายคัดค้านโครงการศึกษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดบางมะขาม เกาะสมุย

เสียงคัดค้าน “กำแพงกันคลื่น” ดังก้องจากเกาะที่ห่างไกลกลางทะเลอ่าวไทย เมื่อกรมโยธาธิการฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 ในโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดแม่น้ำ และหาดบางมะขาม เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 และวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาทำให้กระแสการคัดค้านการศึกษาโครงการดังกล่าวเริ่มคลุกกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนในพื้นที่ขึ้นป้ายตามสถานที่ต่างๆรอบเกาะสมุย “ไม่ต้องมาสร้างเขื่อนยาว 3 กิโลเมตร ให้นะ ขอบคุณที่หวังดี แต่ไม่น่ารักเลย มันทำลายชายหาด! ใครนะช่างคิด รู้นะคิดอะไรอยู่ จุ๊บๆ” รวมถึงป้ายต่างๆ ที่แสดงเจตนารมณ์ว่าพวกเขาไม่ต้องการกำแพงกันคลื่นที่ชายหาดทั้งสองแห่งของเกาะสมุย

จุดเริ่มต้นโครงการศึกษาเขื่อนกันกัดเซาะเกาะสมุย

โครงการศึกษาและออกแบบ โครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งตำบลเเม่น้ำเเละตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ในพื้นที่หาดเเม่น้ำ เเละจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านหาดบางมะขาม เป็นโครงการศึกษาการป้องกันชายฝั่ง โดยกรมโยธาธิการฯ ที่ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ตามคำร้องขอของเทศบาลเมืองเกาะสมุย ที่มีหนังสือขอร้องการศึกษาไปยังกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งฯ สภาผู้แทนราษฎร ทำให้ กรรมาธิการฯ คณะดังกล่าว ลงพื้นที่เกาะสมุย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 กรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ชายหาดบางมะขาม และหาดแม่น้ำ เกาะสมุย  ทำให้ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2565 กรรมาธิการได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมโยธาธิการฯ อธิบดีกรมเจ้าท่า และอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง อำเภอเกาะสมุย ประกอบกับ วันที่ 2 สิงหาคม 2565 เทศบาลเกาะสมุย ส่งหนังสือถึงสำนักงานโยธาธิการฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหาความเดือนร้อนประชาชนในพื้นที่หาดบางมะขาม และหาดแม่น้ำ ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลให้กรมโยธาธิการฯ ดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดแม่น้ำและหาดบางมะขาม และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่  1 หลังจากมีหนังสือไปร้องขอโครงการภายใน 1 เดือน จากท้องถิ่น

สภาพชายหาดบางมะขามในพื้นที่โครงการศึกษาเเละออกเเบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

โครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดแม่น้ำและหาดบางมะขาม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและสำรวจออกแบบการป้องการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตามหลังวิชาการให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่และสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และเพื่อศึกษาและจัดทำรายงานกาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) สำหรับโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ทั้งนี้กรมโยธาธิการได้ชี้แจงในครั้งการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยระบุว่า มีขอบเขตการดำเนินการดังนี้

  1. การประชาสัมพันธ์รับฟังความคิดเห็นประชาชน
  2. การสำรวจ รวบรวมข้อมูลเพื่อกำหนดรูปแบบการป้องการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล
  3. การออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง(Detail Desing) เขื่องป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล
  4. การประเมินราคาก่อสร้างและจัดทำเอกสารประกวดราคา
  5. การศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  6. การดำเนินการอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับกรสำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล

ในการการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 ของพื้นที่ชายหาดแม่น้ำ วันที่ 27 กันยายน 2565 และ หาดบางมะขาม วันที่ 4 ตุลาคม 2565 นั้น กรมโยธาธิการได้นำเสนอรูปแบบการป้องกันชายฝั่งเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน จำนวน  11 แนวทางเลือก ได้แก่

  •  กำหนดแนวถอยร่น
  • การปลูกป่าชายหาดและป่าชายเลน
  • การถ่ายเททราย
  • เติมทรายชายฝั่ง
  • ปักรั้วไม้ดักทราย
  • เขื่อนถุงทราย
  • เขื่อนหินเรียงใหญ่
  • เขื่อนหินเกเบี้ยน
  • กำแพงคอนกรีตกันคลื่น
  • เขื่อนคอนกรีตขั้นบันได
  • รูปแบบผสมผสาน (ผสมผสานโครงสร้างป้องกันชายฝั่งหลายรูปแบบในพื้นที่เดียวกัน)

และได้ย้ำว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บท ไม่มีการตั้งงบประมาณแต่อย่างใด ไม่ได้จงใจมีธงในการกำหนดรูปแบบโครงการแต่อย่างใด แต่ภายหลังจากเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 ครั้งผ่านไป กระแสการคัดค้านโครงการศึกษาดังกล่าวของกรมโยธาธิการฯ เริ่มคลุกกรุ่นขึ้น ประชาชนเริ่มไม่ไว้วางใจโครงการดังกล่าว และขอให้ยุติการศึกษาโครงการดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเป็นการปักธงตั้งใจที่จะทำกำแพงกันคลื่น และเห็นว่า กรมโยธาธิการฯนั้น บกพร่องในการให้ข้อมูลโครงการรวมถึงท่าทีต่างๆในเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 ของทั้งสองพื้นที่ชายหาด ที่ส่อโน้มเอียงไปในการชักจูงและชี้นำเพื่อให้เห็นว่าต้องทำ “กำแพงกันคลื่น”

การประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 หาดเเม่น้ำ เกาะสมุย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565

ลับ ลวง พราง : โครงการศึกษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกาะสมุย

  • การตอบรับศึกษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกาะสมุย ที่รวดเร็วจนผิดสังเกต หากไล่เรียงตาม Timeline โครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งชายหาดเกาะสมุยทั้งสองพื้นที่นั้น เกิดจากการที่เทศบาลนครเกาะสมุย ร้องขอโครงการศึกษาไปยังกรรมาธิการฯ ทำให้ทาง กรรมาธิการฯ ได้มีหนังสือไปถึงกรมโยธาธิการฯ เมื่อ24 มิถุนายน 2565 ประกอบกับ วันที่ 2 สิงหาคม 2565 เทศบาลเกาะสมุย ส่งหนังสือถึงสำนักงานโยธาธิการฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหาความเดือนร้อนประชาชนในพื้นที่หาดบางมะขาม และหาดแม่น้ำ  และกรมโยธาธิการฯ เข้ามาดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 ในพื้นที่หาดแม่น้ำวันที่ 27 กันยายน 2565 ซึ่งเมื่อพิจารณาระยะเวลาจะเห็น เพียง 2 เดือนกว่า หลังจากมีการส่งหนังสือของกรรมาธิการฯ ไปยังกรมโยธาธิการ ก็ทำให้มีการตอบรับจากกรมโยธาธิการฯ เข้ามาศึกษาการป้องกันชายฝั่งในพื้นที่เกาะสมุยได้เลย ทำให้มีข้อสังเกตว่า จริงแล้วโครงการนี้อาจมีการตั้งงบประมาณและพื้นที่การศึกษาไว้ก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีการทำหนังสือร้องขอโครงการจากกรรมาธิการฯ และ ท้องถิ่น ซึ่งการที่กรมโยธาธิการฯ อ้างว่าเพราะมีการร้องขอไป จึงตั้งงบประมาณ และการศึกษานั้น จึงอาจขัดแย้งกันกับลำดับเหตุการณ์ในการร้องขอโครงการดังกล่าวไป
  • การยืนยันต้องทำ EIA แต่กำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIAการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 หาดแม่น้ำและหาดบางมะขามนั้น กรมโยธาธิการฯ ยืนยันว่าการดำเนินโครงการนี้ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ด้วยเหตุผลพื้นที่เกาะสมุยอยู่ในประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จึงต้องดำเนินการจัดทำ EIA และทางรองอธิบดีกรมโยธาธิการฯ ยื่นยันกับประชาชนเครือข่ายรักษ์หาดเกาะสมุยอย่างหนักแน่นว่าต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่จากการตรวจสอบประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทุกฉบับของเกาะสมุยกลับพบว่า ไม่มีระบุถึงการที่โครงการป้องกันชายฝั่งนั้นต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง โครงการประเภทกำแพงกันคลื่นนั้น ถูกเพิกถอนออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA ตั้งแต่ปี 2556 จึงไม่ต้องทำ EIA
  • กรมโยธาธิการฯ ยืนยันเป็นการจัดทำแผน ไม่ได้ล็อครูปแบบ ไม่มีการปักธง แต่ในขอบเขตโครงการที่ลงรายละเอียดการก่อสร้าง(Detail Design) ของเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึง ในการขอเข้าพบรองอธิบดีพงษ์นรา เย็นยิ่ง กลับพบว่า มีภาพจำลองของเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในรูปแบบของกำแพงกันคลื่นก่อนดำเนินการ และหลังการดำเนินการ ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่า ท้ายที่สุดนั้นการป้องการชายฝั่งในพื้นที่ดังกล่าว อาจเป็นรูปแบบกำแพงกันคลื่นได้ รวมถึงการนำเสนอข้อมูลในเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนมีการโน้มนาว ชี้นำให้เห็นว่ากำแพงกันคลื่นคือทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
  • ท่าทีของบริษัทที่ปรึกษาในการไม่เปิดกว้างรับฟังและชี้นำ มีการห้ามมิให้ยกมือแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนในการไม่เอากำแพงกันคลื่น มีการยืนกดดันด้านหลังผู้แสดงความคิดเห็น รวมถึงการแย่งไมค์ผู้แสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนหาดบางมะขาม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ซึ่งสะท้อนถึงความไม่โปร่งใส ปิดกั้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และความไม่บริสุทธิ์ใจของกรมโยธาธิการฯ ในการมารับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างเห็นได้ชัด
  • พื้นที่เกาะสมุย นั้นไม่มีการกำหนดใช้หลักเกณฑ์แนวทางโครงการป้องการกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อย่างเช่นชายหาดที่ติดต่อกับแผ่นดิน ทำให้กรมโยธาธิการฯอาจใช้ประโยชน์จากช่องว่างนี้ ในการกำหนดรูปแบบให้เป็นการใช้มาตรการป้องกันที่เป็นโครงสร้างแข็งแทนการฟื้นฟูและรักษาสภาพชายฝั่งทะเล

ทั้ง 5 ประเด็นนี้ สะท้อนสภาวะ “ลับ ลวง พราง” ของโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกาะสมุย ทั้ง 2 พื้นที่ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อโครงการศึกษาดังกล่าว รวมถึง ไม่ไว้วางใจต่อการดำเนินการของกรมโยธาธิการฯ เพราะมีทีท่าในการส่อพิรุธผลักดันกำแพงกันคลื่นให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ชายหาดทั้งสองแห่ง

ป้ายข้อความคัดค้านโครงการศึกษาเเละออกเเบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ถูกติดรอบเกาะสมุย

กรมโยธาธิการฯ ยอมถอยยกเลิกการศึกษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งสมุย

ความกังวลของประชาชนสมุยในนามเครือข่ายรักหาดสมุย  นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น การยืนหนังสือถึงนายกเทศบาลนครเกาะสมุย ให้ยกเลิกโครงการศึกษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกาะสมุย โดยกรมโยธาธิการฯ และให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้ามาดำเนินการศึกษาแนวทางการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแทนกรมโยธาธิการฯ จนไปถึง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่เครือข่ายรักหาดสมุย เดินทางขึ้นไปกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าพบอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง

ภายหลังจากการยืนหนังสือต่ออธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ได้ยุติการศึกษาเขื่อนป้องการกัดเซาะชายฝั่งของกรมโยธาธิการฯ เนื่องจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กำหนดแนวทางหลักเกณฑ์โครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อการพิจารณาเลือกมาตรการและรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพชายฝั่งทะเลและการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ พื้นที่ชายหาดต่างๆ ที่อยู่ในเขตแผ่นดินนั้นมีหลักเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมอยู่แล้ว แต่สำหรับพื้นที่เกาะอย่างเช่นเกาะสมุย และที่อื่นๆ นั้นยังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดในทำนองเดียวกัน ดังนั้นจึงยิ่งทำให้การดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่เกาะสมุย โดยกรมโยธาธิการฯ มีความน่ากังวลอย่างยิ่ง

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ยืนยันว่าจะนำเรื่องนี้มาพิจารณา และไม่เพียงเฉพาะแค่โครงการบนเกาะสมุยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพราะมองว่าการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งควรมีหลายมาตรการ กล่าวคือ เริ่มจากมาตรการอ่อนไปยังมาตรการแข็ง ไม่ใช่เลือกใช้แต่มาตรการก่อสร้างโครงสร้างถาวรเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีการตัดสินใจร่วมกัน เพื่อหาแนวทางที่ตอบโจทย์กับทุกฝ่าย โดยต่อจากนี้ทุกโครงการต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการกัดเซาะชายฝั่งเข้าร่วม เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์หาแนวทางที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

การยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง

หลังจากยื่นหนังสือและหารือกับอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เครือข่ายรักหาดสมุย ได้ขอเข้าพบรองอธิบดีพงษ์นรา เย็นยิ่ง เพื่อขอให้ยุติการศึกษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เกาะสมุย เพราะไม่ไว้วางใจกรมโยธาธิการฯ ในระหว่างการหารือ นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ข้อมูลยืนยันว่า ภาครัฐยังไม่ได้ข้อสรุปในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนเกาะสมุย เพียงแต่ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้ ขณะนี้ยังไม่มีการขออนุมัติงบประมาณแต่อย่างใด สาเหตุที่ต้องเข้าไปศึกษา เพราะได้รับคำร้องจากอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ให้เข้าไปดำเนินแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ และมีหนังสือจากท้องถิ่นแจ้งมาเท่านั้น พร้อมยืนยันว่า หากชาวบ้านไม่ต้องการ ทางกรมฯ ก็จะไม่ดำเนินการ

ตัวเเทนเครือข่ายรักษ์หาดเกาะสมุย เข้าหารือกับรองอธิบดีพงษ์นรา เย็นยิ่ง เเละได้ข้อสรุป กรมโยธาธิการฯ รับข้อเสนอยกเลิกโครงการศึกษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกาะสมุยทั้ง 2 เเห่ง

ท้ายที่สุด ภายหลังจากการพูดคุย หารือกับนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการฯ นานกว่า 2 ชั่วโมง และเครือข่ายรักหาดสมุย ยืนยันต้องยุติการศึกษาโครงการดังกล่าวไว้ก่อนทำให้ พงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการฯ ได้สรุปผลการหารือว่า กรมโยธาธิการฯ รับข้อเสนอให้ยกเลิกการศึกษาเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเกาะสมุย หากประชาชนมองว่า การดำเนินการของกรมโยธาธิการฯ ยังไม่ครอบคลุม ขอให้ถอนโครงการออกไป ให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ มาศึกษา หาเเนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้มีองค์ประกอบคณะทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

“สิ่งที่ผมต้องประสาน คือ ท้องถิ่น เเละ กมธ.กัดเซาะชายฝั่งฯ ให้มีความเห็นตรงกัน ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหน้าหรืออะไรเลย เป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ กรมฯ ก็พร้อมรับข้อเสนอของท่าน เเต่ต้องไปหารือกับทางเทศบาลเกาะสมุยเเละ กมธ. ตามที่เขาได้ร้องขอมา เเต่คิดว่าคงไม่มีปัญหาในการยกเลิกโครงการศึกษาดังกล่าว ผมมองว่า ในเมื่อภาคประชาชนมองว่าโครงการนี้ยังไม่ครบถ้วน เราก็ไม่ดื้อดึง…กรมโยธาธิการฯ ยืนยันที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม และพร้อมที่จะรับข้อเสนอไปพิจารณาเเละดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ